หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราร

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม

    ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ ๑๑

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิม วน นามฉายา ฐิติญาโณ เป็นชาวเพชรบุรี เกิดในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีมะเมีย วันพุธที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๗ (แรม ๘ ค่ำ เดือน ๕) ในปี ๒๔๔๔ ขณะนั้นท่านอายุได้ ๗ ปี ได้ติดตามโยมบิดไปอยู่เมืองปราณบุรี เรียนภาษาไทยกับท่านพระครูสุทธาจารคุณ (อ่ำ) วัดนาห้วย ครั้งยังเป็นพระอาจารย์อ่ำ ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๔๖ โยมบิดาได้ฝากเป็นศิษย์ของพระอาจารย์แก้ว (ชาวเพชรบุรี) ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จังหวัดพระนคร ได้เรียนภาษาบาลีกับพระมหาถนอม อคฺคปญฺโญ ต่อมาได้ฝากตัวเป็นศิษย์พระครูฌาณภิรัต (โป๊ะ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เรียนภาษาไทยและภาษาบาลีที่โรงเรียนกล่อมพิทยากร พออายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชา โดยมีพระอาจารย์หมก วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๕๖ เข้าสอบพระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค ในปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้กลับไปอุปสมบท ณ วัดนาห้วย เมืองปราณบุรี มีพระอาจารย์เดิม เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) สมัยทรงสมณศักดิ์เป็นพระศากบุตติยวงศ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่องบวชแล้วได้กลับมาอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ ตามเดิม ได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมของสำนัก ต่อมาสอบได้เป็นเปรียญ ๖ ประโยค และสอบนักธรรมเอกได้เป็นรุ่นแรก ในปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงตั้งให้เป็น พระวิเชียรธรรมคุณาธาร ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในปีกุน พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี

    เหรียญพระปรางค์ วัดอรุณ ปี 2489

    ในปีขวด พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอาจารย์เอกทางแสดงพระธรรมเทศนา ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชในนามเดิม และผู้รักษาการเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี ในปีจอ พ.ศ. ๒๔๘๙ เมื่อพระพิมลธรรม (นาค) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร มรณภาพได้ ๑ ปี ระหว่างนั้นพระศากยบุตติยวงศ์ (อยู่) รักษาการเจ้าอาวาสอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงโปรดให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ในปีกุน พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระเทพมุนี ในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระธรรมไตรโลกาจารย์ ในปีฉลู พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ ที่ พระธรรมปัญญาบดี ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๕๐๖ (๔ พฤษภาคม ๒๕๐๖) ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๕๐๘ สมเด็จพระอริยวงศาตตญาณ (อยู่ ญาณทยมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชวัดสระเกศ ได้สิ้นพระชนม์ ทางราชการจึงได้ประกาศแต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กระทั่งได้มีพระบรมราชโองการสถาปนา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมือวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้มรณภาพด้วยโรคอัมพาต เส้นโลหิตในสมองอุดตัน เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ รวมสิริอายุได้ ๘๓ ปี ๖ เดือน ๒๔ วัน ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๓ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๒๑

    พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม ในอดีต

     ประวัติวัดอรุณราชวราราม

    วัดอรุณราชวรารามเป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรม สมัยอยุธยาที่บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งตั้งแต่เวลานั้นแล้ว เมื่อสมเด็จพระเจ้ตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้น ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานจนวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา และเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2322

    รวมเหรียญพระปรางค์ เนื้อเงิน วัดอรุณ ปี 2489

    ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามใน พ.ศ. 2327 ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 1 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมามีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดตอบนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

    ด้านหน้า เหรียญพระปรางค์ เนื้อเงิน วัดอรุณ ปี 2489 หายาก

    เหรียญพระปรางค์ รุ่นแรก วัดอรุณ ปี 2489
    เป็นเหรียญที่สร้างครั้งแรกในคราวที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(วน) ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ จากการที่ท่านเป็นคนเพชรบุรีอีกทั้งยังเป็นศิษย์น้องของท่านหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ เหรียญรุ่นนี้จึงได้นิมนต์ท่านพระครูญาณวิลาศ (แดง)วัดเขาบันไดอิฐ มาอธิษฐานจิตและปลุกเสกให้ และยังมีเกจิผู้เรืองวิทยาคมในยุคนั้นอีกมากมายถึง 108 รูป

    ด้านหลัง เหรียญพระปรางค์ เนื้อเงิน วัดอรุณ ปี 2489 หายาก

    เพราะในปีพ.ศ. 2489 เป็นปีที่มีการสมโภชฉลองการบูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณด้วย โดยเฉพาะสายวัดสุทัศก็มากันครบทีม เช่นท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์) ผู้สร้างตำนานพระกริ่งต่อจากสมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ เป็นต้นจึงนับได้ว่าเป็นเหรียญที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่งทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และบารมีของหลวงพ่อแดง แห่งวัดเขาบันไดอิฐและสมเด็จพระพุฒาจารย์(วน) แห่งวัดอรุณ 

    ด้านหน้า เหรียญรุ่นแรก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอรุณ ปี 2506

    เหรียญรุ่นแรก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอรุณ ปี 2506

    เหรียญ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอรุณ ปี 2506 จัดสร้างขึ้นโดย ท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รูปที่ ๑๑ พิธีปลุกเสกเหรียญรุ่นนี้ในครั้งนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ท่านที่ศัทธาในองค์สมเด็พระเจ้าตากสินไม่ควรพลาด เพราะพิธีปลุกเสกในครั้งนั้นทางวัดอรุณ โดยท่านสมเด็จพระพุฒาจารย์(วน) เจ้าอาวาสวัดอรุณในสมัยนั้น ท่านได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมในยุคนั้นถึง 108 รูป มาร่วมทำพิธีพุทธาภิเษกเหรียญรุ่นนี้ไว้อย่างเต็มเปี่ยม โดยมีหลวงพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ แห่งวัดสวนขัน เมตตามาเป็นประธานในพิธีปลุกในครั้งนั้น

    ด้านหลัง เหรียญรุ่นแรก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอรุณ ปี 2506

    และยังมีพระเกจิอาจารย์ ผู้เข็มขลังในสมาธิจิตในยุคนั้นอีกหลายรูปเช่น 1. หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม 2. หลวงปู่นาค วัดระฆัง กรุงเทพฯ 3. หลวงพ่อทอง วัดจักรวรรดิ์ 4. หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ ปทุมธานี 5. หลวพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี 6. หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม 8. หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน 9.หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาฯ 10.หลวงพ่อเล็ก วัดเขาดิน 11.หลวงพ่อเอีย วัดบ้านด่าน 12.หลวงปู่เทียม วัดกษัตราธิราช 13.หลวงพ่อโด่ วัดนามะตูม เป็นต้น จึงทำให้เหรียญรุ่นแรก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอรุณ ปี 2506 รุ่นนี้ น่าใช้ น่าเลี่ยมขึ้นคอเ ป็นอย่างยิ่ง

    ขอขอบคุณ คุณวิทย์ วัดอรุณ สำหรับภาพวัตถุมงคลทั้งหมดครับ

    เรียบเรียงโดย แว่น วัดอรุณ


    • Update : 9/10/2556
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch