หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ลอยกระทง...อธิษฐานอะไรดี

    Image 

    ลอยกระทง...อธิษฐานอะไรดี

    วันพุธที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นเทศกาลสำคัญวันหนึ่ง ซึ่งชาวไทยทั้งประเทศตลอดจนชาวต่างชาติต่างก็รอคอย เพื่อร่วมงานอันชวนตื่นตาตื่นใจกับประเพณีที่สำคัญ ซึ่งมีการสืบทอดมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน นั่นคือ งานวันลอยกระทง

    โดยเฉพาะในยามค่ำคืน ทุกคนจะได้สัมผัสกับบรรยากาศอันงดงามตระการตา ตามท้องน้ำที่เต็มไปด้วยแสงประทีปโคมไฟหลากสี ที่ส่องประกายระยิบระยับเหมือนเพชรร่วง หรือหมู่ดาวในท้องฟ้า คืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ร่วงหล่นลงบนพื้นดิน ประกอบด้วยผู้คนที่แต่งตัวประชันโฉมอย่างเต็มที่ เหมือนกับจะประกาศว่าเป็นถิ่นดินแดนอันศิวิไลซ์ (civilize) ดังทิพยสถาน และพิธีสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งนิยมประกอบในวันเดียวกันและกำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าเป็นพิธีที่ช่วยเสริมบารมีสะเดาะเคราะห์ เพิ่มพลังวาสนา นั่นคือ “พิธีอาบน้ำเพ็ญ”

    ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติมาแต่โบราณ โดยมีตำนานการสืบทอดตามความเชื่อถือมากมายหลายประการ ดังนี้

    ๑. เชื่อว่ามาจากประเพณีของพราหมณ์ ซึ่งทำเพื่อบูชาพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในมหาสมุทร และเทพองค์อื่นๆ มีเจ้าแม่ลักษมีเทวี เป็นต้น เป็นประเพณีที่ชาวฮินดูทำขึ้น แต่เดิมกำหนดเป็นวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ เพื่อบูชาพระเจ้า ๓ องค์คือ พระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร และเทพองค์อื่นๆ โดยวิธีจุดประทีปใช้ถ้วยดินเผาเล็กๆ มีไส้ด้ายดิบลอยในน้ำมันหรือไขสัตว์ติดตั้งไว้ในทุกที่ บางทีก็ลอยประทีปในน้ำเป็นการบูชาพระแม่คงคาด้วย เรียกว่า ประเพณีทีปวาลี

    ๒. เชื่อว่าจากประเพณีทีปวาลีของชาวฮินดูดังกล่าว น่าจะเป็นที่มาของประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย เพราะมีระยะเวลาใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ประเพณีลอยกระทงของไทยจะมีขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

    Image

    ๓. ประเพณีลอยกระทงตามประทีป มีขึ้นทางภาคเหนือของไทยมากว่าหนึ่งพันปีมาแล้ว จากหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร (ช่วง บุนนาค) และจามเทวีวงศ์ ที่ว่า “เมื่อ จ.ศ. ๓๐๙ (พ.ศ. ๑๔๙๐) พระยาจุเลราชแห่งนครลำพูน ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวเมืองจึงพากันหนีไปอยู่แดนรามัญถึง ๖ ปี บางพวกได้กลับมายังเมืองลำพูน และพอถึงวันเดือนปีที่ครบรอบที่จากญาติทางรามัญมาก็ทำพิธีระลึกถึงด้วยการจัดแต่งธูปเทียนเครื่องสักการะใส่ในกระทงแล้วลอยไปตามแม่น้ำเรียกว่า ลอยโขมด (ลอยไฟ) จนถือเป็นประเพณีสืบทอดมา”

    จากหลักฐานที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาปุณโณวาทสูตร ว่า “ครั้งหนึ่งพญานาคได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดนาคพิภพ ครั้นเวลาจะเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขอสิ่งสักการะที่จะให้พวกนาคได้สักกระบูชา พระพุทธองค์จึงได้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา (nammada) พวกนาคก็ได้กราบไหว้บูชารอยพระพุทธบาทแทนพระพุทธองค์ ชาวพุทธได้ทราบเรื่องนั้นก็ได้สักการบูชา ส่วนผู้ที่อยู่ไกลจากสถานที่ที่มีรอยพระพุทธบาทก็จัดเครื่องสักการะ ดอกไม้ธูปเทียนใส่กระทงลอยน้ำไปเพื่อถวายการบูชารอยพระพุทธบาทนั้น”

    ๔. สำหรับประเทศไทยได้มีพิธีลอยกระทงอย่างเป็นทางการในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี คือ เนื่องจากนางนพมาศ พระสนมเอกของพระร่วงเจ้า ได้ประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวสำหรับปักธูปเทียนถวายแด่พระร่วงเจ้าให้ทรงลอยกระทง พระองค์ทรงโปรดมากถึงกับตรัสว่า “แต่นี้สืบไปข้างหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศเมื่อถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัวอุทิศบูชาพระพุทธบาทนัมมทา (nammada) ตราบเท่ากัลปาวสาน”

    ประเพณีลอยกระทงที่เริ่มต้นในสมัยสุโขทัย คือ พระราชพิธีจองเปรียง ชักโคม ลอยโคม เดิมเป็นพิธีของพราหมณ์เพื่อบูชาพระเจ้าในศาสนาของตน ต่อมาชาวพุทธได้นำมาใช้เพื่อเป็นการถวายการบูชาพระพุทธเจ้า คำว่า จอง คือ หมายไว้ กำหนดไว้ ทาไว้ ส่วนคำว่า เปรียง คือน้ำมันไขข้อโค รวมกันเป็นจองเปรียง หมายถึงการทาเปรียงที่เทียนเพื่อจุดในโคมก่อนลอยในน้ำบูชารอยพระพุทธบาท และขอบคุณน้ำที่ได้กินได้ใช้ได้ทำการเกษตรเลี้ยงชีวิต

    หรือชักขึ้นสู่ยอดเสาเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกว่า ประเพณีลอยกระทงทรงประทีป ถือเป็นประเพณีสืบทอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และกำหนดให้มีขึ้นในวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑-๒ พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทำเป็นกระทงใหญ่ ตั้งบนแพหยวกกล้วยรูปทรงต่างๆ มีกลไกขับเคลื่อนได้ มีดนตรีขับประโคมประจำกระทงด้วย เวลาค่ำพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระตำหนักน้ำเพื่อทรงลอยกระทงทรงประทีปด้วย

    Image

    ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เลิกการทำกระทงใหญ่และให้ทำเรือลอยพระประทีปแทน ครั้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงให้ใช้เรือพระที่นั่งและเรืออื่นๆ ประดับฉัตรและและโคมไฟแทน ต่อมาทรงเลิกโดยให้ใช้กระทงซึ่งเป็นเรือขนาดเล็ก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงให้ยกเลิกพระราชพิธีนี้เพราะทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง

    แต่สำหรับประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ยังคงนิยมถือปฏิบัติสืบทอดประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน คือเมื่อวันลอยกระทงหรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ มาถึง จะต้องประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น

    ๑. มีการประดิษฐ์กระทงใช้รถหรือเรือบรรทุกมีนางนพมาศนั่งประจำ จัดประดับตกแต่งสวยงาม มีการประกวดชิงรางวัล ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

    ๒. มีการทำกระทงขนาดเล็กวางจำหน่ายทั่วไปและประดิษฐ์มาเองแล้วนำไปลอยในที่ที่มีน้ำและลำคลอง ตลอดจนนิยมมีงานครึกครื้นเป็นประจำทั่วประเทศ

    ๓. มีการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ และมีมหรสพสมโภชตามสมควร

    ๔. มีการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงโดยมีจุดมุ่งหมายหลายอย่างคือ

    - เพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน

    - เพื่อถวายการบูชาพระบรมสารีริกธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

    - เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา (nammada) ประเทศอินเดีย

    - เพื่อระลึกถึงญาติสนิทมิตรสหายที่รักใคร่ชอบพอและมีบุญคุณต่อกัน หรือบูชาบรรพบุรุษของตน

    - เพื่อแสดงการขอบคุณน้ำที่ให้มนุษย์และสัตว์ทั้งโลกได้ดื่มกินและใช้ให้เกิดประโยชน์มากมายมาโดยตลอด

    - เพื่อขอขมาน้ำที่มนุษย์เคยใช้อาบ ชำระล้าง และทิ้งสิ่งสกปรกลงไป

    - เพื่ออธิษฐานขอให้ได้สิ่งที่ตนปรารถนา

    - เพื่อลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์

    Image

    โดยยึดหลักความเชื่อที่ว่า

    - ชาวฮินดู เมื่อได้บูชาพระเจ้าแล้ว เชื่อว่าพระองค์จะทรงประทานพรให้มนุษย์ร่มเย็นเป็นสุข

    - ชาวพุทธ เชื่อว่า การถวายการบูชาต่อพระพุทธเจ้าหรือรอยพระพุทธบาทและปูชนียวัตถุปูชนียสถาน แม้เป็นเพียงอามิสบูชาก็ถือว่าได้บุญกุศลทำให้จิตใจใสสะอาดมีความสุข มีพลังใจในการดำรงชีวิตให้ประสบความสำเร็จต่อไป

    - เชื่อว่าญาติหรือคนรักที่อยู่ไกลกันสามารถส่งพลังจิตมิตรภาพถึงกันได้

    - เชื่อว่าน้ำคือสิ่งที่ให้มนุษย์และสัตว์ทั้งโลกมาโดยตลอด ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต ให้ความอุดมสมบูรณ์ ให้ความเย็น การสำนึกในบุญคุณของน้ำถือว่าเป็นการปลูกฝังหลักกตัญญูกตเวทิตาธรรมให้งอกงามในจิตใจได้

    - เชื่อว่าพระแม่คงคาผู้สถิตในสายน้ำทุกหยด คือเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์สามารถประทานความสำเร็จทุกอย่างให้ได้

    - และเชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์สะเดาะเคราะห์ลอยทุกข์ลอยโศกให้สายน้ำพัดพาไป

    จากความเชื่อถือดังกล่าว ทำให้บางถิ่นบางท้องที่ เช่น ที่จังหวัดลำปาง ก็มีการทำกระทงเป็นรูปเรือหรือสัตว์แล้วนำธง ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวปลาอาหาร ขนม ผลไม้ หมากพลูบุหรี่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สิ่งของมีค่า เงิน ทอง ลงไปในกระทงแล้วลอยไป ถือว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ประจำปี ทำให้ขยายผลไปสู่วงกว้างในหลายๆ จังหวัดในเวลาต่อมา บางแห่งถึงกับตัดผม ตัดเล็บ เศษอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และเศษเสื้อผ้าที่ใช้แล้วใส่ลงไปในกระทงแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอให้เคราะห์ร้ายหายไป ให้ชีวิตมีแต่ความสุขตลอดไป แล้วลอยไปโดยเชื่อว่าเป็นการตัดเคราะห์ตัดโศกสะเดาะให้พ้นเคราะห์พ้นโศกให้หลุดลอยไปในกระทง ของที่ใส่ลงไปมีการเพิ่มและลดตามความเชื่อของตน จนกลายเป็นความเชื่อที่ได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

    พิธีลอยกระทงในปัจจุบันก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้านคือ

    - สร้างพลังสามัคคี
    - ทุกคนมีส่วนร่วม
    - รวมความคิดสร้างสรรค์
    - ให้ความสำคัญศิลปกรรม
    - รักษาวัฒนธรรมของชาติ
    - ประกาศการท่องเที่ยวเพิ่ม
    - ส่งเสริมความกตัญญู และ
    - มุ่งเชิดชูพระพุทธศาสนา

    ดังนั้น เมื่อวันเพ็ญ เดือน ๑๒ หรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ มาถึงในทุกๆ ปี ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศต่างก็ร่วมกันจัดงานและมีพิธีลอยกระทงตามความเชื่อถือของแต่ละคน แต่ต้องมีหลักยึดมั่นจึงจะได้ประโยชน์เต็มที่ ในพระพุทธศาสนาสอนหลักเกี่ยวกับศรัทธาความเชื่อว่าถ้าขาดปัญญาขาดวิจารณญาณกำกับ จะกลายเป็นความงมงายทันที

    Image

    ในโอกาสวันลอยกระทง ได้เวียนมาถึงอีกครั้งในปี ๒๕๕๐ นี้ ขอฝากข้อคิดเพื่อสะกิดไม่ให้หลงทางว่า ถ้าจะบูชาพระเจ้าขอให้เชื่อว่าพระเจ้าทุกพระองค์ดำเนินไปในทางที่ดี และมีพระประสงค์ให้ศาสนิกเจริญรอยตาม และมุ่งละชั่วทำแต่ความดี

    ถ้าจะถวายการบูชาพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงย้ำว่า การปฏิบัติตามหลักคำสอนเป็นการบูชาที่ประเสริฐที่สุดกว่าการบูชาใดๆ ทั้งสิ้น


    ถ้าจะบูชาพระแม่คงคาเป็นการตอบแทนบุญคุณของน้ำ พระแม่คงคาหรือน้ำเป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติพิเศษในตัวคือ เย็น ประสานกันได้สนิท สามารถชำระล้างสิ่งสกปรกได้ทุกอย่าง ดับกระหาย และให้ความอุดมสมบูรณ์ ว่ากันว่าน้ำทุกหยดซึ่งถือเป็นสายเลือดของพระแม่คงคา ดังนั้น สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องปฏิบัติต่อพระองค์เป็นการตอบแทนพระคุณก็คือ

    ๑. ช่วยกันดูแลแหล่งกำเนิด ที่เก็บที่กักน้ำทุกแห่ง ให้สะอาดตามหลักสุขอนามัย

    ๒. ไม่ปล่อยหรือทิ้งสิ่งปฏิกูลของสกปรกต่างๆ ลงไปในลำน้ำต่างๆ ให้เน่าเสีย

    ๓. ใช้น้ำอย่างประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย ทั้งน้ำใช้และน้ำดื่ม

    ๔. สำนึกในคุณค่าของน้ำซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ และสภาพแวดล้อมทั่วไป

    ๕. ยึดถือคุณสมบัติของน้ำเป็นแนวทางควบคุมจิตใจของตัวเอง ให้สงบเย็น รักสามัคคี พยายาม ชำระล้างสิ่งสกปรกทางกาย วาจา ใจ โดยละชั่ว ทำความดี ชำระจิตใจให้ใสสะอาด

    ๖. ร่วมสร้างชีวิต สังคม สภาพแวดล้อมทั้งโลก ให้สุขสมร่มเย็นด้วยมือของทุกคนตลอดไป

    Image

    * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

    คำบูชากล่าวก่อนลอยกระทง

    อะหัง อิมินา ปะทีเปนะ อะสุกายะ นัมมะทายะ นะทิยา ปุลิเน ฐิตัง มุนิโน ปาทะวะลัญชัง อะภิปูชะยามิอะยัง ปะทีเปนะ มุนิโน ปาทะวะลัญชัง ปูชา มัยหัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ

    (จะกล่าวเฉพาะคำแปลก็ได้)

    ข้าพเจ้าขอน้อมบูชา รอยพระพุทธบาท ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทา โน้น ด้วยประทีปนี้ขอให้การบูชารอยพระพุทธบาทนี้ จงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้า ตลอดกาลนานเทอญ



    * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

    จากหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก

    • Update : 16/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch