ท่านพระครูศรีพัฒนคุณ อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ 4 พระผู้มีแต่ให้แห่งวัดนาคปรก
พระครูศรีพัฒนคุณ อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ 4 วัดนาคปรก ภาษีเจริญ กรุงเทพ
“ท่านพระครูศรีพัฒนคุณ พระผู้มีแต่ให้แห่งวัดนาคปรก ในขณะที่โรคาพาธเข้าอาศัยสังขารท่านเป็นยุทธภูมิการยื้อแย่งของพญาพยาธิ แต่ในความเป็นพระนักพัฒนาระดับอินเตอร์ ความเป็นสมภารด้วยจิตวิญญาณ งานก่อสร้าง บูรณปฏิสังขรณ์ภายในวัดก็ไม่นิ่งหยุด งานการศึกษาเผยแผ่ ศาสนสงเคราะห์ ทุกอย่างหมุนไปตามแผน เหมือนไม่มีอะไรในสังขารท่าน งานอบรมเยาวชนบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน พูด...ก็พูดไม่ได้! นั่ง...ก็นั่งไม่ติดอาสน์! ด้วยความเป็นพระอุปัชฌาย์ผู้รังสรรค์ทรัพยากรบุคคลของชาติในงดงาม ขอเพียงไปนั่งดูสามเณรน้อยๆ ห่มผ้าเหลืองบ้างก็ยังดี นี่...คือ ความเป็นพระอุปัชฌาย์ ผู้มีหัวใจเต็มร้อย” (จารอาลัย โดย พระราชรัตนรังษี ว.ป.วีรยุทฺโธ)
ภาพเมื่อครั้งบวชสามเณรภาคฤดูร้อนรุ่นแรกของวัดนาคปรก โดยมีท่านพระครูศรีพัฒนคุณ เป็นหลวงพ่อพระผู้ดูอุปถัมภ์ดูแลสามเณรน้อยๆประดุจลูกของท่านทุกๆองค์ เมื่อวันที่ 1 พฤษพาคม 2517
๑.ชาติภูมิ พระครูศรีพัฒนคุณ นาม เดิม พิศิษฐ์ นามสกุล สิมมามี เกิดเมื่อ ๑๔ฯ๓๔ ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ ณ บ้านเลขที่ ๓๑ หมู่ที่ ๘ บ้านศาลา ตำบลโนนแดง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคามเป็นบุตรคนโตของครอบครัว บิดาชื่อ นายโด่ง สิมมามี (ถึงแก่กรรมแล้ว) มารดาชื่อ นางบุญหนา สิมมามี อาชีพ กสิกรรม มีพี่น้องร่วมสายโลหิตบิดามารดาเดียวกัน จำนวน ๔ คน คือ ๑. พระครูศรีพัฒนคุณ (พิศิษฐ์ สิมมามี) ๒. นายถวิล สิมมามี ประกอบอาชีพที่บ้านศาลา ๓. นายบุญถิ่น สิมมามี (ถึงแก่กรรมแล้ว) ๔. นายทองอินทร์ สิมมามี (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒.บรรพชา ขณะอายุ ๑๕ ปี ได้เข้ารับการบรรพชาสามเณร เมื่อวันที่ ๕ ฯ ๖๖ ค่ำ ปี มะแม ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘ ณ วัดหนองขาม ตำบลกำพี้ อำเภอ บรบือ จังหวัด มหาสารคาม โดยมีพระอธิการพรหมมา พฺรหฺมสโร วัดหนองขาม เป็นพระอุปัชฌาย์ ในปีพ.ศ.๒๕๐๓ ได้ย้ายเข้ามาอยู่จำพรรษา ณ วัดนาคปรก เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม.
๓.อุปสมบท ขณะอายุ ๒๑ ปี ได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๗ฯ๑๖ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๔ ณ พัทธสีมา วัดดอนกลอย ตำบลเขวาไร่ อำเภอนางเชือก จังหวัดมหาสารคาม โดยมีเจ้าอธิการพรมมา พฺรหมฺสโร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการอ่อน มงฺกโร(ปัจจุบันเป็น พระครูมงคลเขมาจารย์) วัดดอนกลอย เป็นพระกรรมวาจารย์ พระอธิการทองแดง กิตฺตสาโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามว่า “ญาณธโร” แปลว่า ผู้ทรงญาณ (ความรู้) สำเร็จอุปสมบท เวลา ๑๓.๐๐ น. หลังจากอุปสมบทแล้ว ได้เข้ามาอยู่จำพรรษาที่วัดนาคปรกตามเดิม
๔.วิทยฐานะ สอบได้ครูประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (๒๕๐๙) สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรครูพิเศษมัธยม (๒๕๒๒) สอบได้นักธรรมชั้นเอก (๒๕๐๐) สอบได้ประโยค ป.ธ.๖ (๒๕๐๘) ในสนามหลวง ส่วนกลาง สำนักเรียนวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
ภาพเมื่อครั้งบวชพระที่วัดนาคปรก โดยมีท่านพระครูศรีพัฒนคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปี 2526
๕. ความรู้พิเศษ หลวงพ่อเป็นผู้มีความใฝ่รู้ ใคร่ในการศึกษา มีวิริรยะอุตสาหะขวนขวายในการศึกษาวิชาลูกคิด การการก่อสร้าง การแสดงธรรมเทศนาทางสถานีวิทยุ การสอน กรรมฐานการบริหาร ซึ้งเป็นความสามารถพิเศษที่หลวงพ่อได้ใช้ปกครองสั่งสอนอบรมพระภิกษุสามเณรให้ดำรงตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัย และโน้มน้าวจิตใจให้พุทธศาสนิกชน เยาวชนชาย-หญิง อุบาสก-อุบาสิกา และประชาชนให้เข้ามาปฏิบัติธรรมและศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้น
๖.ตำแหน่งและหน้าที่การงาน
๖.๑. ด้านการปกครอง เป็นกรรมการวัดนาคปรก (๒๕๐๗), เป็นเจ้าอาวาสวัดนาคปรก (๒๕๑๓), เป็นพระอุปัชฌาย์ (๒๕๒๖) หลวงพ่อพระครูศรีพัฒนคุณ ได้ดำรงแต่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนาคปรก เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๑๓-๒๕๔๒ นานถึง ๒๙ ปี
๖.๒ ด้านการศึกษา เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม (๒๕๐๘), เป็นอาจารย์ใหญ่สำนักศาสนศึกษาวัดนาคปรก (๒๕๑๐), เป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดนาคปรก เป็นผู้อุปการอุปถัมภ์โรงเรียนวัดนาคปรก (๒๕๑๓), เป็นกรรมการสอบและตรวจธรรมชั้นนวกภูมิเขตภาษีเจริญ เป็นกรรมการควบคุมสอบธรรมสนามหลวง และเป็นกรรมการตรวจสอบสนามหลวง (๒๕๑๕), เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดนาคปรก (๒๕๒๐-๒๕๕๒), เป็นผู้อำนวยการโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนวัดนาคปรก ภาษีเจริญ กรุงเพทมหานคร (๒๕๑๕-๒๕๔๒), จัดตั้งทุนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ตามนโยบายศึกษาสงเคราะห์ทางคณะสงฆ์ (๒๕๒๘-๒๕๔๒), เป็นอาจารย์ใหญ่พระปริยัติธรรม แผนกบาลี สำนักเรียนวัดทุ่งเหียง ต.หมอนนาง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี (๒๕๓๑)
หลวงพ่อพระครูศรีพัฒนคุณ เป็นพระเถระที่ให้ความสนใจในการศึกษาเป็นเถระที่เปิดกว้างในด้านการศึกษาเป็นพิเศษ ท่านได้พยายามส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณรภายในวัด และเยาวชนของชาติด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จากโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนซึ้งเป็นโครงการที่ดำเนินการมานาน เป็นแบบอย่างที่ดีของการจัดการศึกษาของพระสงฆ์ให้กับเยาวชนในปัจจุบัน ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดนาคปรกนั้น มีพระภิกษุสอบไล่ได้ถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ้งเป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมขั้นสูงสุดทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย และยังส่งเสริมให้กำลังใจพระสงฆ์ในวัดได้มีการศึกษาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ด้วยการส่งเสริมให้เข้ารับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งและมหาวิทยาลัยที่เปิดให้พระสงฆ์ เข้าศึกษา จนสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรีประมาณ ๔๐ รูป ปริญญาโท ๕ รูป
๖.๓ ด้านการเผยแพร่ ส่งหลวงพ่อพระครูวรกิตติโสภณไปศึกษาและปฏิบัติงานศาสนกิจที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย (๒๕๒๔), ได้เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน อินเดีย–เนปาล (๒๕๒๙), เปิดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนวัดนาคปรก (๒๕๑๖), เปิดโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดนาคปรก (๒๕๒๐), จัดอุปสมบทหมู่ผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษร่วมกับกรมราชทัณฑ์จำนวน ๒๐๐ คน เพื่อฉลอง ๒๐๐ ปี รัตนโกสินทร์ (๒๕๒๕), ได้เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ถือศีลปฏิบัติธรรมเป็นพิเศษโดย อาศัยสถานที่พุทธมณฑล เป็นคณะแรก (๒๕๒๕),เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ วัดพุทธโคดม ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำอาราธนาของหลวงปู่คัมภีโร (๒๕๒๙), ส่งหลวงพ่อพระครูวรกิตติโสภณไปประกาศพระศาสนา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา (๒๕๔๑), ส่งพระภิกษุไปประกาศพระศาสนา ณ ประเทศนิวซีแลนด์ (๒๕๔๑), ส่งเสริมพระภิกษุเข้าอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศซึ้งจัดโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา จำนวน ๓ รูป (๒๕๓๙-๒๕๔๒)
ภาพเมื่อครั้งบวชพระที่วัดนาคปรก โดยมีท่านพระครูศรีพัฒนคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปี 2526
หลวงพ่อพระครูศรีพัฒนคุณ ได้ให้ความสำคัญต่องานเผยแผ่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเยาวชนชาย–หญิง ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ เช่น จัดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๔๒ เป็นเวลา ๒๖ ปี และโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๒๐ เป็นต้นมา จัดให้มีบวชชีพราหมณ์ จัดให้บวชนักโทษ ๒๐๐ คน เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ การบรรยายธรรมทางสถานีวิทยุและปัจจุบันได้ส่งพระไปสอนศีลธรรมตามโรงเรียนทั้งประถม มัธยม อุดมศึกษา ตลอดทั้งได้ส่งพระไปประกาศศาสนาในต่างประเทศ เช่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ท่านได้เอื้ออำนวยความสะดวกแก่เหล่าพุทธบริษัทผู้มาบำเพ็ญบุญเป็นอย่างดี และได้จัดให้มีการแสดงธรรมแก่ประชาชนไม่เคยขาด ท่านได้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนามาโยตลอดจนถึงบั้นปลายชีวิต ชีวิตของหลวงพ่อ นับเป็นแบบอย่างที่ดีของชีวิตนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา
๖.๔.ด้านสาธารณูปการ ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วิหารนาคปรก (๒๕๑๒), สร้างโรงเรียนปริยัติธรรม ครึ่งตึกครึ่งไม้ ยกพื้น เสริมคอนกรีต, สร้างห้องกัมมัฏฐาน สอนนักเรียนพุธศาสนาวันอาทิตย์, เทพื้นคอนกรีตบริเวณลานโบสถ์วิหาร และสร้างเสมาธรรมจักรตามแนวสันกำแพงรอบโบสถ์และวิหาร ยาว ๒๔๐ เมตร (๒๕๑๕), ปรับปรุงสำนักงานกลางและสร้างห้องบันทึกเสียงพร้อมเครื่อง (๒๕๑๙), สร้างศาลาอเนกประสงค์ลักษณะทรงปั้นหยา (๒๕๒๓), สร้างห้องน้ำห้อง-สุขา ๙ ห้อง และโรงเก็บสังฆภัณฑ์ (๒๕๒๓), สร้างฌาปนสถาน (เมรุ) เตาเผาชนิดพิเศษ ระบบกำจัดกลิ่นและควันแบบ DD-3A (๒๕๒๖), สร้างมณฑปแบบจัตุรมุขประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่ชูคงชูนาม (๒๕๒๘), สร้างเขื่อน-ห้องน้ำ-ห้องสุขาต่อกับการศาลาการเปรียญชั้นล่าง ๕ ห้อง ชั้นบน ๙ ห้อง และสร้างห้องพักบนศาลาการเปรียญ ๒ ห้อง และปรับปรุงศาลาการเปรียญภายใน(๒๕๓๑), เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กใต้ถุนศาลาการเปรียญ (๒๕๓๒), สร้างศาลาบำเพ็ญกุศล ๒-๓ (๒๕๓๒), ถมบริเวณลานวัด และหน้าอาคารโรงเรียนวัดนาคปรก, สร้างถนน คอนกรีตเสริมเหล็กในบริเวณวัด และต่อเติมและปรับปรุงกุฏิทรงไทย ๒ หลัง และสร้างห้องสุขา (๒๕๓๕), เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก บริเวณลานวัดทั้งหมด (๒๕๓๖), สร้างศาลาวิปัสสนากรรมฐาน (๒๕๓๗), สร้างหอบูชาพระแม่กวนอิม (๒๕๓๙), สร้างพระประจำวันและศาลาพุทธนิมิต (๒๕๔๑), วางศิลาฤกษ์และวางรากฐานสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๕๐ ปี (๒๕๔๒)
๖.๕.ด้านสาธารณสงเคราะห์ เปิดตลาดนัดวันพุธ วัดนาคปรก จำหน่ายสินค้าราคาถูกสงเคราะห์ประชาชนยาวย่านตลาดพลู-ภาษีเจริญ (๒๕๒๙), สมทบทุนสร้างวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย (๒๕๓๗), จัดส่งพระพุทธรูปปางนาคปรกไปประดิษฐาน ณ จ.หนองคาย (๒๕๔๒), ตั้งทุนนิธิหลวงปู่ชู คงชูนาม, ตั้งทุนนิธิวัดนาคปรก, ตั้งทุนนิธิพระสุเมธาธิบดี เพื่อการสงเคราะห์พุทธบริษัท ฯลฯ
๖.๖ ด้านงานพิเศษ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจสอบบัญชีเงินวัด ในตำบลปากคลองภาษีเจริญ อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ในสมัยนั้น (๒๕๑๔), ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูตสายพิเศษจาก เจ้าพระคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดจักรวรรดิราชาวาส ให้ไปตรวจเยี่ยมและหาข้อมูลจากหน่วยงานพระธรรมทุต ส่วนภูมิภาค ๔ จังหวัด คือ นครพนม สุรินทร์ ยโสธร นครราชสีมา (๒๕๑๔-๒๕๑๗), สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร พระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเพื่อถวายพระทองคำพร้อมด้วยคณะกรรมการวัดนาคปรก ๒ คน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในวันจันทร์ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๑ เวลา ๑๖.๔๕ น. (๒๕๒๑), เป็นกรรมการอำนวยการจัดสร้างวัดไทยกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย (๒๕๓๗)
๗.สมณศักดิ์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก เทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ในพระราชทินนามที่ “พระครูศรีพัฒนคุณ” (๒๕๑๘), ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ เทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงในพระราชทินนามเดิม (๒๕๓๗)
๘.อวสานแห่งชีวิต หลวงพ่อพระครูศรีพัฒนคุณ เป็นพระเถระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย กฎ กติกา มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย เป็นกัลยาณมิตรที่ดีของเพื่อนสหธรรมมิก ไม่ใฝ่ในลาภยศ สมณศักดิ์ ยึดพรหมวิหาร และสังคหวัตถุธรรมเป็นหลักปฏิบัติ ได้บำเพ็ญศาสนกิจอันเป็นหิตานุประโยชน์ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง เพื่อความมั่นคงมั่งวัฒนาสถาพรของพระพุทธศาสนา หลวงพ่อจะพูดกับลูกศิษย์อยู่เสมอว่า “งานเท่านั้น เป็นเครื่องวัดศักยภาพของมนุษย์” โดยเฉพาะพระสงฆ์ผู้สละบ้านเรือนเข้ามาบวชอาศัยร่มเงา พระพุทธศาสนาในการดำเนินชีวิต จะต้องทำงานเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าให้มาก เพื่อตอบแทนข้าวชาวบ้านที่เป็นผู้ถวายกำลังแด่พระสงฆ์ บางครั้งหลวงพ่อพ่อประสบอุปสรรคนานัปการ ก็มิได้ได้ย่อท้อ ทำงานด้วยความวิริยะอุตสาหะ มิได้เคยห่วงใยในสุขภาพได้ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ทำงานทุกอย่าง เพื่อให้งานสำเร็จมาโดยตลอด
ภาพคุณแม่กับญาติๆเมื่อหลังงานบวชเสร็จโดยมีท่านพระครูศรีพัฒนคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปี 2526
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ หลวงพ่อได้อาพาธด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ (อัมพฤกษ์ซีกซ้าย)ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลศิริราช และอีกหลายโรงพยาบาล ตลอดทั้งแพทย์โบราณ แผนปัจจุบัน แผนกจีน หรือ มีหมอดีที่ไหนหลวงพ่อไปรักษาที่นั้น อาการอาพาธของหลวงพ่อก็ดีขึ้นตามลำดับ เพียงแต่แต่แขน-ขาข้างซ้ายไม่มีกำลัง พอช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แต่เวลาห่มผ้า สรงน้ำต้องให้ลูกศิษย์ช่วยเหลือคอยอุปปัฏฐากรับใช้ใกล้ชิด หลวงพ่อก็สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ตามปกติ อย่างสม่ำเสมอ มีลงอุโบสถ ฟังการสวดพระปาฏิโมกข์ บวชลูกหลาน เทศนาสั่งสอน เป็นต้น มิได้ขาด
หลังจากที่อยู่ปฏิบัติศาสนกิจเป็นปกติ อยู่ประมาณ ๕ ปี เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๙ พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้อาพาธอีกครั้ง ซึ้งในครั้งนี้อาการหนักพอควร ลูกศิษย์ได้นำส่งเข้ารักษาที่ห้องไอ ซี ยู โรงพยาบาลพญาไทย ๑ เป็นเวลาเกือบเดือน หมอได้ให้ความเห็นอาการว่า เส้นเลือดในสองแตก (เป็นอัมพาตทั้งร่างกาย) หลังจากนั้นก็นำไปรักษาที่โรงพยาบาลหลายแห่งด้วยกัน อาการไม่ดีขึ้น การพูดคุย การสนทนา การสื่อสารกับลูกศิษย์ กับพระมหาเถระนุเถระที่เยี่ยมให้กำลังใจ ก็ไม่สะดวก ก็ต้องอาศัยผู้อยู่ใกล้ชิดคอยแปลข้อความให้ฟัง บางครั้งก็เป็นที่สลดใจอย่างยิ่ง บางครั้งก็ตลกขบขัน ปฏิปทาของหลวงพ่อถึงแม้จะเจ็บป่วย อาพาธหนัก แต่ระบบสมองความนึกคิดของหลวงพ่อกับดียิ่งขึ้น สามารถสั่งการ บริหารลูกวัดให้ทำงาน ให้ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย ตามปกติ บางครั้งถึงกับต้องลงมาทำเอง เป็นที่น่าสรรเสริญ ในความพระยอดทำงานจริงๆ จนลูกศิษย์ได้แต่ภาวนาให้หลวงพ่อหายจากโรคภัยจะได้กลับมาเป็นร่มโพธิ์ร่มธรรมแก่วัดนาคปรกต่อไป
ดับแต่ธาตุ เหลือแต่ธรรม หลวงพ่อพระครูศรีพัฒนคุณได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นคนไข้ของนายแพทย์ดำรัส ดีสุขกุศล และได้ย้ายเข้ามาพักรักษาที่วัด อาการของหลวงพ่อกลับทรุดหนักลงเรื่อยๆลูกศิษย์ได้นำตัวเข้ารักษาตัวที่ห้องไอ ซี ยู โรงพยาบาลพญาไทย ๓ จนอาการดีขึ้นเล็กน้อย ก็นำตัวกลับมารักษาที่วัดอีกครั้ง หลังจากออกพรรษา ญาติโยมได้ตักบาตรเทโวเสร็จ เมื่อเช้าของวันอังคารที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๒ เวลา ๐๘.๒๐ น. หลวงพ่อได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ด้วยโรคไตวาย ณ ศาลาวิปัสสนากรรมฐานวัดนาคปรก การสูญเสียหลวงพ่อผู้ทรงเปี่ยมด้วยศีลาจารวัตร มีปฏิปทาที่งดงาม ย่อมยังความเศร้าสลด อาลัย เสียดาย แก่คณะสงฆ์กัลยาณมิตรตลอดถึงศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง สิริอายุได้ ๕๘ ปี ๗ เดือน ๑๕ วัน ๓๙ พรรษา
พระมหากรุณาธิคุณ วันพุธที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๒ ได้รับพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ พร้อมด้วยเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานหีบเชิงชายประกอบศพ, วันเสาร์ที่ ๒๖ธันวาคม๒๕๔๒ เวลา ๑๗.๐๐ น. พระราชทานเพลิงศพ
ภาพหลวงพ่อนาคปรก พระประธานในวิหาร วัดนาคปรก
ประวัติความเป็นมาของวัดนาคปรก ถนนเทอดไทย ตำบลปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
ประวัติความเป็นมาของวัดนาคปรกนั้น เป็นวัดที่ตั้งอยู่ ณ ถนนเทอดไทย ตำบลปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดราษฎร์ สร้างขึ้นในช่วงรัตนกสินทร์ตอนต้น ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีเนื้อที่วัดประมาณ 12 ไร่เศษ ผู้สร้างคือ เจ้าสัวพุก ชาวจีนพ่อค้าสำเภา ซึ่งตามพระยาโชฎึกราชเศษฐี เข้ามาทำมาค้าขายโดยจอดท่าเรือสำเภาไว้ที่คลองสานใกล้ๆ สุเหร่าแขก และต่อมาได้ภรรยาเป็นคนไทยเจ้าสัวพุกเป็นผู้มีความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา มีศรัทธาแรงกล้าในการจะสร้างวัดขึ้น ณ ที่ใกล้วัดนางชีอันเป็นพระอารามหลวง ซึ่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐีเป็นผู้ถวายการบูรณะปฏิสังขรณ์ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 สำหรับนามของวัดนี้ มาจากพระนามของพระพุทธรูปหนึ่งในจำนวน 2 องค์ ซึ่งเป็นพระประธานประจำพระวิหาร พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก อันปรากฏในพระพุทธประวัติว่า เมื่อครั้งเสด็จนั่งเสวยวิมุติสุขยังร่มไม้จิก ได้บังเกิดฝนตกพรำอยู่ตลอด 7 วันในครั้งนั้นพญามุจลินท์นาคราชออกจากนาคภพมาทำขนดล้อมพระวรกาย 7 ชั้น แล้วแผ่พังพานปกคลุมเบื้องบนเพื่อป้องกันลมและพายุฝนไม่ให้ซัดสาดมาต้องพระวรกายพระพุทธรูปปางนาคปรกนี้ นิยมสร้างเป็นพระประจำวันของผู้ที่เกิดวันเสาร์ เข้าใจว่าภรรยา ของเจ้าสัวพุกคงจะเกิดในวันนี้ นอกจากนั้นภาพจิตรกรรมภายในวิหารยังเป็นลายไทย ส่วนภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนสีเป็นลายจีน และท่านผู้สร้างก็เป็นผู้ที่มีปฏิสัมภิทาและบุคลาธิษฐาน ซึ่งหยิบยกสิ่งที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาเป็นหลักในการอธิบายสังเกตได้จากการที่สร้างพระวิหารไว้ทางทิศเหนือ และพระอุโบสถไว้ทางทิศใต้ องค์พระหันไปทางทิศตะวันออก เปรียบเสมือนผู้หญิงอยู่ทางซ้าย ผู้ชายอยู่ทางขวาวัดนาคปรก
ภาพรวมเจ้าอาวาสวัดนาคปรก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
วัดนาคปรก มีเจ้าอาวาสครองวัดมาแล้วหลายรูป แต่ไม่มีการจดบันทึกไว้ เริ่มมาบันทึกเป็นทางการถึงปัจจุบัน รวม 5 รูปคือ
1.พระอธิการ คงชูนาม พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๔๗๗
2.พระอธิการเลี่ยม นนฺทิโย พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๕๐๕
3.พระอาจารย์อำนาจ นราสโภ พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๑๒
4.พระครูศรีพัฒนคุณ (พิศิษฐ สิมมามี) พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๔๒
5.พระครูวรกิตติโสภณ (เศรษฐกิจ สมาหิโต) พ.ศ. ๒๕๔๓-ปัจจุบัน
ภาพหลวงปู่ชู คงชูนาม อดีตเจ้าอาวาสวัดนาคปรก องค์ที่ 1
ประวัติพระอธิการ คงชูนาม อดีตเจ้าอาวาส วัดนาคปรก องค์ที่ 1
สำหรับหลวงปู่ชู อดีตเจ้าอาวาส ที่เป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังเป็นที่เลื่องลือเมื่อประมาณ 80 กว่าปีก่อน ชาวบ้านในละแวกวัดรวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียงต่างพากันกล่าวถึงเกียรติคุณของท่านมาจนกระทั่งทุกวันนี้ สิ่งที่ยังคงเหลือเป็นที่รู้จักกันอย่างดีคือ วัตถุมงคลต่างๆ ที่ท่านได้สร้างไว้ อาทิ เหรียญรูปเหมือนและเหรียญหล่อเนื้อสำริดชาติภูมิของหลวงปู่ชูนั้น ตามประวัติบันทึกว่า บ้านเดิมท่านเป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเมื่อปี พ.ศ.2401 โยมบิดาชื่อ คง โยมมารดาไม่ทราบนาม โยมบิดามีอาชีพค้าขาย มีเรือโกลนล่องมาจากนครศรีธรรมราชมาค้าขายที่กรุงเทพฯ ต่อมาได้โยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่จังหวัดธนบุรีในปี พ.ศ. 2412 ได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดทองนพคุณ อันเป็นสำนักสอนกัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น หลวงปู่ชูท่านได้ศึกษาทางด้านนี้ รวมทั้งจิตใจฝักใฝ่ในด้านพุทธาคมและไสยเวทมาตั้งแต่รุ่นหนุ่ม จึงมุ่งมั่นศึกษาวิชาต่างๆ แต่ละแขนงจนกระทั่งเชี่ยวชาญ ว่ากันว่า ท่านยังเป็นศิษย์เรียนวิชาจากสำนักวัดระฆังโฆสิตารามอีกด้วยต่อมาท่านได้ลาสิกขาเพื่อสะดวกแก่การเดินทางไปศึกษาวิชาต่างๆ ท่านได้ไปขอศึกษาวิชากับ ท่านอาจารย์พลับ วัดชีตาเห็น (วัดชีโพ้นในปัจจุบัน) จ.อยุธยา
ภาพขอขมาท่านหลวงปู่ชู เมื่อครั้งบวชพระที่วัดนาคปรก โดยมีท่านพระครูศรีพัฒนคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปี 2526
ซึ่งมีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น ได้ปรนนิบัติ และศึกษาวิชากับพระอาจารย์พลับจนหมดสิ้น จึงลาพระอาจารย์เดินทางขึ้นเหนือไปยังจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก แต่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ว่าท่านได้ไปศึกษาวิชากับพระอาจารย์รูปใด อีกทั้งการเดินทางไปของท่าน เป็นระยะเวลานานมากและยังขาดการติดต่อกับทางบ้าน บรรดาญาติพี่น้องพากันเข้าใจว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว พอท่านกลับมาเยี่ยมบ้าน ยังความปิติยินดีแก่ญาติพี่น้องเป็นอย่างยิ่ง โยมบิดามารดาจึงจัดหาตบแต่งภรรยาให้ท่าน อยู่กินกันจนมีบุตรธิดา รวม 3 คน เป็นชาย 2 หญิง 1หลังจากท่านแต่งงานมีครอบครัวท่านก็ได้ใช้ความรู้ทางด้านสมุนไพรใบยาและเวทย์มนต์คาถาที่ได้ร่ำเรียนมา ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก เป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน พากันเรียกท่านว่า พ่อหมอชูภายหลังท่านเกิดเบื่อหน่ายในโลกีย์วิสัย มองเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร จึงได้อุปสมบทอีกครั้งหนึ่งที่วัดนางชี เขตภาษีเจริญ ต่อมาได้ย้ายมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนาคปรก จวบจนกระทั่งมรณภาพ เมื่อวันพุธ แรม 5 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ พ.ศ.2477 รวมสิริอายุได้ 76 ปี
พระกรุหลวงพ่อโต หลวงปู่ชู วัดนาคปรก เนื้อทองเหลืองและเนื้อดินเผา ที่แตกกรุในสมัยท่านพระครูศรีพัฒนคุณ เป็นเจ้าอาวาสวัดนาคปรก เมื่อปี พ.ศ.2516
ประวัติ พระกรุหลวงพ่อโตของท่าน หลวงปู่ชู คงชูนามที่ได้ค้นพบในสมัยของท่านพระครูศรีพัฒนคุณ อดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ 4 วัดนาคปรก
พระกรุหลวงพ่อโต วัดนาคปรกนั้น พระอธิการชู คงชูนาม (หลวงปู่ชู) อดีตเจ้าอาวาสวัดนาคปรก ท่านได้สร้างเมื่อคราวทำพิธีหล่อองค์พระหลวงพ่อโตทั้งสององค์สองครั้ง โดยสร้างหลวงพ่อโตองค์เล็กครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๖๕ และสร้างหลวงพ่อโตองค์ใหญ่เป็นครั้งที่สองในปี พ.ศ.๒๔๗๒ เพื่อประดิษฐาน ณ วิหารหลวงพ่อโต วัดนาคปรก เพื่อให้ประชนผู้เลื่อมใสศรัทธาได้กราบไหว้ในองค์หลวงพ่อโต พระหลวงพ่อโต วัดนาคปรก เนื้อทองเหลืองแตกกรุสองครั้งคือ ครั้งแรกแตกเมื่อมีโขมยใจบาปมาแอบตัดเศียรองค์หลวงพ่อโต แต่ก็เกิดสิ่งอัศจรรย์ในคราวนั้นเมื่อขโมยไม่สามารถนำเศียรองค์ของหลวงพ่อโตไปได้ เดินหลงทางหาทางออกจากวัดไม่ได้จนเกือบใกล้รุ่ง
พระกรุพิมพ์กลีบ เนื้อดินเผา เนื้อชานหมาก เนื้อว่าน และพระกรุพิมพ์สังกัจจาย หลวงปู่ชู วัดนาคปรก ที่แตกกรุในสมัยท่านพระครูศรีพัฒนคุณ เป็นเจ้าอาวาสวัดนาคปรก เมื่อปี พ.ศ.2516
หัวโขมยใจบาปจึงได้นำเศียรขององค์หลวงพ่อโตไปแอบซุกไว้ที่พงหญ้าริมกำแพงโบสถ์ ซึ่งในครั้งนั้นทางวัดโดย ท่านพระครูศรีพัฒนคุณ (พิศิษฐ สิมมามี) ท่านเจ้าอาวาสวัดนาคปรกในสมัยนั้นและกรรมการวัดได้ทำการสำรวจที่องค์หลวงพ่อโต จึงได้พบพระพิมพ์หลวงพ่อโต เป็นพระแผงเนื้อทองเหลืองจำนวนหนึ่ง ทางวัดจึงได้เก็บรักษาไว้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2516 ทางวัดต้องการบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัดและขยายถนนที่เล็กคับแคบให้กว้างขึ้น เพื่อสดวกแก่ญาติโยมที่ต้องอาศัยทางของวัดเพื่อสัญจรเดินทาง จึงจำเป็นต้องทำการรื้อถอนเรือสำเภอปูนโบราณ ซึ่งได้สร้างขึ้นในสมัยของท่านหลวงปูชู คงชูนาม อดีตเจ้าอาวาสวัดนาคปรก
พระกรุพิมพ์แหวกม่าน หลวงปู่ชู วัดนาคปรก เนื้อดินดิบผสมว่านและเนื้อดินเผา ที่แตกกรุในสมัยท่านพระครูศรีพัฒนคุณ เป็นเจ้าอาวาสวัดนาคปรก เมื่อปี พ.ศ.2516
และยังได้รื้อถอนสถูปเจดีย์เก่าที่อยู่ข้างเรือสำเภอปูนออกด้วย ในการรื้อถอนครั้งนั้นทางวัดได้พบ 1.พระพิมพ์หลวงพ่อโตเนื้อทองเหลืองอีกจำนวนหนึ่ง 2.พระพิมพ์หลวงพ่อโตเนื้อดินเผาหลายสิบไห 3.พระพิมพ์กลีบบัวมีทั้งเนื้อดินเผา-เนื้อว่าน-เนื้อชานหมาก-เนื้อชินตะกั่ว จำนวนไม่มากนัก 4.พระพิมพ์แหวกม่านเนื้อดินเผาและเนื้อดินดิบผสมว่านจำนวนไม่มาก 5.พระพิมพระสังกัลจายเนื้อดินเผาจำนวนไม่มาก 6.พระหลวงพ่อโตเนื้อชินตะกั่วพิมพ์สามเหลี่ยม(นางพญา) จำนวนไม่ถึงยี่สิบองค์ อีกทั้งยังพบพระฝากกรุไว้ในสถูปเจดีย์เก่าที่อยู่ข้างเรือสำเภอปูนอีกจำนวนหนึ่ง พระที่ทางวัดพบในเรือสำเภาปูนโบราณนั้น พระทั้งหมดถูกบรรจุไว้ในไหโบราณ จึงทำให้พระกรุหลวงพ่อโต วัดนาคปรกที่พบในครั้งนั้นอยู่ในสภาพค่อนข้างดี ทางวัดนาคปรกซึ่งกำลังบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัดอยู่ในขณะนั้น จึงได้เปิดให้ประชาชนผู้มีจิตศัทราในองค์หลวงพ่อโตและท่านหลวงปู่ชู วัดนาคปรก ได้เช่าบูชาโดยกำหนดราคาให้เช่าบูชาที่
พระกรุหลวงพ่อโตพิมพ์พระสามเหลี่ยม(นางพญา) หลวงปู่ชู วัดนาคปรก เนื้อชินตะกั่ว ที่แตกกรุในสมัยท่านพระครูศรีพัฒนคุณ เป็นเจ้าอาวาสวัดนาคปรก เมื่อปี พ.ศ.2516
1.พระหลวงพ่อโตเนื้อทองเหลืองทั้งที่พบในเรือสำเภาปูนโบราณและพระแผงที่พบในท้ององค์หลวงพ่อโตเอามาเลื่อยออกเป็นองค์พระในราคาองค์ละ 1000 บาท 2.พระหลวงพ่อโตเนื้อชินตะกั่วพิมพ์สามเหลี่ยม(นางพญา)องค์ละ 1000 บาท 3.พระพิมพ์กลับบัวเนื้อดินเผาราคาองค์ละ 200 บาท เนื้อว่าน-เนื้อชานหมาก-เนื้อชินตะกั่วราคาองค์ละ 500 บาท 4.พระพิมพ์แหวกม่านเนื้อดินเผาองค์ละ 200 บาท เนื้อดินดิบผสมว่าน 500 บาท 5.พระหลวงพ่อโตเนื้อดินเผาราคาองค์ละ 50 บาท ส่วนพระพิมพ์พระสังกัลจายเนื้อดินเผาผู้เขียนจำราคาไม่ได้ หลังจากทางวัดนาคปรกเปิดให้เช่าบูชา พระทุกพิมพ์ได้หมดจากวัดนาคปรกไปในเวลาอันรวดเร็วเหลือแต่พระหลวงพ่อโตเนื้อดินเผาซึ่งมีจำนวนการพบเป็นจำนวนมาก แต่ก็หมดไปจากวัดนาคปรกในอีกไม่กี่ปีต่อมา
รวม พระกรุ หลวงปู่ชู วัดนาคปรก ทุกเนื้อทุกพิพ์ ในภาพนี้จะมีแปลกที่ไม่ใช่พระกรุของหลวงปู่ชู ก็คือพระปิดตาเนื้อชินตะกั่วองค์เล็ก เพราะเป็นพระฝากกรุที่ได้จากสถูปเจดีย์ที่อยู่ข้างเรือสำเภาโบราณที่พบพระกรุวัดนาคปรก ที่แตกกรุในสมัยท่านพระครูศรีพัฒนคุณ เป็นเจ้าอาวาสวัดนาคปรก เมื่อปี พ.ศ.2516
ป.ล.พระหลวงพ่อโตเนื้อดินเผาและพระพิมพ์ทั้งหมดที่พบในเรือสำเภาโบราณ ที่ท่านหลวงปู่ชูได้สร้างขึ้นไว้นี้ เป็นพระที่ปราศจากคราบกรุ เพราะมีการบรรจุไว้ภายในไหโบราณมีฝาปิด อีกทั้งกรุก็มั่นคงแข็งแรงกันน้ำกันฝนได้เป็นอย่างดี ผิวพรรณจะออกเป็นสีหม้อใหม่เกือบทั้งหมด จะมีสีออกน้ำตาลเข้ม สีขาวนวลและสีดำบ้างเล็กน้อย ดูเผินๆจะเป็นเหมือนพระใหม่ แต่ถ้าหากใช้แว่นขยายส่องดูจะปรากฏว่ามีความเก่าและมีความแห้งถึงอายุ (พระทั้งหมดที่เอามาลงให้ชมกันนี้ คุณแม่ผู้เขียนได้มาจากท่านพระครูศรีพัฒนคุณ สมัยเมื่อกรุแตกปี พ.ศ.2516 โดยเฉพาะพระหลวงพ่อโตพิมพ์สามเหลี่ยมเนื้อชินตะกั่วและพระกลีบบัวเนื้อชานหมาก-เนื้อว่าน-ชินตะกั่ว จะเป็นพระที่พบน้อยหายากไม่ค่อยมีคนรู้จัก จึงเป็นโอกาศของท่านผู้ที่อ่านบทความนี้และศัทธาในองค์หลวงปู่ชู จะได้มีโอกาศเสาะหามาเป็นเจ้าของ)
ภาพพระเหรียญหลวงปู่ชู วัดนาคปรก ปี 2500 สร้างโดย หลวงปู่เลี่ยมพระลูกชายของ ท่านหลวงปูชู วัดนาคปรก
การรวบรวมบทความเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของท่านพระครูศรีพัฒนคุณ(พิศิษฐ สิมมามี)และของท่านหลวงปูชู คงชูนามร่วมถึงวัตถุมงคลของท่านหลวงปูชู คงชูนาม และประวัติความเป็นมาของวัดนาคปรกในครั้งนี้ เจตนาของข้าพเจ้าก็เพื่อเป็นการเชิดชูเกียติคุณของท่าน หลวงปูชู คงชูนาม และเกียติคุณของวัดนาคปรก โดยเฉพาะหลวงพ่อบุญธรรมของข้าพเจ้า ท่านพระครูศรีพัฒนคุณ(พิศิษฐ สิมมามี) พระผู้มีแต่ให้ท่านเป็นผู้ที่อยู่เบื่องหลังความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองของวัดนาคปรกในยุคปัจจุบันตราบจนชีวิตของท่านหาไม่ เมื่อท่านมรณะภาพลงแล้ว หลวงพ่อท่านก็ยังสั่งเสียให้เอาอัฐิของท่านไปบรรจุไว้หลังมณฑปของท่านหลวงปู่ชู ซึ่งหลวงพ่อท่านพระครูศรีพัฒนคุณท่านมีความเคารพบูชาในองค์หลวงปูชู คงชูนามเป็นอย่างยิ่ง เป็นสถูปเจดีย์เล็กๆหากไม่สังเกตุจะไม่มีทางรู้เลยได้ว่า นี่คือสถูปเจดีย์ของอดีตท่านเจ้าอาวาสนักพัฒนาผู้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่วัดนาคปรกอย่างมากมายมหาศาล และขอขอบคุณท่านพระครูวรกิตติโสภณ (เศรษฐกิจ สมาหิโต) ที่ยังไม่ลืมท่านหลวงพ่อท่านพระครูศรีพัฒนคุณ โดยท่านพระครูวรกิตติโสภณ ท่านได้สร้างรูปเหมือนเท่าองค์จริงของท่านพระครูศรีพัฒนคุณ(พิศิษฐ สิมมามี)ขึ้น เพื่อให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและลูกบุญธรรมของท่านพระครูศรีพัฒนคุณ(พิศิษฐ สิมมามี)อย่างผม ได้มีที่กราบไว้บูชาระลึกถึงบุญคุณความดีของท่าน โดยไปต้องไปทำความสะอาดสถูปเจดีย์เล็กๆเก่าๆ ที่ไม่ค่อยมีคนสนใจเหมือนอย่างแต่ก่อนที่ผมไปไหว้องค์หลวงพ่อท่าน และขอขอบคุณข้อมูลชีวประวัติโดยละเอียดของของท่านพระครูศรีพัฒนคุณ(พิศิษฐ สิมมามี) จากวัดนาคปรก ขอขอบพระคุณครับ
วิทย์ วัดอรุณ
บันทึกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2556