หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระมหาปันถกเถระ
    พระมหาปันถกเถระ
    เอตทัคคะในทางผู้เจริญวิปัสสนา


    พระเถระรูปนี้ ได้บำเพ็ญบุญสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ไว้เป็นอันมาก และการที่พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นเอตทัคคะเช่นนั้น ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ เหตุที่ท่านมีคุณอันยิ่งกว่าเหล่าภิกษุทั้งหลายในเรื่องดังกล่าว นอกจากนั้นยังเนื่องมาจากการที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัปอีกด้วย ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปนี้


    ๐ บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

    ก็ในอดีตกาลครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ มีกุฎมพี ๒ พี่น้อง เป็นชาวเมืองหงสวดี เลื่อมใสในพระศาสดาไปฟังธรรมในสำนักพระศาสดาเป็นนิตย์ วันหนึ่งกำลังฟังธรรมในสำนักพระศาสดา เห็นพระศาสดากำลังตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการเปลี่ยนแปลงทางสัญญา แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงบำเพ็ญมหาทานให้เป็นไปตลอด ๗ วัน แก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในที่สุด ๗ วันแต่วันนี้ไปพระองค์ทรงแต่งตั้งภิกษุใดไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ภิกษุนี้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ฉลาดในการเปลี่ยนแปลงทางสัญญา ในศาสนาของเราดังนี้ ขอด้วยพลังแห่งกุศลธรรมที่สั่งสมไว้นี้ แม้ข้าพระองค์ก็พึงเป็นผู้เลิศในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคตกาล เหมือนภิกษุนั้นเถิด

    พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตก็ทรงเห็นว่า ความปรารถนาท่านจะสำเร็จโดยหาอันตรายมิได้ จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตในที่สุดแห่งแสนกัป พระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะ จักทรงอุบัติขึ้น พระองค์จักสถาปนาเธอไว้ในฐานะนั้นดังนี้ ทรงกระทำอนุโมทนา แล้วเสด็จกลับไป

    แม้น้องชายของท่านในวันหนึ่ง เห็นพระศาสดาทรงสถาปนา ภิกษุผู้ฉลาดด้วยองค์ ๒ ได้แก่การนิรมิตร่างกายที่สำเร็จด้วยใจ และความเป็นผู้ฉลาดในการเปลี่ยนแปลงทางใจไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะก็กระทำบุญกุศลเหมือนอย่างนั้น กระทำความปรารถนาที่จะเป็นเช่นภิกษุนั้น พระ ศาสดาก็ทรงพยากรณ์ท่านเช่นเดียวกัน แล้วทั้ง ๒ พี่น้องนั้น เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ได้กระทำการะบูชาด้วยทองที่พระเจดีย์ที่บรรจุพระสรีระ


    ๐ กำเนิดเป็นมหาปันถกในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ได้ยินว่า ธิดาของธนเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ กระทำการลักลอบได้เสียกับทาสของตนเอง แล้วก็กลัวว่าเรื่องจะปิดเอาไว้ไม่อยู่ก็จะเป็นอันตรายแก่ตนและสามี จึงได้คิดที่จะไปยังถิ่นที่ไม่มีคนรู้จัก จึงได้รวบรวมเอาแต่ของที่สำคัญๆ แล้วก็หนีออกไปจากเมืองนั้น ต่อมานางก็เกิดตั้งครรภ์ ครั้นเมื่อครรภ์แก่จัด นางจึงปรารถนาจะกลับไปคลอดยังตระกูลของตน แต่เมื่อครั้นนางปรึกษากับสามี สามีก็ผัดผ่อนเรื่อยมา จนกระทั่งครรภ์แก่จัด นางจึงตัดสินใจออกจากเรือนของตนเดินทางไปยังตระกูลของนาง แล้วได้สั่งความไว้กับเพื่อนบ้านว่าให้บอกสามีว่าตนจะไปคลอดยังตระกูลของนาง

    ครั้นเมื่อสามีของนางเดินทางกลับมาถึงบ้านก็ทราบว่านางเดินทางไปยังตระกูลตนก็ได้ติดตามไป และไปทันกันในระหว่างทาง และนางก็ได้คลอดบุตรในระหว่างทางนั้นเอง ทั้งสองจึงได้ตัดสินใจเดินทางกลับด้วยเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะกลับไปยังตระกูลของนางผู้เป็นภรรยาเนื่องจากนางก็ได้คลอดเสียแล้ว สองสามีภรรยาตั้งชื่อ บุตรว่า ปันถกะ เพราะทารกนั้นเกิดในระหว่างทาง ต่อมาอีกไม่นานนัก นางก็ตั้งครรภ์บุตรอีกคนหนึ่ง เรื่องก็เป็นอย่างเดิมอีก คือบุตรคนที่สองก็ได้เกิดระหว่างทางเช่นเดียวกัน เขาจึงตั้งชื่อบุตรที่เกิดก่อนว่า มหาปันถก บุตรที่เกิด ที่หลังว่า จุลปันถก


    ๐ มารดาส่งบุตรทั้งสองไปอยู่กับตา

    เมื่อชนเหล่านั้นอยู่ในที่นั้น เด็กมหาปันถกะได้ยินเด็กอื่นๆ เรียก อา ลุง ปู่ ย่า จึงถามว่ามารดาว่า แม่จ๋า เด็กอื่นๆ เรียกปู่ เรียกย่า ก็ญาติของพวกเราในที่นี้ไม่มีบ้างหรือ นางตอบว่า จริงสิ ลูก ญาติของเราในที่นี้ไม่มีดอก แต่ในกรุงราชคฤห์ ตาของเจ้าชื่อธนเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์นั้นมีญาติของเจ้าเป็นอันมาก เด็กก็ถามว่า เพราะเหตุไรเราจึง ไม่ไปกันในกรุงราชคฤห์นั้นละแม่

    นางผู้เป็นแม่ก็มิได้เล่าเรื่องสาเหตุที่ตนต้องออกมาอยู่ที่นี้มาแก่บุตร แต่ครั้นเมื่อบุตรพูดบ่อยๆ เข้านางจึงบอกสามีว่า เด็กๆ เหล่านี้รบเร้าเหลือ เกิน ถ้าเรากลับไปแล้วพ่อแม่ของเราเห็นแล้วจักกินเนื้อเราหรือ มาเถอะ เราจะพาเด็กๆ ไปรู้จักสกุลตายาย แต่สามีนางกล่าวว่า ฉันพาเธอและลูกๆ ไปยังตระกูลเธอได้ แต่ฉันไม่อาจอยู่สู้หน้ากับบิดา มารดาของเธอได้

    นางผู้เป็นภรรยาจึงกล่าวว่า ดีละนาย เราควรให้เด็กๆ เห็นตระกูลตา ด้วยอุบายอย่างหนึ่งจึงควร ทั้งสองคนจึงพาทารกไปจนถึงกรุงราชคฤห์ เมื่อถึงแล้วได้พักที่ศาลาแห่งหนึ่งใกล้ประตูนคร มารดาเด็กจึงได้ส่งข่าวไปบอกแก่มารดาบิดาว่า ตนได้พาบุตร ๒ คนมา อันว่าสัตว์ที่เวียนว่ายอยู่ ในสงสารวัฎ ชื่อว่าจะไม่เป็นบุตรจะไม่เป็นธิดากันไม่มี มารดาบิดาของนางเมื่อได้ฟังข่าวนั้นแล้วก็ส่งคำตอบไปว่า คนทั้งสองมีความผิดต่อตระกูลมาก ทั้ง ๒ คนไม่อาจอยู่ในตระกูลได้ จงเอาทรัพย์เท่านี้ไปและจงไปอยู่ยังสถานที่ที่เหมาะสมเถิด แต่จงส่งเด็กๆ มาให้เรา ธิดาเศรษฐีรับเอาทรัพย์ที่มารดาบิดาส่งไป แล้วมอบเด็กทั้ง ๒ ไว้ในมือคนที่มาส่งข่าวแล้วนั้น ตั้งแต่นั้นมาเด็กทั้ง ๒ นั้นเติบ โตอยู่ในตระกูลของตา


    ๐ มหาปันถกออกบวช

    ในเด็กทั้งสองคนนั้น จุลปันถก ยังเป็นเด็กเล็กนัก ส่วนมหาปันถกไปฟังธรรมกถาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากับคุณตา เมื่อเขาฟังธรรมต่อพระพักตร์พระศาสดาอยู่เป็นประจำ จิตก็น้อมไปในบรรพชา เกิดศรัทธา ฟังธรรมแล้ว เพราะค่าที่ตนสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เป็นผู้มีความประสงค์จะบรรพชา เขาจึงพูดกับตาว่า ถ้าตาอนุญาต หลานจะออกบวช ตากล่าวว่า พูดอะไรพ่อ การบรรพชาของเจ้าเป็นความเจริญทั้งแก่เราแลทั้งแก่โลกทั้งสิ้น เจ้าจงบวชเถิดพ่อ

    ดังนี้แล้วก็พากันไปยังสำนักพระศาสดา ท่านตานั้นกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระศาสดาแล้ว พระศาสดาจึงตรัสมอบภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งว่า เธอจงให้ทารกนี้บวชเถิด พระเถระบอกตจปัญจกกัมมัฎฐานแก่ทารกนั้นแล้ว เมื่อเขาบรรพชาแล้ว เล่าเรียนพระพุทธพจน์ได้เป็นจำนวนมาก พอมีอายุครบ ๒๐ ปี อุปสมบทแล้ว ทำมนสิการโดยอุบายอันแยบคายโดยพิเศษ เป็นผู้ได้อรูปฌาน ๔ ออกจากอรูปฌาน ๔ นั้นแล้ว ก็พยายามยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัต


    ๐ พระมหาปันถกเถระบวชน้องชาย

    ท่านพระมหาปันถกเถระยับยั้งอยู่ด้วยความสุขในฌาน ความสุขในมรรค ความสุข ในนิพพาน จึงคิดว่า เราอาจให้ความสุขชนิดนี้แก่จุลปันถกะได้ไหมหนอ แต่นั้นจึงไปยังสำนักของเศรษฐีผู้เป็นตา กล่าวว่า ท่านมหาเศรษฐี ถ้าโยมอนุญาต อาตมาจะให้จุลปันถกะบวช เศรษฐีกล่าวว่า จงให้บวชเถิดท่าน ขณะนั้นจุลปันถกมีอายุได้ ๑๘ ปี พระเถระให้จุลปันถกะบวชแล้วให้ตั้งอยู่ในศีล ๑๐ สามเณรจุลปันถกะ ด้วยความเป็นคนเขลา ซึ่งเป็นบุรพกรรมเมื่อครั้งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า พระจุลลปันถกบวชอยู่ แล้วได้ทำการหัวเราะเยาะภิกษุผู้เขลารูปหนึ่ง ในเวลาที่ภิกษุรูปนั้นเรียนอุเทศ ภิกษุนั้นละอาย เพราะการเย้ยหยันนั้นจึงไม่เรียนอุเทศ ไม่ทำการสาธยาย เมื่อพระเถระผู้พี่ชายให้เรียนคาถาบทหนึ่งบทเดียวว่า

    เชิญท่านดูพระอังคีรส ผู้รุ่งเรืองอยู่
    ดุจพระอาทิตย์ส่องแสงอยู่ในอากาศ
    เหมือนดอกปทุมวิเศษชื่อโกกนุทะ
    มีกลิ่นหอมบานอยู่แต่เช้าไม่ปราศจากกลิ่นฉะนั้น


    เป็นเวลา ๔ เดือนก็ไม่สามารถท่องจำได้


    ๐ พระมหาปันถกเถระขับไล่น้องชาย

    ท่านพยายามเรียนคาถานี้อย่างเดียวเวลาก็ล่วงไปถึง ๔ เดือน คราวนั้น พระมหาปันถกะกล่าวกะท่านว่า ปันถกะเธอเป็นคนอาภัพ ในศาสนานี้ เธอจำคาถาแม้บทเดียวก็ไม่ได้เป็นเวลาถึง ๔ เดือน เธอจะทำกิจของบรรพชิตให้สำเร็จได้อย่างไร เธอจงออกไปจากวิหารนี้เสีย แล้วท่านพระเถระก็ปิดประตู ท่านถูกพระเถระขับไล่จึงไปยืนร้องไห้อยู่ ณ ท้ายพระวิหาร เพราะไม่ปรารถนาความเป็นคฤหัสถ์ และเพราะความรักในพระพุทธศาสนา

    ความที่ท่านพระเถระขับไล่สามเณรจุลปันถกนั้น ต่อมาภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย พระมหาปันถกะได้กระทำเช่นนี้ ชะรอยความโกรธนั้นย่อมเกิดมีขึ้นแม้แก่พระขีณาสพทั้งหลาย”

    พระศาสดาทรงทราบเรื่องที่ภิกษุพูดกันจึงเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ ?” เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องที่ตนพูดกันอยู่ จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น ย่อมไม่มีแก่พระขีณาสพทั้งหลาย แต่บุตรของเราทำกรรมนั้นเพราะความที่ตนเป็นผู้มุ่งอรรถเป็นเบื้องหน้า และเพราะเป็นผู้มุ่งธรรมเป็นเบื้องหน้า”


    ๐ พระพุทธเจ้าโปรดจุลปันถกะ

    สมัยนั้น พระศาสดา ทรงเข้าอาศัยกรุงราชคฤห์ประทับ อยู่ในชีวกัมพวันสวนมะม่วงของหมอชีวก ในคราวนั้น พระมหาปันถกได้เป็นพระภัตตุเทสก์ผู้แจกภัต หมอชีวกโกมารภัจถือของหอมและดอกไม้เป็นอันมากไปอัมพวันของตน บูชาพระศาสดา ครั้นเมื่อฟังธรรมแล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระทศพลแล้วเข้าไปหาพระมหาปันถกถามว่า ท่านผู้เจริญ ในสำนักของพระศาสดา มีภิกษุเท่าไร ? พระ มหาปันถกกล่าวว่า มีภิกษุ ประมาณ ๕๐๐ รูป หมอชีวกกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ พรุ่งนี้ ท่านจงพาภิกษุ ๕๐๐ รูปมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ไปรับภิกษาใน นิเวศน์ของผม พระเถระกล่าวว่า พระจุลลปันถกเป็นผู้เขลา มีธรรมไม่งอกงาม อาตมภาพจะนิมนต์เพื่อภิกษุที่เหลือ ยกเว้นพระจุลลปันถกนั้น

    พระจุลปันถกะได้ฟัง คำนั้นก็โทมนัสเหลือประมาณ พระศาสดาทรงเห็นพระจุลลปัณถกะ ร้องไห้อยู่ ทรงดำริว่า จุลปันถกะเมื่อเราไปจักบรรลุอรหัต จึงเสด็จไปแสดงพระองค์ในที่ที่ไม่ไกลแล้วตรัสว่า ปันถกะ เธอร้องไห้ ทำไม

    พระจุลลปันถกะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระพี่ชายฉุดคร่าข้าพระองค์ออก ด้วยเหตุนั้น ข้าพระองค์จะไปด้วยคิดว่าจัก เป็นคฤหัสถ์ พระศาสดาตรัสว่า จุลลปันถกะ การบรรพชาของเธอชื่อว่ามีในสำนักของเรา เธอถูกพระพี่ชายฉุดคร่าออกไป เพราะเหตุไรจึงไม่มายังสำนัก ของเรา มาเถิด เธอจะได้ประโยชน์อะไรกับความเป็นคฤหัสถ์ เธอจงอยู่ในสำนักของเรา แล้วทรงพาพระจุลลปันถกะไป ให้พระจุลลปันถกะนั้นนั่งที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ตรัสว่า จุลลปันถกะ เธอจงผินหน้าไปทางทิศตะวันออก จงอยู่ในที่นี้แหละ ลูบคลำผ้าท่อนเก่าไปว่า รโชหรณํ รโชกรณํ ผ้าเป็นเครื่องนำธุลีไป ผ้าเป็นเครื่องนำธุลีไป แล้วทรงประทานผ้าเก่าอันบริสุทธิ์ซึ่งทรงเนรมิตขึ้นด้วยฤทธิ์


    ๐ จุลปันถกะสำเร็จพระอรหัต

    ท่านนั่งเอามือคลำผ้าท่อนเล็กที่พระศาสดาประทานนั้น ภาวนาว่า รโชหรณํ รโชหรณํ เมื่อท่านลูบคลำอยู่ เช่นนั้น ผ้าผืนนั้นก็เศร้าหมอง เมื่อท่านลูบคลำอยู่บ่อยๆ ก็กลายเป็นเหมือนผ้าเช็ดหม้อข้าว ท่านอาศัยความแก่กล้าแห่งญาณ เริ่มตั้งความสิ้นไป และความเสื่อมไปในผ้านั้น คิดว่า ผ้านี้โดยปกติสะอาดบริสุทธิ์ เพราะอาศัยอุปาทินนกสรีระ จึงเศร้าหมอง แม้จิตนี้ก็มีคติเป็นอย่างนี้เหมือนกัน

    พระศาสดาทรงทราบว่า จิตของจุลลปันถกะขึ้นสู่วิปัสสนาแล้ว จึงตรัสว่า จุลลปันถกะ เธออย่ากระทำ ความสำคัญว่า ท่อนผ้าเก่านั่นเท่านั้นเป็นของเศร้าหมองย้อมด้วยฝุ่นธุลี แต่ ธุลีคือราคะเป็นต้นเหล่านั้นมีอยู่ในภายใน เธอจงนำธุลีคือราคะเป็นต้นนั้นไปเสีย แล้วทรงเปล่งโอภาสเป็นผู้มีพระรูปโฉมปรากฏเหมือนประทับนั่งอยู่เบื้องหน้า ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

    ราคะเรียกว่า ธุลี แต่ฝุ่นละอองไม่เรียกว่าธุลี คำว่า ธุลีเป็นชื่อของราคะ
    ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละธุลีนั้นได้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี
    โทสะ เรียกว่าธุลี แต่ฝุ่นละอองไม่เรียกว่า ธุลี คำว่าธุลีนี้ เป็นชื่อของโทสะ
    ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละธุลีนั้นได้แล้ว ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี
    โมหะ เรียกว่า ธุลี แต่ฝุ่นละอองไม่เรียกว่า ธุลี คำว่าธุลีนี้ เป็นชื่อของโมหะ
    ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นละธุลีนั้นได้แล้วย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี


    ในเวลาจบคาถา พระจุลปันถกะบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

    ได้ยินว่า ในอดีตชาติกาลก่อน พระจุลลปันถกะนั้นเป็นพระราชา กำลังทำประทักษิณพระนคร เมื่อพระเสโทไหลออกจากพระนลาต จึงเอาผ้าขาวบริสุทธิ์เช็ดพระนลาต ผ้านั้นได้เศร้าหมองไป พระราชานั้นทรงได้อนิจจสัญญา ความหมายว่าไม่เที่ยง ว่าผ้าอันบริสุทธิ์เช่นนี้ เกิดเศร้าหมองก็เพราะร่างกายนี้ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ ด้วยเหตุนั้น ผ้าที่เป็นเครื่องนำธุลีออกไปจึงเป็นปัจจัยวิปัสสนาแก่พระจุลลปันถกะนั้น


    ๐ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

    ต่อมา พระศาสดาประทับนั่งเหนือธรรมาสน์ ทรงสถาปนาพระมหาปันถกเถระไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฎฎะ และทรงสถาปนาพระจุลปันถกเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ฉลาดในเจโตวิวัฎฎะผู้เนรมิตกายมโนมัยได้

    บรรดาทั้งสองรูปนั้น พระจุลปันถกเถระท่าน กล่าวว่าเป็นผู้ฉลาดในเจโตวิวัฎฎะ เพราะได้รูปาวจรฌาน ๔ พระมหาปันถกเถระท่านกล่าวว่า เป็นผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฎฎะ เพราะเป็นผู้ฉลาดในสมาบัติ

    พระมหาปันถกะ ชื่อว่า ผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฎฎะ เพราะเป็นผู้ฉลาดในวิปัสสนา

    อนึ่ง ในภิกษุ ๒ รูปนี้ รูปหนึ่งฉลาดในลักขณะสมาธิ รูปหนึ่งฉลาดในลักขณะแห่งวิปัสสนา

    อนึ่ง รูปหนึ่งฉลาดในการหยั่งลงสมาธิ รูปหนึ่งฉลาดในการหยั่งลงสู่วิปัสสนา

    อีกนัยหนึ่ง ใน ๒ รูปนี้ รูปหนึ่งฉลาดในการย่อองค์ รูปหนึ่งฉลาดในการย่ออารมณ์

    อีกนัยหนึ่ง องค์หนึ่งฉลาดในการ กำหนดองค์ องค์หนึ่งฉลาดในการกำหนดอารมณ์

    อีกอย่างหนึ่ง พระจุลปันถกเถระ เป็นผู้ได้รูปาวจรฌาน ออกจากองค์ฌานแล้วบรรลุพระอรหัต ฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในเจโตวิวัฎฎะ พระมหาปัณถกะเป็นผู้ได้อรูปาวจรฌาน ออกจากองค์ฌานแล้วบรรลุพระอรหัต ฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในปัญญาวิวัฎฎะ



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    http://www.dharma-gateway.com/

    • Update : 17/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch