เหรียญหล่อพระพุทธชินราช วัดทองนพคุณ พ.ศ. ๒๔๖๓
เขตคลองสานเดิมเรียกว่า “บางลำภูล่าง” คู่กับ “บางลำภูบน” แถววัดบวรนิเวศ ที่นี่นี้มีวัดที่มีชื่อหรือมีความหมายว่า “ทอง” ๔ แห่งด้วยกันคือ “วัดทองเพลง” “วัดทองธรรมชาติ” “วัดทองนพคุณ” และ “วัดสุวรรณ”
เหรียญหล่อพระพุทธชินราชนี้สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่พระครูเหมนพคุณ หรือหลวงปู่เผือก วัดทองนพคุณ (วัดทองล่าง) อ. คลองสาน ฝั่งธนบุรี มีอายุครบ ๗ รอบ คือ ๘๔ ปี ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยท่านได้รับนิมนต์เข้าร่วมปลุกเศกในพิธีการหล่อสร้างพระกริ่งล้อพิมพ์พระกริ่งสวนเต่าซึ่งสร้างในสมัย ร.๕ ที่วัดทองธรรมชาติ (วัดทองบน) ท่านจึงนำแม่พิมพ์รูปพระพุทธชินราชที่ได้ดำริจัดสร้างไว้แล้วเพื่อแจกให้ลูกศิษย์ทั้งหลายไปด้วยและใช้โลหะเนื้อเดียวกันกับที่ใช้หล่อพระกริ่งในพิธีสร้างขึ้น ในพิธีการหล่อสร้างพระกริ่งที่วัดทองธรรมชาตินั้นได้นิมนต์พระอริยะเถระคณาจารย์หลายรูปเข้าร่วมปรกปลุกเศกและส่วนใหญ่ก็เป็นพระเถระที่เคยได้เข้าร่วมในพิธีหล่อพระระฆังหลังฆ้อนที่วัดระฆังมาแล้วนั่นเอง โดยที่พิธีนี้มีหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าเป็นเจ้าพิธีเททอง แม้ว่าพิธีครั้งนั้นจะไม่ได้ดำเนินการใหญ่โตเป็นทางการแต่ถ้าเทียบกันแล้วไม่ได้ด้อยกว่าพิธีใหญ่ๆเลย ในระหว่างดำเนินการหล่ออยู่นั้นมีแผ่นยันต์บางแผ่นของพระอาจารย์บางรูปไม่ยอมละลาย หลวงปู่ศุข จึงใช้ไม้พันสายสิญจน์ลงไปจี้จึงยอมละลาย
และในขณะเททองพุทธาภิเศกและระหว่างนั่งทำพิธีอธิษฐานจิตปลุกเศกของบรรดาพระอริยะคณาจารย์นั้น ตรงกับเวลาเที่ยงวัน ซึ่งสมัยนั้นจะยิงปืนใหญ่บริเวณสนามหลวงเพื่อบอกเวลา ปรากฎว่าปืนใหญ่ที่ใช้ยิงบอกเวลาตอนเที่ยงยิงไม่ออก ไม่สามารถยิงออกได้ แม้ว่าจะเปลี่ยนลูกปืน รวมทั้งเปลี่ยนปืนใหม่และยิงอีกหลายครั้งก็ยังยิงไม่ออก เที่ยงวันนั้นจึงไม่มีเสียงปืนใหญ่ดังให้ได้ยิน จึงไม่มีเสียงดังมารบกวนพิธี พอสืบสาวราวเรื่องและทราบเรื่องกันทีหลังว่ามีพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลที่วัดทองธรรมชาติตรงกับตอนเที่ยงของวันนั้นพอดี วัตถุมงคลในครั้งนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “ไกลปืนเที่ยง” แต่ปกติจะได้ยินการเรียกขานชื่อของพระกริ่งมากกว่าเหรียญหล่อคือ “พระกริ่งไกลปืนเที่ยงวัดทองธรรมชาติ” แต่เมื่อพูดถึงเหรียญหล่อรุ่นนี้มักจะไม่มีค่อยมีใครเรียกว่า “เหรียญหล่อชินราชไกลปืนเที่ยง” แต่จะเรียกว่า “เหรียญหล่อชินราชวัดทองนพคุณ” มากกว่าเพราะเมื่อเสร็จจากพิธีแล้วหลวงปู่เผือกได้นำไปแจกที่วัดของท่านคือวัดทองนพคุณนั่นเอง
เหรียญหล่อโบราณวัดทองนพคุณนี้สร้างแบบเบ้าประกบ เป็นเนื้อทองผสมออกเหลืองอมเขียว ต่อมาแม่พิมพ์ด้านหน้าที่เป็นรูปพระพุทธชินราชได้นำไปใช้หล่อที่วัดเขาตะเครา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ เพียงแต่ด้านหลังเปลี่ยนเป็นรูป ๑๒ นักษัตร และ หลวงพ่อชุ่ม วัดบางนาใน ได้นำไปใช้หล่อเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ แต่เปลี่ยนด้านหลังเป็นยันต์ นะเพชรฉลูกัณฑ์แทน ถือได้ว่าเป็นแฝดสามของเหรียญหล่อพระพุทธชินราชที่มีด้านหน้าแบบนี้ครับ
รายนามพระอริยะเถระบุรพคณาจารย์ (บางส่วน) ที่ได้นิมนต์มาร่วมพิธีพุทธาภิเศกวัตถุมงคลในครั้งนี้
1.สมเด็จพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม จ.กรุงเทพฯ
2.หลวงพ่อทับ วัดอนงคาราม จ.กรุงเทพฯ
3.หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ธนบุรี
4.หลวงพ่อผ่อง วัดคูหาสวรรค์ ธนบุรี
5.อาจารย์เปิง วัดชินวราราม จ.ปทุมธานี
6.หลวงปู่เผือก วัดทองนพคุณ ธนบุรี
7.หลวงพ่อเคน วัดดงเศรษฐี จ.อุทัยธานี
8.หลวงปู่รอด วัดสามไถ จ.อยุธยา
9.หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ จ.อยุธยา
10.หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท
11.หลวงปู่เป้า วัดใหม่สุประดิษฐาราม จ.นครปฐม
12.หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม
13.หลวงพ่อปลื้ม วัดพร้าว จ.สุพรรณบุรี
14.เจ้าคุณโพธิ์ วัดชัยพฤกษ์มาลา จ.กรุงเทพฯ
15.หลวงพ่อคร้าม วัดบางระกำ จ.นครปฐม
16.หลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก จ.สมุทรสงคราม
17.อุปัชฌาย์กรัก วัดอัมพวัน จ.ลพบุรี
18.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) วัดระฆังโฆษิตาราม จ.กรุงเทพฯ
19.หลวงพ่อกาพย์ วัดจรรย์ จ.สุพรรณบุรี
20.หลวงพ่ออุย วัดบ้านกร่าง จ.สุโขทัย
21.หลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว จ.สมุทรสาคร
22.หลวงพ่อผัน วัดกรับพวง จ.พิษณุโลก
23.อาจารย์พา วัดระฆังโฆษิตาราม จ.กรุงเทพฯ
24.หลวงพ่อชุ่ม วัดบางนาใน จ.กรุงเทพฯ
25.หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา จ.สุพรรณบุรี
26.หลวงพ่อขำ วัดโพธิ์เตี้ย (ปลักไม้ดำ) จ.กำแพงเพชร
27.หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี
28.หลวงพ่อปั้น วัดหาดทนง จ.อุทัยธานี
29.หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก จ.กรุงเทพฯ
30.หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ
31.หลวงพ่ออ๋อย วัดไทร (บางขุนเทียน) จ.กรุงเทพฯ
32.หลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง จ.ปทุมธานี
33.หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี