หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระราหุลเถระ

     พระราหุลเถระ
    เอตทัคคะในทางผู้ใคร่ในการศึกษา

     


     

    Image

    ๐ ชาติภูมิ

    พระราหุลเถระ เป็นพระราชโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะกับพระนางยโสธราหรือพิมพา เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ ประสูติวันเดียวกันกับที่พระบิดาเสด็จออกผนวช ดังนั้น ท่านจึงเจริญพระชันษาเติบโตขึ้นมา โดยมิเคยเห็นพระพักตร์รู้จักพระบิดาเลย ท่านเจริญด้วยสมบัติ ๒ ประการ คือ ชาติสมบัติ เพราะเกิดในวรรณะกษัตริย์ และปฏิบัติสมบัติ เพราะมีความประพฤติดีงาม จึงทรงเจริญด้วยขัตติยบริวารเป็นอันมาก และได้รับการเลี้ยงดูอย่างพระราชกุมารทั้งหลาย

    การที่ท่านได้มาเกิดเป็นพระโอรสของพระบรมศาสดา ก็โดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้แต่ปางก่อน และการที่ท่านได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในการศึกษา ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือ โดยเหตุที่ท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในความเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ (เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสีย) ด้วยท่านมีความสามารถอันยิ่งกว่าเหล่าภิกษุทั้งหลายในเรื่องความเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา กล่าวคือ นอกจากหมายความว่า ท่านเป็นผู้ประสงค์ยินดีในการเรียนรู้อย่างยิ่งแล้ว ยังหมายความรวมไปถึงว่า ท่านเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย อ่อนน้อม เคารพเชื่อฟังในคำสั่งสอนของพระเถระทั้งหลาย และเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อพระอุปัชฌาย์และพระมารดาเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย และอีกเหตุหนึ่งก็คือ โดยเหตุที่ท่านได้สั่งสมบำเพ็ญบารมีในเรื่องการเป็นผู้มีอัธยาศัยใคร่ต่อการศึกษานั้นมาตั้งแต่อดีตชาติ พร้อมทั้งได้ตั้งจิตปรารถนาเพื่อให้ได้ตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้


    ๐ ตั้งจิตปรารถนาในการเป็นพระโอรสของพระบรมศาสดา

    ในกัปแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า คือ หนึ่งแสนกัปนับถอยหลังไปจากกัปปัจจุบัน เวลานั้นอยู่ในช่วงเวลาที่พระปทุมุตรพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติ พระราหุลเถระและพระรัฐปาลเถระเป็นสหายกัน ต่างก็มาบังเกิดในครอบครัวคฤหบดีผู้มั่งคั่งในพระนครหังสวดี ไม่มีการกล่าวถึงชื่อและตระกูลของท่านทั้งสองในสมัยนั้น เมื่อท่านทั้งสองเจริญวัยดำรงอยู่ในฆราวาส แล้วบิดาสิ้นชีวิตลง ก็ตรวจดูทรัพย์สินที่ตนได้รับมรดกมา เห็นว่ามีทรัพย์หาประมาณมิได้ จึงคิดว่า บุรพชนของตนทั้งหลายมีปู่และปู่ทวดเป็นต้น ต่างก็ไม่สามารถนำเอาทรัพย์เหล่านี้ไปกับตนได้ ดังนั้น เราจึงควรหาทางนำเอาทรัพย์ที่เรามีอยู่นี้ไปกับเราให้ได้ ด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อคิดดังนั้นแล้วท่านทั้งสองจึงเริ่มให้มหาทานแก่คนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้น ในสถานที่ ๔ แห่ง

    สหายทั้งสองนั้น คนหนึ่ง (พระราหุลเถระ) เป็นผู้ชอบสอบถามคนที่มาแล้วมาอีกในโรงทานของตนว่าชอบใจสิ่งใด เป็นต้นว่า ข้าวยาคูและของเคี้ยว แล้วก็ให้สิ่งนั้นแก่ผู้นั้นไป เพราะเหตุนั้นเขาจึงมีชื่อว่า “ผู้กล่าวกับผู้ที่มาแล้ว” แต่อีกคนหนึ่ง (พระรัฐปาลเถระ) ไม่ถามเลย เมื่อมีผู้ถือภาชนะมาเพื่อใส่สิ่งของ ก็ใส่ของที่ตนต้องการให้ไป เพราะเหตุนั้นเขาจึงมีชื่อว่า “ผู้ไม่กล่าวกับผู้ที่มาแล้ว”

    วันหนึ่ง สหายทั้งสองนั้นออกไปนอกบ้านแต่เช้าตรู่ ได้พบดาบสผู้มีฤทธิ์มาก ๒ รูป ที่เหาะมาจากป่าหิมพานต์เพื่อภิกขาจาร (เที่ยวบิณฑบาต, เที่ยวไปเพื่อขอ) แล้วมาลงในที่ที่ไม่ไกลจากที่สหายทั้งสองยืนอยู่ เมื่อดาบสทั้ง ๒ รูปนั้นจัดแจงบริขาร มีภาชนะน้ำเต้า เป็นต้น แล้วก็เดินไปตามทางเพื่อภิกขาจาร สหายทั้งสองจึงมาไหว้ใกล้ๆ

    ครั้งนั้นดาบสกล่าวกับคนทั้งสองนั้นว่า “ท่านผู้มีบุญใหญ่ ท่านมาในเวลาใด” คนทั้งสองนั้นตอบว่า “มาเดี๋ยวนี้ ขอรับ” แล้วรับภาชนะน้ำเต้าจากมือของดาบสทั้งสองนั้น นำไปเรือนของตนๆ แล้วถวายภัตตาหาร ครั้นในเวลาเสร็จภัตรกิจ สหายทั้งสองจึงขอให้ท่านดาบสทั้ง ๒ รูปรับปากว่า จะมารับภิกษา (อาหาร) จากตนเป็นประจำ

    ดาบสรูปหนึ่งเมื่อจะกระทำอนุโมทนาแก่อุปัฏฐากของตน (พระราหุลเถระ) ก็ให้พรว่า “ขอจงสำเร็จเหมือนดังภพปฐวินทรนาคราชเถิด” ความที่ท่านกล่าวให้พรดังนี้ด้วยมีเหตุผลว่า ท่านเป็นคนมักร้อน เมื่อรู้สึกร้อนก็จะแหวกน้ำในมหาสมุทรออกเป็น ๒ ส่วนด้วยอานุภาพของตน แล้วก็ไปยังภพของปฐวินทรนาคราชเพื่อนั่งพักในตอนกลางวัน จึงได้แลเห็นสมบัติต่างๆ ในภพนาคราชนั้น ว่ามีมากมายและสวยงามเพียงใด ครั้นเมื่อพักพอสบายแล้วจึงกลับมายังโลกมนุษย์

    สหายผู้นั้นเมื่อประสงค์จะรู้ความหมายของดาบสที่ให้พรตนอย่างนั้น ในวันหนึ่งจึงถามดาบสนั้นว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านกระทำอนุโมทนาว่า ขอจงสำเร็จเหมือนดังภพปฐวินทรนาคราชเถิด คำนี้ท่านหมายความว่าอย่างไร ?” ดาบสกล่าวว่า “ที่เรากล่าวนั้นหมายความว่า ขอให้สมบัติของท่านจงมีเหมือนสมบัติของพระยานาคราช ชื่อว่า ปฐวินทร” ตั้งแต่นั้นมา สหายผู้นั้นก็ตั้งจิตมั่นปรารถนาอยู่ในภพของพระยานาค ชื่อว่า ปฐวินทร

    ส่วนดาบสอีกรูปหนึ่งก็เช่นกัน เมื่อจะกระทำอนุโมทนาแก่อุปัฏฐากของตน (พระรัฐปาลเถระ) ก็ให้พรว่า “ขอจงสำเร็จเหมือนดังภพท้าวสักกเทวราชเถิด” ความที่ท่านกล่าวให้พรดังนี้ด้วยมีเหตุผลว่า ท่านเป็นคนมักร้อน เมื่อรู้สึกร้อนก็จะแหวกน้ำในมหาสมุทรออกเป็น ๒ ส่วนด้วยอานุภาพของตน แล้วไปยังภพของท้าวสักกเทวราช ณ เสรีสกวิมาน อันว่างเปล่า เพื่อนั่งพักในตอนกลางวัน ดาบสนั้นเที่ยวไปเที่ยวมาในดาวดึงส์พิภพ จึงได้แลเห็นสมบัติต่างๆ ของท้าวสักกเทวราชนั้น ว่ามีมากมายและสวยงามเพียงใด

    ครั้งนั้นสหายอีกผู้หนึ่ง ก็ถามดาบสเหมือนอย่างสหายคนแรกถามดาบสรูปแรก เมื่อได้ฟังความหมายแล้ว สหายผู้นั้นก็ตั้งจิตมั่นปรารถนาอยู่ในภพของท้าวสักกเทวราช

    ด้วยกุศลกรรมที่สหายทั้งสองได้บำเพ็ญมาเป็นอันมาก เมื่อทั้งสองสิ้นชีวิตลงแล้ว ต่างก็ได้ไปเกิดในภพที่ตนตั้งจิตปรารถนาไว้ สหายผู้ที่เกิดในภพของปฐวินทรนาคราช ก็มีชื่อว่า ปฐวินทรนาคราชา ซึ่งสหายผู้เกิดเป็นพระยานาคราชนั้น เมื่อเห็นสภาพของตนที่เกิดมาในเพศของนาค ก็เกิดความร้อนใจว่า การเกิดของเราอยู่ในฐานะที่ไม่น่าพอใจหนอ ที่นี้เป็นที่ต้องเลื้อยไปด้วยท้อง เห็นทีดาบสที่ให้พรเราเช่นนั้นคงจะไม่รู้ที่อื่นๆ ที่ดีกว่าเป็นแน่แท้

    ส่วนสหายอีกผู้หนึ่งก็ไปเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช ในดาวดึงส์พิภพ ต่อมาก็ถึงเวลาที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ที่มีหน้าที่จะต้องไปเฝ้าท้าวสักกเทวราช ทุกๆ กึ่งเดือน ซึ่งปฐวินทรนาคราชานั้นก็ต้องไปเฝ้าท้าวสักกะพร้อมกับพระยานาคชื่อว่า วิรูปักษ์ ด้วย จึงได้กลายเพศเป็นมาณพน้อย แล้วไปเข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราช ทุกๆ กึ่งเดือน

    ในเวลาที่ท่านได้เข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราช ท้าวสักกะเห็นพระยานาคราชนั้นก็จำได้ว่าเป็นสหายเก่า จึงถามพระยานาคราชนั้นว่า “สหาย ท่านไปเกิดที่ไหน” พระยานาคราชกล่าวว่า “ท่านมหาราชอย่าถามเลย ข้าพเจ้าไปเกิดในที่ที่ต้องเลื้อยไปด้วยท้อง ส่วนท่านได้อยู่ในที่ที่ดีแล้ว”

    ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า “สหาย ท่านอย่าวิตกไปเลยว่าเกิดในที่ไม่สมควร บัดนี้ พระทศพลพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงเสด็จมาอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ท่านจงกระทำกุศลกรรมแด่พระองค์นั้น แล้วปรารถนาฐานะนี้เถิด เราทั้งสองจักอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข”

    พระยานาคราชนั้นกล่าวว่า “เทวะ ข้าพเจ้าจักกระทำอย่างนั้น” แล้วจึงไปนิมนต์พระปทุมุตตรทศพล พร้อมกับจัดแจงเครื่องสักการะสัมมานะ เพื่อเตรียมถวายพระศาสดาและเหล่าพระภิกษุตลอดคืนยันรุ่ง กับนาคบริษัทในภพนาคของตน

    วันรุ่งขึ้นเมื่อรุ่งอรุณ พระศาสดาตรัสเรียกพระสุมนเถระ ผู้อุปัฏฐากของพระองค์ว่า “สุมนะ วันนี้ตถาคตจักไปภิกขาจาร ณ ที่ไกล ภิกษุปุถุชนนั้นไม่สามารถไปด้วย จงไปแต่พระผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ผู้มีอภิญญา ๖ เถิด” พระเถระสดับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว แจ้งแก่ภิกษุทั้งปวง ภิกษุทั้งหมดผู้มีอภิญญาประมาณแสนหนึ่งรูปได้เหาะไปพร้อมกับพระศาสดา

    ปฐวินทรนาคราชากับนาคบริษัทที่มารับเสด็จพระทศพล แลดูพระภิกษุสงฆ์ที่ล้อมพระศาสดาซึ่งกำลังเสด็จมา ได้แลเห็นพระศาสดาอยู่เบื้องต้น พระสงฆ์นวกะจนถึงสามเณรชื่อว่า อุปเรวตะ ผู้เป็นโอรสของพระตถาคตอยู่ท้าย จึงเกิดปีติปราโมทย์อย่างท่วมท้น แล้วกล่าวว่า “การที่พระสาวกทั้งหลายที่เป็นพระภิกษุได้แสดงอานุภาพให้เห็นปานนี้ยังไม่น่าอัศจรรย์ แต่อานุภาพแห่งสามเณรองค์เล็กนี้ช่างน่าอัศจรรย์เหลือเกินดังนี้”

    ครั้นเมื่อพระทศพลทรงประทับนั่งที่ภพของพระยานาคนั้นแล้ว พระภิกษุทั้งหลายก็นั่งเรียงกันตามลำดับอาวุโส ปฐวินทรนาคราชาเมื่อถวายข้าวยาคูก็ดี เมื่อถวายของเคี้ยวก็ดี แลดูพระทศพลทีหนึ่ง แลดูสามเณรอุปเรวตะทีหนึ่ง นัยว่า มหาปุริสลักษณะ (ลักษณะของมหาบุรุษ) ๓๒ ประการในสรีระของสามเณรนั้นย่อมปรากฏเสมือนพระพุทธเจ้า ก็สงสัยว่าเป็นอะไรกันหนอ จึงถามภิกษุรูปหนึ่งผู้นั่งไม่ไกลว่า “ท่านเจ้าข้า สามเณรรูปนั้นเป็นอะไรกับพระทศพล” ภิกษุนั้นตอบว่า “มหาบพิตร สามเณรรูปนั้นเป็นโอรสของพระพุทธองค์”

    ปฐวินทรนาคราชาได้ดำริว่า “สามเณรรูปนี้ใหญ่หนอ จึงได้ความเป็นโอรสของพระตถาคตผู้สง่างามเห็นปานนี้ แม้สรีระของท่านก็ปรากฏเสมือนพระสรีระของพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว แม้ตัวเราก็ควรเป็นอย่างนี้ในอนาคตกาล”

    ดังนั้น พระยานาคราชจึงถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานอยู่ ๗ วัน ครั้นเมื่อครบ ๗ วันแล้วท่านได้กระทำความปรารถนาต่อพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยอานุภาพแห่งกุศลกรรมนี้ ข้าพระองค์พึงเป็นโอรสของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเหมือนอุปเรวตะสามเณรเถิด”

    พระปทุมุตตระบรมศาสดาผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าความปรารถนาของเขาหาอันตรายมิได้ จึงได้ทรงตรัสพยากรณ์ว่า “ในอนาคตมหาบพิตรจักเป็นโอรสแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะ” ทรงพยากรณ์ดังนี้แล้วเสด็จกลับไป

    ส่วนปฐวินทรนาคราชาเมื่อถึงกึ่งเดือนอีกครั้งหนึ่งก็ไปเฝ้าท้าวสักกเทวราชกับพระยานาคชื่อ วิรูปักษ์ อีก คราวนี้ท้าวสักกะตรัสถามพระยานาคราชว่า “สหาย ท่านกระทำมหาทานเพื่อปรารถนาเทวโลกนี้แล้วหรือ”

    ปฐวินทรนาคราชาตอบว่า “ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาเทวโลกนี้ดอกเพื่อน”

    ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสถามว่า “ท่านเห็นโทษอะไรเล่า ?”

    ปฐวินทรนาคราชาตอบว่า “โทษไม่มีมหาราช นับจากข้าพเจ้าได้เห็นสามเณรอุปเรวตะ ผู้เป็นโอรสของพระทศพล ข้าพเจ้าก็มิได้น้อมจิตไปในที่อื่น ข้าพเจ้ากระทำความปรารถนาว่า ในอนาคตกาลขอข้าพเจ้าพึงเป็นโอรสเช่นนี้ของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ข้าแต่มหาราช แม้พระองค์ก็จงกระทำความปรารถนาอย่างนี้เถิด เราทั้งสองจักไม่พรากจากกันในที่ๆ เกิดแล้ว”

    เมื่อท้าวสักกเทวราชรับคำของพระยานาคราชนั้นแล้ว ต่อมาวันหนึ่งได้แลเห็นภิกษุผู้มีอานุภาพมากรูปหนึ่ง จึงดำริว่า “กุลบุตรผู้นี้ออกบวชจากสกุลไหนหนอ” ครั้นทราบว่า ภิกษุรูปนี้เป็นบุตรของสกุลผู้สามารถสมานรัฐที่แตกแยกกัน และเป็นผู้มีศรัทธาในการออกบวช แล้วได้กระทำการอดอาหารถึง ๑๔ วันเพื่อให้มารดาบิดาอนุญาตให้บวช และเป็นภิกษุซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้บวชด้วยศรัทธา ได้เกิดปีติโสมนัสยิ่ง ท่านจึงปรารถนาที่จะได้เป็นเหมือนอย่างภิกษุนี้ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเช่นนั้นบ้าง

    ดังนั้น ท่านจึงกระทำมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน ครั้นเมื่อครบ ๗ วันแล้วท่านจึงหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กระทำความปรารถนาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยอานุภาพแห่งกุศลกรรมนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอื่นใด เพียงแต่ขอข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธา ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือนอย่างภิกษุนี้ในศาสนาของพระองค์เถิด”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาแล้ว เห็นว่าความปรารถนาของเขาจักสำเร็จผล จึงได้ทรงตรัสพยากรณ์ว่า “ในอนาคตมหาบพิตรจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธา ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะ” ทรงพยากรณ์ดังนี้แล้วเสด็จกลับไป ฝ่ายท้าวสักกะก็เสด็จกลับไปยังเทพบุรีของพระองค์ตามเดิม

    ท้าวสักกเทวราชนั้นได้กระทำกุศลกรรมไว้เป็นอันมากจนตลอดอายุขัย จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ท่องเที่ยวไปในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย วนเวียนอยู่เช่นนั้นตลอดแสนกัป

    ๐ ตั้งจิตปรารถนาในการเป็นยอดของภิกษุผู้ใคร่ในการศึกษา

    ท่านได้เคยบำเพ็ญบุญญาธิการอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้นานแสนนานหลายพุทธกาล ครั้นเมื่อหมดบุญในฐานะพระยานาคราชแล้ว ท่านก็ได้มาบังเกิดในโลกมนุษย์ ซึ่งก็ยังอยู่ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ นั่นเอง ด้วยสมัยนั้นคนทั้งปวงมีอายุหนึ่งแสนปี พระยานาคราชนั้น (ซึ่งก็คือพระราหุลในบัดนี้) ได้มาบังเกิดในสกุลคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ครั้นเมื่อเจริญวัยแล้ว อยู่มาวันหนึ่งท่านได้ไปยังพระวิหารที่พระปทุมุตตรพุทธเจ้าประทับอยู่ และฟังธรรมอยู่แถวท้ายหมู่พุทธบริษัทในพระวิหารนั้น ได้แลเห็นภิกษุรูปหนึ่งซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้ใคร่ในการศึกษา แล้วเกิดปีติโสมนัสยิ่ง ท่านจึงปรารถนาที่จะได้เป็นเหมือนอย่างภิกษุนี้ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเช่นนั้นบ้าง

    ดังนั้น ท่านจึงได้ทำการสักการบูชาและนิมนต์พระปทุมุตตรพุทธเจ้า แล้วทำการปูลาดพื้นปราสาท ๗ ชั้น (พระคันธกุฎี) และขัดให้เงางามส่องแสงใสสว่างดุจรัตนะถวายพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ผู้ทรงรู้แจ้งโลก พร้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูปเสด็จเข้าไปในพระคันธกุฎี ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ได้ทรงกระทำอนุโมทนาและทรงตรัสพยากรณ์ว่า “ผู้ใดปูลาดพื้นพระคันธกุฎีให้โชติช่วงดังกระจกเงาอันขัดดีแล้ว เราจักพยากรณ์ผู้นั้นท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

    ประสาททองอันงดงามหรือประสาทแก้วไพฑูรย์จักบังเกิดแก่ผู้นั้น ผู้นั้นจักเป็นจอมเทวดา เสวยเทวรัชสมบัติอยู่ ๖๔ ครั้ง ในกัปที่ ๒๑ จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่า ‘วิมล’ ทรงครอบครองแผ่นดินมีสมุทรสาคร ๔ เป็นขอบเขต มีพระนครชื่อ ‘เรณุวดี’ สร้างด้วยแผ่นอิฐสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาว ๓๐๐ โยชน์ มีปราสาทชื่อ ‘สุทัสนะ’ อันวิสสุกรรมเทพบุตรนิรมิตให้ปราสาทนั้น ประกอบด้วยเรือนยอดอันประเสริฐ ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ เหมือนจักเป็นสุทัสนนครของเหล่าเทวดา รัศมีแห่งนครนั้นเปล่งปลั่งดังพระอาทิตย์เมื่ออุทัย นครนั้นจักรุ่งเรืองเจิดจ้าด้วยรัศมีโดยรอบ ๘ โยชน์อยู่เป็นนิจ

    ในกัปที่แสนนับจากภัทรกัปนี้ พระศาสดาทรงพระนามโดยพระโคตรว่า ‘โคดม’ เป็นผู้ทรงสมภพจากราชตระกูลพระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ผู้นั้นอันกุศลกรรมส่งผลแล้ว จักเคลื่อนจากภพดุสิต แล้วมาบังเกิดเป็นพระราชโอรสของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า โคดม ถ้าผู้นั้นจะพึงอยู่ครองเรือนก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ข้อที่เขาจะยินดีในการครองเรือนนั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ เขาจักออกบวชเป็นบรรพชิตเป็นผู้มีวัตรอันงดงาม จักได้เป็นพระอรหันต์มีนามว่า ‘ราหุล’ และจักตั้งอยู่ในเอตทัคคะที่เป็นผู้ใคร่ในการศึกษาสมดังปรารถนา”

    ท่านได้กระทำกุศลกรรมไว้ในมนุษยโลกเป็นอันมากจนตลอดอายุขัย จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลกทั้งหลาย วนเวียนอยู่เช่นนั้นตลอดแสนกัป


    ๐ บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

    ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ท่านได้มาบังเกิดเป็นพระเชฎฐโอรส (ลูกชายคนโต) ของพระเจ้ากิกิ พระญาติทั้งหลายขนานนามพระองค์ว่า ปฐวินทรกุมาร พระองค์มีภคินี ๗ พระองค์ พระภคินีเหล่านั้นได้สร้างพระวิหารถวายพระทศพลถึง ๗ แห่ง พระปฐวินทรกุมารทรงได้ตำแหน่งอุปราช

    พระราชกุมารตรัสกับพระภคินีเหล่านั้นว่า “ขอจงประทานพระวิหารในบรรดาที่พระนางได้สร้างไว้นั้นให้หม่อมฉันแห่งหนึ่งเถิด”

    พระภคินีเหล่านั้นทูลว่า “พระพี่เจ้า พระองค์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นอุปราช พระองค์ควรจะเป็นผู้ประทานแก่หม่อมฉันต่างหาก แทนที่จะตรัสขอ ดังนั้น ขอพระองค์จงโปรดให้สร้างพระวิหารอื่นถวายเถิด”

    พระราชกุมารได้สดับถ้อยคำของพระภคินีเหล่านั้นแล้ว จึงให้สร้างพระวิหารถึง ๕๐๐ แห่งถวายพระทศพล ต่อมาพระราชกุมารนั้นก็ได้ทรงบำเพ็ญกุศลเป็นอันมากจนตลอดอายุขัย จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไป บังเกิดในเทวโลก

    Image

    ๐ กำเนิดเป็นพระราหุลในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ครั้นมาในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้านี้ พระโพธิสัตว์ของเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต มาถือปฏิสนธิในครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงเจริญวัยโดยลำดับ แล้วทรงอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราหรือพิมพา ทรงครองเรือนอยู่จนพระชนมายุ ๒๙ พรรษา ในเวลาที่พระนางยโสธราทรงพระครรภ์แก่นั้น ก็เกิดเหตุที่ทำให้พระโพธิสัตว์ ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ แล้วเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่, การเสด็จออกบวชของพระพุทธเจ้า)

    โดยใน ๔ วันก่อนที่จะทรงตัดสินพระทัยจะออกผนวชนั้น ทรงมีพระประสงค์จะออกประพาสอุทยาน และในระหว่างทางที่เสด็จนั้น เทวดาได้แปลงกายเป็นเทวทูต ๔ ให้ทรงเห็นรวม ๔ วัน คือ เห็นคนแก่ในวันที่หนึ่ง เห็นคนเจ็บในวันที่สอง เห็นคนตายในวันที่สาม และเห็นบรรพชิตในวันที่สี่ ซึ่งในวันที่ทรงตัดสินพระทัยจะออกผนวช ในขณะที่ทรงประพาสอุทยานวันที่ ๔ นั้นเอง พระนางยโสธราก็ทรงประสูติพระโอรสอยู่ในพระราชวัง

    เมื่อพระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงสดับว่า พระนางยโสธราประสูติพระโอรส จึงส่งพระราชสาสน์ไปแจ้งพระโพธิสัตว์ว่า “ท่านทั้งหลาย จงบอกความดีใจของเราแก่ลูกของเราด้วย” เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับข่าวการประสูติพระโอรส ลำดับนั้น ความสิเนหาในพระโอรสทำให้พระวรกายทุกส่วนของพระมหาบุรุษซาบซ่าน

    พระมหาบุรุษดำริว่า เมื่อบุตรเกิดเพียงคนเดียว ความสิเนหาในบุตรยังเป็นถึงเพียงนี้ ถ้าเราจักมีบุตรกว่า ๑,๐๐๐ คน ความผูกพันด้วยสิเนหาต้องเพิ่มมากขึ้นจนหัวใจจักแตกสลายเป็นแน่แท้ เพราะเหตุนั้นพระองค์จึงทรงเปล่งอุทานออกมาว่า “ราหุลํ ชาตํ” แปลว่า บ่วงเกิดขึ้นแล้ว, เครื่องจองจำเกิดขึ้นแล้ว, เครื่องผูกเกิดขึ้นแล้ว

    พระเจ้าสุทโธทนมหาราชตรัสถามราชบุรุษว่า “บุตรของเราได้พูดอะไรบ้าง” ครั้นได้สดับถ้อยคำนั้นแล้ว ทรงนึกว่าเจ้าชายสิทธัตถะต้องการตั้งพระนามของโอรสอย่างนั้น จึงตรัสว่า “ตั้งแต่นี้ไป หลานของเราจงมีชื่อว่า ราหุลกุมาร”

    ส่วนสหายของท่านพระราหุลนั้น ท่านได้มาบังเกิดเป็นบุตรเพียงคนเดียวของมารดาบิดาในวรรณะไวศยะ ตระกูลเศรษฐี ในถุลลโกฏฐิตะนิคม ตระกูลของท่านชื่อว่า รัฐปาละ เพราะเป็นผู้สามารถสมานรัฐที่แตกแยกกันได้ และได้สละทรัพย์สินช่วยเหลือรัฐซึ่งกำลังตกต่ำทางเศรษฐกิจให้กลับมั่นคงเหมือนเดิม คนทั่วไปจึงเรียกชื่อท่านว่า รัฐปาละ ตามชื่อตระกูลของท่านเอง ซึ่งต่อมาท่านก็คือ พระรัฐปาลเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้บวชด้วยศรัทธา

    ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์ทรงผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ถึง ๖ ปี จนที่สุดทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ ทรงประทับที่โพธิมณฑสถาน ๗ สัปดาห์ ประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ทรงกระทำการอนุเคราะห์โลก

    เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงสดับข่าวว่า พระบรมศาสดาเสด็จมายังกรุงราชคฤห์ จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์กาฬุทายี พร้อมบริวาร ๑,๐๐๐ คน (ทูตคณะที่ ๑๐) ไปนิมนต์พระบรมศาสดามายังนครกบิลพัสดุ์ให้ได้ ดังนั้น อำมาตย์กาฬุทายีจึงไปยังกรุงราชคฤห์ ครั้นเมื่อไปถึงพอดีเป็นเวลาพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรม จึงยืนฟังธรรมอยู่ข้างท้ายบริษัทพร้อมด้วยบริวาร เมื่อจบพระธรรมเทศนาหมู่อำมาตย์นั้นทั้งหมดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมทั้งปฏิสัมภิทา และกราบทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุ พระบรมศาสดาก็ได้ประทานให้เป็นภิกษุด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” (วิธีอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าประทานด้วยพระองค์เอง ด้วยการเปล่งพระวาจาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” วิธีนี้ทรงประทานแก่พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นบุคคลแรก)

    ครั้นเวลาได้ล่วงไป ๗-๘ วัน ในวันเพ็ญเดือน ๔ พระกาฬุทายีเถระเห็นเป็นเวลาอันสมควรจึงได้กราบทูลวิงวอนอาราธนาพระบรมศาสดาให้ทรงเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งพระบรมศาสดาก็ทรงรับอาราธนานั้น

     


     

    Image

    ๐ พระบรมศาสดาเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์

    ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว ทรงเสด็จไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมคธ จนแพร่หลายแล้ว จึงได้เสด็จมาโปรดพระราชบิดาและพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงประทับอยู่ที่นิโครธารามซึ่งพระประยูรญาติสร้างถวาย ในวันรุ่งขึ้นเวลาเช้าทรงปฏิบัติพุทธกิจ เสด็จเข้าไปรับบิณฑบาตในพระนครกบิลพัสดุ์

    เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบว่าพระบรมศาสดาเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์จึงทรงเสียพระทัย ด้วยทรงเห็นว่าการเสด็จพุทธดำเนินโปรดสัตว์ตามถนนหลวงนั้นเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศ อันจะทำให้ชาวเมืองดูหมิ่นดูแคลนว่าเหล่าพระประยูรญาติ และพระราชบิดาตั้งข้อรังเกียจมิได้อุปถัมภ์ จึงรีบเสด็จพระดำเนินมาหยุดอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา แล้วกราบทูลตัดพ้อว่า “ไฉนพระองค์จึงทรงทำให้หม่อมฉันได้รับความอัปยศ โดยเที่ยวบิณฑบาตเช่นนี้”

    พระบรมศาสดาจึงทรงอรรถาธิบายว่า “การเที่ยวบิณฑบาตเป็นจารีตประเพณีของตถาคตและพระภิกษุสงฆ์ที่สืบสายพุทธวงศ์ชั่วนิรันดร”

    เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว จึงแสดงพระธรรมเทศนา “อริยวังสิกสูตร” ในระหว่างถนน โดยพระอิริยาบถยืนถือบาตรอยู่ ณ ที่นั้น แม้พระเจ้าสุทโธทนะก็ทรงประทับยืนฟังพระโอวาท เมื่อจบพระธรรมเทศนาอันวิจิตร พระราชบิดาก็สำเร็จพระโสดาปัตติผล แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์สาวกให้เสด็จไปรับบิณฑบาต ณ พระราชนิเวศน์

    ครั้นวันรุ่งขึ้น เสด็จเข้าไปรับบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ เมื่อพระบรมศาสดาเสร็จภัตกิจแล้ว ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยอาศัยการพรรณนาพระคุณของราหุลมารดา ตรัส “จันทกินนรชาดก” โปรดพระราชบิดาและพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้เป็นพระมาตุจฉา (พระน้านาง) เมื่อจบพระธรรมเทศนาพระราชบิดาก็ดำรงอยู่ในสกทาคามีผล ส่วนพระนางมหาปชาบดีโคตมีก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

    ในวันที่ ๔ แห่งการเสด็จโปรดพระประยูรญาตินั้นเอง พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในพระตำหนักของ นันทกุมาร เนื่องด้วยนันทกุมารจะอภิเษกสมรสกับนางชนบทกัลยาณี (หญิงงามประจำแคว้น) ในวันนั้น หลังจากพระบรมศาสดาเสร็จภัตตกิจแล้ว ทรงประทานบาตรในหัตถ์ของนันทกุมาร ตรัสอวยพรเพื่อเป็นมงคลแล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จพระดำเนินกลับไป โดยมิได้ทรงรับบาตรจากหัตถ์ของนันทกุมาร ฝ่ายนันทกุมารนั้นด้วยความเคารพในพระบรมศาสดาเป็นอย่างยิ่ง จึงมิกล้ากราบทูลให้พระองค์ทรงรับบาตรคืนไป ฉะนั้น ท่านจึงต้องทนฝืนพระทัยถือบาตรตามเสด็จไปเรื่อยจนถึงนิโครธาราม

    เมื่อเสด็จถึงพระคันธกุฏี พระผู้มีพระภาคจึงทรงรับบาตรคืนแล้วตรัสแก่นันทกุมารว่า “นันทะ เธอจงบรรพชาเถิด” สำหรับนันทกุมารนั้น เรื่องการบวชไม่มีอยู่ในความคิดเลยแม้สักนิดหนึ่ง ภายในดวงจิตคิดคำนึงถึงแต่ถ้อยคำและพระพักตร์ของนางชนบทกัลยาณีที่มาร้องสั่งเตือน ให้รีบเสด็จกลับ แต่เพราะความเคารพยำเกรงในพระบรมศาสดาเป็นยิ่งนัก ไม่สามารถจะขัดพระบัญชาได้ จึงจำใจรับพระพุทธฏีกาบวชในวันนั้น

    เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าพระบรมศาสดาจะเสด็จเข้าไปรับบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ถึง ๖ วันแล้วก็ตาม แต่พระนางพิมพา พระมารดาของราหุลกุมาร ก็มิได้มาเฝ้าพระพุทธองค์ดุจบุคคลอื่นๆ เลย

    Image

    ๐ ราหุลกุมารทูลขอทรัพย์สมบัติ

    ครั้นล่วงถึงวันที่ ๗ แห่งการเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ พระนางพิมพาราชเทวีประดับตกแต่งองค์ราหุลกุมาร ราชโอรสด้วยอาภรณ์อันวิจิตรแล้วตรัสว่า

    “พ่อราหุลลูกรัก พ่อจงไปดูพระสมณะผู้มีผิวพรรณผ่องใส รูปดุจท่านท้าวมหาพรหม แวดล้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเป็นจำนวนมาก พระสมณะองค์นั้นคือพระบิดาของเจ้า พระองค์มีขุมทรัพย์มหาศาลอันสุดจะคณนา นับแต่พระบิดาของเจ้าออกผนวช เจ้าก็เหมือนหมดหวังในราชสมบัติ เจ้าจงไปกราบถวายบังคมพระบิดา แล้วกราบทูลขอทรัพย์สมบัตินั้น ในฐานะเป็นทายาทสืบสันติวงศ์ต่อพระองค์เถิด”

    ราหุลกุมารเสด็จเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามพระดำรัสของพระมารดา กราบถวายบังคมแล้ว ทอดพระเนตรดูพระสัพพัญญู ได้บังเกิดความรักในพระบิดา ทรงปราโมทย์โสมนัสตรัสชมว่า “ร่มเงาของพระองค์เย็นสดชื่นยิ่งนัก พระพักตร์ของพระองค์สดใสสุดประมาณ” ดังนี้แล้วก็ตรัสเรื่องอื่นๆ ต่อไป โดยมิได้กราบทูลขอทรัพย์สมบัติ

    เมื่อพระพุทธองค์ทรงกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว ตรัสอนุโมทนา เสด็จกลับสู่นิโครธาราม ส่วนราหุลกุมารก็เสด็จติดตามไปจนถึงพระอาราม มิมีผู้ใดจะสามารถกราบทูลทัดทานได้ เมื่อสบโอกาสจึงกราบทูลขอทรัพย์สมบัติ อันเป็นสิ่งที่รัชทายาทผู้สืบราชสันติวงศ์จะพึงได้รับ


    ๐ สามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา

    พระบรมศาสดาได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว ทรงดำริว่า “ราหุลกุมารปรารถนาทรัพย์สมบัติอันเป็นของพระบิดา ถ้าตถาคตจะให้ราชสมบัติซึ่งเป็น ‘ทรัพย์ธรรมดา’ หรือทรัพย์ภายนอกแก่เธอแล้ว ก็จะเป็นสิ่งชักนำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะสงสาร เป็นไปด้วยความคับแค้นและจมอยู่ในกองทุกข์ ด้วยเป็นสิ่งหาสาระแม้สักนิดหนึ่งก็หามีไม่ อย่ากระนั้นเลยตถาคตจะมอบ ‘อริยทรัพย์’ หรือทรัพย์ภายในอันเป็นสิ่งที่มั่นคงถาวรและประเสริฐสุดในพระพุทธศาสนานี้แก่เธอ ซึ่งจะทำให้เธอเป็นโลกุตรทายาท สืบสกุลในพุทธวงศ์นี้สืบไป”

    ครั้นแล้วทรงมีพระดำรัสสั่งให้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร จัดการบรรพชาให้แก่ราหุลกุมารในวันนั้น ด้วยวิธีไตรสรณคมน์ สามเณรราหุลจึงได้ชื่อว่า เป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา

    ในสมัยนั้น ตั้งแต่พระบรมศาสดาทรงประกาศยกเลิกการอุปสมบทด้วย “วิธีไตรสรณคมน์” หรือ “ติสรณคมนูปสัมปทา” อันเป็นวิธีอุปสมบทด้วยการถึงสรณะสาม กล่าวคือ ถือเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่พระองค์ทรงอนุญาตไว้แต่เดิม แล้วทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วย “วิธีญัตติจตุตถกรรม” หรือ “ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา” อันเป็นวิธีอุปสมบทโดยมีสงฆ์เป็นใหญ่ กล่าวคือ ทรงกำหนดวิธีโดยให้ภิกษุประชุมให้ครบองค์กำหนด ในเขตชุมนุมซึ่งเรียกว่า สีมา กล่าววาจาประกาศเรื่องความที่จะรับคนผู้จะบวชนั้นเข้าหมู่ โดยความยินยอมของภิกษุทั้งปวงผู้เข้าประชุมเป็นสงฆ์นั้น

    ในครั้งนั้นทรงโปรดให้พระสารีบุตรอุปสมบทพระราธะด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรม จึงชื่อว่า พระสารีบุตรเถระเป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรก และพระราธเถระเป็นภิกษุผู้ได้รับการอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมนี้เป็นรูปแรกในพระพุทธศาสนา

    ข้อที่พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทพระราธะนั้น เป็นอันยกสงฆ์ให้เป็นใหญ่ในสังฆกิจ คือกิจที่สำคัญที่เนื่องด้วยการปกครองของหมู่สาวกที่เป็นบรรพชิต โดยไม่ทรงให้อำนาจแก่เอกชน ดูเหมือนพระองค์เองนับตั้งแต่มอบอำนาจให้แก่สงฆ์แล้ว ก็ไม่ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ผู้ใดผู้หนึ่งเลย แม้ในการอื่นๆ สงฆ์ก็เป็นผู้ทำเหมือนกัน ส่วนข้อที่ทรงอนุญาตให้มีพระอุปัชฌาย์นั้น ก็เพื่อจะให้เป็นคนนำเข้าหมู่สงฆ์และเป็นผู้คอยดูแลรับผิดชอบ และข้อที่ทรงอนุญาตให้การอุปสมบทพร้อมด้วยสมบัติ ๔ ประการนั้น ก็เพื่อจะห้ามกันคนที่ไม่ควรอยู่ในหมู่สงฆ์ รวมทั้งเพื่อจะให้กรรมอันนี้เป็นไปโดยความพร้อมเพรียงของหมู่สงฆ์

    ข้อกำหนดการอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรม กล่าวคือ ให้ผู้ที่จะอุปสมบทปลงผมและหนวดเสียก่อน แล้วนุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าภิกษุ แล้วนั่งกระโหย่งประณมมือ ถือเอาพระอุปัชฌาย์เป็นภิกษุผู้ฉลาดสามารถ มีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไป ด้วยคำว่า “ขอท่านจงเป็นอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้า” ดังนี้ ๓ หน ครั้นท่านรับเป็นอุปัชฌาย์แล้ว บอกบาตรจีวร และสมมติภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้สอนซ้อมและไล่เลียงผู้ที่จะอุปสมบทถึงอันตรายิกธรรม (ธรรมอันกระทำอันตราย คือ เหตุขัดขวางต่างๆ เช่น เหตุขัดขวางการอุปสมบท ๘ อย่าง มีการเป็นโรคเรื้อน เป็นต้น) ที่เป็นเหตุขัดข้องแก่การอุปสมบท

    ครั้นสอนซ้อมและไล่เลียงแล้ว ผู้สอนซ้อมและไล่เลียงเข้าไปสู่ที่ประชุมสงฆ์ ประกาศให้สงฆ์ทราบแล้ว เรียกผู้ที่จะอุปสมบทเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์ ผู้ที่จะอุปสมบทครั้นเข้าไปถึงท่ามกลางสงฆ์แล้ว พึงไหว้เท้าภิกษุทั้งหลาย นั่งกระโหย่งประณมมือ เปล่งวาจาขออุปสมบทว่า “ข้าพเจ้าขออุปสมบทต่อสงฆ์ ขอสงฆ์จงเอ็นดูยกข้าพเจ้าขึ้น” ดังนี้ ๓ หน

    ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งสมมติตนเองหรือสมมติภิกษุอื่น ให้เป็นผู้ถามอันตรายิกธรรมในท่ามกลางสงฆ์ ครั้นทราบว่าผู้จะอุปสมบทนั้น เป็นคนไม่มีอันตรายขัดข้องแล้ว ภิกษุผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ฉลาดสามารถในกรรมนั้น พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยวาจาว่า “ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้มีชื่ออย่างนี้ เป็นผู้มุ่งอุปสมบทของท่านผู้มีอายุชื่ออย่างนี้ บริสุทธิ์จากอันตรายิกธรรมแล้ว บาตร จีวร ของผู้นี้บริบูรณ์แล้ว ผู้อุปสมบทมีชื่ออย่างนี้ มีท่านผู้มีชื่ออย่างนี้เป็นอุปัชฌาย์ ขออุปสมบทต่อสงฆ์ ความอุปสมบทผู้มีชื่ออย่างนี้ มีท่านผู้มีชื่ออย่างนี้เป็นอุปัชฌาย์ ควรแก่ท่านผู้มีอายุผู้ใด ขอท่านผู้มีอายุผู้นั้นพึงนิ่งอยู่ ไม่ควรแก่ท่านผู้มีอายุผู้ใด ขอท่านผู้มีอายุผู้นั้นพึงพูดขึ้น

    ข้าพเจ้ากล่าวคำนี้แม้หนที่ ๒ ฯลฯ ข้าพเจ้ากล่าวคำนี้แม้หนที่ ๓ ฯลฯ ผู้อุปสมบทมีชื่ออย่างนี้ มีท่านผู้มีชื่ออย่างนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์อุปสมบทแล้ว ความอุปสมบทผู้มีชื่ออย่างนี้ มีท่านผู้มีชื่ออย่างนี้เป็นอุปัชฌาย์ ควรแก่สงฆ์ เหตุนั้นสงฆ์จึงนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าขอจำข้อนี้ไว้ด้วยความนิ่งอยู่อย่างนี้” เพียงเท่านี้เป็นการเสร็จสิ้นการอุปสมบทแล้ว

    ต่อนั้นไป พึงสอนให้รู้จักปัจจัยที่อาศัย และกิจไม่ควรทำของผู้อุปสมบทแล้ว ซึ่งผู้อุปสมบทแล้วนั้นต้องอยู่ในสำนักแห่งอุปัชฌาย์หรือในสำนักแห่งอาจารย์ เพื่อศึกษาธรรมวินัยเป็นอย่างน้อยที่สุดเพียง ๕ ปี จนมีความรู้พอที่จะรักษาตัวเองได้ จึงจะสามารถอยู่ตามลำพัง

    การอุปสมบทนี้ พระบรมศาสดาทรงอนุญาตพร้อมด้วย สมบัติ ๔ ประการ คือ

    (๑) วัตถุสมบัติ คนที่อุปสมบทนั้นต้องไม่เป็นคนต้องห้าม ทั้งมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้ว

    (๒) สีมาสมบัติ การอุปสมบทนั้นต้องทำในเขตสามัคคีแห่งสงฆ์ ซึ่งเรียกว่า สีมา

    (๓) ปริสสมบัติ ภิกษุบรรดามีในเขตสามัคคีนั้นต้องประชุมกันหมด หรือให้ฉันทะยอมให้ทำกรรมนั้น แต่ต้องประชุมกันครบองค์ คือ ในมัชฌิมชนบท ๑๐ รูป ในปัจจันตชนบท ๕ รูป

    (๔) กรรมวาจาสมบัติ คือ ประกาศให้สงฆ์ทราบว่า ทำกรรมนั้นตามกำหนดที่กล่าวแล้ว และบุพพกิจคือกิจเบื้องต้น ให้มีผู้ที่จะอุปสมบทถืออุปัชฌาย์ก่อน จนถึงถามอันตรายิกธรรมในท่ามกลางสงฆ์

    การอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมนี้ ได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนการบรรพชาสามเณรนั้นยังมิได้เคยมีมาก่อน เพราะเหตุนั้นความสงสัยอาจเกิดขึ้นแก่ภิกษุทั้งหลายในอนาคตว่า การบรรพชาสามเณรนั้น จะพึงกระทำด้วยกรรมวาจาเหมือนการอุปสมบทพระภิกษุ หรือว่าจะพึงกระทำด้วยไตรสรณคมน์ เพื่อตัดความสงสัยเช่นนี้ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรจึงกราบทูลถามพระศาสดาว่า “ข้าพระองค์จะผนวชราหุลกุมารอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า ?”

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงนำเอาเรื่องนี้เป็นเหตุในการแสดงธรรม แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการบวชกุลบุตรเป็นสามเณรด้วยวิธีไตรสรณคมน์”

    ครั้งนั้นแล พระสารีบุตรเถระได้จัดการบรรพชาให้แก่ราหุลกุมาร โดยพระมหาโมคคัลลานเถระปลงพระเกศาของราหุลกุมาร แล้วถวายผ้ากาสายะ ส่วนพระสารีบุตรเถระได้ถวายสรณะ และพระมหากัสสปเถระได้เป็นโอวาทาจารย์

    ๐ พระเจ้าสุทโธทนะทูลขอพระพุทธานุญาต

    เมื่อพระเจ้าสุทโธนะทรงทราบว่าราหุลกุมารบรรพชาแล้ว ทรงโทมนัสเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะโหรทั้งหลายได้ทำนายพระโพธิสัตว์ว่า จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเช่นใด ก็ได้ทำนายทั้งพระนันทะและพระราหุลว่า จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเช่นนั้นเหมือนกัน ครั้งนั้นพระราชาทรงเกิดพระปีติโสมนัสด้วยหวังพระทัยว่า เราจักได้ชมจักรพรรดิสิริของบุตรเรา และได้ทรงถึงความหมดหวังอย่างใหญ่หลวง เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผนวชเสีย จึงทรงตั้งความหวังไว้ที่ว่า เราจักได้ชมจักรพรรดิสิริของพ่อนันทะ แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงนำพระนันทะให้ผนวชเสียอีก ทำให้ทรงผิดหวังเป็นคำรบสอง แต่อย่างไรก็ตาม ยังทรงตั้งความหวังไว้กับพระเจ้าหลานเธอ คือ พ่อราหุล และแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงนำพระราหุลนั้นให้ผนวชเสียอีก บัดนี้ จึงหมดสิ้นผู้จะสืบสายรัชทายาท กุลวงศ์บัดนี้ขาดสายเสียแล้ว

    ฉะนั้น พระเจ้าสุทโธนะได้ทรงดำริว่า “แม้ว่าเราจะเป็นพุทธมามกะ ธัมมมามกะ สังฆมามกะ ก็ตาม แต่ถ้าหากปล่อยไว้เช่นนี้ อีกไม่นานบรรดาราชกุมารในศากยสกุล ก็จะถูกนำไปบวชเสียจนหมดสิ้น อนึ่ง ความทุกข์โทมนัสอย่างนี้ก็จะเกิดแก่บิดามารดาในสกุลอื่นๆ ด้วยเหตุที่บุตรและหลานทั้งหลายของตนออกบวช จนหมดสิ้นผู้จะสืบสายสกุล”

    ในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระบรมศาสดาทรงกระทำภัตกิจในพระราชนิเวศน์ พระเจ้าสุทโธนะจึงรีบเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระราชาประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า “เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงผนวชแล้ว ความทุกข์ล้นพ้นได้บังเกิดแก่หม่อมฉัน เมื่อพ่อนันทะผนวชก็เช่นเดียวกัน เมื่อพ่อราหุลผนวช ความทุกข์ยิ่งมีประมาณมากล้น พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าสุทโธนะจึงกราบทูลขอประทานพระพุทธานุญาตว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นับต่อแต่นี้ไป ถ้ากุลบุตรผู้ใดประสงค์จะบวชในพระพุทธศาสนา หากมารดาบิดายังมิยินยอมพร้อมใจกัน อนุญาตให้บวชแล้ว ขอได้โปรดงดเสีย อย่าได้บวชให้แก่กุลบุตรผู้นั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า”

    พระบรมศาสดาได้ประทานพระพุทธานุญาตตามที่พระพุทธบิดากราบทูลขอแล้ว ถวายพระพรลา พาพระนันทะและสามเณรราหุล พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ เสด็จกลับสู่มหานครราชคฤห์

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงนำเอาเรื่องนี้เป็นเหตุในการแสดงธรรม แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต ภิกษุไม่พึงให้บวช รูปใดให้บวชต้องอาบัติทุกกฎ”


    ๐ พระพุทธองค์ทรงโปรดสั่งสอนพระราหุล

    เมื่อราหุลสามเณรบรรพชาแล้ว พระศาสดาก็ได้ทรงตรัส “ราหุโลวาทสูตร” เป็นโอวาทเนืองๆ แก่ราหุลสามเณรนั้น ตั้งแต่ราหุลสามเณรมีพระชนม์ได้ ๗ พรรษาจนถึงเป็นภิกษุยังไม่มีพรรษา

    ในเวลาที่สามเณรมีอายุ ๗ พรรษา วันหนึ่งในขณะที่ท่านพักอยู่ ณ สวนมะม่วงแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์ พระบรมศาสดาเสด็จไป ณ ที่นั้น ด้วยเพราะท่านยังเป็นเด็กชอบพูดเล่น พระบรมศาสดาจึงทรงตรัส “อัมพลัฎฐิการาหุโลวาทสูตร” แก่ราหุลสามเณรนั้นว่า “ราหุลอย่ากล่าวสัมปชานมุสา (คำพูดเท็จทั้งที่รู้ คือ รู้ความจริง แต่จงใจพูดให้คลาดจากความจริง เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจเป็นอย่างอื่นจากความจริง) แม้จะกล่าวเพราะความเป็นเด็ก หรือแม้ประสงค์จะให้หัวเราะเล่นเลย” โดยเนื้อหาพระสูตรกล่าวถึง โทษของการพูดเท็จทั้งที่รู้ วิธีการแสดงพระบรมศาสดาทรงใช้อุปกรณ์การสอน หรือ “สื่อ” คือ ขันน้ำ ทรงแสดงเป็นขั้นเป็นตอนอย่างน่าสนใจยิ่ง กล่าวคือ ทรงเทน้ำ (น้ำล้างพระบาท) แล้วเหลือไว้หน่อยหนึ่ง, ทรงเทน้ำจนหมดขัน, ทรงคว่ำขันลง, ทรงหงายขันเปล่าขึ้น โดยทรงเน้นว่า คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้ ค่อยๆ เทคุณความดีออกทีละน้อยๆ จนไม่มีเหลือในตัวเองเลย ดุจขันเปล่านั้น และไม่มีบาปกรรมอะไรที่ผู้หมดความละอายใจกล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้จะทำไม่ได้ ดังพระพุทธภาษิตแห่งหนึ่งที่ว่า “คนพูดเท็จจะไม่ทำความชั่วนั้นไม่มี”

    ในเวลาที่สามเณรมีอายุ ๑๘ พรรษา ทรงตรัส “มหาราหุโลวาทสูตร” แก่ราหุลสามเณร ด้วยราหุลสามเณรได้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าเข้าไปบิณฑบาตในเมือง มองดูพระสิริโฉมอันงดงามและสง่าของพระพุทธเจ้า ก็มีความกำหนัดยินดี พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยฌาณ จึงทรงแสดงธรรมให้ฟัง เนื้อหาพระสูตรกล่าวถึง รูปกรรมฐานธาตุ ๕ อย่าง คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน, อาโปธาตุ ธาตุน้ำ, เตโชธาตุ ธาตุไฟ, วาโยธาตุ ธาตุลม และอากาศธาตุ ช่องว่าง, โดยให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามสภาพที่เป็นจริงว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ส่วนนั้นไม่เป็นของเรา ส่วนนั้นไม่ใช่ของตัวเราเป็นต้น

    ตอนท้ายได้ตรัสให้ราหุลสามเณรทำจิตให้เหมือน ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศ เพราะเมื่อทำจิตให้เหมือนดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศ เป็นประจำอยู่เสมอ เมื่อมีการกระทบอารมณ์เกิดขึ้นแล้ว ความชอบและความชังจะไม่สามารถครอบงำจิตได้ รวมทั้งตรัสสอนให้เจริญกรรมฐานอื่นๆ และให้เจริญภาวนา คือ ให้เจริญเมตตาภาวนาเพื่อละพยาบาท, เจริญกรุณาภาวนาเพื่อละวิหิงสา, เจริญมุทิตาภาวนาเพื่อละความริษยา, เจริญอุเบกขาภาวนาเพื่อละความขัดใจ, เจริญอสุภสัญญาภาวนาเพื่อละราคะ และเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเพื่อละอัสมิมานะ

    ต่อมา ทรงตรัสสอน “ราหุโลวาทสูตร” อีก ๔ พระสูตรแก่พระราหุล เนื้อหาพระสูตรแยกได้ ๒ ประเด็นคือ (๑) สอนให้มองธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และ (๒) สอนให้คบกัลยาณมิตร อยู่ในเสนาสนะที่สงบสงัดปราศจากเสียงอึกทึกครึกโครม รู้ประมาณในโภชนะ ไม่โลภในปัจจัยสี่ สำรวมอินทรีย์ มีสติในการเจริญอสุภภาวนา และให้ละมานะ

    สามเณรราหุลนับเป็น “บิดา” ของสามเณรทั้งหลายในปัจจุบัน สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงประยุกต์หลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ปกครองประเทศ และประกาศนโยบายปกครองอันเรียกว่า ธรรมวิชัยหรือธรรมราชา ที่กษัตริย์ในยุคต่อๆ มาถือเป็นแบบอย่างนั้น พระองค์ถึงกับทรงคัดเลือกพระสูตรและเนื้อหาธรรมะด้วยพระองค์เอง แล้วทรงแนะนำว่า “ราหุโลวาทสูตร” เป็นหนึ่งในพระสูตรที่พระเถระและพระเถรีทั้งหลายพึงศึกษาเพราะเป็นฐานแห่งวิปัสสนา ต่อมาพระองค์ทรงสร้างพระสถูปอุทิศให้สามเณรราหุล ไว้สำหรับให้สามเณรทั้งหลายได้กราบไหว้ด้วย


    ๐ พระราหุลบรรลุพระอรหัตผล

    เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ท่านก็ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ภายหลังในเวลาที่พระราหุลเป็นภิกษุได้ครึ่งพรรษา ประทับอยู่ที่ป่าอันธวัน เขตพระนครสาวัตถี พระศาสดาทรงทราบว่า ธรรมเจริญด้วยวิมุตติ ๑๕ ของพระราหุลแก่กล้าแล้ว จึงทรงตรัส “จูฬราหุโลวาทสูตร” ความในพระสูตรนั้นมีโดยย่อดังนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นประทับอยู่ในที่รโหฐาน ได้เกิดพระปริวิตกทางพระหฤทัยขึ้นว่า ราหุลมีธรรมที่บ่มวิมุตติแก่กล้าแล้ว ถ้าอย่างไรเราพึงแนะนำราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้นเถิด

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงครองสบง ทรงบาตรจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถีในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว ได้ตรัสกับพระราหุลว่า “ดูก่อนราหุล เธอจงถือผ้ารองนั่ง เราจักเข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนกลางวันกัน”

    พระราหุลกราบทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า “ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” แล้วจึงถือผ้ารองนั่งติดตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปข้างหลัง ก็สมัยนั้นแล เทวดาหลายพันตนได้ติดตามพระผู้มีพระภาคไปด้วยทราบว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคจักทรงแนะนำพระราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้น

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปถึงป่าอันธวันแล้ว จึงทรงประทับนั่ง ณ อาสนะที่พระราหุลจัดถวาย ณ ควงไม้แห่งหนึ่ง พระราหุลได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

    พระผู้มีพระภาค : ดูก่อนราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน... จักษุ... รูป... จักษุวิญญาณ... จักษุสัมผัส... เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น....... เที่ยงหรือไม่เที่ยง

    พระราหุล : ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาค : ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข

    พระราหุล : เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาค : ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา

    พระราหุล : ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาค : ดูก่อนราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน... โสตะ... ฆานะ... ชิวหา... กาย... มโน... ธรรมารมณ์... มโนวิญญาณ... มโนสัมผัส... เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น....... เที่ยงหรือไม่เที่ยง

    พระราหุล : ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาค : ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข

    พระราหุล : เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาค : ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา

    พระราหุล : ไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาค : ดูก่อนราหุล อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ... แม้ในรูป... แม้ในจักษุวิญญาณ... แม้ในจักษุสัมผัส..... ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ... แม้ในเสียง... แม้ในฆานะ... แม้ในกลิ่น... แม้ในชิวหา... แม้ในรส... แม้ในกาย... แม้ในโผฏฐัพพะ... แม้ในมโน... แม้ในธรรมารมณ์... แม้ในมโนวิญญาณ... แม้ในมโนสัมผัส….. ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น

    เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้วย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

    หลังจากพระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว จิตของท่านพระราหุลก็หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น บรรลุพระอรหัตผล ดังนั้น ท่านผู้ใฝ่การศึกษาก็สำเร็จการศึกษาเป็น “อเสขบุคคล” แล้วด้วยประการฉะนี้ และเทวดาหลายพันตนนั้นก็ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม (โสดาปัตติมรรค) อันปราศจากธุลีหมดมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้
    ๐ พระราหุลกับการเป็นต้นบัญญัติสิกขาบทบางข้อ

    (ก) ภิกษุใดนอนร่วมกับอนุปสัมบัน (ผู้มิใช่พระภิกษุ) เกินกว่า ๓ คืนเป็นปาจิตตีย์

    ครั้งหนึ่ง เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าไปอาศัยเมืองอาฬวี ประทับอยู่ในอัคคาฬวเจดีย์ อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ และภิกษุณีจำนวนมากพากันไปสู่พระวิหารเพื่อฟังธรรม ตอนกลางวันมีการฟังธรรม ครั้นเมื่อเวลาล่วงไปจนถึงกลางคืน อุบาสิกาและภิกษุณีทั้งหลายไม่ไปฟังธรรม มีแต่พวกภิกษุและอุบาสกทั้งหลายเท่านั้นที่ไปฟังธรรม ตั้งแต่นั้นมาจึงเกิดมีการฟังธรรมตอนกลางคืน

    ในเวลาเสร็จสิ้นการฟังธรรม ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระพากันไปยังที่อยู่ของตนๆ ส่วนพระภิกษุผู้บวชใหม่และสามเณร รวมทั้งอุบาสกที่ไม่สามารถจะกลับที่พักได้เพราะค่ำมืด จึงอาศัยนอนกันในโรงธรรม หรืออุปัฏฐานศาลา คือ โรงฉัน เนื่องจากเป็นพระบวชใหม่หรือเป็นสามเณร จึงไม่สำรวมในการนอน ทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าดู บางท่านนอนกัดฟัน บางท่านนอนกรนเสียงครืดๆ บางท่านนอนครู่เดียวแล้วลุกขึ้น

    พอรุ่งเช้า อุบาสกทั้งหลายพากันติเตียน และความทราบไปถึงพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์จึงรับสั่งประชุมสงฆ์ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “ห้ามภิกษุนอนร่วมในที่มุงที่บังเดียวกันกับอนุปสัมบัน (ผู้มิใช่พระภิกษุ) ถ้านอนร่วมต้องอาบัติปาจิตตีย์” ทรงตรัสดังนี้แล้วได้เสด็จไปยังนครโกสัมพี

    การที่ทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวกับราหุลสามเณร ว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้อย่างนั้นแล้ว บัดนี้ ท่านจงรู้ที่อยู่ของตนเถิด”

    เมื่อก่อนภิกษุทั้งหลายได้สงเคราะห์ราหุลสามเณร ผู้มายังที่อยู่ของตนๆ เป็นอย่างดี เพราะอาศัยความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมักลาดเตียงเล็กและให้จีวรเพื่อหนุนศีรษะ แต่วันนั้นแม้ที่อยู่ก็ให้ไม่ได้แล้วเพราะกลัวต่อสิกขาบท

    ฝ่ายราหุลสามเณรเมื่อไม่มีที่จะนอน ก็ไม่ไปยังสำนักของพระศาสดาด้วยคิดว่าเป็นพระพุทธบิดาของเรา หรือของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรด้วยคิดว่าเป็นพระอุปัชฌาย์ของเรา หรือของพระมหาโมคคัลลานะด้วยคิดว่าเป็นพระอาจารย์ของเรา หรือของพระอานนท์ด้วยคิดว่าเป็นพระเจ้าอาของเรา แต่ได้เข้าไปนอนในวัจกุฎี (ส้วม) ของพระศาสดาตลอดคืน

    ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาประทับยืนที่ประตูวัจกุฎีแล้วทรงไอขึ้น ส่วนราหุลสามเณรนั้นก็กระแอมรับ พระศาสดาตรัสถามว่า “ใครนั่น ?”

    ราหุลสามเณรกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ราหุล พระพุทธเจ้าข้า” แล้วออกมาถวายบังคม

    พระศาสดาตรัสถามว่า “ราหุล เพราะเหตุใดเธอจึงมานอนที่นี่ ?”

    ราหุลสามเณรกราบทูลว่า “เพราะไม่มีที่อยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยว่าเมื่อก่อนภิกษุทั้งหลายกระทำความสงเคราะห์แก่ข้าพระองค์ แต่บัดนี้ไม่ให้ที่อยู่เพราะกลัวตนต้องอาบัติ ข้าพระองค์นั้นคิดว่า ที่นี้เป็นที่ไม่เบียดเสียดผู้อื่น ด้วยเหตุนี้จึงได้มานอนในที่นี้ พระพุทธเจ้าข้า”

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า การที่ราหุลสามเณรไม่มีที่นอนเนื่องมาจากพุทธบัญญัติ ทำให้พระองค์สลดพระทัย จึงทรงพระดำริว่า “เบื้องต้นภิกษุทั้งหลายสละราหุลได้อย่างนี้ ต่อไปภายหน้า ถ้าให้เด็กในตระกูลทั้งหลายเหล่าอื่นบวชแล้ว จักกระทำอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนั้นสามเณรน้อยๆ จะได้รับความลำบากเพราะขาดผู้ดูแลเอาใจใส่”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกันแต่เช้าตรู่ แล้วตรัสกับพระธรรมเสนาบดีว่า “สารีบุตร วันนี้ราหุลอยู่ที่วัจกุฎี ดูก่อนสารีบุตร ท่านทั้งหลายเมื่อละทิ้งราหุลได้อย่างนี้ ต่อไปภายหน้า ถ้าให้เด็กในตระกูลทั้งหลายเหล่าอื่นบวชแล้ว จักกระทำอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนั้นกุลบุตรผู้บวชในพระศาสนานี้จักเป็นผู้ไม่มีที่พึ่ง”

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติมว่า “ให้ภิกษุนอนร่วมกับอนุปสัมบันได้ ๓ คืน ถ้าเกิน ๓ คืน พระภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์” ในพุทธบัญญัตินี้ หมายถึงให้ภิกษุนอนร่วมกับอนุปสัมบันได้ ๓ คืน ในคืนที่ ๔ ให้เว้นเสีย ๑ คืน แล้วค่อยกลับมานอนร่วมกันใหม่ได้ โดยเริ่มนับหนึ่งจนถึงคืนที่ ๓ ทำโดยทำนองนี้จนกว่าจะมีสถานที่นอนแยกกันเป็นการถาวร


    (ข) ทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาดมีสามเณรมากรูปได้

    ในสมัยนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระสารีบุตร ส่งเด็กชายไปในสำนักท่านพระสารีบุตรด้วยมอบหมายว่า ขอพระเถระโปรดบรรพชาเด็กคนนี้ เมื่อเป็นดังนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงดำริว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไม่ให้ภิกษุรูปเดียวรับสามเณร ๒ รูปไว้อุปัฏฐาก ก็เรามีสามเณรราหุลนี้อยู่แล้ว ทีนี้เราจะปฏิบัติอย่างไร”

    เพื่อตัดความสงสัยเช่นนี้ ท่านพระสารีบุตรจึงกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงนำเอาเรื่องนี้เป็นเหตุในการแสดงธรรม แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถรูปเดียวรับสามเณร ๒ รูปไว้อุปัฏฐากได้ หรือเธออาจจะโอวาทอนุศาสน์ (กล่าวสอน, ตักเตือน, แนะนำพร่ำสอน) สามเณรมีจำนวนเท่าใด ก็ให้รับไว้อุปัฏฐากมีจำนวนเท่านั้น”


    ๐ พระราหุลบำเพ็ญเพียรโดยถือเอาการไม่นอนเป็นวัตร

    พระราหุลถือธุดงควัตรทั้ง ๑๓ ข้อ ตามความที่ปรากฏในอรรถกถา เล่มที่ ๔๗ ราหุลสูตร ดังนี้

    พระราหุลนั้นทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับเราว่า “เธออย่าได้กระทำความอยากในจีวร ดังนี้” ท่านจึงได้สมาทานธุดงค์ ๒ ข้อที่เกี่ยวกับจีวร คือ ปังสุกูลิกังคธุดงค์ คือถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๑ , เตจจีวริกังคธุดงค์ คือถือผ้า ๓ ผืน (ไตรจีวร) เป็นวัตร ๑

    พระราหุลนั้นทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับเราว่า “เธออย่าได้กระทำความอยากในบิณฑบาต ดังนี้” ท่านจึงได้สมาทานธุดงค์ ๕ ข้อที่เกี่ยวกับบิณฑบาต คือ ปิณฑปาติกังคธุดงค์ คือถือการบิณฑบาตเป็นวัตร ๑ , สปทานจาริกังคธุดงค์ คือถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร ๑ , เอกาสนิกังคธุดงค์ คือถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร ๑ , ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ คือถือการฉันในบาตรเป็นวัตร ๑ , ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ คือถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร ๑

    พระราหุลนั้นทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับเราว่า “เธออย่าได้กระทำความอยากในเสนาสนะ ดังนี้” ท่านจึงได้สมาทานธุดงค์ ๖

    ข้อที่เกี่ยวกับเสนาสนะ คือ อารัญญิกังคธุดงค์ คือถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ๑ , รุกขมูลิกังคธุดงค์ คือถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร ๑ , อัพโภกาสิกังคธุดงค์ คือถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร ๑ , โสสานิกังคธุดงค์ คือถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร ๑ , ยถาสันถติกังคธุดงค์ คือถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร ๑ , เนสัชชิกังคธุดงค์ คือถือการนั่งเป็นวัตร ๑

    พระราหุลนั้นทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับเราว่า “เธออย่าได้กระทำความอยากในคิลานปัจจัย ดังนี้” ท่านจึงเป็นผู้สันโดษแล้ว ด้วยความสันโดษ ๓ ในปัจจัยทั้งปวง คือ

    ยถาลาภสันโดษ คือยินดีตามที่ได้ คือ ได้สิ่งใดมาด้วยความเพียรของตนก็พอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่เดือดร้อนเพราะของที่ไม่ได้ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น ไม่ริษยาเขา ๑

    ยถาพลสันโดษ คือยินดีตามกำลัง คือ พอใจเพียงแค่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและขอบเขตการใช้สอยของตน ของที่เกินกำลังก็ไม่หวงแหนเสียดาย ไม่เก็บไว้ให้เสียเปล่า หรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน ๑

    ยถาสารุปปสันโดษ คือยินดีตามสมควร คือ พอใจตามที่สมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุพอใจแต่ของอันเหมาะสมกับสมณภาวะ หรือได้ของใช้ที่ไม่เหมาะกับตนแต่จะมีประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็นำไปมอบให้แก่เขา เป็นต้น ๑

    ในอรรถกถาเล่มที่ ๑๔ กล่าวว่า พระราหุลเถระท่านเป็นผู้ถือธุดงควัตรในข้อถือเอาการนั่งเป็นวัตร โดยไม่เอนกายลงนอนเลยเป็นเวลา ๑๒ ปี


    ๐ พระราหุลเกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์

    ก่อนที่พระราหุลจะมาบังเกิดในสมัยพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์อยู่หลายชาติ ดังที่ปรากฏในชาดกต่างๆ เช่น

    -- เกิดเป็นลูกเนื้อผู้เป็นหลาน พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นเนื้อผู้เป็นลุง ใน ติปัลลัตถมิคชาดก

    -- เกิดเป็นโอรสพระเจ้ามฆเทวะ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามฆเทวะ ใน มฆเทวชาดก

    -- เกิดเป็นขุนพลแก้ว พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ใน มหาสุทัสสนชาดก

    -- เกิดเป็นลูกราชสีห์ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพญาราชสีห์ ใน ทัททรชาดก

    -- เกิดเป็นดาบสกุมาร พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระดาบส ใน มักกฏชาดก

    -- เกิดเป็นนกกระทา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระดาบส ใน ติตติรชาดก

    -- เกิดเป็นสุวโปดก พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระดาบสผู้อยู่ในพระราชอุทยาน ใน อัพภันตรชาดก

    -- เกิดเป็นบุตรพราหมณ์ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพราหมณ์ ใน อุรคชาดก

    -- เกิดเป็นบุตรนายมัณฑัพยะ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นกัณหทีปายนดาบส ใน กัณหทีปายนชาดก

    -- เกิดเป็นบุตรปริพาชก พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นปริพาชก ใน กุมภการชาดก

    -- เกิดเป็นลูกเต่า พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นราชสีห์ ใน มหาอุกกุสชาดก

    -- เกิดเป็นกนิษฐโอรส พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าจุลลสุตโสม ใน จุลลสุตโสมชาดก

    -- เกิดเป็นทีฆาวุกุมาร พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก ใน มหาชนกชาดก

    -- เกิดเป็นธนุเสข พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระมโหสถบัณฑิตใน มโหสถบัณฑิตชาดก

    -- เกิดเป็นพระวสุละ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระจันทกุมาร ใน จันทกุมารชาดก

    -- เกิดเป็นบุตรคนโตของพระวิธูรบัณฑิต พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระวิธูรบัณฑิต ใน วิธูรชาดก

    -- เกิดเป็นชาลีกุมาร พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ใน มหาเวสสันดรชาดก

    ๐ ทรงแต่งตั้งพระราหุลเป็นเอตทัคคะ
    ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้ใคร่ในการศึกษา


    ความเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาของพระราหุลนั้น กล่าวคือ นอกจากหมายความว่า ท่านเป็นผู้ประสงค์และยินดีในการเรียนรู้อย่างยิ่งแล้ว ยังหมายความรวมไปถึงว่า ท่านเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย อ่อนน้อม เคารพเชื่อฟังในคำสั่งสอนของพระเถระทั้งหลาย และเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อพระอุปัชฌาย์และพระมารดาเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้

    ในเรื่องความเป็นผู้ประสงค์และยินดีในการเรียนรู้อย่างยิ่งนั้น มีเรื่องเล่าว่า พระราหุลเป็นผู้มีอัธยาศัยใคร่ต่อการศึกษาพระธรรมวินัย ทุกๆ วันที่ท่านตื่นขึ้นมาเวลาเช้าจะเดินลงมาที่ลานพระวิหาร ท่านจะกำทรายให้เต็มฝ่ามือ แล้วตั้งความปรารถนาและอธิษฐานดังๆ ว่า “วันนี้ข้าพเจ้าพึงได้รับคำสั่งสอนจากสำนักพระบรมศาสดา สำนักพระอุปัชฌาย์ และสำนักพระอาจารย์ทั้งหลาย ให้ได้ประมาณดุจดังเมล็ดทรายในกำมือของข้าพเจ้านี้เถิด”

    ลำดับต่อมา ได้เกิดการสนทนากันในท่ามกลางสงฆ์ว่า “ราหุลสามเณรอดทนต่อพระโอวาทหนอ เป็นโอรสที่คู่ควรแก่พระชนก” พระศาสดาทรงทราบวาระจิต (ความคิด) ของภิกษุทั้งหลายแล้วทรงพระดำริว่า “เมื่อเราไปสู่ที่ประชุมของภิกษุเหล่านั้นแล้ว พระธรรมเทศนาอย่างหนึ่งจักบังเกิด และคุณของราหุลจักปรากฏ” จึงเสด็จไปประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ในธรรมสภา ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ?”

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์สนทนากันถึงความที่ราหุลสามเณรเป็นผู้อดทนต่อพระโอวาท พระพุทธเจ้าข้า”

    พระศาสดาเพื่อทรงแสดงถึงคุณของราหุลสามเณร จึงทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ราหุลเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อนแม้บังเกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ก็เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาเหมือนกัน” แล้วทรงนำอดีตนิทานเรื่อง ‘มิคชาดก’ มาแสดงต่อเหล่าภิกษุทั้งหลายนี้

    ในเรื่องความเป็นผู้ว่าง่าย อ่อนน้อม เคารพ เชื่อฟังในคำสั่งสอนของพระเถระทั้งหลายนั้น มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งภิกษุทั้งหลายเห็นราหุลสามเณรกำลังมาแต่ไกล เพื่อต้องการจะทดลองราหุลสามเณรนั้น จึงทิ้งกำไม้กวาดและภาชนะสำหรับทิ้งขยะไว้

    เมื่อราหุลสามเณรนั้นมาถึง ภิกษุพวกหนึ่งจึงกล่าวว่า “ใครทิ้งกำไม้กวาดและภาชนะสำหรับทิ้งขยะไว้อย่างนี้”

    ภิกษุอีกพวกหนึ่งได้กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ! ท่านราหุลเที่ยวมาในบริเวณนี้ ชะรอยเธอวางทิ้งไว้กระมัง”

    แต่ราหุลสามเณรนั้นด้วยความเคารพในถ้อยคำของพระภิกษุ จึงไม่กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมไม่รู้เรื่องนี้ ขอรับ”

    กลับเก็บงำสิ่งนั้นไว้ในที่ที่ควร แล้วขอขมาว่า “ท่านผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลายจงอดโทษแก่กระผมด้วยเถิด ขอรับ” แล้วจึงไป

    และในเรื่องที่ราหุลสามเณรต้องเข้าไปอาศัยนอนในวัจกุฎี (ส้วม) ของพระบรมศาสดา เนื่องเพราะเหล่าภิกษุไม่ยอมให้ราหุลสามเณรอาศัยอยู่ในที่พักของท่านด้วยเกรงต่อสิกขาบท ราหุลสามเณรเป็นผู้เคารพต่อพระโอวาทของภิกษุอย่างนี้ ท่านจึงเข้าไปอยู่ในวัจกุฎีนั้น

    พระราหุลมีสมญานามที่เพื่อนพรหมจรรย์ด้วยกันเรียกอีกนามหนึ่ง คือ “ราหุลภัททะ” แปลว่า ราหุลผู้ดีงาม หรือราหุลผู้โชคดี ซึ่งพระราหุลเองท่านก็ยอมรับว่า คำพูดนี้เป็นความจริง เพราะท่านนับว่ามีโชคดีถึงสองชั้น โชคชั้นที่หนึ่งได้เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ โชคชั้นที่สองได้เป็นโอรสในทางธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะทรงแต่งตั้งพระราหุลไว้ในเอตทัคคะ ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้เลิศในทางผู้ใคร่ในการศึกษา ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้ใคร่ในการศึกษา ราหุลเป็นผู้เลิศของภิกษุเหล่านั้น”


    ๐ พระราหุลเปลื้องอาพาธของพระมารดา

    ในเรื่องความเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีนั้น มีเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่ง ครั้งท่านยังเป็นสามเณรอยู่นั้น พระมารดาคือพระนางยโสธรา ซึ่งบัดนี้ได้ออกบวชเป็นภิกษุณีแล้วเกิดประชวรด้วยโรคลมในท้องกำเริบขึ้น ราหุลสามเณรได้มาเยี่ยมเยียนพระมารดา ครั้นได้ทราบว่าประชวรก็ห่วงใย ยิ่งได้ทราบว่าพระมารดาประชวรถึงขั้นไม่สามารถลุกขึ้นได้ก็ยิ่งทำให้ใจเสียเกรงว่าพระมารดาจะสิ้นพระชนม์ พระเถรีทรงทราบว่าสามเณรลูกชายมาเยี่ยมเยียน จะเสด็จลุกก็ไม่สามารถจะเสด็จลุกขึ้นออกมาพบได้ ภิกษุณีรูปอื่นๆ จึงมาบอกว่า “พระเถรีไม่สบาย”

    ด้วยความรักความห่วงใยและด้วยความกตัญญูต่อพระมารดาเป็นอย่างยิ่ง ราหุลสามเณรจึงไปยังสำนักของพระมารดา แล้วกราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระมารดา พระองค์ควรจะได้ยาอะไรที่จะนำมารักษาอาพาธนี้ จงตรัสบอกสิ่งนั้นแก่หม่อมฉันมาเถิด พระเจ้าข้า”

    พระเถรีผู้ชนนีตรัสว่า “ดูก่อนพ่อราหุล ในคราวยังครองเรือนมารดาดื่มน้ำมะม่วงผสมกับน้ำตาลกรวดเป็นต้น โรคลมในท้องก็สงบระงับไป แต่บัดนี้ พวกเราเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพจักได้น้ำมะม่วงผสมกับน้ำตาลกรวดนั้นมาจากไหน” พระเถรีตรัสเล่าด้วยพระอาการที่อ่อนเพลีย และทรงมีความวิตกในเรื่องโอสถที่จะหามาบำบัดโรค

    ราหุลสามเณรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมารดา หม่อมฉันจักได้นำมาถวาย พระเจ้าข้า” แล้วรีบทูลลากลับไป

    เนื่องด้วยราหุลสามเณรนั้นมีสมบัติมากมาย คือ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระพุทธบิดา มีพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอาจารย์ และมีพระอานนท์เป็นพระเจ้าอา ตามปกติเมื่อมีเรื่องที่ต้องการความช่วยเหลือราหุลสามเณรจะระลึกถึงบุคคลสำคัญ ๔ ท่านดังกล่าว แม้เมื่อเป็นอย่างนั้นราหุลสามเณรก็ไม่ไปยังสำนักอื่น ได้ไปยังสำนักของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรพระอุปัชฌาย์ ไหว้แล้ว ได้ยืนอยู่ด้วยอาการอันเศร้าโศก

    ลำดับนั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวกับราหุลสามเณรนั้นว่า “ดูก่อนราหุล เหตุใดหนอ เธอจึงมีหน้าระทมทุกข์อยู่เช่นนั้น”

    ราหุลสามเณรกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมมีความทุกข์ระทมใจเนื่องมาจากโรคลมในท้องของพระเถรีผู้เป็นมารดาของกระผมกำเริบขึ้น ขอรับ”

    พระสารีบุตรเถระถามว่า “โรคลมในท้องจักสงบระงับไปได้ ด้วยยาอะไรจึงจะควร ?”

    ราหุลสามเณรกล่าวว่า “พระมารดาเล่าให้ฟังว่า มีความผาสุกได้ด้วยน้ำมะม่วงผสมกับน้ำตาลกรวด ขอรับ”

    พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า “ไม่เป็นไร รอไว้พรุ่งนี้ก่อน เราจะต้องได้มาแน่ เธออย่าวิตกคิดมากไปเลย”

    ในวันรุ่งขึ้นพระสารีบุตรเถระพาราหุลสามเณรนั้นเข้าไปในเมืองสาวัตถี ให้สามเณรนั่งที่โรงฉัน แล้วได้ไปยังประตูพระราชวัง พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นพระเถระจึงนิมนต์ให้นั่ง และโดยที่พระเถระยังมิทันได้ถวายพระพรให้ทรงทราบถึงเหตุที่มา ในขณะนั้นเองนายอุยยานบาลนำเอามะม่วงหวานที่สุกทั้งพวงจำนวนห่อหนึ่งเข้ามาถวายแด่พระราชาๆ ทรงปอกเปลือกมะม่วงแล้วใส่น้ำตาลกรวดลงไป ขยำในภาชนะอันสะอาดด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ครั้นเสร็จแล้วได้ถวายแด่พระเถระจนเต็มบาตร พระเถระก็ถวายพระพรลากลับ

    ลำดับนั้น พระสารีบุตรเถระเดินทางออกจากพระราชนิเวศน์ไปยังโรงฉัน แล้วได้ให้น้ำมะม่วงผสมกับน้ำตาลกรวดแก่ราหุลสามเณรซึ่งนั่งคอยอยู่ด้วยความวิตกกังวล โดยกล่าวว่า “เธอจงนำน้ำมะม่วงผสมกับน้ำตาลกรวดนั้นไปถวายแก่พระมารดาของเธอตามความปรารถนาเถิด”

    ราหุลสามเณรจึงได้นำน้ำมะม่วงผสมกับน้ำตาลกรวดนั้นไปถวายพระมารดา พอพระเถรีฉันแล้ว ไม่นานนักโรคลมในท้องก็สงบระงับไป ซึ่งทำให้ราหุลสามเณรพระปิโยรสสบายพระทัยขึ้น

    ฝ่ายพระราชาทรงส่งคนไปด้วยพระดำรัสสั่งว่า “พระเถระไม่นั่งฉันน้ำมะม่วงผสมกับน้ำตาลกรวดในที่นี้ เธอจงไปดูให้รู้ว่าพระเถระให้ใคร”

    ราชบุรุษคนนั้นจึงไปพร้อมกับพระเถระ ทราบเหตุนั้นแล้วจึงมากราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาทรงพระดำริว่า “ถ้าพระศาสดาจักอยู่ครองเรือน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ราหุลสามเณรจักได้เป็นขุนพลแก้ว พระเถรีจักได้เป็นนางแก้ว ราชสมบัติในสกลจักวาฬจักเป็นของท่านเหล่านี้ทีเดียว ควรที่เราจะพึงอุปัฏฐากบำรุงท่านเหล่านี้ บัดนี้ เราไม่ควรประมาทในท่านเหล่านี้ผู้บวชแล้วเข้ามาอาศัยเราอยู่ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงรับสั่งให้ถวายน้ำมะม่วงผสมกับน้ำตาลกรวดแด่พระเถรีเป็นประจำ”


    ๐ มารแปลงเป็นช้างรัดกระหม่อมพระราหุล

    ในวันหนึ่งเวลาวิกาล พระเถระเป็นจำนวนมากเข้าไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร ได้เข้าไปถึงที่อยู่ของพระราหุลเถระ แล้วก็บอกท่านให้ลุกขึ้น เมื่อไม่เห็นที่อยู่ในที่อื่น พระราหุลเถระจึงไปนอนที่หน้ามุขพระคันธกุฎีของพระตถาคต คราวนั้นพระราหุลเถระบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่เป็นภิกษุยังไม่มีพรรษาเลย

    มารชื่อ วสวัตดี เห็นท่านพระราหุลเถระนอนที่หน้ามุขพระคันธกุฎี จึงคิดว่า “พระหน่อน้อยผู้แทงใจของพระสมณโคดม นอนข้างนอก ส่วนพระองค์ผทม (นอน) ภายในพระคันธกุฎี เมื่อเราบีบคั้นพระหน่อน้อย พระพระสมณโคดมเองก็จักเป็นเหมือนถูกบีบคั้นด้วย” มารนั้นจึงนิรมิตเพศเป็นพระยาช้างใหญ่ เอางวงมารัดกระหม่อมพระราหุลเถระ แล้วร้องด้วยเสียงดังดุจนกกระเรียน


    • Update : 17/4/2554

    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch