หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ประเพณี “อุ้มพระดำน้ำ” ตำนานมหัศจรรย์

    Image

    ประเพณี “อุ้มพระดำน้ำ” ตำนานมหัศจรรย์ “เพชรบูรณ์”

    “เพชรบูรณ์” เป็นจังหวัดตั้งอยู่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศ มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงชาวเพชรบูรณ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนนำมาด้วยวิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรมอันล้ำค่า โดยเฉพาะประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ที่มีการปฏิบัติสืบทอดมายาวนานได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งเดียวในโลก ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ประเพณีที่แปลกและทรงคุณค่า ที่ชาวเพชรบูรณ์ร่วมกันปฏิบัติสืบทอดมายาวนานกว่า 400 ปี

    จากตำนานเล่าต่อกันว่า ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก อยู่มาวันหนึ่งไม่สามารถหาปลาได้แม้แต่ตัวเดียว เมื่อมาถึง “วังมะขามแฟบ” หรือบริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมารในปัจจุบัน เกิดเหตุมหัศจรรย์ขึ้นเนื่องจากกระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบที่กำลังไหลเชี่ยวกราก เริ่มหยุดนิ่งอยู่กับที่

    จากนั้นก็ค่อยๆ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อย จนแลดูคล้ายน้ำเดือด กระทั่งกลายเป็นวังน้ำวนขนาดใหญ่ ค่อยๆ ดูดเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ และมีลักษณะอาการคล้ายดำผุดดำว่ายตลอดเวลา ทำให้ชาวประมงกลุ่มนี้ต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ วัดไตรภูมิ

    Image

    แต่ในปีถัดมา ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ วันประเพณีสารทไทย พระพุทธรูปดังกล่าวหายไป จนชาวบ้านต้องช่วยกันระดมหา ในที่สุดไปพบพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวกลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณวังมะขามแฟบ สถานที่ชาวประมงพบพระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรก กำลังอยู่ในอาการดำผุดดำว่าย จึงได้ร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิเป็นครั้งที่สอง

    พร้อมร่วมกันถวายนามว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” และกำหนดให้พ่อเมืองเพชรบูรณ์ ต้องอัญเชิญองค์พระไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำทุกปี เนื่องในวันสารทไทย หรือวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะต่างมีความเชื่อว่า หลังประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้แล้ว จะทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนต่างอยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหาร มีความอุดมสมบูรณ์ และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ผลดี แต่หากปีใดมีการละเลย นอกจากจะทำให้เกิดความแห้งแล้งแล้ว ยังมีโรคระบาดเกิดขึ้นอีกด้วย

    “พระพุทธมหาธรรมราชา” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยลพบุรี หล่อด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว ไม่มีฐาน มีพุทธลักษณะพระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาวย้อยจนจรดพระอังสา ที่พระเศียรทรงชฎาเทริดหรือมีกะบังหน้า ทรงสร้อยพระศอพาหุรัดและประคดเป็นลวดลายงดงาม อีกทั้งแลดูน่าเกรงขามอย่างยิ่ง

    Image

    ส่วนประวัติการสร้างนั้นไม่ปรากฏเด่นชัด แต่ชาวเพชรบูรณ์มีความเชื่อว่า พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด อำเภอหล่มสักปัจจุบัน ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์แห่งนครธม ให้นำไปประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง หลังจากทรงอภิเษกสมรสกับพระนางสิงขรมหาเทวี แต่หลังจากพ่อขุนผาเมืองร่วมกับพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง อำเภอนครไทยปัจจุบัน พระสหาย กอบกู้อิสรภาพ ทำให้พระนางสิงขรมหาเทวีแค้นเคืองถึงกับเผาเมืองราดจนย่อยยับ จากนั้นตัดสินใจกระโดดแม่น้ำป่าสักฆ่าตัวตาย ทำให้ไพร่พลเสนาอำมาตย์ต้องอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ลงแพล่องไปตามแม่น้ำป่าสักเพื่อหลบหนีไฟ

    ปรากฏว่าแม่น้ำป่าสักมีความคดเคี้ยวและกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก ทำให้แพที่อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาแตก องค์พระจมดิ่งลงสู่ก้นแม่น้ำหายไป กระทั่งต่อมาชาวประมงได้ไปพบ จนก่อให้เกิดตำนานมหัศจรรย์และ “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ”

    การอัญเชิญองค์พระพุทธมหาธรรมราชา และประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ต้องเป็นพ่อบ้านพ่อเมือง หรือผู้ที่มีวิญญาณแก่กล้าเท่านั้น ที่กระทำได้ ปัจจุบันคือผู้ว่าราชการจังหวัดนั่นเอง

    นอกจากงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำหนึ่งเดียวในโลกแล้ว ในงานยังมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ที่สามารถดึงให้นักท่องเที่ยวและประชาชนชาวเพชรบูรณ์มาเที่ยวงานอย่างมากมาย ตลอดช่วงเวลาแห่งการจัดงานในงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ

    Image

    สิ่งหนึ่งถูกกำหนดพร้อมๆ กับงาน คือ เทศกาลอาหารอร่อย ซึ่งทางเทศบาลได้ทำการคัดสรรร้านค้า อาหารพื้นเมืองเพชรบูรณ์ อาหารสากล ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานแล้วว่า มีความสะอาด รสชาติอร่อย และปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยจัดขึ้นตลอดถนนสายสันคูเมือง

    นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอีกมากมาย อาทิ การประกวดโต๊ะหมู่บูชา การแข่งขันตอบปัญหาท้องถิ่นและแต่งคำประพันธ์ กิจกรรมทางพระพุทธศาสนา การแสดงแสงสีเสียงตำนานมหัศจรรย์แห่งประเพณีอุ้มพระดำน้ำ การแข่งเรือทวนน้ำ ตลอดจนกิจกรรมงานมหรสพมากมาย

    โดยการจัดงานปีนี้ ขบวนแห่ทางบกจะมีในช่วงเย็นวันที่ 10 ต.ค. 2550 เวลาตั้งแต่ 18.30 น. ในวันที่ 11 ต.ค. เวลา 09.09 น. จะอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาจากท่าน้ำวัดไตรภูมิ จัดขบวนแห่ทางน้ำไปประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำที่ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร

    ปีนี้กำหนดจัดงาน 5 วัน 5 คืน แต่ละคืนก็จะมีการแสดงมหรสพ การแสดงแสงเสียง “บารมีพุทธมหาธรรมราชา ธ สถิต ณ นคราเพชบุระ” พิธียกนภศูลมณฑปพระพุทธมหาธรรมราชา ณ วัดไตรภูมิ มีโอกาสไม่ควรพลาด !!

    Image


    หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 24 คอลัมน์ รู้ก่อนเที่ยว
    วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6127

    • Update : 16/4/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch