พระสิงคาลมาตาเถรี
เอตทัคคะในทางผู้พ้นกิเลสด้วยศรัทธา
พระสิงคาลมาตาเถรีผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลายผู้พ้นกิเลสด้วยศรัทธา ก็โดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้
๐ ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต
ในกัปที่หนึ่งแสนแต่ภัทรกัปนี้ ในสมัยของพระปทุมุตรพุทธเจ้า ครั้งนั้นนางเกิดในสกุลอำมาตย์ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ในพระนครหงสวดี เมื่อเติบใหญ่แล้ว วันหนึ่ง นางได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับบิดาเพื่อฝังธรรม ครั้นเมื่อได้สดับพระธรรมเทศนานั้นแล้วก็บังเกิดความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า จึงได้ออกบวชเป็นภิกษุณี ครั้นบวชแล้ว ก็ได้ละเว้นบาปกรรมทางกาย ละวจีทุจริตชำระอาชีวะบริสุทธิ์ มีความเลื่อมใสเคารพเป็นอย่างยิ่งในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ขวนขวายในการฟังธรรม มีศรัทธาในพระพุทธเจ้าเป็นปกติของตน
ครั้งหนึ่ง เมื่อฟังธรรมของพระศาสดา นางเห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณี ฝ่ายสัทธาธิมุติ จึงปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง
ครั้งนั้น พระสุคตเจ้าผู้มีพระอัธยาศัยประกอบด้วยกรุณา ตรัสกะนางว่าบุคคลผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหว ตั้งมั่นดีในพระตถาคต มีศีลงามที่พระอริยะรักใคร่สรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ มีความเห็นตรง นักปราชญ์เรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เป็นหมัน เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงหมั่นประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใสและความเห็นธรรม
นางได้ฟังพระพุทธดำรัสนั้นแล้ว มีความเบิกบานใจ ได้ทูลถามถึงความปรารถนาของนาง
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่า เธอเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า มีธรรมงาม จักได้ตำแหน่งที่เธอปรารถนานั้น ในกัปที่หนึ่งแสนต่อจากกัปนี้ พระศาสดาพระนามว่าโคดม มีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้เป็นธรรมทายาทแห่งพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นโอรสอันธรรมนิรมิต เป็นมารดาแห่งสิงคาลมาณพ จักได้เป็นสาวิกาของพระศาสดาครั้งนั้น
นางเมื่อได้ฟังพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็มีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยการเพียรปฏิบัติตนทั้งหลายจนสิ้นชีวิต ด้วยกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้วนั้นและด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ นางละร่างกายมนุษย์แล้ว ได้ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
๐ ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า
ในพุทธุปบาทกาลนี้บังเกิดในสกุลเศรษฐีกรุงราชคฤห์ ได้สามีที่มีสกุล เป็นคฤหบดีมหาศาล มีชาติเสมอกัน มีทรัพย์เก็บไว้ในเรือน ๔๐ โกฏิ ต่อมานางได้มีบุตรคนหนึ่ง ชื่อว่า สิงคาลกุมาร เพราะเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงเรียกนางว่า สิงคาลมารดา
ได้ยินว่าคฤหบดีผู้เป็นบิดาสิงคาลกุมารนั้น ถึงความเชื่อมั่นในพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นอุบาสกผู้โสดาบัน แต่บุตรของเขาไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส. ครั้งนั้น มารดาและบิดาก็ได้สั่งสอนบุตรนั้นเนืองๆ อย่างนี้ว่า นี่แน่ลูก ลูกจงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา เข้าไปหาพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะพระมหาสาวกทั้ง ๘๐ องค์
แต่บุตรนั้นก็กล่าวว่า การเข้าไปหาสมณะทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ฉัน เพราะการเข้าไปหาสมณะทั้งหลายก็ต้องไหว้เมื่อก้มลงไหว้หลังก็เจ็บ เข่าก็ด้าน จำเป็นต้องนั่งบนพื้นดิน เมื่อนั่งบนพื้นดินนั้น ผ้าก็จะเปื้อน จะเก่า นับแต่เวลานั่งใกล้ ย่อมมีการสนทนาเมื่อมีการสนทนา ย่อมเกิดความคุ้นเคย แต่นั้นย่อมต้องนิมนต์แล้วถวายจีวรและบิณฑบาตเป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ประโยชน์ย่อมเสื่อม การเข้าไปหาพวกสมณะย่อมไม่มีแก่ฉัน ดังนี้
มารดาบิดาแม้สอนบุตรของเขาจนตลอดชีวิต ด้วยประการฉะนี้ ก็ไม่สามารถจะนำเข้าไปในศาสนาได้ ต่อมา บิดาของเขาเมื่อใกล้จะตาย นอนอยู่บนเตียงคิดว่า ควรจะให้โอวาทแก่บุตรของเรา แล้วคิดต่อไปว่า เราจักให้โอวาทแก่บุตรอย่างนี้ว่า นี่แน่ลูก ลูกจงนอบน้อมทิศทั้งหลาย เมื่อเขาไม่รู้ความหมายที่แท้จริงก็จักนอบน้อมทิศทั้งหลาย ลำดับนั้น พระศาสดาหรือพระสาวกทั้งหลาย เห็นเขาแล้วจักถามว่า เธอทำอะไร แต่นั้นเขาก็จักกล่าวว่า บิดาของข้าพเจ้าสอนไว้ว่าเจ้าจงกระทำการนอบน้อมทิศทั้งหลาย ลำดับนั้น พระศาสดาหรือพระสาวกทั้งหลาย จักแสดงธรรมแก่เขาว่า บิดาของเธอจักไม่ให้เธอนอบน้อมทิศทั้งหลายเหล่านั้น แต่จักให้เธอนอบน้อมทิศเหล่านี้ เขารู้คุณในพระพุทธศาสนาแล้วจักทำบุญดังนี้
ลำดับนั้น คฤหบดีให้คนเรียกบุตรมาแล้วกล่าวว่านี่แน่ลูก ลูกควรลุกแต่เช้าตรู่ แล้วนอบน้อมทิศทั้งหลายดังนี้ ธรรมดาถ้อยคำของบิดาที่สั่งไว้ก่อนที่จะตาย ย่อมเป็นถ้อยคำอันบุตรพึงระลึกถึงจนตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น คฤหบดีบุตรนั้น จึงได้ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ กระทำการไหว้ทิศทั้งหลายอย่างนั้น
ตอนเช้าตรู่ในวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ก็ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกคฤหบดีบุตรนั้น กำลังนอบน้อมทิศทั้งหลายอยู่ ทรงดำริว่า วันนี้ เราจักกล่าวสิงคาลกสูตรอันเป็นวินัยของคฤหัสถ์แก่สิงคาลกคฤหบดีบุตร ถ้อยคำนั้นจักบังเกิดประโยชน์แก่มหาชน เราควรไปในที่นั้น ดังนี้
วันนั้น พระองค์จึงเสด็จออกแต่เช้าตรู่ เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต เมื่อเสด็จเข้าไป ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกคฤหบดีบุตรไหว้ทิศทั้งหลายอยู่อย่างนั้น จึงได้ตรัสถามสิงคาลกคฤหบดีบุตรว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร เธอทำอะไรหนอ
สิงคาลกคฤหบดีบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คุณพ่อของข้าพระพุทธเจ้าเมื่อใกล้จะตายได้สั่งไว้ให้ข้าพระพุทธเจ้าพึงนอบน้อมทิศทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้าสักการะ เคารพนับถือ บูชาคำของคุณพ่อ จึงลุกขึ้นแต่เช้า กระทำการนอบน้อมทิศทั้งหลายอยู่ดังนี้
พระผู้มีพระภาค : ดูกรคฤหบดีบุตร ในวินัยของพระอริยเจ้า เขาไม่นอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างนี้
สิงคาลกคฤหบดีบุตรทูลถามว่า : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันอย่างไร ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ตามที่ในวินัยของพระอริยเจ้าท่านนอบน้อมทิศ ๖ กันนั้นเถิด ฯ
จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้แสดงสิงคาลสูตร แก่สิงคาลมาณพ เมื่อจบแล้วสิงคาลมาณพบังเกิดความเลื่อมใส กล่าวถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต นางสิงคาลมาตาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันในคราวนั้น
๐ นางสิงคาลมาตาออกบวช
จากนั้น เมื่อนางเห็นว่า สามีก็ได้สิ้นชีวิตไปแล้ว ประกอบกับบุตรของตนก็ได้เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงได้ออกบวชเป็นภิกษุณี
ตั้งแต่บวชแล้ว กลับได้สัทธินทรีย์ประมาณยิ่ง นางไปสู่วิหารเพื่อต้องการฟังธรรม กำลังยืนมองดูพระสิริสมบัติของพระทศพลอยู่นั่นเอง ขณะนั้นพระศาสดาทรงทราบว่า นางเป็นผู้ดำรงมั่นในลักษณะแห่งศรัทธาแล้ว จึงทรงแสดงธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส พระเถรีนั้นก็กระทำศรัทธาลักษณะนั่นแหละให้เป็นธุระ ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว
๐ ทรงแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะผู้พ้นกิเลสด้วยศรัทธา
ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวก ภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระสิงคาลมาตาเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลายผู้พ้นกิเลสด้วยศรัทธา
.............................................................
คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
|