|
|
พ่อค้าชื่อตปุสสะและภัลลิกะ
พ่อค้าชื่อตปุสสะและภัลลิกะ
เอตทัคคะในทางผู้ถึงสรณะก่อน
ตปุสสะเป็นพ่อค้าที่มาจากอุกกลชนบทคู่กับ ภัลลิกะ ซึ่งเป็นน้องชาย ท่านเป็นบุตรของกฏุมพี ในอสิตัญชนนคร
ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จจากควงไม้มุจจลินท์ เข้าไปยังต้นไม้ราชายตนะ แล้วประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้ราชายตนะ ตลอด ๗ วัน
ในสัปดาห์ที่ ๘ ประทับนั่งใต้ต้นเกด
สมัยนั้น พาณิชทั้งสองเดินทางจากอุกกลชนบท จะไปยังมัชฌิมประเทศ ด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม เทวดาผู้เป็นญาติสาโลหิตของตนในชาติก่อน ซึ่งเคยเป็นมารดาของพาณิชทั้งสองได้เกิดเป็นเทวดาอยู่ในที่แถวนั้นในอัตภาพติดต่อกัน ๕ อัตภาพ (ชาติ)
นางคิดว่า บัดนี้พระพุทธเจ้าควรที่จะได้รับพระกระยาหาร เพราะต่อแต่นี้ไปพระองค์ปราศจากพระกระยาหารจะไม่สามารถทรงพระชนม์ชีพอยู่ได้
อนึ่ง บุตรของเราทั้งสองนี้ก็ไปตามสถานที่นี้
วันนี้บุตรทั้งสองนั้นควรได้ถวายบิณฑบาตแด่พระพุทธเจ้าดังนี้แล้ว จึงได้ทำให้โคที่เทียมเกวียนทั้ง ๕๐๐ เล่ม หยุดไม่เดินไป
พวกเขาต่างพูดว่า นี่อะไรกัน อะไรกันนี้ จึงพากันตรวจดูนิมิตต่างๆ
ทีนั้น เทพยดานั้นทราบว่าเขาทั้งสองลำบาก จึงเข้าสิงในร่างของบุรุษคนหนึ่งแล้วกล่าวว่า
เพราะเหตุไร พวกท่านจึงต้องลำบาก ไม่มียักษ์อื่นกลั่นแกล้ง ไม่มีภูตผีกลั่นแกล้ง ไม่มีนาคกลั่นแกล้งพวกท่านดอก แต่เราเป็นมารดาของพวกท่านในอัตภาพ (ชาติ) ที่ ๕ บังเกิดเป็นภุมเทวดาอยู่ในที่นี้
ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้ราชายตนะ ท่านทั้งสองจงไปบูชาพระผู้มีพระภาคนั้น ด้วยสัตตุผงและสัตตุก้อนการบูชาของท่านทั้งสองนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ท่านทั้งหลายตลอดกาลนาน
พาณิชทั้งสองได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้ราชายตนะ (ไม้เกด) ได้ทูลถวายเสบียงเดินทางคือ ข้าวสัตตุผง ข้าวสัตตุก้อน แด่พระพุทธเจ้า ตามคำบอกของเทวดา
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงปริวิตกว่า
พระตถาคตทั้งหลาย ไม่รับวัตถุด้วยมือ เราจะพึงรับสัตตุผง และสัตตุก้อนด้วยอะไรหนอ
ได้ทราบว่า บาตรใดของพระองค์ได้มีอยู่ในเวลาทรงประกอบความเพียร แต่บาตรนั้นได้หายไปเมื่อนางสุชาดามาถวายข้าวปายาส
เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงได้ทรงมีพระรำพึงนี้ว่า
บาตรของเราไม่มี ก็แลพระตถาคตทั้งหลายองค์ก่อนๆ ไม่ทรงรับด้วยพระหัตถ์เลย เราจะพึงรับข้าวสัตตุผงและข้าวสัตตุก้อนปรุงน้ำผึ้งด้วยอะไรเล่าหนอ ?
ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ทรงทราบพระปริวิตกแห่งจิตของพระผู้มีพระภาค ด้วยใจของตนแล้ว เสด็จมาจาก ๔ ทิศ ทรงนำบาตรที่สำเร็จด้วยศิลา ๔ ใบ เข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับสัตตุผงและสัตตุก้อนด้วยบาตรนี้ พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคทรงใช้บาตรสำเร็จด้วยศิลาอันใหม่เอี่ยมมีพรรณ (สี) คล้ายถั่วเขียว รับสัตตุผงและสัตตุก้อน แล้วเสวย
(ก็ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้น้อมถวายบาตรแล้วด้วยแก้วอินทนิล มีพรรณเขียวเลื่อมประภัสสร ดังแสงปีกแมลงทับ ในตำหรับไสยศาสตร์ชื่อว่าแก้วมรกตก่อน พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงรับบาตรเหล่านั้น)
สองพาณิชได้แสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นสรณะ นับเป็นปฐมอุบาสกผู้ถึงสรณะ ๒ ที่เรียกว่า เทฺววาจิก (ทเววาจิกะ)
สองพาณิชนั้นครั้นประกาศความเป็นอุบาสกอย่างนั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ทีนี้ ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์พึงทำการอภิวาทและยืนรับใครเล่าพระเจ้าข้า ? พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลูบพระเศียร
พระเกศาติดพระหัตถ์ ๘ เส้น มีสีดุจแก้วอินทนิลแลปีกแมลงภู่ได้ประทานพระเกศาเหล่านั้นแก่เขาทั้งสอง ด้วยตรัสว่า
ท่านจงรักษาผมเหล่านี้ไว้ สองพาณิชนั้น ได้พระเกศาธาตุราวกะได้อภิเษกด้วยอมตธรรมใส่ในผอบทองคำ รื่นเริงยินดีถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วอัญเชิญพระเกศธาตุไปยังเมืองของตน ให้บรรจุพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้าที่ยังมีพระชนม์ไว้ที่ประตูอสิตัญชนนคร
ในวันอุโบสถก็มีรัศมีสีนิลเปล่งออกมาจากพระเจดีย์ เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยทำนองนี้
ก็ในกาลต่อมา พระศาสดาประทับนั่งในพระเชตวัน เมื่อทรงสถาปนาอุบาสกทั้งหลายไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาชนทั้งสองนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ผู้ถึงสรณะก่อนแล
ก็นายพาณิชสองคนนั้น ได้เป็นอุบาสกกล่าวอ้าง ๒ รัตนะ เป็นชุดแรกในพระพุทธศาสนา
๐ บุพกรรมในอดีตชาติ
ได้ยินว่า พ่อค้าทั้งสองนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ถือเอาปฏิสนธิในเรือนสกุล กรุงหังสวดี
ต่อมา ได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสกสองคนไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้ถึงสรณะเป็นคนแรก จึงกระทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น. เขาทั้งสองเวียนว่ายตายเกิดไปในเทวดาและมนุษย์สิ้นแสนกัป มาบังเกิดในเรือนกุฏุมพีในอสิตัญชนนคร ก่อนพระโพธิสัตว์ของเราทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
[อ้างอิง :: วินย. ๔/๕-๖ ; วินย. อ. ๓/๒๗-๒๘ ; อป.อ. ๘/๑/๑๕๘-๑๕๙ ; องฺ.อ. ๑/๒/๕๗-๕๙ ; พุทฺธ.อ. ๙/๒/๓๒ ; วินย.อ. ๔/๑/๒๖-๒๙ ; ปฐมสมโพธิกถา ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส หน้า ๑๗๙-๑๘๒]
.............................................................
คัดลอกมาจาก ::
สารานุกรม พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
http://www.dharma-gateway.com/ |
|
Update : 17/4/2554
|
|