|
|
พระอุบาลีเถระ
พระอุบาลีเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย
พระอุบาลีเถระ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระที่มีความสำคัญยิ่งท่านหนึ่งในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องพระวินัยปิฎก ทั้งนี้เป็นเพราะเหล่าพระเถระทราบดีว่าพระพุทธองค์ทรงยกย่องให้ท่านเป็นเอตทัคคะ เลิศกว่าพวกภิกษุผู้ทรงวินัย ในการที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านเช่นนั้น ก็มีเหตุเนื่องมาจากความปรารถนาของท่านในอดีตนั่นเอง
๐ ความปรารถนาในอดีต
ในสมัยหนึ่ง ท่านเกิดเป็นพราหมณ์ชื่อว่า สุชาต ในหงสาวดีนคร สะสมทรัพย์ไว้ ๘๐ โกฏิ มีทรัพย์และข้าวเปลือกนับไม่ถ้วน เป็นผู้มีความรู้อย่างยิ่ง มหาชนต่างนับถือ แต่ตัวท่านเองในครั้งนั้นไม่นับถือผู้ใด ด้วยในสมัยนั้นยังไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ในครั้งนั้นท่านมีมานะ กระด้าง ไม่เห็นผู้ที่ควรบูชา
ครั้นต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในครั้งนั้น พระองค์ได้เสด็จเข้ามายังนครหงสาวดี.เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบิดา มหาชนหลั่งไหลเข้ามาฟังธรรมเป็นอาณาบริเวณประมาณ ๑ โยชน์โดยรอบ ดาบสท่านหนึ่งชื่อสุนันทะ ได้สร้างปะรำดอกไม้ขึ้นบังแสงแดดเพื่อประโยชน์แห่งมหาชนตลอดทั่วทั้งพุทธบริษัท
ในครั้งนั้น.เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศอริสัจ ๔ บริษัทแสนโกฏิก็ได้บรรลุธรรม.พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ครั้นถึงวันที่ ๘ พระองค์ทรงพยากรณ์สุนันทดาบส ดังนี้ว่า ในแสนกัปนับจากนี้ไป จักมีพระศาสดาในโลก ผู้ทรงสมภพจากราชตระกูลพระเจ้าโอกกากราช พระนามโดยพระโคตรว่า โคดม ดาบสนี้จักเกิดเป็นพุทธสาวกโดยนามว่า ปุณณมันตานีบุตร.และจะได้เป็นเอตทัคคะยิ่งกว่าสาวกอื่น
ท่านได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธองค์แล้วก็ปรารถนาจะได้ตำแหน่ง ผู้เป็นเลิศในพระวินัย ท่านจึงได้ซื้อสวนชื่อว่า โสภณะ ด้านหน้าพระนคร ด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง สร้างวัดถวายพระพุทธเจ้า ท่านได้สร้าง เรือนยอด ปราสาท มณฑป ถ้ำ คูหา และที่จงกรม สร้างเรือนอบกาย โรงไฟ โรงเก็บน้ำและห้องอาบน้ำ ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์. ท่านได้ถวายปัจจัยคือ ตั่ง เตียง ภาชนะ เครื่องใช้สอยและยาประจำวัดนี้ทุกอย่าง ท่านให้สร้างกำแพงอย่างมั่นคง สร้างที่อยู่อาศัย ให้ท่านผู้มีจิตสงบผู้คงที่ไว้ในสังฆาราม ทั้งหมดนี้ด้วยทรัพย์อีกจำนวนแสนหนึ่ง รวมเป็นสองแสน
ครั้นเมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้นิมนต์พระปทุมุตตระพุทธเจ้า ให้เสด็จมาเพื่อถวายพระอาราม ครั้นเมื่อถึงเวลา พระปทุมุตตรพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระขีณาสพพันหนึ่ง ได้เสด็จเข้าไปสู่อาราม ท่านได้ถวายภัตตาหารแล้ว จึงได้ทูลถวายอารามนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นทรงรับสังฆารามที่สร้างเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงอนุโมทนาและทรงพยากรณ์พราหมณ์สุชาตว่า ในอีกแสนกัปข้างหน้า จักมีพระศาสดาในโลก ผู้ทรงสมภพในราชตระกูลโอกกากราช พระนามโดยพระโคตรว่า โคตมะ พระองค์จักทรงมีพุทธชิโนรส ผู้เป็นธรรมทายาท เป็นพุทธสาวก ชื่อว่า อุบาลี. เธอจักบำเพ็ญบารมีในพระวินัย ดำรงไว้ซึ่งพระศาสนาของพระชินะ และเป็นผู้หาอาสวะมิได้. พระสมณโคดมจักทรงแต่งตั้งเธอไว้ในเอตทัคคะ
๐ ทำกรรมไว้กับพระปัจเจกพุทธเจ้า
ในชาติก่อนจึงต้องเกิดมาในตระกูลที่ต่ำ
ในกัปที่สองภายหลังภัทรกัปนี้ไป ท่านเกิดเป็นโอรสของพระเจ้าอัญชสะ ผู้มีพระเดชานุภาพยิ่งใหญ่ มีทรัพย์หลายแสนโกฏิ ชื่อว่า เจ้าชายจันทนะ เจ้าชายนั้นเป็นคนกระด้าง คือแข็งกร้าว ถือตัว ด้วยความเมาในชาติตระกูล ยศ และโภคะ
ในวันหนึ่งท่านได้เสด็จออกประพาสอุทยานนอกพระนคร โดยทรงช้างชื่อว่า สิริกะ แวดล้อมด้วย กองทัพไพร่พลและบริวารเป็นอันมาก ในทางที่จะไปนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านามว่าเทวละทรงพระดำเนินผ่านหน้าช้างไป ท่านจึงไสช้างพระที่นั่งไปล่วงเกินพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ด้วยพระบารมีในพระปัจเจกพุทธเจ้า ช้างพระที่นั่งนั้นกลับแสดงอาการโกรธท่านซึ่งเป็นผู้บังคับช้าง และไม่ยอมย่างเท้า ยืนหยุดนิ่งอยู่ ตัวท่านเมื่อได้แสดงกิริยาต่ำช้าเช่นนั้นต่อพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าเห็นช้างไม่พอใจ จึงได้โกรธพระปัจเจกพุทธเจ้า เบียดเบียนพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ไปยังพระอุทยาน ข้าพเจ้าไม่พบความสำราญ ณ ที่นั้น เหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ถูกความกระวนกระวายแผดเผา เหมือนปลาติดเบ็ด พื้นแผ่นดินเป็นเสมือนไฟลุกไปทั่วสำหรับข้าพเจ้า เมื่อภัยเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระราชบิดาเล่าความทั้งหมดให้ฟัง
พระเจ้าอัญชสะได้ฟังก็ตกพระทัย ตรัสว่า เพราะกระทำความไม่เอื้อเฟื้อในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น พวกเราทั้งหมดจักพินาศ พวกเราจักให้พระปัจเจกสัมพุทธมุนีนั้นอดโทษ จึงจักไม่ฉิบหาย.หากเราทั้งหลายไม่ไปขอให้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทรงยกโทษ ภายใน ๗ วัน แว่นแคว้นอันสมบูรณ์ของเรา จักทำลายหมด.
ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าขอขมาต่อพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ทรงยกโทษให้ ด้วยกรรมเช่นนี้ท่านจึงต้องเกิดมาในตระกูลที่ต่ำในชาตินี้
๐ กำเนิดในพุทธกาล
พระอุบาลี เกิดในตระกูลช่างกัลบก ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กทำหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าพนักงานภูษามาลา มีหน้าที่ตัดแต่งพระเกศา และดูแลเครื่องแต่งพระองค์ประจำราชสกุลศากยะ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงรักภักดี เสมอต้นเสมอปลาย จนเป็นที่ไว้วางพระหฤทัย
๐ ออกบวชพร้อมด้วยศากยะทั้งหก
เมื่อครั้งพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ตามคำทูลอาราธนาของพระกาฬุทายีเถระ เมื่อพระพุทธองค์รับนิมนต์แล้วจึงเสด็จจาริกพร้อมภิกษุแสนรูปเป็นบริวาร เสด็จออกจากรุงราชคฤห์ไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ในวันที่ถึง ก็ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดหมู่พระญาติ แล้วในวันที่ ๒ ทรงเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกในกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงแสดงธรรมถวายพระพุทธบิดา ทรงอนุเคราะห์พระญาติที่พึงทรงกระทำในที่นั้น แล้วทรงบรรพชาให้ราหุลกุมาร ต่อมาก็เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ จาริกไปในมัลลรัฐแล้วเสด็จกลับมายังอนุปิยอัมพวันของมัลลกษัตริย์ ฯ
จากนั้น เหล่าขัตติยกุมารในแต่ละมหาสาขาของศากยวงศ์เป็นอันมากก็ออกบรรพชาตามเสด็จพระพุทธองค์ ครั้งนั้น เจ้าชายแห่งศากยวงศ์ ๖ พระองค์ก็มีพระประสงค์จะออกผนวชตามเสด็จบ้าง จึงได้เดินทางออกจากกรุงกบิลพัสดุ์โดยกระบวนพยุหยาตรา ให้เป็นเสมือนเสด็จประภาสราชอุทยาน โดยในครั้งนั้น นายอุบาลีภูษามาลาก็ได้ตามเสด็จด้วยในฐานะมหาดเล็กคนสนิท ครั้นย่างเข้าพรมแดนอื่นแล้ว ก็สั่งให้กระบวนตามเสด็จกลับทั้งหมด ทรงพระดำเนินตามลำพัง ๖ พระองค์ต่อไป พร้อมด้วยนายอุบาลีภูษามาลา เมื่อเห็นว่าได้มาไกลพอสมควรแล้วทั้ง ๖ พระองค์จึงได้ส่งนายอุบาลีภูษามาลากลับและทรงเปลื้องเครื่องประดับออก เอาภูษาห่อแล้วมอบให้กับนายอุบาลีเพื่อใช้เป็นทรัพย์ในการเลี้ยงชีพต่อไป
ครั้งนั้น นายอุบาลีผู้เป็นภูษามาลา ก็ได้เดินทางกลับพร้อมห่อเครื่องประดับที่ได้รับมานั้น เมื่อเดินทางมาได้ระยะหนึ่งก็ฉุกใจคิดว่า ถ้าเรากลับไปแล้ว เจ้าศากยะในกรุงกบิลพัสดุ์ก็จะคิดว่าเราลวงเจ้าชายมาประหารแล้วชิงเอาเครื่องประดับตกแต่งมา ก็ศากยกุมารทั้ง ๖ นี้ยังทรงผนวชได้ ไฉนเราจึงจะบวชบ้างไม่ได้เล่า เขาจึงแก้ห่อเครื่องประดับแล้วเอาเครื่องประดับนั้นแขวนไว้บนต้นไม้ แล้วพูดว่า ของนี้เราให้แล้ว ผู้ใดเห็น ผู้นั้นจงนำไปเถิด แล้วเดินตามไปเฝ้าศากยกุมารเหล่านั้น ศากยกุมารเหล่านั้น ทอดพระเนตรเห็นอุบาลีผู้เป็นภูษามาลา เดินกลับมาจึงรับสั่งถามว่ากลับมาทำไม
นายอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาจึงเล่าความให้ทราบ เหล่าขัติยกุมารก็เห็นด้วย จึงพาอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลขอบวช โดยทรงขอให้พระพุทธองค์ บวชให้นายอุบาลีนี้ก่อน ด้วยเหตุเพื่อลดมานะความถือตัวของตนเองที่เป็นวงศ์กษัตริย์ เมื่อบวชหลังนายอุบาลีก็ต้องทำความเคารพผู้ที่บวชมาก่อน แม้ผู้นั้นจะเคยเป็นมหาดเล็กรับใช้ก็ตาม
พระผู้มีพระภาคจึงโปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาบวชก่อน ให้ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง ฯ
๐ กราบทูลขอออกปฏิบัติธรรมในป่า แต่ไม่ทรงอนุญาต
ครั้นเมื่อบวชแล้ว ท่านก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเพื่อขอออกปฏิบัติธรรมในป่าและราวป่าอันสงัด
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงห้ามท่าน โดยทรงพระดำริว่า ถ้าท่านเลือกที่จะอยู่ในเสนาสนะป่านั้นท่านก็จะสามารถบำเพ็ญได้แต่วาสธุระ (การปฏิบัติวิปัสสนาธุระ) ได้เพียงอย่างเดียว บำเพ็ญคันถธุระ (การเล่าเรียนด้านปริยัติ) ไม่ได้ แต่ถ้าท่านเลือกที่จะอยู่ในสำนักพระบรมศาสดาจะสามารถบำเพ็ญกิจทั้งสองนี้ได้ แล้วทรงเล็งเห็นว่าในอนาคตท่านพระอุบาลีจะบรรลุพระอรหัต และจะเป็นหัวหน้าในฝ่ายวินัยปิฎก เมื่อทรงดำริความข้อนี้ จึงไม่ทรงอนุญาตการอยู่ป่าแก่พระเถระ.
พระอุบาลีนั้นรับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว ได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมอยู่ ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต และพระศาสดาก็ทรงสอนพระวินัยปิฎกให้พระอุบาลีด้วยพระองค์เอง
๐ พระอุบาลีเถระกับการบัญญัติพระวินัย
ท่านได้ทำหน้าที่ทรงจำพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นอย่างดี จนได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้า ในพระวินัยปิฎก จุลวรรค เสนาสนขันธกะ ได้แสดงไว้ว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงวินัยกถา สรรเสริญพระวินัยและยกย่องการเรียนพระวินัย ได้ทรงยกพระอุบาลีเป็นตัวอย่าง และทรงชักชวนให้พระภิกษุทั้งหลายเรียนพระวินัยในสำนักของพระอุบาลี
๐ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ใน
ตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ทรงวินัย
ครั้งนั้น พระศาสดา ทรงให้ท่านเรียนพระวินัยปิฎกทั้งสิ้นด้วยพระองค์เอง ต่อมาท่านวินิจฉัยเรื่อง ๓ เรื่อง คือ เรื่องพระภิกษุเมืองภารุกัจฉะ เรื่องพระอัชชุกะ และเรื่องพระกุมารกัสสป ซึ่งพระศาสดาประทานสาธุการรับรองแต่ละเรื่องที่ท่านวินิจฉัยแล้ว เทียบเคียงกับพระสัพพัญญุตญาณ
พระอรรถกถาเขียนไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงสดับ (เรื่องที่ท่านพระอุบาลีเถระวินิจฉัยนั้นแล้ว) ตรัสว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อุบาลีกล่าวไว้ชอบแล้ว, อุบาลีกล่าวแก้ปัญหานี้ ดุจทำรอยเท้าไว้ในที่ไม่มีรอยเท้า ดุจแสดงรอยเท้าไว้ในอากาศ ฉะนั้น”
และได้ทรงกระทำเรื่องทั้ง ๓ เรื่องนั้น ให้เป็นอัตถุปปัตติ คือเหตุเกิดเรื่อง จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ทรงวินัย
เรื่องภิกษุชาวเมืองภารุกัจฉะฝัน
สมัยหนึ่ง ภิกษุชาวเมืองภารุกัจฉะรูปหนึ่ง ฝันว่าได้เสพเมถุนธรรมในภรรยาเก่า แล้วคิดว่า เราไม่เป็นสมณะ จักสึกละ แล้วเดินทางไปสู่เมืองภารุกัจฉะ พบท่านพระอุบาลีในระหว่างทาง จึงกราบเรียนเรื่องนั้นให้ทราบ ท่านพระอุบาลีกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส อาบัติไม่มีเพราะความฝัน.
เรื่องพระอัชชุกะเมืองเวสาลี
สมัยหนึ่ง คหบดีอุปัฏฐากคนหนึ่งของท่านพระอัชชุกะในเมืองเวสาลี มีเด็กชาย๒ คน คือ บุตรชายคนหนึ่ง หลานชายคนหนึ่ง ครั้งนั้นท่านคหบดีได้บอกกับท่านพระอัชชุกะว่าท่านได้ฝังทรัพย์ไว้ในที่ลับแห่งหนึ่ง ถ้าพระอัชชุกะเห็นว่าเด็กคนใดมีศรัทธาเลื่อมใส ก็ขอให้ท่านบอกสถานที่ฝังทรัพย์นั้นแก่เด็กคนดังกล่าว ต่อมาท่านคหบดีก็ได้ถึงแก่กรรม
ครั้นสมัยต่อมา ท่านพระอัชชุกะเห็นว่าหลานชายของคหบดีนั้นเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส จึงได้บอกสถานที่ฝังทรัพย์นั้นแก่เด็กผู้เป็นหลานชาย หลานชายนั้นได้รวบรวมทรัพย์ และเริ่มบำเพ็ญทานด้วยทรัพย์สมบัตินั้น
ต่อมา บุตรชายของคหบดีนั้น ได้เรียนถามท่านพระอานนท์ว่า ระหว่าง บุตรชายหรือหลานชาย ใครเป็นทายาทของบิดา
ท่านพระอานนท์ตอบว่า ธรรมดาบุตรชายย่อมเป็นทายาทของบิดา
บุตรชายของคหบดีก็บอกแก่พระอานนท์ว่า พระอัชชุกะนี้ ได้บอกที่ฝังทรัพย์ทรัพย์สมบัติของบิดาให้กับหลานชายของบิดา
ท่านพระอานนท์ว่า ถ้าอย่างนั้นท่านพระอัชชุกะก็ไม่เป็นสมณะ
ท่านพระอัชชุกะเมื่อได้ทราบเรื่องจึงได้ขอให้ท่านอานนท์ได้โปรดวินิจฉัยให้ความเป็นธรรมแก่ท่านด้วย
ในครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเป็นฝักฝ่ายของท่านพระอัชชุกะ ท่านจึงถามท่านพระอานนท์ว่า ภิกษุซึ่งเจ้าของทรัพย์สั่งไว้ว่าให้บอกสถานที่ฝังทรัพย์แก่บุคคลนั้น ภิกษุนั้นจะต้องอาบัติด้วยหรือ?
ท่านพระอานนท์ตอบว่า ไม่ต้องอาบัติ
ท่านพระอุบาลีจึงแจ้งแก่ท่านพระอานนท์ว่า ท่านพระอัชชุกะนี้ คหบดีเจ้าของทรัพย์ได้สั่งไว้ให้ท่านบอกสถานที่ฝังทรัพย์นี้แก่บุคคลชื่อนี้ จึงได้บอกแก่บุคคลนั้น ดังนั้นท่านพระอัชชุกะไม่ต้องอาบัติ.
เรื่องพระกุมารกัสสปะ
มารดาของพระเถระนั้น เป็นธิดาของเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ นางได้เลื่อมใสในการบวช และได้เพียรขอบรรพชามาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย แม้นางจะอ้อนวอนอยู่บ่อย ๆ มารดาก็ไม่ยอมให้บรรพชา ต่อมาเมื่อนางเจริญวัยขึ้น บิดามารดาได้จัดการให้ได้แต่งงาน และไปอยู่ในตระกูลสามี ตัวสามีเองก็เป็นผู้มีจิตใจดังเทวดา
ครั้นต่อมาไม่นานนัก นางก็ตั้งครรภ์ขึ้น แต่ตัวนางเองยังไม่ทราบความที่ตนเองนั้นตั้งครรภ์ขึ้นเลย ด้วยความประสงค์ที่จะบวช นางได้พยายามเอาใจสามี แล้วจึงขอบรรพชา.สามีนางก็ยินยอม และได้นำนางไปสู่สำนักของนางภิกษุณี ให้บวชในสำนักของนางภิกษุณี ที่เป็นฝ่ายของพระเทวทัต.
ในกาลต่อมา นางภิกษุณีเหล่านั้นทราบความที่นางมีครรภ์แล้ว จึงนำความไปบอกพระเทวทัต พระเทวทัต คิดเห็นเพียงเท่านี้ว่า จงอย่าให้ความเสียชื่อเสียงเกิดขึ้นแก่พวกนางภิกษุณีผู้เป็นพวกของเราจึงบอกว่าให้สึกนางนั้นเสีย.
นางภิกษุณีสาวนั้น ฟังคำนั้นแล้วจึงขอให้นำนางไปเฝ้าพระบรมศาสดา
พระศาสดา แม้ทรงทราบอยู่ว่า “นางได้มีครรภ์ตั้งแต่เมื่อนางยังเป็นคฤหัสถ์ ให้ปลอดเสียซึ่งคำนินทาของชนอื่น จึงรับสั่งให้เชิญพระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี ท่านจุลอนาถบิณฑิกะนางวิสาขาอุบาสิกา และสกุลใหญ่อื่นๆ มาแล้ว ทรงโปรดให้พระอุบาลีเถระทำการชำระกรรมของภิกษุณีสาวนี้ให้หมดสิ้นไป ในท่ามกลางบริษัท ๔
พระเถระให้เชิญนางวิสาขามาแล้ว ให้สอบสวนอธิกรณ์นั้น.
นางวิสาขานั้นให้คนล้อมม่าน ตรวจดูมือ เท้า สะดือ และที่สุดแห่งท้องของนางภิกษุณีนั้นภายในม่าน แล้วนับเดือนและวันดู จึงทราบว่านางได้มีครรภ์ตั้งแต่ยังเป็นคฤหัสถ์ จึงบอกความนั้นแก่พระเถระ,
ครั้งนั้น พระเถระได้ทำให้ความเป็นผู้บริสุทธิ์ของนาง ให้ปรากฏขึ้นในท่ามกลางบริษัทแล้ว. พระศาสดาได้ทรงสดับเรื่องนั้นแล้วตรัสประทานสาธุการว่าท่านพระอุบาลีวินิจฉัยอธิกรณ์ถูกต้องดีแล้ว
ในกาลต่อมา นางก็ได้คลอดบุตรออกมาและพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงรับเป็นพระราชบุตรบุญธรรม ซึ่งเด็กนั้นต่อมมาก็คือ พระกุมารกัสสปะเถระ ซึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของภิกษุผู้กล่าวธรรมได้วิจิตร และนางภิกษุณีนั้นต่อมาก็ได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
๐ มีส่วนสำคัญในการทำปฐมสังคายนา
ในการสังคายนานั้น มีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน มีหน้าที่ซักถามเกี่ยวกับพระธรรมวินัย โดย พระอุบาลี เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับข้อบัญญัติพระวินัย และ พระอานนท์ เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับพระสูตร และพระอภิธรรม
เหล่าพระเถระจึงเริ่มปรึกษาและสมมติตนเป็นผู้ปุจฉาวิสัชนา โดยพระมหากัสสปเถระได้ปรึกษาภิกษุทั้งหลายว่าควรจะสังคายนา พระธรรมหรือพระวินัยก่อน ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า สมควรสังคายนาพระวินัยก่อนด้วยเหตุว่า พระวินัยได้ชื่อว่าเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังตั้งอยู่ พระพุทธศาสนาจัดว่ายังดำรงอยู่
พระมหากัสสปจึงถามถึงผู้ที่สมควรจะเป็นธุระชี้แจงในเรื่องพระวินัย ภิกษุทั้งหลายเห็นสมควรให้ท่านพระอุบาลีเป็นผู้ชี้แจง ด้วยเหตุผลว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั่นเอง ทรงอาศัยวินัยปริยัติ จึงตั้งท่านพระอุบาลีไว้ในเอตทัคคะเลิศกว่าสาวกของเราผู้ทรงวินัยฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงปรึกษากันว่า พวกเราจะถามพระอุบาลีเถระสังคายนาพระวินัย ดังนี้ ลำดับนั้นพระเถระก็ได้สมมติตนเองเพื่อต้องการถามพระวินัย. ฝ่ายพระอุบาลีเถระก็ได้สมมติตนเพื่อประโยชน์แก่การวิสัชนา
[คำสมมติตนปุจฉาวิสัชนาพระวินัย]
ในการสมมตินั้นในพระไตรปิฎกได้บรรยายไว้ดังนี้
ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสป เผดียงให้สงฆ์ทราบว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ! ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้วไซร้ ข้าพเจ้าพึงถามพระวินัยกะพระอุบาลี
ฝ่ายพระอุบาลีก็เผดียงให้สงฆ์ทราบว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้วไซร้ ข้าพเจ้าผู้อันท่านพระมหากัสสปถามแล้วพึงวิสัชนาพระวินัย
[ปุจฉาและวิสัชนาพระวินัย]
ท่านพระอุบาลีครั้นสมมติตนอย่างนั้นแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะห่มจีวรเฉวียงบ่า ไหว้ภิกษุเถระทั้งหลายแล้วนั่งบนธรรมาสน์ พระมหากัสสปนั่งบนเถรอาสน์ แล้วถามพระวินัยกับท่านพระอุบาลีว่า
พระมหากัสสป : ท่านอุบาลี ! ปฐมปาราชิก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ณ ที่ไหน ?
พระอุบาลี : ที่เมืองเวสาลี ขอรับ
พระมหากัสสป : ทรงปรารภใคร ?
พระอุบาลี : ทรงปรารภพระสุทินกลันทบุตร
พระมหากัสสป : ทรงปรารภในเพราะเรื่องอะไร ?
พระอุบาลี : ในเพราะเรื่องเมถุนธรรม
ต่อจากนั้น ท่านพระมหากัสสป ถามท่านพระอุบาลีถึง วัตถุ, นิทาน, บุคคล, บัญญัติ, อนุบัญญัติ, อาบัติ และอนาบัติ แห่งปฐมปาราชิก, แห่งทุติยปาราชิก, แห่งตติยปาราชิก, และแห่งจตุตถปาราชิก จนครบถ้วน พระอุบาลีเถระนั้น เมื่อพระมหากัสสปถามแล้ว ท่านก็ได้วิสัชนาตอบโดยละเอียด
[รวบรวมพระวินัยของภิกษุไว้เป็นหมวดๆ]
ลำดับนั้น พระเถระทั้งหลายกำหนดปาราชิก ๔ เหล่านี้เข้าสู่การสังคายนาว่าชื่อ ปาราชิกกัณฑ์
แล้วได้ตั้งสังฆาทิเสส ๑๓ ไว้ชื่อว่า เตรสกัณฑ์
ตั้ง ๒ สิกขาบทไว้ชื่อว่า อนิยต
ตั้ง ๓๐ สิกขาบทไว้ชื่อว่า นิสสัคคิยปาจิตตีย์
ตั้ง ๙๒ สิกขาบทไว้ชื่อว่า ปาจิตตีย์
ตั้ง ๔ สิกขาบทไว้ชื่อว่า ปาฏิเทสนียะ
ตั้ง ๗๕ สิกขาบทไว้ชื่อว่า เสขิยะ
และตั้งธรรม ๗ ประการไว้ชื่อว่า อธิกรณสมถะ ดังนี้
[รวบรวมวินัยของภิกษุณีไว้เป็นหมวดๆ]
พระเถระทั้งหลายครั้นยกมหาวิภังค์ขึ้นสู่สังคหะอย่างนั้นแล้ว จึง
ตั้ง ๘ สิกขาบท ในภิกษุณีวิภังค์ ไว้ชื่อว่า ปาราชิกกัณฑ์
ตั้ง ๑๗ สิกขาบท ไว้ชื่อว่า สัตตรสกัณฑ์
ตั้ง ๓๐ สิกขาบท ไว้ชื่อว่า นิสสัคคิยปาจิตตีย์
ตั้ง ๑๖๖ สิกขาบท ไว้ชื่อว่า ปาจิตตีย์
ตั้ง ๘ สิกขาบทไว้ชื่อว่า ปาฏิเทสนียะ
ตั้ง ๗๕ สิกขาบทไว้ชื่อว่า เสขิยะ (และ)
ตั้งธรรม ๗ ประการไว้ชื่อว่า อธิกรณสมถะ ดังนี้
พระเถระทั้งหลาย ครั้นยกภิกษุณีวิภังค์ขึ้นสู่สังคหะอย่างนี้แล้ว จึงได้ยกแม้ขันธกะและบริวารขึ้น (สู่สังคายนา) โดยลักษณะเช่นเดียวกันนั้น. ดังนั้น พระวินัยปิฎก พร้อมทั้งอุภโตวิภังค์ขันธกะและบริวาร ทั้งหมดนี้ พระเถระทั้งหลายก็ยกขึ้นสู่สังคหะแล้วด้วยลักษณะเช่นนี้
เมื่อครั้นพระมหากัสสปเถระ ได้ถามวินัยปิฎกทั้งหมด. พระอุบาลีเถระก็ได้วิสัชนาแล้ว. ในที่สุดแห่งการปุจฉาและวิสัชนา พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ก็ได้ทำการสวดสาธยายเป็นคณะ โดยลักษณะที่ยกขึ้นสู่สังคหะนั้น ในอวสานแห่งการสังคายนาพระวินัย พระอุบาลีเถระก็ลงจากธรรมาสน์ไหว้พวกภิกษุผู้แก่พรรษากว่าแล้วนั่งบนอาสนะของท่าน
[เริ่มสังคายนาพระสูตร]
๐ พระมหาเถระมีพระอุบาลีเป็นต้นนำพระวินัยปิฎกสืบต่อมา
พระวินัยปิฎกนี้ ท่านพระอุบาลีเถระจำทรงไว้ต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเบื้องต้นก่อน.เมื่อครั้งพระตถาคตเจ้ายังไม่ปรินิพพาน และพระภิกษุหลายพันรูป ทรงจำไว้ต่อจากท่านพระอุบาลีเถระนั้น เมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลาย มีพระมหากัสสปเป็นประมุข ก็ทรงจำกันต่อมา
พระวินัยนำสืบต่อมาตามลำดับในสำนักพระอุบาลีเถระ ตั้งปฐมสังคายนามาจนถึงจนถึงตติยสังคายนาครั้งที่ ๓. สำนักพระอุบาลีเถระนั้นมีลำดับพระเถราจารย์ดังต่อไปนี้
พระอุบาลีเถระเล่าเรียนมาจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระทาสกเถระ เล่าเรียนมาในสำนักของพระอุบาลีเถระผู้เป็นอุปัชฌายะของตน
พระโสณกเถระเล่าเรียนมาในสำนักของพระทาสกเถระ ผู้เป็นอุปัชฌายะของตน
พระสิคควเถระ เล่าเรียนมาในสำนักของพระโสณกเถระ ผู้เป็นอุปัชฌายะของตน
พระโมคคลีบุตรติสสเถระ เล่าเรียนมาในสำนักของพระสิคควเถระผู้เป็นอุปัชฌายะของตน.
และพระพระโมคคลีบุตรติสสเถระนี้เองที่เป็นผู้กระทำตติยสังคายนา (การสังคายนาครั้งที่ 3) ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย ใน พ.ศ. 235
.............................................................
คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
http://www.manager.co.th/Dhamma/
|
Update : 17/4/2554
|
|