หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สรภัญญ์ บทสวดบูชาพระศาสนาเอกลักษณ์ประจำถิ่นอีสาน

    Image

    ส ร ภั ญ ญ์
    บทสวดบูชาพระศาสนาเอกลักษณ์ประจำถิ่นอีสาน


    สรภัญญ์ (สะ-ระ-พัน หรือ สอ-ระ-พัน) ที่บางท้องถิ่นเรียกว่า “สรภัญญะ” (สอ-ระ-พัน-ยะ) เป็นบทสวดประเภทหนึ่งที่อุบาสกและอุบาสิกาในภาคอีสานนิยมสวดกันในวันอุโบสถศีล (วันพระ) หรือบางครั้งก็นำมาสวดประชันกันว่าคณะสวดสรภัญญ์บ้านใดจะสวดได้ไพเราะ และบทสวดใครจะมีคารมคมคายกว่ากัน การสวดสรภัญญ์นี้ภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า “ฮ้องสรภัญญ์” ซึ่งการสวดดังกล่าวเป็นเช่นไร กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะได้นำมาเสนอเพื่อทราบ ดังนี้

    “สรภัญญ์” เป็นการสวดมนต์ในทำนองสังโยค คือ การสวดเป็นจังหวะหยุดตามรูปประโยคฉันทลักษณ์ บทสวดจะมีลักษณะเป็นฉันท์หรือกาพย์ก็ได้ แต่ที่นิยมกันมากคือ กาพย์ยานี สำหรับเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับศาสนา บาปบุญคุณโทษ นิทานชาดก นอกจากนั้น ก็ยังมีการแต่งกลอนเน้นไปทางศิลปวัฒนธรรม เช่น กลอนถามข่าว โอภาปราศัย ชักชวนให้ไปเยี่ยม การลา หรือไม่ก็อาจจะเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นของอีสาน อาทิ เรื่องกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เป็นต้น บทสวดสรภัญญ์มักไม่เน้นในเรื่องความรักหรือการเกี้ยวพาราสี เพราะการสวดสรภัญญ์นั้นเกี่ยวข้องกับทางศาสนา และผู้ฝึกสอนเป็นพระภิกษุ จึงไม่ให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก เพราะไม่เหมาะกับพระสงฆ์

    สำหรับการสวดสรภัญญ์ในเมืองไทยนั้นมีการสวดมานานแล้ว ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่การสวดในยุคนั้นนิยมสวดเป็นภาษาบาลี และมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาโดยตรง ไม่มีเรื่องแต่งใหม่เป็นคำไทย ผู้ที่สวดจึงมักเป็นพระสงฆ์ และอุบาสกอุบาสิกาที่อ่านภาษาบาลีได้คล่องแคล่ว เมื่อการสวดสรภัญญ์ได้รับความนิยมมากขึ้น ปราชญ์ทางพุทธศาสนาจึงได้แต่งคำสวดเป็นภาษาไทย ให้อุบาสกอุบาสิกาและแม่ชีใช้สวดในวัด เช่น สวดทำวัตร เนื้อหาก็จะได้จากกระทู้ธรรมในพุทธศาสนสุภาษิต และธรรมบท

    ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ไม่สามารถจะสืบทราบได้ว่ามีการสวดสรภัญญ์เมื่อใด แต่คาดว่าคงได้รับอิทธิพลจากภาคกลางเช่นเดียวกับการสวดพระอภิธรรมนั่นเอง กล่าวคือเมื่อพุทธศาสนาได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น พระเถระได้รับการศึกษาฝึกอบรมจากกรุงเทพฯ มากขึ้น กอปรกับคมนาคมที่สะดวกขึ้น ดังนั้น เมื่อกลับมายังถิ่นของตน จึงได้นำพิธีกรรมที่ได้จากกรุงเทพฯ มาเผยแพร่ด้วย

    ปัจจุบันการสวดสรภัญญ์ของพี่น้องชาวภาคอีสานนั้น นิยมสวดกันในงานศพ งานทอดผ้าป่า งานกฐิน งานทอดเทียน งานกวนข้าวทิพย์ และในกิจกรรมวันธรรมสวนะ (วันพระ) ส่วนภาคกลางนั้นนิยมร้องในงานศพ เช่นเดียวกับการสวดพระอภิธรรม

    การสวดสรภัญญ์ของภาคอีสานนี้ เทียบกับ ภาคกลาง ก็คือ สวดโอ้เอ้วิหารราย ส่วน ภาคเหนือ จะเรียกการสวดแบบนี้ว่า อื่อระนำ จ๊อยทำนองธรรม และ ภาคใต้ เรียก สวดค้าน จุดมุ่งหมายของการสวดไม่ว่าจะของภูมิภาคใดก็ล้วนมีจุดประสงค์เดียวกันคือ การเผยแพร่ธรรมะ ดังนั้น เนื้อหาที่ใช้สวดจึงมักให้คติธรรม เช่น เรื่องเวสสันดรชาดก และชาดกต่างๆ

    การสวดสรภัญญ์มีรูปแบบการสวด ตามลำดับการขับสรภัญญ์เป็นกลุ่มของกลอนดังนี้

    ๑. กลอนเตรียมตัว จะกล่าวถึงการเตรียมตัวกราบไหว้พระรัตนตรัย เนื่องจากธรรมเนียมของชาวพุทธก่อนจะทำสิ่งใดจะต้องไหว้พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ก่อนเป็นอันดับแรก กลอนนี้จึงเสมือนกลอนนมัสการหรือไหว้ครูนั่นเอง

    ๒. กลอนบูชาดอกไม้ กลอนบทนี้แสดงให้เห็นถึงการบูชาดอกไม้ที่ทุกคนเตรียมมาและถืออยู่ในมือแล้ว หรือบางทีก็วางไว้ที่ขันกะหย่องตอนกราบพระครั้งแรก การบูชาด้วยดอกไม้ของหอมถือว่าเป็นอามิสบูชา เป็นการบูชาเบื้องต้นที่ศาสนิกชนควรจะทำ

    ๓. กลอนไหว้คุณครูบาอาจารย์ นอกจากไหว้พระรัตนตรัยแล้ว สิ่งที่ควรรำลึกต่อไปก็คือ ครูอาจารย์

    ๔. กลอนเดินทาง เป็นกลอนพรรณนาการเดินทางมาร้องสรภัญญ์ กลอนนี้เป็นการสะท้อนภาพชนบท ที่นักร้องสรภัญญ์ได้เดินทางจากบ้านของตนเองบุกป่าฝ่าดงมายังสถานที่ร้องสรภัญญ์

    ๕. กลอนปัญญาน้อย เป็นกลอนแสดงการถ่อมตนไม่โอ้อวด ให้เกียรติผู้อื่น

    ๖. กลอนให้รักษาศีล เป็นการเริ่มกลอนที่เป็นเนื้อหาสาระของจริยธรรม คือว่าด้วยเรื่องทาน ศีล ภาวนา

    ๗. กลอนพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เป็นกลอนที่กล่าวถึงเนื้อหาของพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ว่ามีอยู่กี่ประการ

    ๘. กลอนสังขารไม่เที่ยง เป็นกลอนที่กล่าวถึงสภาวธรรม คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขาร เพื่อเตือนนิกรชนให้สำนึกอย่าประมาท

    ๙. กลอนนรก-สวรรค์ เป็นกลอนที่ว่าด้วยนรก ซึ่งเป็นปลายทางของคนบาป และสวรรค์ซึ่งเป็นอานิสงส์ของคนบุญ

    ๑๐. กลอนคุณบิดาคุณมารดา เป็นกลอนที่เสริมด้านคุณธรรม เป็นการแสดงคุณบิดามารดา และชี้นำให้รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ ที่เรียกว่า “กตัญญูกตเวที”

    ๑๑. กลอนลาและอวยพร เป็นกลอนส่งท้าย ผู้ร้องสรภัญญ์จะบอกลาพระสงฆ์และผู้ฟังทุกคน แล้วอวยพรให้มีความสุข อยู่ดี มีแฮง (มีแรง)

    อาจารย์อุดม บัวศรี ผู้ที่ศึกษาเรื่องการสวดสรภัญญ์ได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ของการสวดสรภัญญ์ไว้ว่า นอกจากจะทำให้ผู้ที่สวดได้เข้ามาใกล้ชิดพระศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว ในบทสวดสรภัญญ์ยังเป็นบทกลอนที่เป็นประโยชน์ เช่น กลอนบูชาครู กลอนบูชาดอกไม้ กลอนศีล กลอนพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ กลอนบูชาคุณบิดร มารดา ซึ่งล้วนแต่บ่งบอกถึงการรู้คุณ กตัญญู รู้จักการขออภัย ให้อภัย รู้จักความดีความชั่ว ซึ่งเป็นยอดแห่งมนุษยจริยธรรมทั้งสิ้น นอกจากนี้บทสวดสรภัญญ์ยังมีการนำเอาวรรณคดีท้องถิ่นของภาคอีสานมาแต่งเป็นกลอน จึงทำให้ผู้ฟังได้รู้เรื่องนิทานพื้นบ้านต่างๆ ซึ่งเป็นนิทานที่มีคติสอนใจ จึงเป็นการสืบสานไม่ให้นิทานพื้นบ้านต้องสูญหายไปกับกาลเวลา

    ในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่พี่น้องหมู่เฮาชาวอีสานได้ร่วมใจกันสืบสานการสวดสรภัญญ์ให้คงอยู่ ด้วยการสวดสรภัญญ์ในกิจกรรมวันธรรมสวนะและงานบุญต่างๆ รวมไปถึงได้จัดให้มีการประกวดสวดสรภัญญ์กันอยู่เสมอ โดยมีการแข่งขันตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับภาค นอกจากนั้นแล้ว ยังได้ถ่ายทอดให้กับเยาวชนโดยการบรรจุอยู่ในเรียนการสอนวิชาวรรณกรรมท้องถิ่นในโรงเรียนต่างๆ ของภาคอีสานอีกด้วย จึงเชื่อได้ว่าการสวดสรภัญญ์อันเป็นอีกหนึ่งในมรดกวัฒนธรรมนี้จะยังคงอยู่คู่กับชาวอีสานต่อไป ตราบนานเท่านาน


    ***************************

    กิ่งทอง มหาพรไพศาล เรียบเรียง
    กลุ่มประชาสัมพันธ์ สนง.คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

    • Update : 16/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch