|
|
อุคคคฤหบดี ชาวเมืองเวสาลี
อุคคคฤหบดี ชาวเมืองเวสาลี
เอตทัคคะในทางผู้ถวายสิ่งที่น่าพอใจ
คฤหบดีชาวเมืองเวสาลีคนหนึ่ง ซึ่งพระพุทธองค์ยกย่องว่าเป็นยอดของผู้ถวายสิ่งที่น่าพอใจ (องฺ.อ. ๒๐/๓๓ ; องฺ.อ. ๑/๔๒๔) เดิมท่านจะมีชื่ออย่างไรไม่ปรากฏ แต่เพราะท่านมีร่างกายสูงเป็นสง่าทั้งมีคุณธรรมสูง ท่านจึงได้ชื่อว่าอุคคะ (หรืออุคคตะ) เมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งแรกท่านก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลต่อมาไม่นาน ท่านก็ได้บรรลุอนาคามิผล
ครั้งหนึ่ง เมื่อท่านแก่แล้ว ท่านนั่งอยู่ที่สงัดแห่งหนึ่ง ได้เกิดความคิดขึ้นว่า ท่านชอบใจสิ่งใด ท่านก็จะถวายสิ่งนั้น แด่พระพุทธองค์ เพราะท่านเห็นว่าเป็นการปฏิบัติตรงตามพระพุทธพจน์ที่ท่านได้ฟังมาเองว่า "ผู้ให้สิ่งที่พอใจ ย่อมได้สิ่งที่พอใจ" ครั้นคิดเช่นนั้นแล้วก็ตั้งจิตปรารถนาขอให้พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดถึงบ้านของตน พระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตของท่าน จึงได้เสด็จไปปรากฏพระองค์ที่ประตูบ้านของท่านพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์
ท่านทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จมาโปรดถึงบ้าน จึงรีบกระวีกระวาดออกไปต้อนรับ ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ รับบาตรของพระพุทธองค์ แล้วกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จเข้าไปในบ้านของตน เมื่อพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ได้ประทับนั่งบนอาสนะอันสมควร แล้วได้ถวายขาทนียโภชนียาหาร คือของเคี้ยวของฉันที่มีรสอร่อยยิ่งแก่พระสงฆ์อันมีพระพุทธองค์เป็นพระประมุข ครั้นพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้วท่านจึงกราบทูลว่าสิ่งใดที่ท่านพอใจ สิ่งนั้นท่านก็ได้ถวายแด่พระสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นพระประมุข สำเร็จตามความตั้งใจแล้ว ตั้งแต่บัดนั้นมา ท่านก็ได้ถวายสิ่งที่ตนพอใจแก่พระสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประมุขเสมอ (องฺ. ๒๒/๕๓-๖ ; องฺ. ๑/๔๒๔-๖)
ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันแขวงเมืองเวสาลี พระองค์ทรงประกาศชมเชยต่อภิกษุสงฆ์ว่า ท่านอุคคคหบดีมีคุณธรรมที่แปลกน่าอัศจรรย์ ๘ อย่าง ภิกษุรูปหนึ่งได้ฟังพระพุทธดำรัสเช่นนั้น จึงได้ไปสนทนากับท่านที่บ้านของท่าน (คล้ายกับเรื่องท่าน อุคคคหบดี ชาวบ้านหัตถิคาม)
ท่านได้อธิบายธรรม ๘ อย่างที่เกิดขึ้นในใจท่านให้ภิกษุนั้นทราบโดยลำดับว่า
(๑) ครั้งแรกที่ท่านได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านก็เลื่อมใสในพระพุทธองค์ นี้เป็นคุณธรรมที่แปลก น่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในใจท่านข้อแรก
(๒-๓-๔) เหมือนคุณธรรมของท่านอุคคหบดี ชาวบ้านหัตถิคาม
(๕) ท่านเข้าไปหาภิกษุรูปใดก็เข้าไปด้วยความเคารพ
(๖) ถ้าภิกษุแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านก็ตั้งใจฟังด้วยความเคารพ ถ้าภิกษุไม่แสดงธรรมให้ฟัง ท่านก็แสดงให้ภิกษุฟัง
(๗) เหมือนคุณธรรมของท่าน อุคคคหบดีชาวบ้านหัตถิคาม
(๘) บรรดาสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ อย่างที่พระพุทธองค์ทรงแสดงได้แล้วนั้น แม้แต่ข้อเดียวที่ท่านจะละไม่ได้นั้น เป็นอันไม่มีปรากฏให้เห็นอยู่ในตน ภิกษุนั้นได้นำเรื่องนั้นไปกราบทูลพระพุทธองค์ พระองค์ได้ทรงประทานสาธุการพร้อมกับทรงรับรองว่า ท่านอุคคคหบดีมีคุณ ๘ อย่างนี้จริง (องฺ.อ. ๒๓/๒๑๒-๕)
ในอังคุตตรนิกาย พระพุทธองค์ตรัสเล่าให้ภิกษุสงฆ์ฟังว่า ท่านอุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลี เป็นผู้เชื่อมั่นในพระองค์ ได้เห็นได้บรรลุอมตธรรม ทั้งประกอบด้วยคุณธรรม ๖ อย่าง คือ มีความเชื่อมั่นคงในพระพุทธเจ้า ๑ มีความเชื่อมั่นคงในพระธรรมเจ้า ๑ มีความเชื่อมั่นคงในพระสงฆ์เจ้า ๑ มีอริยศีล ๑ อริยญาณ ๑ อริยวิมุติ (องฺ. ๒๒/๑๐๑) ๑
ในสังยุตตนิกายเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน แขวงเมืองเวสาลี ได้ทูลถามปัญหาทำนองเดียวกับปัญหาของท่านอุคคคหบดี ชาวบ้านหัตถิคามและพระพุทธองค์ก็ทรงวิสัชนาทำนองเดียวกัน (สํ.สฬา. ๑๘/๑๓๗-๘ ; องฺ. ๒๒/๕๓-๕๕)
ในอังคุตตรนิกาย ระบุสิ่งที่ท่านพอใจไว้หลายอย่าง เช่น ขาทนียาหาร คือ ของควรเคี้ยวมีรูปคล้ายดอกสาละ เนื้อสุกรทอดกรอบ สาคูมีรูปคล้ายก้านบัว ซึ่งทอดสะเด็ดน้ำมันดีแล้ว ข้าวสาลีที่ขาวสะอาดมีกับมีแกงมาก ผ้าเนื้อดีทำในแคว้นกาสี เตียงรูปสัตว์ร้าย ปูด้วยพรมเนื้อดี เครื่องปูลาดทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดลายดอก เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดใหญ่มีหมอนทั้งสองข้าง กับทั้งเตียงไม้จันทน์มีราคากว่าแสน และสิ่งเหล่านี้ท่านก็ได้ถวายแก่พระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ (องฺ.อ. ๓/๓๐) เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับไทยธรรมของท่านแล้ว ได้ทรงอนุโมทนาด้วยอนุโมทนียพจน์ ต่อมาเมื่อสิ้นชีวิตแล้วท่านได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรเหล่ามโนมยเทพ มีชื่อว่าอุคคเทพบุตร และได้เคยมาเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเชตวันมหาวิหารเมืองสาวัตถี (องฺ. ๒๒/๕๓-๕๖)
ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านอุคคคหบดีได้เกิดในตระกูลหนึ่งที่นครหงสวดี เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้ว มีความเลื่อมใส และเมื่อได้เห็นพระพุทธองค์ทรงประกาศยกย่องอุบาสกคนหนึ่งว่าเป็นยอดของผู้ถวายสิ่งที่พอใจ ท่านจึงปรารถนาฐานะเช่นนั้น จึงได้พยายามบำเพ็ญกุศลเป็นอันมากจนตลอดชีวิต และความปรารถนาของท่านก็สำเร็จผลในพุทธุบาทกาล (องฺ.อ. ๑/๔๒๔) นี้
.............................................................
คัดลอกมาจาก ::
สารานุกรม พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
http://www.dharma-gateway.com/ |
|
Update : 17/4/2554
|
|