|
|
อนาถปิณฑิกเศรษฐี
อนาถปิณฑิกเศรษฐี
เอตทัคคะในทางผู้เป็นอัครทายก
เศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาวัตถี เดิมชื่อ สุทัตตะ เป็นบุตรของสุมนเศรษฐี(๑) มีภรรยาชื่อบุญญลักขณา มีบุตรหนึ่งคนชื่อ กาละ และมีธิดา ๓ คน คือ มหาสุภัททา จุลสุภัททา และสุมนา(๒) แต่เนื่องจากท่านเป็นคนใจบุญ มีเมตตากรุณา ได้เตรียมก้อนข้าวไว้เพื่อแจกจ่ายให้แก่คนยากจนอนาถาเสมอ ๆ คนทั้งหลายจึงให้ชื่อท่านว่า อนาถปิณฑิกะ(๓)
อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้พบกับพระพุทธเจ้าครั้งแรกที่นครราชคฤห์ สมัยนั้นท่านเศรษฐีได้ไปสู่นครราชคฤห์ เพื่อธุรกิจการค้า และได้ไปพักอยู่กับท่านเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นพี่เขยของท่าน เพราะภรรยาของท่านเป็นน้องสาวของท่านเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ในวันที่ท่านไปถึงนั้น ท่านได้เห็นท่านเศรษฐีเจ้าของบ้าน กำลังตระเตรียมอาหารเพื่อถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธองค์เป็นประธาน
ครั้นท่านทราบว่า มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ท่านก็เกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง อยากจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้ามากจนหลับลงแล้วตื่นขึ้น หลับลงแล้วตื่นขึ้นถึง ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ท่านนึกว่าสว่างแล้ว จึงได้ออกจากนคร ราชคฤห์ เพื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ป่าสีตวัน ท่านออกทางประตูป่า สีตวัน พวกอมนุษย์ได้ช่วยเปิดประตูให้ แต่พอท่านออกพ้นพระนครไป ความสว่างก็หายวับไป ความมืดปรากฏขึ้น ท่านจึงเกิดความหวาดกลัว ขนพองสยองเกล้า คิดจะกลับเข้าสู่พระนคร แต่สีวกยักษ์ได้ส่งเสียงให้กำลังใจท่านว่า ช้างตั้ง ๑๐๐ ม้าตั้ง ๑๐๐ รถเทียมม้าตั้ง ๑๐๐ ก็ดี หญิงสาวสวยตั้ง ๑๐๐ ตั้ง ๑,๐๐๐ ที่จัดสรรประดับร่างกายด้วยกุณฑลแก้วมณีก็ดี ก็ไม่เท่ากับเศษหนึ่งส่วนสิบหกแห่งการยกเท้าเพียงก้าวเดียวของท่านเศรษฐีที่จะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอท่านเศรษฐีจงไปเถิด ขอท่านเศรษฐีจงไปเถิด การไปของท่านเศรษฐีประเสริฐนักหนา ท่านเศรษฐีอย่าได้กลับเลย
ต่อมาความมืดได้หายไป ความสว่างได้ปรากฏขึ้นอีก ท่านจึงหายกลัวออกเดินทางต่อไป แต่แล้วความสว่างก็หายไป ความมืดก็กลับปรากฏขึ้นแทนอีก ท่านก็ตกใจกลัว ขนพองอีก และสีวกยักษ์ก็ได้ช่วยส่งเสียงปลอบโยนให้กำลังใจท่าน เป็นอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ในที่สุดท่านก็สามารถเดินทางไปถึงป่าสีตวัน ที่ประทับของพระพุทธเจ้าได้สำเร็จ
ขณะนั้นพระองค์กำลังเสด็จเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ในเวลาจวนสว่าง เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระองค์ก็เสด็จลงจากที่จงกรมไปประทับนั่ง แล้วตรัสเรียกว่า มานี่เถิด สุทัตตะ
อนาถบิณฑิกเศรษฐีดีใจมากที่พระพุทธองค์ทรงเรียกชื่อท่าน จึงได้เข้าไปเฝ้าหมอบลงแทบพระบาททูลถามว่า พระผู้มีพระภาคบรรทมหลับเป็นสุขหรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ผู้ละกิเลสบาปธรรมเสียแล้ว ย่อมนอนเป็นสุขทุกเมื่อ ผู้ไม่ติดอยู่ในความรัก เป็นผู้เยือกเย็น เป็นผู้ไม่มีกิเลสแล้ว ย่อมนอนเป็นสุขทุกเมื่อ ผู้ตัดความข้องทั้งปวงเสียแล้ว กำจัดความทุรนทุรายในในเสียแล้ว เป็นผู้สงบแล้ว ย่อมนอนเป็นสุขทุกเมื่อ ครั้นแล้วทรงแสดงอนุปุพพิกถา เพื่อซักฟองใจของท่านเศรษฐีก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และกล่าวชมเชยพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ แล้วขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ก่อนจะกลับ ท่านเศรษฐีได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์ และพระภิกษุสงฆ์ เพื่อฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระองค์ทรงรับแล้ว ก็กระทำประทักษิณ ๓ รอบ แล้วกลับมายังที่พัก(๔)
ในคืนนั้น ท่านได้ตระเตรียมอาหารด้วยตนเองจนพร้อมบริบูรณ์ แม้ท่านเศรษฐีแห่งนครราชคฤห์จะช่วยเหลือบ้างในฐานะเจ้าของบ้าน ท่านก็ไม่ยอม พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งทราบข่าวเข้า ก็เสด็จมาหาท่านเพื่อจะทรงช่วยเหลือบ้าง ท่านก็ทูลปฏิเสธว่า ท่านจัดไว้พร้อมทุกประการแล้ว(๕)
ครั้งในวันรุ่งขึ้น ท่านได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระพุทธองค์ และพระภิกษุสงฆ์ด้วยมือของท่านเอง เมื่อพระพุทธองค์เสวยเสร็จแล้ว ท่านเศรษฐีได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์ให้เสด็จไป จำพรรษาที่นครสาวัตถีบ้าง
พระพุทธองค์ตรัสว่า
“พระตถาคตทั้งหลายย่อมยินดีในเสนาสนะอันสงบสงัด”
ท่านทูลตอบว่า “ข้อนั้นข้าพระองค์ทราบแล้ว ข้อนั้นข้าพระองค์ทราบ พระเจ้าข้า”
เมื่อได้ทรงแสดงธรรมแก่ท่านเศรษฐีพอสมควรแล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับสู่ที่ประทับ(๖)
ครั้นท่านเศรษฐีได้ทำธุรกิจในนครราชคฤห์สำเร็จก็ออกเดินทางกลับไปยังนครสาวัตถี ในระหว่างทาง ท่านได้ชักชวนเพื่อนๆ ของท่านให้สร้างอารามสร้างวิหารขึ้นเพื่อเป็นที่พักของพระพุทธเจ้าตลอดระยะทาง ๔๕ โยชน์ โยชน์ละ ๑ วิหาร รวมเป็น ๔๕ วิหาร
ส่วนท่านเศรษฐีเมื่อไปถึงนครสาวัตถี ก็เที่ยวตรวจดูสถานที่อันสงบสงัด ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านคนนัก ทั้งมีถนนหนทางสะดวกสบายแก่การไปมาของผู้คน จึงเลือกได้สวนของเจ้าเชต แล้วขอซื้อด้วยราคา ๑๘ โกฏิ ค่าก่อสร้างวิหาร หอฉัน กัปปิยกุฏี เรือนไฟ เวจกุฏี ที่จงกรม ศาลาจงกรม บ่อน้ำ ศาลาบ่อน้ำ ศาลาเรือนไฟ สระโบกขรณี มณฑลต่างๆ รวมทั้งหมดสิ้นเงิน ๑๘ โกฏิ เจ้าเชตได้สร้างซุ้มประตู ๗ ชั้นถวายด้วย วิหารนี้มีชื่อว่า เชตวนาราม เพราะเป็นสวนของเชตกุมารมาก่อน มีเนื้อที่ประมาณ ๑๘ กรีส (๑ กรีส = ๑๒๕ ศอก) และเมื่อพระพุทธองค์เสด็จมา ท่านเศรษฐีได้จัดการฉลองสิ้นเงินไปอีก ๑๘ โกฏิ รวมเป็นเงินทั้งหมดถึง ๕๔ โกฏิ(๗)
ครั้นพระพุทธองค์ได้ประทับอยู่ในนคร ราชคฤห์ พอสมควรแล้ว ก็เสด็จจาริกไปโดยลำดับถึงนครเวสาลี(๘) ทรงพักอยู่ที่นั้นพอสมควรแล้วเสด็จจาริกต่อไปจนถึงนครสาวัตถี ประทับ ณ เชตวนาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านเศรษฐีเข้าไปเฝ้าทูลอาราธนา เพื่อรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้นในบ้านของท่าน เมื่อทราบว่าทรงรับแล้วก็กลับบ้าน
ในวันรุ่งขึ้น ท่านได้ถวายอาหารอันประณีต แล้วทูลถามว่า ท่านจะจัดการอย่างไรกับเขตวนารามของท่าน พระพุทธองค์ตรัสว่า ท่านควรถวายแก่สงฆ์ทั้ง ๔ ทิศ ทั้งที่มาแล้ว และยังไม่ได้มา ครั้นท่านเศรษฐีได้ทำตามพระพุทธฏีกาแล้ว พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาว่า “วิหาร คือที่อยู่อาศัย ย่อมป้องกันเย็นร้อนได้ ป้องกันสัตว์ร้ายได้ ป้องกันงูเล็กงูใหญ่ เหลือบยุงได้ ป้องกันน้ำค้างน้ำฝนได้ ป้องกันลมแดดได้ การถวายวิหารแก่สงฆ์เพื่อเป็นที่อาศัย เพื่อความสุข เพื่อเจริญฌาน เพื่อเจริญวิปัสสนา พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญว่า เป็นการถวายที่มีผลเลิศ เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้พหุสูตอยู่ ถวายข้าว เครื่องนุ่งห่ม ที่นั่งที่นอนแก่ภิกษุเหล่านั้นด้วยใจเลื่อมใสต่อพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติตรง ภิกษุเหล่านั้นจะได้แสดงธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ทั้งปวง อันทำให้รู้สิ้นอาสวกิเลสได้ ให้บัณฑิตนั้นฟัง”
ครั้นทางอนุโมทนาแล้วก็เสด็จกลับไปยังพระเชตวันมหาวิหาร(๙)
ครั้งในวันที่ ๒ ท่านเศรษฐีก็จัดการฉลองพระวิหารเป็นเวลา ๙ เดือน หมดเงิน ๑๘ โกฏิ(๑๐)
ตั้งแต่นั้นมา ท่านเศรษฐีได้ถวายทานเป็นการใหญ่เป็นประจำทุกวัน คือ สลากภัต ๕๐๐ ที่ ปักขิกภัต ๕๐๐ ที่ สลากยาคู ๕๐๐ ที่ ปักขิกยาคู ๕๐๐ ที่ ธุวภัต ๕๐๐ ที่ คมิกภัต ๕๐๐ ที่ คิลานภัต ๕๐๐ ที่คิลาโนปัฏฐากภัต ๕๐๐ ที่ และได้ตบแต่งอาสนะไว้ ๕๐๐ อาสนะ เป็นประจำ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงแต่งตั้งท่านไว้ในตำแหน่ง “อัครทายก”(๑๑)
เล่ากันมาว่า ในอดีตชาติ สมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้เกิดในเมือง หงสาวดี เมื่อได้ฟังธรรมกถาของพระศาสดาพระองค์นั้นแล้ว ได้เห็นพระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งอุบาสกคนหนึ่งไว้ในตำแหน่ง อัครทายกผู้เลิศกว่าทายกทั้งหลาย จึงได้ทำบุญกุศล แล้วปรารถนาจะได้ตำแหน่งนี้บ้าง
ครั้นในพุทธุปบาทนี้ ท่านจึงได้สำเร็จความปรารถนานี้(๑๒)
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมีความเคารพรักในพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ท่านไปเฝ้าพระพุทธองค์วันละ ๓ ครั้งทุกวัน เมื่อจะไปเฝ้าก็ไม่เคยไปมือเปล่าเลย ถ้าจะไปในเวลาก่อนฉันอาหาร ก็ตระเตรียมข้าวยาคู และของขบฉันอื่นๆ จัดให้คนถือไป ถ้าจะไปในเวลาฉันอาหารแล้ว ก็ตระเตรียมเภสัชมีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้น จัดให้คนถือไป ถ้าจะไปในเวลาเย็น ก็ตระเตรียมเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้และผ้า เป็นต้น จัดให้คนถือไป(๑๓) นอกจากนี้ยังคอยทูลถามถึงพระอนามัยของพระพุทธองค์อยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ท่านเข้าเฝ้าอยู่เป็นประจำอย่างนี้ก็ตาม แต่ท่านไม่เคยทูลถามปัญหาธรรมกับพระพุทธองค์เลย เพราะท่านคิดว่า พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าสุขุมาลชาติ เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ ถ้าพระองค์จะทรงแสดงธรรมแก่ท่าน พระองค์จะทรงลำบากมาก ฉะนั้น ท่านจึงไม่ทูลถามปัญหาใดๆ ทั้งนี้ ก็เพราะท่านเคารพรักพระพุทธองค์มากนั่นเอง
ครั้งหนึ่งพระองค์ตรัสว่า ท่านอนาถบิณฑิกรักษาพระองค์ในฐานะที่ไม่ควรรักษา เพราะพระองค์บำเพ็ญบารมีมาด้วยความยากลำบาก เป็นเวลา ๔ อสงไชย แสนกัป ก็เพื่อจะสอนคนอื่น แล้วทรงแสดงธรรมให้ท่านเศรษฐีฟัง ๑ กันฑ์(๑๔)
ในสมัยต่อมา ประชาชนในนคร สาวัตถี มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากขึ้น และได้มีจิตศรัทธาในการถวายทาน แก่พระภิกษุสงฆ์กันมากขึ้น เนื่องจากท่านเศรษฐีเคยทำบุญให้ทานมานาน ก็รู้จิตใจของพระสงฆ์ได้ดี จึงจัดอาหารถวายได้ถูกใจพระเสมอ ฉะนั้น บ้านใดก็ตาม ถ้าจะถวายทานก็ต้องเชิญท่านเศรษฐีไปช่วยจัดการให้ ท่านก็ไปช่วยเหลือเขาเสมอๆ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงไม่เคยมีเวลาอยู่บ้าน เพื่อถวายทานประจำวันของท่าน ซึ่งมีพระสงฆ์มาฉันวันละ ๒ พันรูปทุกวัน ท่านจึงได้มอบหมายหน้าที่นี้ ให้ธิดาคนโตชื่อ มหาสุภัททา ช่วยจัดการถวายทาน ครั้น มหาสุภัททา ได้แต่งงาน และไปอยู่บ้านของสามีเสีย ก็ได้มอบหมายให้จุลสุภัททา ธิดาคนที่สอง รับหน้าที่นี้สืบไป ครั้น จุลสุภัททา ได้แต่งงาน ไปอยู่บ้านของสามี ก็มอบให้ สุมนเทวี ธิดาคนเล็ก รับหน้าที่นี้สืบไป(๑๕)
สมัยหนึ่ง ท่านได้ตกอับลง เพราะต้องเสียทรัพย์ไปครั้งใหญ่ถึง ๒ ครั้ง คือ พวกพ่อค้าผู้เป็นสหายได้ขอยืมเงินไป ๑๘ โกฏิ ทรัพย์อีกส่วนหนึ่งซึ่งฝังไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ จำนวน ๑๘ โกฏิ ได้ถูกน้ำเซาะตลิ่งพังทรัพย์ก็ถูกน้ำพัดไปในมหาสมุทร แม้ท่านจะตกอับลงอย่างนี้ก็ตาม ท่านก็ยังคงให้ทานอยู่เสมอวันละ ๕๐๐ รูป แต่เป็นอาหารจำพวกข้าวปลายเกวียนกับผักดอง
เทพธิดาตนหนึ่งซึ่งสิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของท่านได้ปรากฏกายให้เห็นในคืนวันหนึ่ง กล่าวตักเตือนถึงความขาดแคลนที่กำลังจะคืบคลายมาหาท่านอยู่เฉพาะหน้า และบอกท่านให้เลิกให้ทานเสีย ท่านก็ไม่ยอมเลิก และขับไล่เทพธิดาคนนั้นให้ไปอยู่เสียที่อื่น เทพธิดาจึงพาลูก ๆ ไปหาที่อยู่ใหม่ แต่หาเท่าไรก็ไม่ได้ที่เหมาะสม จึงไปขอคำแนะนำจากท้าวสักกะ ท้าวสักกะแนะนำให้กลับไปอยู่กับท่านอนาถบิณฑิกอีก แต่ต้องทำประโยชน์ให้แก่ท่าน โดยไปนำทรัพย์ ๑๘ โกฏิ ซึ่งไม่มีใครเป็นกรรมสิทธิ์ มาให้ท่านเศรษฐี เทพธิดาได้ปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น จึงได้รับอภัยจากท่านเศรษฐี.(๑๖)
ในคราวที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ตกอับลงนั้น พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จไปยังนครสาวัตถี อีกครั้งหนึ่ง เสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมื่อท่านเศรษฐีเข้าเฝ้าก็ตรัสถามว่า “ในตระกูลของท่าน ยังมีการให้ทานอยู่หรือคฤหบดี ?” ท่านทูลตอบว่า “ยังให้ทานอยู่ พระเจ้าข้า แต่ทานนั้นเป็นของเศร้าหมอง เป็นปลายข้าว มีน้ำผักดองเป็นที่สอง”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “วัตถุที่ให้นั้น จะเศร้าหมอง หรือประณีตก็ตาม แต่ถ้าผู้ให้เทให้ ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม ทานนั้นย่อมให้ผลไม่ดี แต่ถ้าผู้ให้ทาน ให้ด้วยความเคารพ ให้ด้วยความนอบน้อม ให้ด้วยมือของตนเอง ไม่ทิ้งให้เทให้ ให้เพราะเชื่อกรรมและผลของกรรม ทานนั้นย่อมให้ผลดี”
แล้วทรงเล่าเรื่องเวลามพราหมณ์ ผู้ให้มหาทานให้ท่านเศรษฐีฟัง(๑๗)
ทุกครั้งที่พระพุทธองค์เสด็จมาประทับที่พระเชตวันมหาวิหาร ท่านเศรษฐีต้องเข้าเฝ้าเสมอ ท่านมักจะเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ถวายพระองค์ก็ทรงอาศัยเรื่องของท่านนั่นเอง ได้ตรัสเล่าเรื่องนั้นๆ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตให้ท่านฟัง ดังปรากฏในชาดกต่างๆ เช่น ขทิรังคชาดก ปุณณปาติชาดกกาลกัณณิชาดก อกตัญญูชาดก ปีฐชาดก เกสวชาดก สิริกาลกัณณิชาดก สุสสาชาดก ภัททสาลชาดก มหาปทุมชาดก กาลิงคโพธิชาดก โรหิณีชาดก วารุณีชาดก อปัณณกชาดก เวรีชาดก กุสณาลิชาดก สิริชาดก วิสัยหชาดก ภัทรฆฏชาดก หิริชาดก(๑๗)
ธรรมส่วนมากที่พระพุทธองค์ตรัสแก่ท่านเศรษฐีเป็นธรรมสำหรับคฤหัสถ์ดังเช่น
จิตที่คุ้มครองรักษาไว้ดีแล้ว ก็เหมือนกับเรือนอันมีเครื่องมุง เครื่องบังดี ฉะนั้น(๑๙)
การให้ทานอาหาร ย่อมได้รับผล คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ(๒๐)
หน้าที่ ๔ อย่างของพ่อบ้านผู้มีศรัทธา (คิหิสามีจิปฏิปทา) คือ บำรุงพระภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช(๒๑)
ความปรารถนาของบุคคลในโลกจะสมหมายได้ยาก ๔ อย่างคือ
๑. ขอสมบัติจงเกิดมีแก่เราโดยทางที่ชอบ
๒. ขอยศจงเกิดมีแก่เรากับญาติพวกพ้อง
๓. ขอเราจงรักษาอายุให้ยืนนาน
๔. เมื่อสิ้นชีพแล้ว ขอเราจงไปบังเกิดในโลกสวรรค์(๒๒)
สิ่งที่น่าปรารถนา แต่สำเร็จได้ โดยยาก ๕ อย่าง คือ
๑. ขอให้มีอายุยืนนาน
๒. ขอให้มีรูปงาม
๓. ขอให้มีความสุข
๔. ขอให้มีเกียรติยศชื่อเสียง
๕. เมื่อตายไปแล้ว ขอให้เกิดในโลกสวรรค์(๒๓)
ความสุขของคฤหัสถ์ ๔ อย่าง คือ
๑. สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์
๒. สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค
๓. สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้
๔. สุขเกิดแก่การประกอบการงานที่ไม่มีโทษ(๒๔)
วิธีใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ๕ อย่าง คือ
๑. เลี้ยงตัว บิดา มารดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข
๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข
๓. บำบัดอันตรายอันจะเกิดแต่เหตุต่างๆ
๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ
(๑) ญาติพลี = สงเคราะห์ญาติ
(๒) อติถิพลี = ต้อนรับแขก
(๓) ปุพพเปตพลี = ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย
(๔) ราชพลี = ถวายเป็นหลวง มีเสียค่าภาษีอากรเป็นต้น
(๕) เทวตาพลี = ทำบุญอุทิศให้เทวดา
๕. บริจาคทานในสมณพาหมณ์ผู้ประพฤติชอบ(๒๕)
กรรมกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลเศร้าหมอง ๕ อย่างคือ
๑. ปาณาติบาต = ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง
๒. อทินนาทาน = ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ด้วยอาการขโมย
๓. กาเมสุ มิจฉาจาร = ประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาท = พูดเท็จ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน = ดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาณ(๒๖)
เนื่องจากท่านอนาถบิณฑิกะ มีศรัทธาในพระศาสนามาก ได้สละทรัพย์ ๔๕ โกฏิ สร้างพระเชตวันมหาวิหาร และได้ทำบุญอื่น ๆ อีกเป็นเงินจำนวนมากเหลือคณนา ดังนั้น ท่านจึงได้รับเกียรติพิเศษจากพระเจ้าปเสนทิโกศล คือให้ท่านเป็นคนปลูกต้นโพธิ์ไว้หน้าพระเชตวันมหาวิหาร มีชื่อว่า อานันทโพธิ มูลเหตุให้มีการปลูกโพธิ์ต้นนี้ มีเรื่องเล่าไว้ในกาลิงคชาดก(๒๗) ว่า ท่านอนาถบิณฑิกได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ในคราวที่พระพุทธองค์เสด็จมาสู่พระเชตวันมหาวิหารครั้งหนึ่ง แล้วเรียนท่านว่า
วิหารนี้เมื่อพระตถาคตเจ้าเสด็จจาริกไปโปรดสัตว์ ณ ที่อื่นเสีย ก็ไม่มีร่องรอยอะไรเหลือไว้เลย คนทั้งหลายถือดอกไม้ของหอมมาก็ไม่มีที่บูชา ขอพระคุณเจ้าช่วยทูลถามเรื่องนี้แด่พระตถาคตเจ้าด้วยว่า หากจะสร้างปูชนียสถานขึ้นสักแห่งหนึ่งจะได้หรือไม่ ?
ท่านพระอานนท์รับคำท่านเศรษฐี แล้วเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ทูลถามถึงพระเจดีย์ว่ามีเท่าไร ?
พระพุทธองค์ตรัสว่า มี ๓ คือ สารีริกธาตุเจดีย์ ปาริโภคิกเจดีย์ และอุททิสิกเจดีย์
ท่านพระอานนท์จึงกราบทูลเรื่องที่ท่านอนาถบิณฑิกเรียนถวาย แล้วทูลขออนุญาตนำพืชโพธิ์จากต้นศรีมหาโพธิ์มาปลูกไว้ที่พระเชตวันมหาวิหาร เพื่อให้เป็นปูชนียสถานแก่ประชาชนชาวนครสาวัตถีแทนพระองค์ในคราวที่เสด็จจาริกไปที่อื่น พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ปลูกได้ ท่านพระอานนท์จึงได้แจ้งเรื่องนี้แด่พระเจ้า ปเสนทิโกศล ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขา มหาอุบาสิกา เป็นต้น แล้วขอนิมนต์ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ให้เหาะไปนำเมล็ดโพธิ์จากต้นศรีมหาโพธิ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม มา ซึ่งท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็ได้เหาะไปนำมาได้สำเร็จในวันนั้นเอง
ครั้นนำมาแล้ว ก็ปรึกษากันว่า จะให้ใครเป็นคนปลูก จึงจะสมกับความสำคัญของต้นโพธิ์นี้ ทั้งพระสงฆ์และประชาชนได้ตกลงกันถวายเกียรติให้พระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นโกศลเป็นผู้ปลูก แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปฏิเสธ และทรงแนะนำว่า ควรจะให้เกียรตินี้แก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นคนปลูก เพราะท่านเป็นคนสร้างสถานที่นี้ แล้วทรงพระราชทานพืชโพธิ์ให้ท่านเศรษฐี ท่านเศรษฐีจึงได้เอาน้ำหอมประพรมเมล็ดโพธิ์แล้วปลูกลงไว้ แล้วทำการฉลองเป็นการใหญ่ และได้บูชาต้นโพธิ์ด้วยสักการะมากมาย ต้นโพธิ์นี้ปรากฏชื่อว่า อานันทโพธิ เพราะท่านพระอานนท์เป็นผู้ให้ปลูก(๒๘)
ของดี ของท่านเศรษฐีอีกอย่างหนึ่งคือ ศิริ ในสิริชาดก กล่าวว่า พราหมณ์คนหนึ่งต้องการขโมยศิริของท่านเศรษฐี จึงค้นหาว่าศิรินั้นอยู่ที่ไหน ก็พบว่าอยู่ที่หงอนไก่ตัวผู้สีขาวของท่าน จึงขอไก่ตัวนั้นต่อท่านเศรษฐี พอท่านเศรษฐีมอบไก่ให้พราหมณ์ไป ศิริก็หลบไปอยู่เสียที่ดวงแก้วมณี ซึ่งอยู่เหนือหัวนอนของเศรษฐี พราหมณ์จึงขอดวงแก้วมณี พอเศรษฐีตกลงให้ ศิริจึงออกไปอยู่ที่ไม้เตว็ดซึ่งอยู่เหนือหัวนอนของเศรษฐี พราหมณ์จึงขอไม้เตว็ด พอเศรษฐีตกลงให้ ศิริจึงหนีไปซ่อนอยู่ที่ศีรษะของภรรยาของท่านเศรษฐี ดังนั้น ความปรารถนาของพราหมณ์จึงล้มเหลว แล้วเล่าความจริงแก่ทานเศรษฐี(๒๙)
แม้ท่านเศรษฐีจะเป็นคนใจบุญ และไม่เคยเป็นศัตรูกับใครเลยก็ตาม แต่ก็มีคนคิดร้ายต่อท่านอยู่บ้านเหมือนกัน เพราะธรรมดาคนพาลย่อมไม่ชอบความดีของผู้อื่น แต่ด้วยบุญกุศลช่วยเหลือ ศัตรูก็ไม่สามารถจะทำอะไรท่านได้ ดังมีเรื่องเล่าว่า ท่านถูกพวกคนร้ายคอยดักทางเพื่อทำร้ายท่านถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกพวกนักเลงสุรา พยายามจะมอมสุราท่านแล้วแย่งเอาเครื่องประดับแต่ท่านรู้ทัน แล้วท่านขับไล่นักเลงให้หนีไป(๓๐)
ครั้งที่ ๒ ขณะที่ท่านเดินทางกลับจากไปทำธุรกิจยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พวกโจรจำนวนหนึ่งมาคอยดักทางอยู่ แต่ท่านก็รีบกลับเสียก่อนเวลา(๓๑)
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นอกจากเป็นนักธุรกิจการค้าที่สุขุมรอบคอบและเป็นอัครทายกผู้ให้ทานมากแล้ว ท่านได้รับยกย่องว่าเป็นนักโต้คารมที่ชำนาญด้วย ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย(๓๒) กล่าวไว้ว่า ท่านเศรษฐีเคยไปหาพวกปริพพาชกในยามว่างๆ ท่านได้เคยโต้คารมกับพวกบริพพาชกอย่างเผ็ดร้อน ในทัศนะอันขัดแย้งกนระหว่างลัทธิของพวกปริพพาชกกับพระพุทธศาสนา ท่านสามารถพูดให้คู่แข่งขันจำนนต่อเหตุผลได้ เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธองค์ ก็ทรงสรรเสริญเป็นอย่างมาก
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้บำเพ็ญทานรักษาศีลตลอดมามิได้บกพร่องจนกระทั่งถึงบั้นปลายแห่งชีวิต ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ท่านได้ล้มป่วยหนักลง จนท่านรู้ตัวว่าจะต้องตายแน่แล้ว จึงได้ส่งคนไปกราบทูลพระพุทธองค์ว่า ท่านป่วยหนัก จนถึงนอนลุกไม่ได้อีก บัดนี้ขอน้อมเกล้าถวายบังคมมาถึงพระองค์ และพร้อมกันนั้นก็ให้นิมนต์ท่านพระสารีบุตรเถระ มาที่บ้านด้วย ท่านพระสารีบุตรเถระพร้อมด้วยท่านพระอานนท์ได้ไปเยี่ยมท่านเศรษฐีที่บ้าน ไต่ถามถึงความป่วยไข้แล้ว ได้แสดงธรรมเทศนา สอนท่านให้ถอน ตัณหา ทิฐิ มานะ ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นว่านี้ของเรา นี้เป็นเรา นี้เป็นตัวขอเรา เป็นต้น เมื่อจบธรรมเทศนาแล้วก็ลากลับ
ท่านเศรษฐีร้องไห้น้ำตาไหล ถึงกับพูดว่า ยังไม่เคยฟังธรรมกถาที่ไพเราะจับใจถึงเพียงนี้เลย ธรรมเทศนานี้มีชื่อว่า อนาถบิณฑิโกวาทสูตร ครั้นท่านพระเถระทั้งสองจากไปแล้วไม่นานนัก ท่านเศรษฐีก็ถึงกาลกิริยาตายบนเตียงนอนของท่านเอง แล้วไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต(๓๓)
ในคืนนั้นเอง ตอนปฐมยามล่วงไปแล้ว อนาถบิณฑิกเทพบุตรผู้มีรัศมีอันงดงามได้ลงมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวันมหาวิหาร ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลพรรณนาพระเชตวันมหาวิหาร และสรรเสริญคุณท่านพระสารีบุตรเถระว่า
พระเชตวันมหาวิหารนี้มีประโยชน์ อันสงฆ์ผู้แสวงบุญอยู่อาศัยแล้ว อันพระองค์ผู้เป็นธรรมราชาประทับอยู่ เป็นที่เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ อย่างนี้ คือ ๑. กรรม ๒. วิชชา ๓. ธรรม ๔. ศีล ๕. ชีวิตอุดม ไม่ใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้นแลบุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายอย่างนี้ จึงจะบริสุทธิ์ในธรรมนั้นได้ พระสารีบุตรเถระ นั้นและย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ด้วยศีล และด้วยความสงบ ความจริงภิกษุผู้ถึงฝั่งแล้ว จะอย่างยิ่งก็เท่าพระสารีบุตรเถระ นี้เท่านั้น(๓๔) |
|
Update : 17/4/2554
|
|