หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระปิณโฑลภารทวาชะเถระ
    พระปิณโฑลภารทวาชะเถระ
    เอตทัคคะในทางผู้บันลือสีหนาท


    การที่ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้บันลือสีหนาทนั้น ก็โดยเหตุเกิดเรื่อง คือ พระมหาสาวกองค์นั้น ในวันที่ท่านบรรลุพระอรหัต ท่านก็บันลือสีหนาทว่า ท่านผู้ใดมีความสงสัยในมรรคหรือผล ท่านผู้นั้นจงถามเราดังนี้ แม้ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า ท่านก็บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจที่ควรกระทำในศาสนานี้ถึงที่สุดแล้ว เช่นนี้ ซึ่งก็เป็นปัจจัยมาจากการที่ท่านได้กระทำบันลือสีหนาทในสมัยอดีตชาติดังเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้


    ๐ บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

    แม้พระเถระนี้ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดเป็นราชสีห์ผู้ไม่มีความกลัว อาศัยอยู่ในถ้ำ ที่ใกล้ภูเขาหิมวันต์ทางทิศตะวันออกของภูเขาหิมาลัย ออกหากินไปในทิศทั้ง ๔ อยู่ ณ ที่นั้น พระศาสดาประทับอยู่ในถ้ำชื่อว่าจิตตกูฏ ที่ยอดเขาชื่อว่าจิตตบรรพต เพราะเป็นภูเขาที่งดงามหลากสีด้วยโอสถ และรัตนะทั้งหลาย

    พระศาสดาทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นความถึงพร้อมแห่งเหตุที่สมควรจะเสด็จไปโปรดของราชสีห์นั้นในครั้งนั้นเพื่อจะทรงกระทำความอนุเคราะห์แก่ราชสีห์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จไปยังถ้ำเป็นที่อยู่ของราชสีห์นั้น ในเวลาที่ราชสีห์นั้นออกไปหาเหยื่อ ทรงนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ ราชสีห์จับเหยื่อแล้วกลับมายืนอยู่ที่ประตูถ้ำ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ดำริว่า ไม่มีสัตว์อื่นที่ว่าชื่อว่าสามารถจะมานั่งยังที่อยู่ของเรา บุรุษนี้ใหญ่แท้หนอ มานั่งขัดสมาธิภายในถ้ำได้ แม้รัศมีสรีระของท่านก็แผ่ไปโดยรอบ เราไม่เคยเห็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ถึงเพียงนี้ บุรุษนี้จักเป็นยอดของปูชนียบุคคลในโลกนี้

    แม้เราควรกระทำสักการะตามสติกำลังถวายพระองค์ จึงไปนำดอกอุบลและดอกไม้ต่างๆ ลาดเป็นอาสนะดอกไม้ ตั้งแต่พื้นจนถึงที่นั่งขัดสมาธิ กระทำจิตให้เลื่อมใส และเพื่อต้องการจะอารักขาพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงบันลือสีหนาท ๓ เวลา เพื่อให้สัตว์ร้ายอื่นๆ หนีไป ยืนเฝ้าอยู่ที่ประตูถ้ำโดยมีพุทธานุสติเป็นอารมณ์ ตลอดคืนยังรุ่ง รุ่งขึ้นวันใหม่ก็นำดอกไม้เก่าออก เอาดอกไม้ใหม่ลาดอาสนะโดยทำนองนี้ เที่ยวตกแต่งปุบผาสนะบูชาอยู่ตลอด ๗ วัน เหมือนอย่างที่บูชาในวันแรก บังเกิดปีติโสมนัสอย่างแรง ในวันที่ ๗ พระ ศาสดาออกจากนิโรธสมาบัติ ประทับยืนที่ประตูถ้ำ ราชสีห์กระทำประทักษิณพระตถาคต ๓ ครั้ง แล้วถอยออกไปยืนอยู่

    พระปทุมุตรพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงรับเครื่องบูชาของเรา แล้วตรัสว่า ผู้ใดได้ถวายปทุมนี้ และได้บันลือสีหนาท เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

    ในกัลปที่ ๘ แต่ภัทรกัลปนี้ ผู้นั้นจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ จักเสวยความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ๖๔ ชาติ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทรงกำลัง มีพระนามชื่อว่าปทุม

    ในแสนกัลป พระศาสดาพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลกเมื่อพระศาสดาพระองค์นั้นทรงประกาศพระศาสนาแล้ว พระยาสีหะนี้จักเป็นบุตรของพราหมณ์ จักออกจากสกุลพราหมณ์แล้วบวชในพระศาสนาของพระศาสดาพระองค์นั้น เขามีตนส่งไปแล้วเพื่อความเพียร สงบระงับไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะนิพพาน ณ เสนาสนะอันสงัด ปราศจากชน เกลื่อนกล่นด้วยสัตว์ร้าย

    พระศาสดาทรงดำริว่า เท่านี้จักพอเป็นอุปนิสัยแก่ราชสีห์นี้ แล้วจึงเหาะขึ้นไปสู่อากาศเสด็จกลับไปพระวิหารตามเดิม

    ราชสีห์ไม่อาจอดกลั้นความทุกข์ เพราะพลัดพรากจากพระพุทธเจ้าจึงกระทำกาละแล้วบังเกิดในตระกูลมีโภคะมากในนครหังสวดี พอเจริญวัยแล้ว ได้ไปยังพระวิหารกับชาวเมือง ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วเลื่อมใส ยังมหาทานให้เป็นไปแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ตลอด ๗ วัน ทำบุญทั้งหลายจนชั่วชีวิต ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและและมนุษย์


    ๐ กำเนิดเป็นภารทวาชะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ท่านเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตแห่งพระเจ้าอุเทน ในพระนครโกสัมพี เขาได้มีชื่อว่า ภารทวาชะ.ภารทวาชะนั้นเจริญวัยแล้ว เรียนจบไตรเพทสอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ คนเพราะความที่ตนเป็นผู้มีความประพฤติไม่เหมาะสม เพราะเป็นคนจะกละ เป็นผู้กินจุ ท่านรับภิกษาของมาณพทุกคนด้วยตนเอง เขาว่าท่านภารทวาชะนี้เป็นคนมักมากในการบริโภค คือเที่ยวแสวงหาข้าวต้มข้าวสวยและของรับประทานไม่ว่าในที่ไหนๆ กับมาณพเหล่านี้ ในที่ที่ท่านไปแล้วไปอีกก็จะต้อนรับเพียงข้าวถ้วยเดียวเท่านั้น

    พวกมาณพที่เป็นศิษย์เห็นความประพฤติอันไม่น่าเลื่อมใสของผู้เป็นอาจารย์ ก็บังเกิดความเบื่อหน่ายพากันละทิ้งออกไปจากสำนัก เมื่อถูกเหล่ามาณพนั้นละทิ้ง ท่านจึงเป็นผู้สิ้นเนื้อประดาตัวไม่เห็นทางที่จะทำมาหากิน จึงเดินทางไปยังนครราชคฤห์ ครั้นไปถึงเมืองนั้นแล้ว ได้เห็นว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ ได้ลาภสักการะเป็นอันมาก ภัตตาหารก็อุดมสมบูรณ์ จึงบวชในพระศาสนาด้วยความประสงค์จะได้อาหารและก็ยังเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภคอยู่

    เมื่อท่านบวชแล้ว ท่านถือเอาบาตรขนาดใหญ่เที่ยวบิณฑบาตไป ในการรับภัตท่านก็รับภัตเอาจนเต็ม ท่านดื่มข้าวยาคูเต็มภาชนะ เคี้ยวกินขนมเต็มภาชนะ บริโภคข้าวเต็มภาชนะ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลความที่ท่านไม่ประมาณในการบริโภค ฉันอาหารมากเกินพอดีต่อพระศาสดา พระศาสดาจึงทรงไม่อนุญาตถลกบาตรแก่ท่าน เพื่อมิให้ท่านสามารถรับภัตได้ครั้งละมากๆ

    ท่านนั้นเมื่อฉันภัตเสร็จ ล้างบาตรแล้ว เมื่อจะวาง ท่านก็คว่ำบาตรวางลงแล้วดันครูดส่งๆ ไปไว้ใต้เตียง ในตอนที่จะใช้บาตรนั้น ก็จะถือเอาก็ครูดลากเอาบาตรนั้นออกมา บาตรนั้นเมื่อเวลานานเข้า ขอบปากบาตรก็กร่อนไปเรื่อยๆ ด้วยการถูกครูด จนกระทั่งเหลือเป็นเหมือนแผ่นกระเบื้อง รับภัตได้เพียงข้าวสุกทะนานเดียวเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระศาสดา พระศาสดาทรงอนุญาตถลกบาตรแก่ท่านอีก ดังนั้น ท่านจึงชื่อ ปิณโฑละ เพราะบวชเพื่อต้องการภัต (ก้อนข้าว) แต่โดยโคตร ชื่อว่า ภารทวาชะ เหตุนั้นรวมชื่อทั้งสองเข้าด้วยกันจึงเรียกว่า ปิณโฑลภารทวาชะดังนี้

    ต่อมาท่านได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดา พระศาสดาทรงอบรมท่านให้ตั้งอยู่ในความเป็นผู้รู้จักประมาณด้วยอุบายวิธี แต่นั้นท่านจึงเริ่มบำเพ็ญความเพียร ตั้งอารมณ์วิปัสสนา ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต ได้อภิญญา ๖ ในวันบรรลุพระอรหัต ท่านถือเอาผ้ารองนั่งออกจากวิหารนี้ไปวิหารโน้น ออกจากบริเวณ นี้ไปบริเวณโน้น เที่ยวบันลือสีหนาทว่า ท่านผู้ใดมีความสงสัยในมรรคหรือผล ท่านผู้นั้นจงถามเราดังนี้

    หลังจากที่ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ บรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านก็ได้สมาทานธุดงค์ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัดไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร ผู้มีวาทะกำจัด หมั่นประกอบในอธิจิต พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านพระปิณโฑลภารัทวาชะ ได้ถือปฏิบัติเช่นนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

    การไม่ว่าร้ายกัน ๑ การไม่เบียดเบียนกัน ๑ การสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในภัต ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑

    นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ



    ๐ พระเถระแสดงฤทธิ์

    เมื่อครั้งเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ได้ปุ่มไม้จันทร์แดงซึ่งมีค่ามากมาปุ่มหนึ่ง จึงได้ให้กลึงเป็นบาตรไม้ นำไปแขวนไว้บนปลายไม้สูงประมาณ ๖๐ ศอก แล้วประกาศว่า ถ้าผู้ใดเป็นพระอรหันต์ก็จงเหาะมาเอาบาตรไม้นี้ไปเถิด นิครณฐนาฏบุตรผู้เป็นเดียรถีย์ กับเหล่าสาวกได้พยายามด้วยเล่ห์อุบายต่างๆ เป็นเวลาถึง ๗ วัน เพื่อเอาบาตรไม้จันทร์แดงนั้นมาครอบครองแต่ก็ไม่สำเร็จ

    ในวันที่ ๗ ท่านพระมหาโมคคัลลานะและท่านพระปิณโฑล ภารทวาชะได้ไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาตได้ยินพวกชาวเมืองคุยกันในเรื่องที่เศรษฐีประกาศให้พระอรหันต์เหาะมาเอาบาตรไม้จันทร์แดงนั้นไป ก็บัดนี้ล่วงเข้าไปวันที่ ๗ แล้ว ก็ไม่เห็นมีผู้ใดมาเอาบาตรนั้นไปได้ เห็นทีพระอรหันต์นั้นคงจะไม่มีในโลกแล้วเป็นแน่แท้

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ยินถ้อยคำนั้นแล้วจึงกล่าวกะท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า พวกชนเหล่านี้ พูดเป็นทีว่าจะย่ำยีพระพุทธศาสนา ท่านจงไปเถิด จงเหาะไปในอากาศ แล้วถือเอาบาตรนั้น

    ปิณโฑลภารทวาชะกล่าวว่า ท่านโมคคัลลานะ ท่านเป็นผู้เลิศกว่าบรรดาสาวกผู้มีฤทธิ์ ท่านจงถือเอาบาตรนั้น แต่เมื่อท่านไม่ถือเอา ผมจักถือเอา


    ๐ พระปิณโฑลภารทวาชะแสดงปาฏิหาริย์

    เมื่อพระมหาโมคคัลลานะกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านจงถือเอาเถิด” ท่านปิณโฑลภารทวาชะก็เข้าจตุตถฌาน มีอภิญญาเป็นบาท ถอยออกจากฌานแล้ว เอาปลายเท้าคีบหินดาดประมาณ ๑ คาวุต ให้ขึ้นไปในอากาศเหมือนปุยนุ่น แล้วเหาะเวียนไปในเบื้องบนพระนครราชคฤห์ ๗ รอบ แผ่นหินดาดนั้นก็ปรากฏเหมือนดังเป็นฝาปิดพระนครไว้ พวกชาวพระนครเห็นดังนั้นก็เกิดความกลัว ร้องว่า “หินจะตกทับข้าพเจ้าแล้ว” แล้วพากันหาที่หลบซ่อน หรือหาวัตถุต่างๆ เช่น กระด้ง เป็นต้นมาปิดศีรษะไว้ ครั้นเมื่อครบ ๗ รอบแล้ว พระ เถระจึงได้แสดงตนให้มหาชนได้เห็น

    มหาชนเห็นพระเถระแล้ว กล่าวว่า “ท่านปิณโฑลภารทวาชะผู้ เจริญ ท่านจงจับหินของท่านไว้ให้มั่น อย่าให้พวกข้าพเจ้าทั้งหมด เป็นอันตรายเลย”

    ท่านพระเถระจึงเหวี่ยงแผ่นหินทิ้งไป แผ่นหินนั้นก็กลับไปตั้งอยู่ในที่เดิมนั่นเอง แล้วพระเถระก็ได้เหาะไปยืนอยู่เหนือเรือนของเศรษฐี เศรษฐีนั้นเห็นท่านแล้ว หมอบลงแล้ว กราบเรียนว่า “ลงเถิด พระผู้เป็นเจ้า” นิมนต์พระเถระให้นั่งแล้ว ให้นำบาตรลงถวายแก่พระเถระ พระเถระรับบาตรแล้ว ก็กลับสู่วิหาร

    พวกชนหมู่อื่นที่อยู่ในป่าบ้าง อยู่ในบ้านบ้าง ไม่ได้เห็นปาฏิหาริย์ของพระเถระ ก็รวมกันมาวิงวอนพระเถระว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงแสดงปาฏิหาริย์ให้พวกพวกผมได้ชมบ้าง” พระเถระนั้นก็แสดงปาฏิหาริย์แก่ชนเหล่านั้นๆ ในระหว่างทางไปพระวิหาร


    ๐ พระศาสดาทรงห้ามไม่ให้ภิกษุทำปาฏิหาริย์

    พระศาสดา ทรงสดับเสียงมหาชนที่ติดตามพระเถระนั้นอื้ออึงอยู่ จึงตรัสถามว่า “อานนท์ นั่นเสียงใคร ?” ท่านพระอานนท์ทูลว่า “พระเจ้าข้า พระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นไปในอากาศแล้ว ถือเอาบาตรไม้จันทร์ เสียงนั่นมาจากสำนักของท่าน” จึงรับสั่งให้เรียกพระปิณโฑลภารทวาชะมา ตรัสถามว่า “ได้ยินว่า เธอทำอย่างนั้นจริงหรือ ?” เมื่อท่านกราบทูลว่า “จริง พระเจ้าข้า” จึงตรัสว่า “ภารทวาชะ ทำไม เธอจึงทำอย่างนั้น ?” ทรงติเตียนพระเถระ แล้วรับสั่งให้ทำลายบาตรนั้น ให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ แล้ว รับสั่งให้ประทานแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อบดผสมยาตา แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรแสดงอุตตริมนุสสธรรมอันเป็น อิทธิปาฏิหาริย์แก่พวกคฤหัสถ์ทั้งหลาย ผู้ใดขืนแสดงต้องอาบัติทุกกฎ” ดังนี้


    ๐ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

    ได้ยินมาว่า ในวันที่ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระบรรลุพระอรหัต ท่านถือเอาผ้ารองนั่งออกจากวิหารนี้ไปวิหารโน้น ออกจากบริเวณ นี้ไปบริเวณโน้น เที่ยวบันลือสีหนาทว่า ท่านผู้ใด มีความสงสัย ในมรรคหรือผล ท่านผู้นั้นจงถามเราดังนี้ แม้ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า ท่านก็บันลือสีหนาทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจที่ควรกระทำในศาสนานี้ถึงที่สุดแล้ว

    เมื่อครั้งที่เศรษฐีในกรุงราชคฤห์เอาไม้ไผ่ต่อๆ กันขึ้นไป แขวนบาตรไม้แก่นจันทร์แดงไว้ปลายยอดไม้ไผ่นั้น ท่านเหาะไปถือเอาบาตรนั้นด้วยฤทธิ์ เป็นเหตุให้พระศาสดาทรงตำหนิโดยปริยายเป็นอันมากแล้วทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุแสดงอุตตริมนุสสธรรมแก่พวกคฤหัสถ์ ตามเรื่องที่กล่าวไว้ตอนต้น

    ในครั้งนั้นก็เกิดพูดกันในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ว่า พระเถระ ที่บันลือสีหนาทในวันที่ตนบรรลุพระอรหัต ประกาศท่ามกลางภิกษุสงฆ์ว่า ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคหรือผล ผู้นั้นจงถามเรา ดังนี้

    หรือแม้ ในที่ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า โดยความที่ตนชอบนั่นเอง ก็บันลือสีหนาทถึงการบรรลุพระอรหัตของตน พระสาวกเหล่าอื่นก็นิ่ง

    หรือแม้จะทำมหาชนให้เกิดความเลื่อมใสเหาะไปรับบาตรไม้แก่นจันทร์ ที่แขวนไว้ปลายยอดไม้ไผ่

    ภิกษุเหล่านั้นกระทำเรื่องทั้ง ๓ เหล่านี้เป็นอันเดียวกัน กราบทูลแก่พระศาสดาแล้ว

    ก็ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรง ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ย่อมทรงสรรเสริญ ผู้ที่ควรสรรเสริญ ใน ฐานะนี้ พระศาสดาทรงถือว่า ความเป็นยอดของพระเถระที่สมควรสรรเสริญนั้นแหละ แล้วสรรเสริญพระเถระว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอินทรีย์ ๓ นั่นแล เธอเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ภารทวาชภิกษุได้พยากรณ์พระอรหัตแลว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์เราอยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำเราทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ อินทรีย์ ๓ เป็นไฉน คือ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอินทรีย์ ๓ เหล่านี้แล เธอเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ภารทวาชภิกษุ พยากรณ์แล้วซึ่งพระอรหัตตผล ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์เราอยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ ดังนี้ จึงทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุบันลือสีหนาท


    ๐ พระเถระโปรดพราหมณ์ผู้เป็นสหาย

    วันหนึ่ง พราหมณ์ที่เคยเป็นสหายกันในสมัยเมื่อเป็นคฤหัสถ์ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความตระหนี่ เข้าไปหาท่านถึงสำนัก ท่านเมื่อจะอนุเคราะห์พราหมณ์ผู้เป็นสหายนั้น จึงกล่าวธรรมเทศนาพรรณนาอานิสงส์ของทานแก่พราหมณ์นั้น พราหมณ์นั้นเมื่อได้ฟังก็ขมวดคิ้วนิ่วหน้า คิดในใจว่า พระเถระนี้จะทำให้ทรัพย์ของเราพินาศไปเพราะการแจกทานเสียแล้ว จึงกล่าวว่า เราจะถวายภัตรมื้อหนึ่งแก่ท่าน พระเถระได้ยินดังนั้นจึงกล่าวว่า ท่านจงถวายภัตรมื้อหนึ่งนั้นแก่สงฆ์ อย่าถวายเราเลย แล้วให้พราหมณ์น้อมนำภัตรนั้นไปถวายสงฆ์ เมื่อพราหมณ์แสดงความไม่พอใจอีกด้วยคิดว่า พระเถระนี้ประสงค์จะให้เราถวายทานแก่ภิกษุจำนวนมาก

    พระเถระจึงยังพราหมณ์ให้เลื่อมใส ด้วยการประกาศถึงความที่แห่งทักษิณาทานที่ถวายในสงฆ์ โดยพระธรรมเสนาบดีในวันที่สองว่ามีผลมาก คิดว่าพราหมณ์นี้ สำคัญว่าพระเถระนี้ชักชวน ให้เราถวายทานด้วยความอยากในอาหาร เขาไม่รู้ความที่เราควบคุม (กำหนดรู้) อาหารได้แล้วโดยประการทั้งปวง เอาเถิด เราจะทำให้เขารู้ ดังนี้ จึงได้กล่าว คาถา ๒ คาถา ความว่า

    ชีวิตของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปโดยไม่สมควร

    อาหารไม่ได้ทำจิตให้สงบ เราเห็นว่าร่างกายจะดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร จึงได้เที่ยวแสวงหาโดยทางที่ชอบ

    นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ได้กล่าว การไหว้ การบูชา ในตระกูลทั้งหลายว่า เป็นเปือกตม

    เป็นลูกศรอันละเอียด ถอนขึ้นได้ยาก สักการะอันบุรุษชั่วละได้ยาก ดังนี้


    พราหมณ์ฟังคำเป็นคาถานั้นแล้ว ได้เป็นผู้มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระเถระ


    ๐ พระเถระโดนพระเจ้าอุเทนกริ้ว

    มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ท่านปิณโฑลภารทวาชะได้ไปยังพระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน ชื่ออาวัฏฏกะใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคาในกรุงโกสัมพี ซึ่งเป็นที่ที่ท่านเข้าไปพักผ่อนอยู่เสมอๆ ท่านนั้นนั่งพักกลางวัน ดื่มด่ำกับสมาบัติ ณ โคนต้นไม้ร่มเย็นใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคานั้น

    ในวันนั้นพระเจ้าอุเทนเสด็จไปประพาสพระราชอุทยาน ทรงเพลิดเพลินอยู่ในพระราชอุทยาน ด้วยการฟ้อนรำขับร้องเป็นต้นตลอดวัน ทรงมึนเมาเพราะดื่มจัด บรรเทาเอาเศียรหนุนบนตักของหญิงคนหนึ่ง บรรดาหญิงนอกนั้นคิดว่าพระราชาบรรทมหลับแล้วจึงพากันลุกไปเก็บดอกไม้และผลไม้เป็นต้นในพระราชอุทยาน

    ครั้นเห็นพระเถระแล้วจึงห้ามกันเองว่าอย่างส่งเสียงดัง แล้วค่อยๆ พากันเข้าไปไหว้แล้วนั่งห้อมล้อมพระเถระ พระเถระออกจากสมาบัติ แสดงธรรมแก่หญิงเหล่านั้น หญิงเหล่านั้นต่างชื่นใจตั้งใจฟังแล้วกล่าวว่า สาธุ สาธุ ดังนี้ หญิงคนที่นั่งเอาเศียรของพระราพาดตักคิดว่า แม่พวกเหล่านี้ทิ้งเราไปสนุกกัน เกิดริษยาในหญิงพวกนั้นจึงขยับขาให้พระราชาทรงตื่น พระราชาครั้นทรงตื่นบรรทมไม่เห็นนางสนม รับสั่งถามว่า พวกหญิงเหล่านี้หายไปไหน หญิงนั้นทูลว่า หญิงเหล่านั้นไปนั่งล้อมพระสมณะองค์หนึ่ง

    พระราชานั้นทรงพิโรธได้เสด็จมุ่งหน้าไปหาพระเถระ หญิงเหล่านั้นเห็นพระราชาบางพวกก็ลุกขึ้น บางพวกก็ไม่ลุกโดยทูลว่า ข้าแต่มหาราช พวกหม่อมฉันฟังธรรมในสำนักของนักบวช เมื่อหญิงเหล่านั้นทูลอย่างนั้น พระราชาทรงพิโรธหนักขึ้น ด้วยความเมา พระราชาไม่ทรงไหว้พระเถระเลย ตรัสถามว่า ท่านมาเพื่ออะไร พระเถระถวายพระพรว่า เพื่อความวิเวก มหาบพิตร พระราชาตรัสว่าท่านมาเพื่อความวิเวก นั่งให้พวกนางสนมของเราแวดล้อมอยู่อย่างนี้แหละหรือ แล้วตรัสต่อไปว่า ท่านจงบอกวิเวกของท่านดูทีหรือ พระเถระแม้ชำนาญในการกล่าวถึงวิเวก แต่ก็ได้นิ่งเสียด้วยคิดว่า พระราชานี้ตรัสถามเพราะประสงค์จะรู้ก็หาไม่

    พระราชาตรัสว่า หากท่านไม่บอก เราจะให้มดแดงกัดท่าน แล้วทรงเด็ดรังมดแดงที่ต้นอโศกต้นหนึ่ง เพราะความเมา จึงทำให้รังมดแดงรังหนึ่งแตก ตัวมดแดงกระจายตกเรี่ยรายลงบนพระกายของพระองค์ ทรงปัดมดแดงออกจากพระกายแล้วเด็ดรังอื่นมุ่งหน้าไปหาพระเถระ พระเถระคิดว่า หากพระราชานี้ทำเช่นนั้นเราก็จะพึงไปอบาย จึงอนุเคราะห์พระราชาจึงเหาะขึ้นสู่อากาศด้วยฤทธิ์ไปแล้ว หญิงทั้งหลายเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม พระราชาเหล่าอื่นเห็นบรรพชิตแล้วก็พากันบูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น พระองค์สิกลับไม่พอพระทัยโดยจะเอารังมดแดงไปบูชา ตระกูลวงศ์จะถึงความพินาศนะเพคะ

    พระราชาทรงสำนึกโทษของพระองค์ จึงทรงนิ่ง ตรัสถามคนรักษาพระราชอุทยานว่า ในวันอื่นพระเถระยังจะมาในอุทยานนี้อีกไหม คนรักษาพระราชอุทยานทูลว่ามาพระเจ้าข้า พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงบอกในเวลาที่พระเถระมา

    ก็ในวันที่พระเถระถูกพระราชไม่ทรงพอพระทัยโดยเอารังมดแดงมาบูชา พระเถระเหาะไปทางอากาศแล้วดำลงไปในดินโผล่ขึ้น ณ พระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทอดพระเนตรเห็นพระเถระแล้วตรัสถามว่าดูก่อนภารทวาชะ เธอมาในเวลามิใช่กาลหรือ พระเถระกราบทูลว่า ถูกแล้วพระเจ้าข้า แล้วจึงกราบทูลเรื่องราวนั้นทั้งหมดให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสว่า การพูดถึงเรื่องวิเวกแก่พระราชาผู้ยังต้องการกามคุณ จักมีประโยชน์อะไรดังนี้ ทรงบรรทมด้วยพระปรัศน์เบื้องขวานั่นแหละ

    อีก ๒ - ๓ วันต่อมา พระเถระก็มานั่งพักกลางวันที่โคนไม้อีก คนเฝ้าพระราชอุทยานเห็นเข้า จึงรีบไปกราบทูลพระราชา พระราชาเสด็จไปยังพระราชอุทยาน พร้อมด้วยอำมาตย์


    ๐ พระเถระโปรดพระเจ้าอุเทน

    ครั้งนั้นแล พระเจ้าอุเทนได้ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ตรัสถามท่านพระบิณโฑลภารทวาชะว่า

    ท่านภารทวาชะผู้เจริญเหตุปัจจัยอะไรหนอแล เป็นเครื่องให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความปรารถนาในกามทั้งหลาย สามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    ท่านพระเถระทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ตรัสไว้ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาตั้งจิตว่า หญิงทั้งหลายที่มีอายุคราวมารดา เป็นเสมือนมารดาของตน ตั้งจิตว่า หญิงที่มีอายุคราวพี่สาวน้องสาว เป็นเสมือนพี่สาวน้องสาว ของตน ตั้งจิตว่า หญิงที่มีอายุคราวธิดา เป็นเสมือนธิดาของตน ขอถวายพระพร

    ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความปรารถนาในกามทั้งหลาย สามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    พระเจ้าอุเทนกล่าวว่า ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ธรรมชาติของจิตนั้นบางคราวก็โลเล บางครั้งนั้น ความปรารถนาลามกนั้น อาจเกิดขึ้นในเหล่าสตรีปูนมารดาก็มี ปูนพี่สาวน้องสาวก็มี ปูนธิดาก็มี

    มีธรรมข้ออื่นไหมหนอ ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความปรารถนาในกามทั้งหลาย สามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    ท่านพระเถระทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดังนี้ว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาพิจารณากายนี้แหละ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา อันมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูกม้าม หัวใจ ตับ พังผืดไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือดเหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ดังนี้ ขอถวายพระพร

    แม้ข้อนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความปรารถนาในกามทั้งหลาย สามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    พระเจ้าอุเทนกล่าวว่า ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีจิตอันอบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญาอันอบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้น ไม่เป็นกิจที่ภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก

    ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นผู้มีกายยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีศีลยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีจิตยังไม่ได้อบรมแล้ว เป็นผู้มีปัญญายังไม่ได้อบรมแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้นเป็นกิจที่ภิกษุเหล่านั้นทำได้โดยยาก

    ท่านภารทวาชะผู้เจริญ บางคราวเมื่อบุคคลตั้งใจอยู่ว่า เราจักทำไว้ในใจโดยความเป็นของไม่งาม แต่อารมณ์ย่อมมาโดยความเป็นของงามก็มี มีไหมหนอแล

    ท่านพระเถระทูลตอบว่า ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดังนี้ว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมาเถิด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด เธอทั้งหลายเห็นรูปด้วยตาแล้ว จงอย่าเป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต อย่าเป็นผู้ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว เป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษาจักขุนทรีย์ จงถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

    เธอทั้งหลายฟังเสียงด้วยหูแล้ว. สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว . ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว. รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วอย่าได้เป็นผู้ถือเอาโดยนิมิต อย่าได้เป็นผู้ถือเอาโดยอนุพยัญชนะจงปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษามนินทรีย์ จงถึงความสำรวมในมนินทรีย์

    ขอถวายพระพร แม้ข้อนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความปรารถนาในกามทั้งหลาย สามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    พระเจ้าอุเทนตรัสว่า น่าอัศจรรย์ ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ไม่เคยมีแล้ว ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ตามกำหนดธรรมปริยายนี้ อันพระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว

    ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความปรารถนาในกามทั้งหลาย สามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน

    ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า ถ้าในสมัยใดแม้ข้าพเจ้าเอง มีกายมิได้รักษาแล้ว มีวาจามิได้รักษาแล้ว มีจิตมิได้รักษาแล้ว มีสติมิได้ตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายมิได้สำรวมแล้ว เข้าไปสู่ฝ่ายในในสมัยนั้น ความปรารถนาทั้งหลายก็จะครอบงำข้าพเจ้ายิ่งนัก

    ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า ถ้าในสมัยใดแล ข้าพเจ้ามีกายอันรักษาแล้ว มีวาจาอันรักษาแล้ว มีจิตอันรักษาแล้ว มีสติอันตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายอันสำรวมแล้วเข้าไปสู่ฝ่ายใน ในสมัยนั้น ความปรารถนาทั้งหลายก็จะไม่ครอบงำข้าพเจ้า

    ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนักท่านประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจะเห็นรูปได้ ฉะนั้น

    ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ขอท่านจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเถิด ฯ




    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    http://www.dharma-gateway.com/
    http://www.manager.co.th/Dhamma

    • Update : 16/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch