หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระกังขาเรวตะเถระ

    Image

    พระกังขาเรวตะเถระ
    เอตทัคคะในทางผู้ยินดีในฌาน


    พระมหาเถระที่ชื่อ “เรวต” นี้ในพระบาลีมีอยู่ ๒ รูป คือ

    ๑. พระกังขาเรวต เอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในฌาน และ

    ๒. พระเรวตขทิรวนิยเถระ เอตทัคคะมหาสาวกเลิศทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร

    ประวัติในตอนนี้เป็นเรื่องของพระกังขาเรวตะเถระผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในฌาน และการที่พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นเอตะทัคคะเช่นนั้น นอกจากเหตุที่ ท่านได้เข้าสมาบัติเป็นส่วนมาก มีความชำนาญอันสั่งสมไว้ในฌานทั้งหลาย ทั้งกลางวันทั้งกลางคืนแล้วเท่านั้น แต่ยังเนื่องจากท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัปอีกด้วย ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้


    ๐ ความปรารถนาในอดีต
    กระทำมหาทานแด่พระปทุมุตตรพุทธเจ้า


    ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ แห่งกรุงหังสวดี ครั้นเติบใหญ่เรียนจบไตรเพทแล้ว วันหนึ่งท่านได้ไปยังสำนักของพระปทุมมุตตระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม ได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้ยินดีในฌาน ท่านปรารถนาจะได้ตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน ครั้นเมื่อครบ ๗ วันแล้ว จึงตั้งความปรารถนาของตนกับพระพุทธองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ ๗ วันก่อนนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงได้สถาปนาภิกษุองค์ใดไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้ยินดีในฌาน ในอนาคตกาล ข้าพระองค์ก็พึงเป็นเหมือนภิกษุรูปนั้น คือพึงเป็นผู้เลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้ยินดีในฌาน ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิด

    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูด้วยอนาคตังสญาณแล้ว ทรงทราบว่าความปรารถนาของเขาจักสำเร็จผล จึงทรงพยากรณ์ว่า ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระศาสดามีพระนามชื่อว่าโคดม ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ท่านจักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามชื่อว่าเรวตะ ในอนาคตกาล เขาจักเกิดในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดม ในชื่อว่า เรวตตะ ท่านจักได้ฐานันดรนี้สมดังมโนรถความ ปรารถนา ทรงพยากรณ์ดังนี้แล้วเสด็จกลับ

    เขาได้ทำบุญไว้เป็นอันมากจนตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์


    ๐ กำเนิดวรรณกษัตริย์ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ในพุทธุปบาทกาลนี้ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในมนุษยโลกในสกุลกษัตริย์ ในโกลิยนคร มีทรัพย์มากมายมั่งคั่งสมบูรณ์ ในคราวที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมเทศนาในพระนครกบิลพัสดุ์ ท่านได้ไปยืนฟังธรรมกถาของพระทศพลอยู่ท้ายกลุ่มของพุทธบริษัทในพระวิหาร ได้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส จึงได้ขอบรรพชา ครั้นเมื่อได้อุปสมบทแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสบอกกัมมัฎฐานแล้ว ท่านได้กระทำบริกรรมในฌานอยู่ เป็นผู้ได้ฌาน กระทำฌานนั้นแหละให้เป็นบาท บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วยวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖


    ๐ เหตุที่พระเถระได้ชื่อว่ากังขาเรวตะ

    ในพระบาลี พระเถระที่ชื่อ “เรวตะ” มี ๒ รูป คือ พระขทิรวนิยเรวตะ และพระกังขาเรวตะ

    พระขทิรวนิยเรวตะ นั้นท่านเป็นน้องชายของพระสารีบุตร เหตุที่ท่านได้ฉายาว่า เรวตขทิรวนิยะ เพราะท่านได้หนีญาติมาอยู่ในป่าตะเคียน ก่อนที่ท่านจะบวช ขทิระ แปลว่า ต้นตะเคียน วินยะ แปลว่า อยู่ป่า ต่อมาท่านได้รับการสถาปนาจากพระพุทธองค์ เป็นเอตทัคคมหาสาวกเลิศทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร

    ส่วนพระกังขาเรวตะนั้น ภายหลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว ขณะที่ท่านยังเป็นปุถุชน ยังมิได้บรรลุพระอรหัตผลนั้น ท่านเป็นผู้มักสงสัย ถามว่า พระภิกษุรูปอื่นที่มีความสงสัยไม่มีหรือ ? ตอบว่า มี แต่พระเรวตะเถระนี้ แม้ในสิ่งที่สมควร ก็เกิดสงสัย มีความสงสัยเป็นปกติปรากฏชัดแจ้ง ทั้งในสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ (กัปปิยะ= เป็นของควร, อกัปปิยะ = เป็นของไม่ควร) และท่านเป็นต้นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยอยู่หลายเรื่องเช่น


    พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ เหตุบัญญัติพระวินัย

    พระพุทธานุญาตงบน้ำอ้อย


    [๔๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครสาวัตถีตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จพุทธดำเนินไปทางพระนครราชคฤห์ ท่านพระกังขาเรวตะได้แวะเข้าโรงทำงบน้ำอ้อยในระหว่างทาง เห็นเขาผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย จึงรังเกียจว่า งบน้ำอ้อยเจืออามิส เป็นอกัปปิยะ ไม่ควรจะฉันในเวลาวิกาล ดังนี้ จึงพร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันงบน้ำอ้อย แม้พวก ภิกษุที่เชื่อฟังคำท่านก็พลอยไม่ฉันงบน้ำอ้อยไปด้วย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย เพื่อประสงค์อะไร ?

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เพื่อประสงค์ให้เกาะกันแน่น พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนทั้งหลายผสม แป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในงบน้ำอ้อย เพื่อประสงค์ให้เกาะกันแน่น งบน้ำอ้อยนั้นก็ยังถึงความนับว่างบน้ำอ้อยนั่นแหละ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันงบน้ำอ้อยตามสบาย


    พระพุทธานุญาตถั่วเขียว

    ท่านพระกังขาเรวตะ ได้เห็นถั่วเขียวงอกขึ้นในกองอุจจาระ ณ ระหว่างทาง แล้วรังเกียจว่า ถั่วเขียวเป็นอกัปปิยะ แม้ต้มแล้วก็ยังงอกได้ จึงพร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันถั่วเขียว แม้พวกภิกษุที่เชื่อฟังคำของท่านก็พลอยไม่ฉันถั่วเขียวไปด้วย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถั่วเขียวแม้ที่ต้ม แล้วก็ยังงอกได้ เราอนุญาตให้ฉันถั่วเขียวได้ตามสบาย


    ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มักสงสัยอยู่เป็นประจำ จนเป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่พระภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น คำว่า “กังขา” จึงถูกเรียกรวมกับชื่อเดิมของท่านว่า “กังขาเรวตะ” หมายถึง พระเรวตะผู้ชอบสงสัย


    ๐ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

    ครั้นเมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว บรรลุพระอรหัตแล้ว โดยมากท่านจะเข้าสมาบัติ ได้เป็นผู้มีชำนาญที่สั่งสมแล้วในฌานทั้งหลาย ทั้งกลางวันและกลางคืน พิจารณาอยู่ ซึ่งกังขาวิตรณวิสุทธิ ของตน คือความบริสุทธิ์ด้วยหมดสงสัยในนามรูป คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้ว่า เพราะอะไรเกิดนามรูปจึงเกิด เพราะอะไรดับ นามรูปจึงดับ

    เพราะเหตุที่ท่านมีความสงสัยเป็นปกติมานาน ท่านจึงนั่งพิจารณาอริยมรรคที่ตนบรรลุแล้วนั้น ให้หนักแน่นว่า เราละความสงสัยเหล่านี้ได้เด็ดขาด เพราะอาศัยมรรคธรรมนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ในสมัยนั้น ท่านพระกังขาเรวตะนั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง พิจารณากังขาวิตรณวิสุทธิของตนอยู่ในที่ไม่ไกลจากที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่นัก พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นท่านพระกังขาเรวตะ นั่งพิจารณากังขาวิตรณวิสุทธิของตนอยู่ จึงได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า

    ความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดในอัตภาพนี้ หรือในอัตภาพอื่น
    ในความรู้ของตน หรือในความรู้ของผู้อื่น
    บุคคลผู้เพ่งพินิจ มีความเพียร ประพฤติพรหมจรรย์อยู่
    ย่อมละความสงสัยเหล่านั้นได้ทั้งหมด ฯ


    ต่อมาภายหลังพระศาสดาทรงถือเอาคุณอันนี้ สถาปนาท่านไว้ใน ตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ได้ฌาน


    ๐ พระเถระโปรดนางเปรตให้พ้นทุกข์

    เรื่องของนางเปรตผู้เป็นมารดาของนายอุตตระนี้ มีดังต่อไปนี้

    เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว เมื่อปฐมมหาสังคายนาได้กระทำแล้ว ท่านพระมหากัจจายนะ พร้อมด้วยภิกษุ ๑๒ รูป อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ไม่ไกลแต่กรุงโกสัมพี ก็สมัยนั้น อำมาตย์คนหนึ่งของพระเจ้าอุเทน ได้สิ้นชีวิตลง. ก่อนที่จะสิ้นชีวิต อำมาตย์นั้นได้มีหน้าที่เป็นผู้ดูแลเรื่องราวต่างในพระนคร ครั้นอำมาตย์นั้นสิ้นชีวิตลง พระราชาจึงรับสั่งให้เรียกอุตตรมาณพผู้เป็นบุตรของอำมาตย์นั้นมา แล้ว ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเดียวกับที่บิดาเคยดำรงอยู่ รับสั่งว่า เจ้าจงดูแลการงาน ให้เหมือนกับที่บิดาเจ้าได้จัดการไว้

    อุตตรมาณพนั้น รับพระดำรัสแล้ว วันหนึ่ง ได้พานายช่างทั้งหลายไปในป่า เพื่อเสาะหาไม้ไว้สำหรับซ่อมแซมพระนคร จึงเข้าไปยังที่อยู่ของท่านพระมหากัจจายนะ ในที่นั้น ได้แลเห็นพระเถระผู้ทรงบังสุกุลจีวร นั่งสงบเงียบอยู่ในที่นั้น ก็บังเกิดความเลื่อมใสในอิริยาบถ จึงได้กระทำปฏิสันถารแล้ว นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง พระเถระได้แสดงธรรมแก่อุตตรมาณพนั้น เมื่อได้สดับธรรมแล้วอุตตรมาณพนั้นก็เกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จึงตั้งอยู่ในสรณะ แล้วนิมนต์พระเถระด้วยคำว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพร้อมด้วยภิกษุทั้งหลายจงรับภัตตาหารเพื่อจะฉันในวันพรุ่งนี้ โดยความอนุเคราะห์กระผมเถิด พระเถระรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ เธอกลับจากที่นั้นแล้วไปยังพระนคร และได้บอกแก่อุบาสกเหล่าอื่นว่า ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระเถระเพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ก็ขอเชิญท่าน ทั้งหลายมายังโรงทานของข้าพเจ้าด้วย

    ในวันที่ ๒ เวลาเช้าตรู่ เธอให้จัดอาหารอันประณีต แล้วก็ไปแจ้งให้พระเถระทราบ เมื่อพระเถระทั้งหลายมาถึง ก็จัดแจงกระทำการต้อนรับ นิมนต์ให้ขึ้นเรือน เมื่อพระเถระและภิกษุทั้งหลายนั่งบนอาสนะที่ลาดด้วยเครื่องปูลาด อันเป็นของมีค่ามาก ทำการบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และธูป ถวายภัตตาหารแด่พระเถระทั้งหลาย เมื่อพระเถระกระทำอนุโมทนาภัตรเสร็จแล้ว จึงถือบาตรตามส่งออกจากนคร เมื่อจะกลับ ก็ปวารณานิมนต์พระเถระให้มารับภัตต์ที่เรือนของเขาเป็นนิตย์ เขาอุปัฏฐากพระเถระอยู่อย่างนี้ ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ฟังธรรมแล้วตั้งอยู่ ในโสดาปัตติผล และได้สร้างวิหารถวาย ทั้งกระทำให้ญาติของตนทั้งหมดเลื่อมใสในพระศาสนา

    ฝ่ายมารดาของมิได้มีจิตเลื่อมใสด้วยมีความตระหนี่ ได้บริภาษบุตรชายว่า เจ้าให้สิ่งไรแก่พวกสมณะ สิ่งนั้นจงกลายเป็นโลหิตแก่เจ้าในปรโลก แต่นางให้หางนกยูงกำหนึ่งในวันฉลองวิหาร เมื่อนางสิ้นชีวิตลง นางก็ไปเกิดเป็นเปรต แต่เพราะนางอนุโมทนาทานด้วยกำหางนกยูง นางจึงมีผมดำสนิท มีปลายตวัดขึ้น ละเอียดและยาว ในคราวที่นางจะดื่มน้ำในแม่น้ำคงคา น้ำนั้นก็กลับกลายเป็นเลือดไปสีย นางถูก ความหิวกระหายครอบงำเที่ยวไปสิ้น ๕๕ ปี วันหนึ่ง ได้เห็นพระกังขาเรวตเถระนั่งพักกลางวัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา จึงเอาผมของตนปิดตัวเข้าไปหาขอน้ำดื่ม

    พระเถระกล่าวว่า : ท่านก็จงตักเอาน้ำจากแม่น้ำคงคานั้นดื่มเถิด จะมาขอดื่มกะเราทำไม

    นางเปรตกล่าวว่า : ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าดิฉันตักน้ำในแม่น้ำคงคานี้เอง น้ำนั้นก็จะกลายเป็นโลหิต

    พระเถระถามว่า : ท่านได้กระทำกรรมชั่วอะไรไว้หรือ น้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นโลหิต.

    นางเปรตตอบว่า : ดิฉันมีบุตรคนหนึ่งชื่ออุตตระ เป็นอุบาสก มีศรัทธา เขาได้ถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัย แก่พระสมณะทั้งหลาย ด้วยความไม่พอใจของดิฉัน ดิฉันถูกความตระหนี่ครอบงำแล้ว ด่าเขาว่า เจ้าอุตตระ เจ้าถวาย จีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง และคิลานปัจจัยแก่สมณะทั้งหลาย ด้วยความไม่พอใจของเรานั้น จงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่เจ้าในปรโลก เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น น้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นโลหิตปรากฏแก่ดิฉัน.

    เพื่อที่จะโปรดนางเปรตนั้นให้ได้พ้นทุกข์ ท่านพระเรวตะได้ถวายน้ำดื่มแก่ภิกษุสงฆ์ อุทิศแก่นางเปรตนั้น และเมื่อท่านไปบิณฑบาต เมื่อได้รับภัตต์แล้ว ก็ได้ถวายภัตต์แก่ภิกษุทั้งหลาย และท่านก็ยังถือเอาผ้าบังสุกุลที่ได้จากกองขยะเป็นต้น ซักแล้วทำให้ เป็นฟูกและหมอน ถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย ทั้งหมดนี้ก็ได้อุทิศให้แก่นางเปรต ด้วยเหตุนี้นางเปรตนั้นจึงได้ทิพยสมบัติ แล้วนางจึงไปยังสำนักพระเถระ แสดงทิพยสมบัติที่ตนได้แก่พระเถระ พระเถระจึงเล่าเรื่องนางเปรตนั้นแก่บริษัท ๔ ผู้มายังสำนักตน แล้วแสดงธรรกถา มหาชนจึงเกิดความสังเวชและทำตนเป็นผู้ปราศจากความตระหนี่ และยินดียิ่งในการทำกุศลธรรม มีทานและศีลเป็นต้น


    ๐ พระเถระโปรดพระสัมมัชชนเถระ

    พระสัมมัชชนเถระ เมื่อครั้งยังเป็นพระปุถุชน ยังไม่บรรลุมรรคผลอันใด โดยปกติก็เป็นผู้ขยันในการเที่ยวกวาดขยะในที่ต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงกาลเวลา วันหนึ่ง พระสัมมัชชนเถระนั้น ถือไม้กวาด ไปสู่สำนักของพระเรวตเถระ ผู้นั่งอยู่ในที่พัก แล้วกล่าวว่า “พระเถระนี้เป็นผู้เกียจคร้านมาก บริโภคของที่ชนถวายด้วยศรัทธา แล้วมานั่งอยู่ ควรที่จะถือเอาไม้กวาดแล้วกวาดที่แห่งหนึ่ง จะไม่ดีกว่าหรือ ?”

    พระเรวตเถระคิดว่า “เราจักให้โอวาทแก่เธอ” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า “มานี่แน่ะ คุณ”

    พระสัมมัชชนเถระ : อะไร ? ขอรับ

    พระเรวตเถระ : ท่านจงไปอาบน้ำแล้วจงมา พระสัมมัชชนเถระก็ได้ทำอย่างนั้นแล้วจึงมานั่งอยู่ข้างหนึ่งของพระเถระ

    ลำดับนั้น พระเรวตเถระจึงกล่าวว่า “คุณ ธรรมดาภิกษุเที่ยวกวาดอยู่ตลอดทุกเวลานั้นไม่ควร แต่การที่ภิกษุกวาดแต่เช้าตรู่แล้ว เที่ยวบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตแล้ว มานั่งในที่พัก สาธยายอาการ ๓๒ เริ่มตั้ง ความสิ้น ความเสื่อมในอัตภาพแล้ว ลุกขึ้นกวาดในเวลาเย็น จึงควร ภิกษุไม่กวาดตลอดกาลเป็นนิตย์ ” พระสัมมัชชนเถระนั้นตั้งอยู่ในโอวาทของพระเถระแล้ว ไม่นานเท่าไรก็บรรลุพระอรหัต แต่การที่พระเถระหันมาบำเพ็ญเพียรแทนที่จะเที่ยวกวาดอยู่ทั้งวัน ก็ได้ทำให้ที่นั้นๆ ได้เกิดรกรุงรัง

    ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงได้กล่าวกะพระสัมมัชชนเถระนั้นว่า “สัมมัชชนเถระผู้มีอายุ ที่นั้นๆ รกรุงรัง เพราะเหตุไรท่านจึงไม่กวาดเล่า ?”

    พระสัมมัชชนเถระกล่าวตอบกับภิกษุเหล่านั้นว่า ท่านผู้เจริญ กระผมทำอย่างนั้น ในเวลาประมาท บัดนี้ กระผมเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว

    ภิกษุทั้งหลายจึงได้มากราบทูลแด่พระศาสดาว่า “พระเถระนี้ พยากรณ์ อรหัตตผล.” พระศาสดาจึงตรัสว่า “จริงอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรา เที่ยวกวาดอยู่ในเวลาประมาทในกาลก่อน แต่บัดนี้ บุตรของเรายับยั้งอยู่ ด้วยความสุขซึ่งเกิดแต่มรรคผล จึงไม่กวาด” ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถา นี้ว่า

    “ก็ผู้ใดประมาทในก่อน ภายหลังไม่ประมาท
    ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างได้
    เหมือนดวงจันทร์พ้นแล้วจากหมอกฉะนั้น”



    ๐ เรื่องพระเรวตเถระฝากจีวร

    ครั้งหนึ่ง ท่านพระเรวตะฝากจีวรแก่ภิกษุรูปหนึ่งไปถวายท่านพระสารีบุตร ด้วยสั่งว่า จงถวายจีวรผืนนี้แก่พระเถระ ในระหว่างทาง ภิกษุรูปนั้นได้ถือวิสาสะเอาจีวร นั้นไปใช้เสียเอง

    กาลต่อมา ท่านพระเรวตะมาพบท่านพระสารีบุตร จึงเรียนถามว่า ผมฝากจีวรมาถวายพระเถระ พระเถระได้รับจีวรนั้นแล้วหรือ ขอรับ ?

    ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ผมยังไม่เห็นจีวรนั้นเลย คุณ

    ท่านพระเรวตะจึงได้ถามภิกษุรูปนั้นว่า อาวุโส ผมฝากจีวรมาแก่ท่านให้ถวายพระเถระ ไหนจีวรนั้น ?

    ภิกษุนั้นตอบว่า ผมได้ถือเอาจีวรนั้นเสีย เพราะถือวิสาสะต่อท่าน ขอรับ

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสแนะนำ ดังต่อไปนี้


    เรื่องถือวิสาสะ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า จงให้จีวรผืนนี้แก่ ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากถือเอาเสียในระหว่างทาง เพราะวิสาสะต่อผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า จงให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ผู้ฝากถึงมรณภาพเสียแล้ว จึงอธิษฐาน เป็นจีวรมรดกของภิกษุผู้ฝาก ชื่อว่าอธิษฐานถูกต้องแล้ว ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า จงให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ผู้รับถึงมรณภาพเสียแล้ว จึงอธิษฐาน เป็นจีวรมรดกของผู้รับ ชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า จงให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ทั้งสองรูปถึงมรณภาพเสียแล้ว จึง อธิษฐานเป็นมรดกของผู้ฝาก ชื่อว่าอธิษฐานถูกต้อง อธิษฐานเป็นจีวรมรดกของผู้รับ ชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า ฉันให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากถือเอาเสียในระหว่างทางเพราะวิสาสะต่อผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า ฉันให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้ฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ผู้ฝากถึงมรณภาพเสียแล้ว จึงอธิษฐานเป็น จีวรมรดกของผู้ฝาก ชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้รับ ชื่อว่าถือเอาถูกต้อง

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในข้อนี้ ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า ฉันให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ผู้รับถึงมรณภาพเสียแล้ว จึงอธิษฐาน เป็นจีวรมรดกของผู้รับ ชื่อว่าอธิษฐานถูกต้อง ถือเอาเสียเพราะวิสาสะต่อผู้ฝาก ชื่อว่าถือเอาไม่ถูกต้อง

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในข้อนี้ภิกษุฝากจีวรแก่ภิกษุไปด้วยสั่งว่า ฉันให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้ ภิกษุผู้รับฝากทราบข่าวในระหว่างทางว่า ทั้งสองรูปถึงมรณภาพเสียแล้ว จึงอธิษฐาน เป็นจีวรมรดกของผู้ฝาก ชื่อว่าอธิษฐานไม่ถูกต้อง อธิษฐานเป็นจีวรมรดกของผู้รับ ชื่อว่าอธิษฐานถูกต้อง




    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    http://www.dharma-gateway.com/
    http://www.manager.co.th/Dhamma/
     

    • Update : 17/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch