หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    พระสารีบุตรเถระ


    Image

    พระสารีบุตรเถระ
    เอตทัคคะในทางผู้มีปัญญามาก


    พระสารีบุตรเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะคือได้รับการยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านมีปัญญามาก

    พระสารีบุตร มีเดิมนามเดิมว่า อุปติสสะ ได้บรรลุโสดาบันเมื่อได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ ภายหลังได้มาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้แล้ว มีชื่อเรียกใหม่ว่า พระสารีบุตร (แปลว่า บุตรของนางสารี) และต่อมาไม่นานก็บรรลุอรหัตผล

    ท่านมีคุณความดีและบำเพ็ญประโยชน์ให้พระพุทธศาสนาอย่างมาก และธรรมภาษิตที่ท่านได้แสดงไว้ก็ปรากฏอยู่มากมายในพระไตรปิฎก มีคำเรียกเพื่อยกย่องท่านอีกอย่างหนึ่งว่า พระธรรมเสนาบดี (ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า พระธรรมราชา) พระสารีบุตร นิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (ก่อนพระบรมศาสดา)



    ๐ อุปติสสะ

    อุปติสสะเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในบ้านตำบลอุปติสสคาม เมืองนาลันทาหรือนาลกะ เป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อ วังคันตะ ซึ่งเป็นนายบ้านอุปติสสคามนั้น (ท่านจึงได้ชื่อว่า อุปติสสะ) ส่วนมารดาชื่อ สารี มีน้องชาย ๓ คน คือ พระจุนทะ พระอุปเสน พระเรวัตตะ มีน้องสาว ๓ คน คือ นางจาลา นางอุปจาลา และนางสีสุปจาลา

    มีเพื่อนสนิทซึ่งเกิดวันเดียวกันชื่อว่า โกลิตะ (ซึ่งภายหลังรู้จักกันในนาม พระมหาโมคคัลลานะ) เมื่ออุปติสสะและโกลิตะเจริญวัยขึ้น ก็สำเร็จศิลปศาสตร์ทุกอย่าง



    ๐ พบพระอัสสชิ

    พระคันถรจนาจารย์พรรณนาว่า อุปติสสมาณพนั้น เป็นบุตรแห่งสกุลผู้บริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติและบริวาร ได้เป็นผู้เรียนรู้ศิลปศาสตร์ ได้เป็นมิตรชอบพอกันกับโกลิตมาณพ โมคคัลลานโคตร ผู้รุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นบุตรแห่งสกุลผู้มั่งคั่งเหมือนกันมาแต่ยังเยาว์

    วันหนึ่ง สองสหายนั้นชวนกันไปดูการเล่น บนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ แต่รู้สึกไม่เบิกบาน ไม่ร่าเริงเหมือนในวันก่อนๆ โกลิตะถามอุปติสสะว่า ดูท่านไม่สนุกเหมือนในวันอื่น วันนี้ดูใจเศร้า ท่านเป็นอย่างไรหรือ โกลิตะ อะไรที่ควรดูในการเล่นนี้มีหรือ คนเหล่านี้ทั้งหมดยังไม่ทันถึง ๑๐๐ ปี ก็จักไม่มีเหลือ จักล่วงไปหมด ดูการเล่นไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีแก่นสารเลย ควรขวนขวายหาธรรมเครื่องพ้นสำหรับตนดีกว่า

    ส่วนท่านเล่า เป็นอย่างไร อุปติสสะ ตอบว่า ก็คิดเหมือนอย่างนั้น สองสหายนั้น มีความเห็นร่วมกันอย่างนั้นแล้ว พาบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักสัญชัยปริพาชก เรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดแล้ว อาจารย์ให้เป็นผู้ช่วยสั่งสอนหมู่ศิษย์ต่อไป สองสหายนั้น ยังไม่พอใจในลัทธิของครูนั้น จึงนัดหมายตกลงกันว่า “ในเราสองคน ผู้ใดได้บรรลุอมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่กัน”

    ครั้นพระศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงธรรมสั่งสอนประชุมชน ประกาศพระพุทธศาสนา เสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ เวฬุวัน วันหนึ่ง พระอัสสชิ ผู้นับเข้าในพระปัญจวัคคีย์ อันพระศาสดาทรงส่งให้จาริกไปประกาศพุทธศาสนากลับมาเฝ้า เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์

    อุปติสสปริพาชก เดินมาจากสำนักของปริพาชก ได้เห็นท่านอาการน่าเลื่อมใส จะก้าวไปถอยกลับแลเหลียว คู้แขนเหยียดแขนเรียบทุกอิริยาบถ ทอดจักษุแต่พอประมาณ มีอาการแปลกจากบรรพชิตในครั้งนั้น อยากจะทราบความว่าใครเป็นศาสดาของท่าน แต่ยังไม่อาจถาม ด้วยเห็นว่าเป็นกาลไม่ควร ท่านยังเที่ยวไปบิณฑบาตอยู่ จึงติดตามไปข้างหลังๆ

    ครั้นเห็นท่านกลับจากบิณฑบาตแล้ว จึงเข้าไปใกล้ พูดปราศรัยแล้ว ถามว่า ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านหมดจดผ่องใส ท่านบวชจำเพาะใคร ใครเป็นศาสดาผู้สอนของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร พระอัสสชิตอบว่า เราบวชจำเพาะพระมหาสมณะ ผู้เป็นโอรสศากยราชออกจากศากยสกุล ท่านเป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมของท่าน พระศาสดาของท่านสั่งสอนอย่างไร

    พระอัสสชิตอบว่า รูปเป็นผู้ใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมายังพระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านโดยกว้างขวาง รูปจักกล่าวความแก่ท่านแต่โดยย่อพอรู้ความ อุปติสสปริพาชก กล่าวว่า ช่างเถิด ท่านจะกล่าวน้อยก็ตาม มากก็ตาม กล่าวแต่ความเถิด รูปต้องการด้วยความ ท่านจะกล่าวคำให้มากเพื่อประโยชน์อะไร

    พระอัสสชิก็แสดงธรรมแก่อุปติสสประพาชก พอเป็นความว่า “พระศาสดาทรงแสดงความเกิดแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะเป็นไปแห่งเหตุ และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น เพราะดับแห่งเหตุ พระศาสดาตรัสอย่างนี้”

    อุปติสสปริพาชกได้ฟัง ก็ทราบว่า ในพระพุทธศาสนาแสดงว่า ธรรมทั้งปวง เกิดเพราะเหตุ และจะสงบระงับไป เพราะเหตุดับก่อน พระศาสดาทรงสั่งสอน ให้ปฏิบัติเพื่อสงบระงับเหตุแห่งธรรม เป็นเครื่องก่อให้เกิดทุกข์ ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า

    “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด ต้องมีความดับเป็นธรรมดา”

    แล้วถามพระเถระว่า พระศาสดาของเราเสด็จอยู่ที่ไหน พระอัสสชิ ตอบว่า เสด็จอยู่ที่เวฬุวัน อุปติสสปริพาชก กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้าไปก่อนเถิด รูปจักกลับไปบอกสหาย จักพากันไปเฝ้าพระศาสดา ครั้นพระเถระไปแล้ว ก็กลับมาสำนักของปริพาชก บอกข่าวที่ได้ไปพบพระอัสสชิให้โกลิตปริพาชกทราบแล้ว แสดงธรรมนั้นให้ฟัง โกลิตปริพาชกก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนอุปติสสะแล้ว ชวนกันไปเฝ้าพระศาสดา



    ๐ ชักชวนอาจารย์สัญชัยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

    อุปติสสปริพาชกและโกลิตปริพาชกจึงไปลาสัญชัยผู้อาจารย์เดิม สัญชัยห้ามไว้ อ้อนวอนให้อยู่เป็นหลายครั้ง ก็ไม่ฟัง มาณพทั้งสองได้ไปชักชวนสัญชัยปริพาชก ให้ไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าด้วยกัน ทั้งนี้ด้วยความหวังที่จะให้อาจารย์ได้บรรลุอมตธรรมอันเป็นธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง แต่สัญชัยปริพาชกไม่ยอมไป มาณพทั้งสองก็รบเร้าว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้เอง เป็นผู้รู้แจ้งจริง ต่อไปคนทั้งหลายจะหลั่งไหลไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แล้วอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร

    “ฉันขอบใจเธอทั้ง ๒ ที่หวังดี” สัญชัยปริพาชกเอ่ยขึ้น หลังจากได้ทราบความประสงค์ของศิษย์เอกที่มาหา “แต่ฉันก็ไปไหนไม่ได้หรอก และไม่คิดที่จะไปด้วย เพราะทุกวันนี้ฉันมีสภาพที่ไม่ต่างอะไรไปจากจระเข้ในตุ่มน้ำ จะกลับหัวกลับหางก็ลำบากเสียแล้ว”

    คำพูดของสัญชัยปริพาชกเป็นการตัดบทโดยสิ้นเชิง ลาภสักการะและความยิ่งใหญ่ในฐานะเจ้าลัทธิ ทำให้สัญชัยปริพาชกไม่อาจลดฐานะของตนลงมาเป็นศิษย์ใครได้ แม้ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะจะพูดโน้มน้าวใจด้วยประการต่างๆ ก็ไม่สำเร็จ

    “ท่านอาจารย์” ปริพาชกทั้ง ๒ พยายามเป็นครั้งสุดท้าย “ขณะนี้ใครต่อใครต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้นนะ”

    สัญชัยปริพาชกมองหน้าปริพาชกผู้เป็นศิษย์แล้วถามว่า

    “ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”

    “คนโง่มีมาก คนฉลาดมีน้อย”

    “ถ้าอย่างนั้น ปล่อยให้คนฉลาดไปเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ให้คนโง่ซึ่งมีจำนวนมากกว่ามาเป็นลูกศิษย์ของเรา เราจะได้รับเครื่องสักการะจากคนจำนวนมาก คนฉลาดอย่างเธอทั้งสองจะไปเป็นศิษย์ของพระสมณโคดมก็ตามใจ”

    จากคำพูดประโยคสุดท้าย ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะก็แน่ใจว่าไม่สามารถโน้มน้าวให้อาจารย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกันได้ ดังนั้นจึงอำลาและพาปริพาชกบริวารจำนวน ๒๕๐ ที่พร้อมจะไปกับตนเดินทางไปวัดเวฬุวัน



    ๐ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

    วันและเวลาที่ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะ พาบริวารเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทอยู่ พระองค์ทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยพระญาณ จึงได้ตรัสบอกว่า “อุปติสสะกับโกลิตะกำลังมาหาตถาคต ทั้ง ๒ เป็นเพื่อนกัน เขาจะมาเป็นคู่อัครสาวกของตถาคต”

    เมื่อตรัสบอกแล้วพระพุทธเจ้ายังทรงแสดงธรรมต่อไปเรื่อยๆ แม้ปริพาชกทั้ง ๒ จะพาปริพาชกบริวารมาถึงแล้วก็หาได้ทรงหยุดแสดงธรรมไม่ ทั้งนี้เป็นด้วยทรงเห็นว่าปริพาชกบริวารทั้ง ๒๕๐ นั้น ได้ฟังธรรมนี้แล้วจะได้บรรลุอรหัตผล ส่วนปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะยังคงเป็นพระโสดาบันอยู่เช่นเดิม

    เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ปริพาชกบริวารปรารถนาเพียงแค่ได้บรรลุอรหัตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะ นอกจากจะปรารถนามาให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังปรารถนาเป็นพระอัครสาวก และได้ตำแหน่งเอตทัคคะอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนานั่นเอง โดยเหตุที่อุปนิสัยน้อมไปเพื่อทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่นั้น จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องผ่านการฝึกหัดที่ยากลำบาก ซึ่งทำให้ได้บรรลุผลสูงสุดคืออรหัตผล ช้ากว่าปริพาชกบริวาร

    ฝ่ายพระโมคคัลลานะอุปสมบทได้เจ็ดวัน จึงได้สำเร็จพระอรหัต ฝ่ายพระสารีบุตรต่ออุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน จึงได้สำเร็จพระอรหัต

    กล่าวถึงการบวชของปริพาชกทั้งหมดนั้น เมื่อปริพาชกบริวารได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะก็ได้นำปริพาชกบริวารเหล่านั้นกล่าวคำทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งหมดด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่างแต่ว่าเวลาที่ทรงบวชให้ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะนั้น พระองค์ตรัสว่า

    “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำทุกข์ให้หมดสิ้นไปโดยชอบเถิด” เหมือนอย่างที่ตรัสแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

    แต่เวลาที่ทรงบวชให้ปริพาชกบริวาร พระองค์ตรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”



    ๐ ความสำเร็จพระอรหัตแห่งพระสารีบุตร

    มีเรื่องเล่าถึงความสำเร็จพระอรหัตแห่งพระสารีบุตรว่า เวลาผ่านไปครึ่งเดือน (หลังจากที่พระสารีบุตรบวชในพระพุทธศาสนา) วันนั้นพระศาสดาเสด็จอยู่ในถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ ปริพาชกผู้หนึ่งชื่อ ทีฆนขะ อัคคิเวสสนโคตร ผู้เป็นหลาน (ลุง) พระสารีบุตร เข้าไปเฝ้าพระศาสดา กล่าวปราศรัยแล้ว ยืน ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ทูลแสดงทิฏฐิของตนว่า ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด

    พระศาสดาตรัสตอบว่า อัคคิเวสสะ ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบความเห็นอย่างนั้น ตรัสตอบอย่างนี้แล้ว ทรงแสดงสมณพราหมณ์ มิทิฏฐิสามจำพวกว่า อัคคิเวสสนะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา เราชอบใจหมด พวกหนึ่งมีทิฏฐิว่า บางสิ่งควรแก่เรา เราชอบใจ บางสิ่งไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ ทิฏฐิของสมณพราหมณ์พวกต้น ใกล้ข้างความกำหนัดรักใคร่ยินดีในสิ่งนั้นๆ

    ทิฏฐิของสมพราหมณ์พวกที่สอง ใกล้ข้างความเกลียดชังสิ่งนั้นๆ ทิฏฐิของสมณพราหมณ์พวกที่สาม ใกล้ข้างความกำหนัดรักใคร่ในของบางสิ่ง ใกล้ข้างความเกลียดชังในของบางสิ่ง ผู้รู้พิจารณาเห็นว่า ถ้าเราจักถือมั่นทิฏฐินั้นอย่างหนึ่งอย่างใด กล่าวว่า สิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่นเปล่าหาจริงไม่ ก็จะต้องถือผิดจากคนสองพวกที่มีทิฏฐิไม่เหมือนกับตน ครั้นความถือผิดกันมีขึ้น ความวิวาทเถียงกันก็มีขึ้น ครั้นความวิวาทมีขึ้น ความพิฆาตหมายมั่นก็มีขึ้น ครั้นความพิฆาตมีขึ้น ความเบียดเบียนก็มีขึ้น ผู้รู้เห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละทิฏฐินั้นเสียด้วย ไม่ทำทิฏฐิอื่นให้เกิดขึ้นด้วย ความละทิฏฐิสามอย่างนี้ ย่อมมีด้วยอุบายอย่างนั้น

    ครั้นแสดงโทษแห่งความถือมั่นด้วยทิฏฐิสามอย่างนั้นแล้ว ทรงแสดงอุบายเครื่อง ไม่ถือมั่นต่อไปว่า อัคคิเวสสนะ กาย คือ รูป ประชุมมหาภูตทั้งสี่ (ดิน น้ำ ไฟ ลม) มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นเพราะข้าวสุกและขนมสดนี้ ต้องอบรมกันกลิ่นเหม็นและขัดสีมลทินเป็นนิตย์ มีความแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา ควรพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อดทนได้ยาก เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร โดยความยากลำบากชำรุดทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่าไม่ใช่ตน เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ ย่อมละความพอใจรักใคร่กระวนกระวายในกามเสียได้

    อนึ่ง เวทนาเป็นสามอย่าง คือ สุข ทุกข์ อุเบกขา คือ ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ในสมัยใดเสวยสุข ในสมัยนั้น ไม่ได้เสวยทุกข์ และอุเบกขา ในสมัยใด เสวยทุกข์ ในสมัยนั้น ไม่ได้เสวยสุข และอุเบกขา สุข ทุกข์ อุเบกขา ทั้งสามอย่างนี้ ไม่เที่ยง ปัจจัยประชุมแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแล้วมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

    อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เมื่อเห็นอย่างนี้ย่อมเบื่อหน่าย ทั้งในสุข ทุกข์ อุเบกขา เมื่อเบื่อหน่าย ก็ปราศจากกำหนัด เพราะปรากศจากกำหนัด จิตก็พ้นจากความถือมั่น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จำจะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ภิกษุผู้พ้นแล้วอย่างนี้ ไม่วิวาทโต้เถียงกับผู้ใด ด้วยทิฏฐิของตน โวหารใด เขาพูดกันอยู่ในโลก ก็พูดตามโวหารนั้น แต่ไม่ถือมั่นด้วยทิฏฐิ

    สมัยนั้น พระสารีบุตรนั่งถวายอยู่งานพัด เบื้องพระปฤษฎางค์แห่งพระศาสดา ได้ฟังธรรมเทศนาที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพาชก จึงดำริว่า พระศาสดาตรัสสอนให้ละการถือมั่นธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่ง เมื่อท่านพิจารณาอย่างนั้น จิตก็พ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ส่วนทีฆนขปริพาชกนั้น เป็นแต่ได้ดวงตาเห็นธรรม สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนา ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาและแสดงตนเป็นอุบาสก


    Image

    ๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา
    เลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา


    ในวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนมาฆะ ในคืนวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทปาติโมกข์แก่จาตุรงคสันนิบาต ให้กับพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป (รวมพระสารีบุตร ผู้เพิ่งบรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันนั้นด้วย) จากนั้น พระพุทธเจ้าทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวาเลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา และพระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลิศกว่าผู้อื่นในทางฤทธิ์

    พระสารีบุตรนั้น เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ได้เป็นกำลังใหญ่ของพระศาสดาในการสอนพระศาสนา พระองค์ทรงยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางปัญญา เป็นผู้สามารถจะแสดงพระธรรมจักร และพระจตุราริยสัจ ให้กว้างขวางพิสดารแม้นกับพระองค์ได้ ถ้ามีภิกษุมาทูลลาจะเที่ยวจาริกไปทางไกล มักตรัสให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน เพื่อท่านจะได้สั่งสอนเธอทั้งหลาย เช่นครั้งหนึ่ง พระศาสดาเสด็จอยู่เมืองเทวทหะ ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลลาจะไปปัจฉาภูมิชนบท

    พระองค์ตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายบอกสารีบุตรแล้วหรือ ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ยังไม่ได้บอก จึงตรัสสั่งให้ไปลาพระสารีบุตร แล้วทรงยกย่องว่า พระสารีบุตรเป็นผู้ปัญญา อนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิต ภิกษุเหล่านั้นก็ไปลาตามรับสั่ง ท่านถามว่า ผู้มีอายุ คนมีปัญญาผู้ถามปัญหากะภิกษุ ผู้ไปต่างประเทศมีอยู่ เมื่อเขาลองถามว่า ครูของท่านสั่งสอนอย่างไร ท่านทั้งหลายได้เคยฟังเคยเรียนแล้วหรือ จะพยากรณ์อย่างไร จึงจะเป็นอันไม่กล่าวให้ผิดคำสอนของพระศาสดา อันไม่เป็นการใส่ความ และพยากรณ์ตามสมควรแก่ทางธรรม ไม่ให้เขาติเตียนได้ ภิกษุเหล่านั้นขอให้ท่านสั่งสอน

    ท่านกล่าวว่า ถ้าเขาถามอย่างนั้น ท่านพึงพยากรณ์ว่า ครูของเราสอนให้ละความกำหนัดรักใคร่เสีย ถ้าเขาถามอีกว่า ละความกำหนัดรักใคร่ในสิ่งอะไร พึงพยากรณ์ตอบว่า ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าเขาถามอีกว่า ครูของท่านเห็นโทษอะไร และเห็นอานิสงส์อะไรจึงสั่งสอนอย่างนั้น

    พึงพยากรณ์ตอบว่า เมื่อบุคคลยังมีความกำหนัดรักใคร่ในสิ่งเหล่านั้นแล้ว ครั้นสิ่งเหล่านั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ก็เกิดทุกข์มีโศกและร่ำไรเป็นต้น เมื่อละความกำหนัดรักใคร่ในสิ่งเหล่านั้นได้แล้ว ถ้าสิ่งเหล่านั้นวิบัติแปรปรวนไป ทุกข์เหล่านั้นก็ไม่เกิด ครูของเราเห็นโทษและอานิสงส์อย่างนี้ อนึ่ง ถ้าบุคคลเข้าถึงอกุศลธรรม จะได้อยู่เป็นสุข ไม่ต้องคับแค้น ไม่ต้องเดือดร้อน และบุคคลผู้เข้าถึงกุศลธรรมจะต้องอยู่เป็นทุกข์ คับแค้นเดือดร้อน พระศาสดาคงไม่ทรงสั่งสอนให้ละอกุศลธรรม เจริญกุศลธรรม เพราะเหตุบุคคลเข้าถึงอกุศลธรรมต้องอยู่เป็นทุกข์ คับแค้นเดือดร้อน บุคคลเข้าถึงกุศลธรรมอยู่เป็นสุข ไม่คับแค้น ไม่เดือดร้อน พระศาสดาจึงทรงสั่งสอนให้ละอกุศลธรรม เจริญกุศลธรรม ภิกษุเหล่านั้นรับภาษิตของท่านแล้วลาไป

    ตรัสยกย่องพระสารีบุตรเป็นคู่กับพระโมคคัลลานะก็มี ดังตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เธอเป็นผู้มีปัญญา อนุเคราะห์สพรหมจารีเพื่อนบรรพชิตทั้งหลาย สารีบุตร เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้เกิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น สารีบุตร ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น

    มีคำเรียกยกย่องพระสารีบุตรอีกอย่างหนึ่งว่า พระธรรมเสนาบดีนี้ เป็นคำเลียนมาจากคำเรียกแม่ทัพ กองพระสงฆ์ผู้ประกาศพระศาสนา ได้ชื่อว่า ธรรมเสนา กองทัพฝ่ายธรรมหรือประกาศธรรม จาริกไปถึงไหน ย่อมแผ่หิตสุขถึงนั่น พระศาสดาเป็นจอมธรรมเสนา เรียกว่าพระธรรมราชา พระสารีบุตรเป็นกำลังใหญ่ของพระศาสดา ในภารธุระนี้ ได้สมญาว่า พระธรรมเสนาบดี นายทัพฝ่ายธรรม

    พระสารีบุตร มีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนาอย่างไร พึงเห็นในเรื่องสาธกต่อไปนี้ มีภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ ยมกะ มีความเห็นเป็นทิฏฐิว่า พระขีณาสพตายแล้วดับสูญ ภิกษุทั้งหลายค้านเธอว่า เห็นอย่างนั้นผิด เธอไม่เชื่อ ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจเปลื้องเธอจากความเห็นนั้นได้ จึงเชิญพระสารีบุตรไปช่วยว่า ท่านถามเธอว่า ท่านถามเธอว่า ยมกะท่านสำคัญความนั้นอย่างไร ท่านสำคัญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณห้า ขันธ์นี้ว่าพระขีณาสพ หรือ

    ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

    สา. ท่านเห็นว่าพระขีณาสพในขันธ์ ๕ นั้นหรือ

    ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

    สา. ท่านเห็นว่าพระขีณาสพอื่นจากขันธ์ ๕ นั้นหรือ

    ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

    สา. ท่านเห็นพระขีณาสพว่าเป็นขันธ์ ๕ หรือ

    ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

    สา. ท่านเห็นพระขีณาสพไม่มีขันธ์ ๕ หรือ

    ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

    สา. ยมกะ ท่านหาพระขีณาสพในขันธ์ห้านั้นไม่ได้โดยจริงอย่างนี้ ควรหรือจะพูดยืนยันอย่างนั้นว่า พระขีณาสพตายแล้วดับสูญ ดังนี้

    ย. แต่ก่อนข้าพเจ้าไม่รู้ จึงได้มีความเห็นผิดเช่นนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าได้ฟังท่านว่า จึงละความเห็นผิดนั้นได้ และได้บรรลุธรรมพิเศษด้วย

    สา. ยมกะ ถ้าเขาถามท่านว่า พระขีณาสพตายแล้วเป็นอะไร ท่านจะแก้อย่างไร

    ย. ถ้าเขาถามข้าพเจ้าอย่างนี้ ข้าพเจ้าจะแก้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ไม่เที่ยงดับไปแล้ว

    สา. ดีละๆ ยมกะ เราจะอุปมาให้ท่านฟัง เพื่อจะให้ความข้อนั้นชัดขึ้น เหมือนหนึ่งคฤหัสบดีเป็นคนมั่งมี รักษาตัวแข็งแรง ผู้ใดผู้หนึ่งคิดจะฆ่าคฤหบดีนั้น จึงนึกว่า เขาเป็นคนมั่งมี และรักษาตัวแข็งแรง จะฆ่าโดยพลการเห็นจะไม่ได้ง่าย จำจะต้องลอบฆ่าโดยอุบาย ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงเข้าไปเป็นคนรับใช้ของคฤหบดีนั้น หมั่นคอยรับใช้ จนคุ้นเคยกันแล้ว ครั้นเห็นคฤหบดีนั้นเผลอ ก็ฆ่าเสียด้วยศัสตราที่คม ยมกะ ท่านจะเห็นอย่างไร คฤหบดีนั้น เวลาผู้ฆ่านั้นเขามาขออยู่รับใช้สอยก็ดี เวลาให้ใช้สอยอยู่ก็ดี เวลาฆ่าตัวก็ดี ไม่รู้ว่าผู้นี้เป็นคนฆ่าเรา อย่างนี้ มิใช่หรือ

    ย. อย่างนี้แล ท่านผู้มีอายุ

    สา. ปุถุชนผู้ไม่ได้ฟังแล้วก็ฉันนั้น เขาเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตนบ้าง เห็นตนว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในตนบ้าง เห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง ไม่รู้จักขันธ์ ๕ นั้น อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน ปัจจัยตกแต่งดุจเป็นผู้ฆ่า ตามเป็นจริงอย่างไร ย่อมถือมั่นขันธ์ ๕ นั้นว่าตัวของเรา ขันธ์ ๕ ที่เขาถือมั่นนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์และทุกข์สิ้นกาลนาน ส่วนอริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว ไม่พิจารณาเห็นเช่นนั้นรู้ชัดตามเป็นจริงแล้วอย่างไร ท่านไม่ถือมั่นในขันธ์ ๕ ว่าตัวของเรา ขันธ์ ๕ ที่ท่านไม่ถือมั่นนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และสุขสิ้นกาลนาน

    ธรรมบรรยายอื่นอีกของพระสารีบุตร พระธรรมสังคาหกาจารย์ สังคีติไว้ในพระสุตตันตปิฏก ที่เป็นสูตรยาวๆ ก็มี เช่น สังคีติสูตร แล ทสุตตรสูตร แสดงธรรมเป็นหมวดๆ ตั้งแต่หนึ่งขึ้นไป ถึงสิบในทีฆนิกายที่เป็นสูตรปานกลางก็มี เช่น สัมมาทิฏฐิสูตร แสดงอาการแห่งสัมมาทิฏฐิละอย่างๆ และอนังคณสูตร แสดงกิเลสอันยวนใจ ที่เรียกว่า อังคณะ และความต่างแห่งบุคคลผู้มีอังคณะ และ หาอังคณะมิได้ในมัชฌิมนิกายธรรมบรรยายประเภทนี้ ยังมีอีกหลายสูตร ยังมีปกรณ์ที่ว่าเป็นภาษิตของพระสารีบุตรอยู่อีก คือ ปฏิสัมภิทามรรค กล่าวถึงญาณต่างประเภทยกพระพุทธภาษิตเสีย ภาษิตของพระสารีบุตรมีมากกว่าของพระสาวกอื่น

    เป็นผู้มีความกตัญญู

    พระสารีบุตรนั้น ปรากฏโดยความเป็นผู้กตัญญู ท่านได้ฟังธรรมอันพระอัสสชิแสดง ได้ธรรมจักษุแล้ว มาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ดังกล่าวแล้วในหนหลัง ตั้งแต่นั้นมา ท่านนับถือพระอัสสชิเป็นอาจารย์ มีเรื่องเล่าว่า พระอัสสชิอยู่ในทิศใด เมื่อท่านจะนอนนมัสการไปทางทิศนั้นก่อน และนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น ภิกษุผู้ไม่รู้เรื่อง ย่อมสำคัญว่า ท่านนอนน้อมทิศตามลัทธิของพวกมิจฉาทิฏฐิ

    ความทราบถึงพระศาสดา ตรัสแก้ว่า ท่านมิได้นอบน้อมทิศ ท่านนมัสการพระอัสสชิผู้เป็นอาจารย์ แล้วประทานพระพุทธานศาสนีว่า พุทธมามกะ รู้แจ้งธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธะแสดงแล้วจากท่านผู้ใด ควรนมัสการท่านผู้นั้นโดยเคารพ เหมือนพราหมณ์ผู้หนึ่ง ชื่อราธะ ปรารถนาจะอุปสมบท แต่เพราะเป็นผู้ชราเกินไป ภิกษุทั้งหลายไม่รับอุปสมบทให้

    ราธะเสียใจ เพราะไม่ได้สมปรารถนา มีร่างกายซูบซีดผิวพรรณไม่สดใส พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นผิดไปกว่าปกติ ตรัสถามทราบความแล้ว ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า มีใครระลึกถึงอุปการะของราธะได้บ้าง พระสารีบุตรกราบทูลว่า ท่านระลึกได้อยู่ ครั้งหนึ่ง ท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ราธะได้ถวายภิกษาแก่ท่านทัพพีหนึ่ง พระศาสดาทรงสรรเสริญว่า ท่านเป็นผู้กตัญญูดีนัก อุปการะเพียงเท่านี้ก็ยังจำได้ จึงตรัสให้ท่านรับบรรพชาอุปสมบทราธพราหมณ์



    ๐ โปรดมารดาก่อนจะนิพพาน

    พระสารีบุตรนั้น ปรินิพพานก่อนพระศาสดา สันนิษฐานว่าในมัชฌิมโพธิกาล คือปูนกลางแห่งตรัสรู้ ในสาวกนิพพานปริวัตรแห่งปฐมสมโพธิ ๓๐ ปริเฉท กล่าวว่า พระสารีบุตรอยู่มาถึงปัจฉิมโพธิกาล พรรษาที่ ๔๕ ล่วงไปแล้ว แต่ในมหาปรินิพพานสูตรมิได้กล่าวถึงเลย ในปกรณ์ต้น เล่าถึงเรื่องปรินิพพานแห่งพระสารีบุตรว่า

    ท่านพิจารณาเห็นว่าอายุสังขารจวนสิ้นแล้ว ปรารถนาจะไปโปรดมารดาเป็นครั้งสุดท้าย แล้วปรินิพพานในห้องที่ท่านเกิด อธิบายว่า นางสารีมารดาท่าน เป็นผู้ไม่ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โทมนัสเพราะท่านและน้องๆ พากันออกบวชเสีย

    ท่านพยายามชักจูงมาในพระพุทธศาสนาหลายครั้งแล้ว ยังมิสำเร็จ จึงดำริจะไปโปรดเป็นครั้งสุดท้าย ท่านทูลลาพระศาสดาไปกับพระจุนทะผู้น้องกับบริวาร ไปถึงบ้านเดิมแล้ว เกิดโรคปักขันทิกาพาธขึ้นในคืนนั้น ในเวลากำลังอาพาธอยู่นั้น ได้เทศนาโปรดมารดาสำเร็จ นางได้บรรลุพระโสดาปัติผล พอเวลาปัจจุสมัย สุดวันเพ็ญแห่งกัตติกมาส พระเถรเจ้าปรินิพพาน

    พระสารีบุตรเถระ ปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าประมาณ ๖ เดือน กล่าวคือ ปรินิพพานในวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เวลาใกล้รุ่ง ที่บ้านตนเอง

    รุ่งขึ้นพระจุนทะได้ทำฌาปนกิจสรีระพระเถรเจ้าเสร็จ เก็บอัฐิธาตุนำไปถวายพระศาสดา ในเวลาประทับอยู่ ณ พระเชตวัน กรุงสาวัตถี โปรดให้ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระเถรเจ้าไว้ ณ ที่นั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคปวารณาพระวัสสาแล้ว เสด็จออกจากเวฬุวนารามพร้อมพระสงฆ์เป็นอันมาก บ่ายพระพักตร์ต่อเมืองสาวัตถี ครั้นถึง พระพุทธองค์เสด็จสำราญอินทรีย์ในเชตวนาราม

    ฝ่ายพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ท่านกระทำวัตรปฎิบัติพระพุทธองค์แล้ว ออกมาสั่งอยู่ในที่สบายกลางวันแล้วได้เข้าสู่ผลสมาบัติ เป็นที่สบายระงับกระวนกระวายในกายา ออกจากผลสมาบัติ แล้วเกิดปริวิตกว่า องค์พระพุทธเจ้ากับอัครสาวกใครจะเข้าพระนิพพานก่อน เมื่อท่านรำพึงไปก็รู้แท้ว่า ธรรมดาพระอัครสาวกทั้ง ๒ ย่อมนิพพานก่อนพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เมื่อท่านรู้ชัดฉะนี้แล้ว จึงเล็งแลพิจารณาอายุสังขารว่าท่านจะนิพพานเมื่อใด ครั้นพิจารณาไปก็รู้แจ้งว่ายังอีก ๗ วัน จะเข้าสู่นิพพาน

    ครั้นพิจารณาถึงที่จะนิพพาน ท่านจึงระลึงถึงมารดา ก็ตระหนักว่ามารดาของท่านเป็นคนมีวาสนา ได้ทรงครรภ์พระอรหันต์ถึง ๗ องค์ คือตัวท่านเอง พระเสนเถระ พระเรวัตเถระ พระอุปเสนเถระ พระภคินิยเถระ พระญาณอุปวาณะ พระสปวาลา แม้กระนั้นตัวมารดาของท่านจะได้มีน้ำใจเลื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธคุณ พระสังฆคุณ ก็หามิได้

    เมื่อท่านพิจารณาถึงอุปนิสัยของมารดาก็ทราบว่า อุปนิสัยพระโสดาปัตติมรรคมีอยู่ในสันดาน และเมื่อพิจารณาต่อไปว่า มารดาท่านชอบเทศนาของผู้ใด ก็เห็นว่าเฉพาะการเทศนาของท่าน มารดาจึงจะได้สำเร็จมรรคและผล

    ถ้าตัวท่านนิ่งเสีย ที่ไหนมารดาจะได้สำเร็จมรรคผล มหาชนจะนินทาว่า มารดาพระสารีบุตรเป็นมิจฉาทิฏฐิ ตัวพระสารีบุตรเป็นถึงอัครสาวก แต่จะโปรดมารดาให้เป็นสัมมาทิฏฐิก็ไม่ได้ จำท่านจะไปเทศนาโปรดมารดา แล้วตัวท่านก็จะเข้าพระนิพพานในห้องที่ท่านเกิดในบ้านนาลันทคาม ในการนี้ ท่านจะต้องไปทูลลาพระบรมศาสดาก่อน จากนั้นท่านได้พาภิกษุบริวาร ไปสู่สำนักพระบรมศาสดา กราบทูลขอลาเข้าสู่นิพพาน

    พระผู้มีพระภาคตรัสถาม ถึงสถานที่ที่จะเข้านิพพาน เมื่อพระสารีบุตรกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระพุทธองค์ให้พระสารีบุตรเทศนาให้ภิกษุทั้งหลายฟัง พระสารีบุตรได้ฟังพุทธฎีกา ก็แจ้งในพุทธฎีกานั้นว่า พระพุทธองค์ปราถนาจะให้ท่านสำแดงอิทธิปาฎิหาริย์ถวายนมัสการ ท่านจึงได้สำแดงเอนกปาฎิหาริย์มากกว่าร้อย แล้วจึงสำแดงธรรมเทศนาแก่บริษัทด้วยเอนกปาฎิหาริย์

    เมื่อท่านได้แสดงปาฎิหาริย์แล้ว จึงได้มาถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วกราบทูลว่า ตัวท่านได้สร้างบารมีช้านาน ประมาณ อสงไขยแสนกัปป์ บัดนี้ได้สมประสงค์แล้ว จะขอเข้าสู่พระนิพพาน พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า พระสารีบุตรจะนิพพานเมื่อใด ก็จงกำหนดกาลให้แน่นอนเถิด ครั้งนั้นได้เกิดอัศจรรย์ขึ้น ทั้งในแผ่นดินแผ่นน้ำและในห้วงนภากาศ ในขณะเมื่อพระสารีบุตรเถระ ท่านยืนประดิษฐาน จะไปเข้าพระนิพพานในนาลันทคามนั้น

    พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร เดินเวียนวงประทักษิณสามรอบพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงถวายบังคมลาพระบรมศาสดาว่า ตัวท่านนี้ได้หมอบลงแทบพระบาท แห่งพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าในที่สุดอสงไขยแสนกัปป์ ปรารถนาจะใคร่พบพระองค์ มาบัดนี้ก็ได้พบสมประสงค์แล้ว ครั้งนี้เล่าก็เป็นปัจฉิมที่สุด แล้วท่านก็เดินถอยหลังออกมา จนลับพระเนตรพระพุทธองค์ จากนั้นก็ได้บ่ายหน้าไปสู่นาลันทคาม

    พระผู้มีพระภาคจึงได้มีพุทธฎีกาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านจงไปส่งพี่ชายของท่าน เป็นที่สุดครั้งนี้เถิด บรรดาภิกษุและมหาชนชาวเมืองสาวัตถีเมื่อรู้ว่าข่าว ต่างก็พากันไปส่งพระสารีบุตร พระสารีบุตรจึงเทศนาสั่งสอนว่า ท่านอย่าร้องไห้ร่ำพิไรไปเลย จงเร่งเคารพในพระรัตนตรัยอย่าได้ขาด จงกลับไปอาวาสที่อยู่ของท่านเถิด แล้วท่านก็พาบริวารเดินทางไป คนทั้งหลายในระหว่างทาง ก็เดินตามกันเป็นหมู่ๆ ไม่ขาดสาย พระสารีบุตรเถระก็กล่าวธรรมปริยายเทศนาว่า อันเกิดมาเป็นรูปกายแล้ว ก็มีแต่จะทำลายไปในที่สุด ตามอำนาจอนิจจัง อุปไมยเหมือนบุคคลเกิดมา มีแต่มรณาเป็นที่สุด

    พระสารีบุตรเถระรอนแรมมาได้ ๗ ราตรี ก็บรรลุถึงนาลันทคาม จึงพาพระสงฆ์บริวาร เข้าหยุดอาศัยอยู่ใต้ไม้ไทรต้นหนึ่ง ขณะนั้น พระเรวัตเถระผู้เป็นหลานชายพระสารีบุตรเถระออกมาภายนอกบ้าน แลเห็นเข้าจึงเข้าไปถวายนมัสการ พระมหาเถระจึงสั่งให้ไปบอกมหาอุบาสิกาที่เป็นยายว่า ท่านได้มาถึงแล้วและจะขออาศัยอยู่สักราตรีหนึ่ง

    นางสารีพราหมณ์มารดาพระสารีบุตร เมื่อได้ทราบความจากพระเรวัตเถระก็คิดในใจว่า พระสารีบุตรคงจะสึกแล้วเป็นมั่นคง แล้วรำพึงว่าเมื่อยังหนุ่มแน่นก็ทำทนงบวชเสีย เมื่อตัวแก่ถึงเพียงนี้จะสึกออกมาทำไม คิดแล้วก็ให้จัดแจงที่อยู่ให้ ตามที่พระมหาเถระประสงค์ เสร็จแล้วจึงให้ไปอาราธนาพระมหาเถระ

    พระสารีบุตรเถระจึงเข้าไปสู่บ้านมารดา ไปอาศัยอยู่บนปราสาทที่เป็นที่ไสยาสน์ แต่หนหลังเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ เมื่อล่วงเข้าปฐมยาม ท่านอาพาธหนัก ลงโลหิตไม่หยุด ประกอบด้วยเวทนายิ่งนัก นางสารีพราหมณ์เห็นท่านเป็นไข้หนัก จะเข้าไปก็มิได้ เพราะในห้องนั้นเต็มไปด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารจำนวนมาก นางจึงนั่งพิงประตูคอยดูอาการอยู่

    ครั้งนั้นบรรดาเทวดาผู้ใหญ่ มีท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ องค์ ท้าวโกสีย์ และท้าวมหาพรหม ต่างได้ทะยอยกันมาถวายนมัสการพระมหาเถระ เมื่อท่านว่าผู้ใดมานมัสการแล้ว ท่านก็บอกให้บรรดาผู้มานมัสการเหล่านั้น กลับไปที่อยู่ของตน นางสารีพราหมณีเห็นเทวดาทั้งหลาย เข้ามาสู่สำนักพระสารีบุตรเถระ นางไม่รู้ว่าเป็นเทวดา จึงถามพระจุนทภิกษุผู้เป็นลูกชายน้อย พระจุนทเถระจึงบอกมารดาว่า เทวดาเขามานมัสการพระมหาเถระ ฝ่ายพระสารีบุตรเถระได้ยินถามว่า อุบาสิกามาไยปานฉะนี้เล่า

    มารดาจึงบอกว่า มาถามถึงเทวดาที่มาเป็นอันมาก และถามว่าเทวดาเหล่านั้นมีนามใด พระมหาเถระตอบว่า เทวดาที่มาก่อนคือ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ นางได้ฟังก็มีความสงสัย จึงถามต่อไปว่า ท่านเป็นใหญ่กว่าท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ อีกหรือ พระมหาเถระตอบว่า ท้าวจาตุมหาราชนี้อุปมาเหมือนโยมวัด สำหรับได้ปฎิบัติพระสงฆ์ ปางเมื่อพระบรมครูของเรา ลงมาถือปฎิสนธิ์ในครรภ์พระมารดา ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ องค์ ก็ประชุมสโมสร รักษาพระบรมโพธิสัตว์ทั้ง ๔ ทิศ

    นางพราหมณีได้ฟัง จึงถามต่อไปถึงเทวดาที่เข้ามาองค์ต่อมา พระมหาเถระตอบว่าคือองค์ท้าวอินทรา เจ้าเมืองดาวดึงส์สวรรค์ นางได้ฟังจึงถามต่อไปว่า พ่ออุปดิสนี้เป็นใหญ่กว่าพระอินทราอีกหรือ พระมหาเถระตอบว่า ท้าวอินทรานี้อุปมาดังสามเณร สำหรับถือเครื่องบริขารแห่งพระพุทธเจ้า ปางเมื่อพระบรมครูเสด็จขึ้นไปสวรรค์ชั้นดาวดังส์ เทศนาพระสัตตปกรณาภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์ โปรดพุทธมารดาครั้งนั้น ครั้นสำเร็จแล้วจึงเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ท้าวอทรินทราธิราชถือบาตรและจีวรมาส่ง ตามเสด็จพระพุทธองค์ลงมา ตราบเท่าถึงแผ่นปฐพี

    นางพราหมณีจึงถามต่อไปว่า เทวดาผู้ที่มาเป็นคำรบ ๓ คือใคร พระมหาเถระตอบว่า เป็นท้าวมหาพราหม ที่พวกพราหมณ์ทั้งหลายถือว่าเป็นครูอาจารย์ของตน นางพราหมณีจึงถามต่อต่อไปว่า พ่ออุปดิสนี้เป็นใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือ พระมหาเถระตอบว่า ปางเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ประสูติจากคัพโภทรพระชนนี ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ กับพวกท้าวมหาพรหมก็ชวนกันชื่นชม เอาข่ายทองมาประคองรับพระมหาบุรุษ พระบรมครูของเราเป็นใหญ่ยิ่งกว่าท้าวมหาพรหมได้ร้อยเท่าพันทวี

    นางพราหมณีได้ฟังแล้วก็คิดอยู่ในใจว่า แต่เจ้าอุปดิสลูกชายเรายังเป็นใหญ่กว่ามหาพรหม ก็พระสมณโคดมที่เป็นครูของเจ้าอุปติส จะมีอิทธิศักดานุภาพสักปานใด เธอย่อมเป็นใหญ่กว่าเทวดาอินทร์พรหมเป็นแน่แท้ นางคิดพลางทางมีปิติโสมนัสในพระมหากรุณา ปิติทั้ง ๕ ก็แผ่สร้านไปทั่วสรีรกาย ปางนั้นเพราะมหาเถระก็รู้แจ้งด้วยพระญาณว่า บัดนี้ มารดาของท่านบังเกิดปิติโสมนัสในพระพุทธเจ้า บัดนี้ ก็เป็นกาลที่ท่านจะเทศนา ทดแทนคุณค่าน้ำนมของพระชนนีเถิด

    ท่านจึงอุตส่าห์กลั้นทุกเวทนาที่อาพาธ เทศนาสรรเสริญ พระคุณพระพุทธเจ้า เริ่มตั้งแต่ประสูติ เมื่อปีระกาวันพฤหัสบดี เพ็ญเดือนหก บังเกิดอัศจรรย์บรรลือลั่นทุกแห่งหน เมื่อเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ ก็เป็นที่ชื่นชมยินดีกันไปทั่ว

    ครั้นเมื่อตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อปีวอก วันพุธ เพ็ญเดือนหก ก็เกิดแสนมหัศจรรย์ เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วทุกหมู่เหล่า เกิดความเกษมสันต์ต่อกันทุกตัวสัตว์ทั้งโลก มหาอัศจรรย์ตั้งแต่เบื้องต่ำ ตลอดถึงภพเบื้องบน เป็นโกลาหลอันใหญ่ยิ่ง พ้นที่จะคณนา เทพยดาทั้งหลายมาแต่หมื่นจักรวาฬ มาประชุมพร้อมกันในมงคลจักรวาฬนี้ ที่แต่พอจุปลายขนจามรี มีเทพยดานั่งกันอยู่ ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ องค์บ้าง นิรมิตตัวน้อยๆ ละเอียดเป็นอณูปรมาณู นั่งเสียดสีกันชมพระบารมีพระพุทธเจ้า กระทำสักการะบูชาพระพุทธเจ้า

    จากนั้น พระมหาเถระก็ได้สำแดงพระพุทธคุณโปรดมารดาต่อไปว่า อันว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ย่อมประกอบด้วยบุญราศีไม่มีผู้ใดจะเปรียบปาน ประกอบด้วยพระอนาวรณญาณมิได้มีที่จะสิ้นสุด ประกอบด้วยอิทธิศักดายิ่งกว่าผู้ใดในไตรภพ ประกอบด้วยพระคุณเป็นอนันต์อเนกา จะกำหนดนับมิได้ ด้วยพระนวหรคุณ คือ พระนามทั้ง ๙ ว่า อิติปิโส ภควา ฯลฯ ภควาติ คือ

    พระองค์ทรงพระนามชื่อว่า อรหํ เหตุว่าพระองค์ทรงหักเสียซึ่งกงกำแห่งสังสารจักร อันพัดผันไปในเตภูมิกวัฏมิได้ขาดสายให้แตกหักไป

    พระนามคำรบที่ ๒ ชื่อว่าสัมมาสัมพุทโธ เหตุว่าพระองค์ตรัสรู้ในไญยธรรมด้วยพระองค์เอง

    พระนามเป็นคำรบที่ ๓ ชื่อว่าวิชาจรณสัมปันโน เหตุว่าพระองค์ประกอบไปด้วยวิชชา ๘ และจรณธรรม ๑๕

    พระนามเป็นคำรบที่ ๔ ชื่อว่าสุคโต เหตุว่าพระองค์เสด็จพระดำเนินไปสู่ที่เกษม คือ พระอมตมหานิพพาน

    พระนามคำรบที่ ๕ ชื่อว่าโลกวิทู เหตุว่าพระองค์ตรัสรู้ซึ่งโลก ๓ ประการ

    พระนามเป็นคำรบที่ ๖ ชื่อว่า อนุตตโร ปุริสทัมมสารถี เหตุว่าพระองค์ฉลาดที่จะทรมานเวไนยสัตว์ หาผู้เสมอมิได้

    พระนามคำรบที่ ๗ ชื่อว่า สัตถา มนุสสานัง เหตุว่าพระองค์เป็นครูชักนำสัตว์ ให้พ้นจากกันดารได้ด้วยปัญญา

    พระนามคำรบที่ ๘ ชื่อว่าพุทโธ เหตุว่าพระองค์ตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ประการ

    พระนามเป็นคำรบที่ ๙ ชื่อว่า ภควา เหตุว่าพระองค์ประกอบไปด้วยพระภาค คือบุญราศีอันสร้างสมมานาน

    ครั้นพระมหาเถระเทศนาจบลง นางสารีพราหมณีก็ได้พระโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลในพระศาสนา นางยินดีปรีดาหาที่สุดมิได้ จึงมีวาจาว่า พ่ออุปดิส เป็นลูกชายร่วมชีวิตของแม่ พระพุทธเจ้ามีคุณถึงเพียงนี้ น่าอัศจรรย์ใจ เหตุไฉนพ่อจึงมิได้สำแดงให้แจ้งแก่มารดา ละไว้ให้เนิ่นช้าถึงเพียงนี้

    ฝ่ายพระมหาเถระคิดอยู่ในใจว่า มารดาของท่านได้พระโสดาบันแล้ว ทำลายล้างเสียซึ่งมิจฉาทิฏฐิที่ถือผิดมาแต่หลัง มีปัญญาหยั่งลงสู่พุทธาธิคุณมิได้หวั่นไหว ท่านรำพึงแล้วจึงถามพระจุนทะว่า เพลานี้ล่วงไปได้สักเท่าใดแล้ว พระจุนทเถระจึงตอบว่า เพลานี้จวนสว่างอยู่แล้ว และเมื่อท่านทราบว่าพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันอยู่แล้ว พระมหาเถระจึงลาพระสงฆ์ทั้งหลายว่า ท่านที่เป็นสัทธิวิหาริกก็ดี เป็นสิสสานุสิสของเราก็ดี ได้ตั้งใจภักดีตามปฏิบัติเรามาช้านาน ประมาณ ๔๔ ปี เราได้กระทำผิดด้วยกายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี มโนกรรมก็ดีท่านทั้งหลายจงอดโทษานุโทษในครั้งนี้

    ฝ่ายพระสงฆ์ทั้งหลายก็ขมาโทษพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรสำเร็จแล้ว พระมหาเถระก็เอาชายจีวรปิดหน้า เอนกายเบื้องขวาลงเหนืออาสน์ ยังสีหไสยาสน์ ท่านก็เข้าสมาบัติ เป็นอนุโลมปฏิโลมถอยหน้าถอยหลัง ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นที่สำราญแห่งพระอริยเจ้า ออกจากปฐมฌานแล้วก็เข้าทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เป็นอนุโลม เป็นปฏิโลม ถอยหน้า ถอยหลัง ตั้งแต่จตุตถฌาน เป็นต้นไป ครั้นออกจากจตุตถฌานแล้วจึงเข้าตติยฌาน ทุติยฌาน ปฐมฌาน เป็นปฏิโลม ถอยหลังลงมาฉะนี้ เมื่อพระมหาเถระกลับย้อนเข้าฌานเป็นอนุโลมขึ้นไปแล้ว ครั้นออกจากจตุตถฌานก็ดับสูญเข้าสู่พระอมตมหานิพพาน ทั้งวิบากขันธ์และกรรมชรูปก็ดับสิ้นหาเศษมิได้ ขณะนั้นก็เกิดอัศจรรย์หวั่นไหวไปทั้งโลก

    ฝ่ายนางสารีพราหมณี เมื่อรู้ว่าพระมหาเถระดับสูญแล้ว ก็โศกาพิไรรำพันว่า แต่ก่อนตัวนางไม่รู้เลยว่า พระมหาเถระมีคุณถึงเพียงนี้ พอรู้ก็พอมาสิ้นชีวิตอินทรีย์เสีย ตัวนางตั้งใจจะกระทำการกุศลถวายไตรจีวร สร้างพระวิหารเป็นจำนวนมาก เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย แล้วนางจึงเอาทองคำออกมาโกฏิหนึ่ง ให้นายช่างทำบุษบกห้าร้อยยอด สำหรับไว้พระศพพระมหารเถระ ทำพนมดอกไม้ ๕๐๐ สำหรับเป็นเครื่องบูชาศพพระมหาะเถระ

    บรรดามหาชนที่มีศรัทธา ก็ชวนกันเล่นนักขัตฤกษ์ตามประสาสัปบุรุษ สิ้นคำรบ ๗ วัน ๗ ราตรี แล้วจึงกระทำเชิงตะกอนสำหรับปลงศพ เชิญพระศพขึ้นสู่เชิงตะกอน ถวายพระเพลิงในเวลาเย็นเป็นคำรบวัน ๗ นั้น พระมหาเถระทั้งหลายก็สำแดงเทศนาสิ้นราตรียังรุ่ง

    ครั้งเพลาเช้า พระอนุรุทธิ์ ถือเอาน้ำหอมมาประพรมเถ้าถ่านเพลิงให้ดับสิ้น พระอนุรุทเถระเก็บพระธาตุเสร็จแล้วจึงเอาผ้ากรองน้ำห่อพระธาตุ จัดจีวรของพระสารีบุตรเถระ ปรารถนาจะนำไปถวายพระพุทธองค์ ณ เมืองสาวัตถี พระจุนทเถรได้นำพระธาตุกับบาตจีวรไปสาวัตถี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าพระสารีบุตรเถระนิพพานแล้ว บาตรจีวรและพระธาตุที่ห่อมา เป็นของพระสารีบุตรเถระ

    พระผู้มีพระภาครับเอาพระธาตุไว้ แล้วทรงเชิดชูในท่ามกลางพระสงฆ์ทั้งหลาย ตรัสว่า ธาตุนี้มีสีขาวดังสีสังข์ เป็นธาตุแห่งพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้เป็นอัครสาวก พระธรรมเสนาบดีองค์นี้ได้สร้างบารมีมาช้านาน เป็นผู้มีปัญญาฉลาดยิ่งกว่าคนทั้งหลายในโลกธาตุ เว้นไว้แต่พระตถาคตผู้เดียว เป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญญายังมหาชนให้ชื่นชม มีปัญญารวดเร็ว มีปัญญาแหลมลึกละเอียด อาจจะกำจัดเสียได้ซึ่งคำปรัปปวาท อันเป็นเสี้ยนหนามในพระศาสนา มีสัลเลขสันโดษมักน้อยในจตุปัจจัยทั้ง ๔ ย่อมติเตียนผู้เป็นอลัชชีใจบาปหยาบช้า สงฆ์ทั้งหลายจงเร่งนมัสการคุณพระสารีบุตร อันประกอบด้วยคุณวิเศษเห็นฉะนี้ แล้วพระพุทธองค์ก็ให้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้ในพระเชตวนาราม



    .............................................................


    • Update : 16/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch