ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จังหวัดอยุธยา
ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จังหวัดอยุธยา หนึ่งในเครื่องรางเสือที่ทรงคุณค่าและหายากยิ่ง หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ท่านเริ่มสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือเมื่อปี พ.ศ. 2490 เมื่อมีคนเอาหนังเสือโคร่งตัวหนึ่งมาถายหลวงพ่อเพื่อใช้เป็นอาสนะรับแขกหรือใช้นั่งกรรมฐาน หลวงพ่อจงท่านกลับไม่ใช้เก็บไว้ในกุฏิ พระภิกษุรูปหนึ่งภายในวัดเห็นว่า ถ้าเอามาทำตะกรุดแจกจ่ายให้กับผู้มีจิตศรัทธาในองค์ท่านหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอกจะได้ประโยชน์มากกว่า จึงเรียนให้หลวงพ่อจงท่านทราบ ซึ่งหลวงพ่อจงท่านก็เห็นด้วย
การสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือของท่านหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอกจึงได้เกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้น โดยนำหนังเสือมาตัดเป็นแผ่นขนาดเท่าตะกรุด จากนั้นนำไปลอกขนออกก็มีไม่ลอกขนออกก็มี แล้วแต่ความเหมาะสมของหนังเสือชิ้นนั้นๆ แล้วจึงทำพิธีลงอักขระเลขยันต์ด้วยกระทู้เจ็ดบท จากนั้นจึงนำมาม้วนเป็นตะกรุด ผูกด้วยเชือกหรือสายสิญจน์สามเปราะ แต่ละเปราะกำกับด้วยอักขระ มะ อะ อุ หรือนำเชือกหรือเชือกสายสิญจน์มาควั่นถักจนเต็มความยาวของตะกรุด หลังจากนั้นนำมาทาด้วยยางมะพลับแล้วปิดทอง พอแห้งสนิทดีแล้วท่านหลวงพ่อจงก็จะนำเข้าพิธีปลุกเสก การปลุกเสกตะกรุดหนังหน้าผากเสือ ของท่านหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอกนั้น ท่านจะใช้คาถากำกับไปทางด้านมหาอุตม์ แต่เคยมีผู้ถามท่านว่า ใช้ในทางเมตตามหานิยมจะใช้ได้หรือไม่ หลวงพ่อจงท่านก็ตอบว่า " ได้ "
อุปเท่ห์วิธีการใช้ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ ของหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก
ใช้ดีทางเมตตามหานิยม มหาอำนาจ แคล้วคลาดคงกระพันชาตรี แลกันเขี้ยวงา กันไข้ป่าดง กันสัตว์ร้ายทางบกทางน้ำ เป็นเสน่ห์แก่ชายหญิง ไปเหนือไปใต้สารทิศใดมีผู้คนเกรงขาม เอาไว้แก่ตัวคนพาลจะทำร้ายมิได้ แขวนไว้หัวนอน กันโจรผู้ร้าย กันฟืนไฟต่างๆ ใช้ได้ ๑๐๘ ประการ ดีนักแล เมื่อท่านจะไปไหน ให้ระลึกถึงหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ตั้งนะโม 3 จบ แล้วท่องพระคาถาด้วย “อิทธิ ฤทธิ พุทธนิมิตตัง ขอเดชะเดชัง ขอเดชเดชะ จงมาเป็นที่พึ่งแก่ มะอะอุ บัดเดี๋ยวนี้ด้วยเถิด” ว่าสามเที่ยวหรือเจ็ดเที่ยวแล้วนำพกพาติดตัวป้องกันภัยได้ ๑๐๘ ประการแล
ประวัติท่านหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จังหวัดอยุธยา
หลวงพ่อจง พุทธัสสโร ท่านมีนามเดิมว่า “จง” กำเนิดมาในตระกูลชาวนาในท้องที่ตำบลหน้าไม้ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียกว่าเป็นเชื้อสายแห่งคนดีศรีอยุธยาอีกคนหนึ่ง ที่ทั่วสรรพางค์กายล้วนเต็มเปี่ยมด้วยเลือดนักสู้ สมชาติชายไทย บิดาท่านมีนามว่า นายยอด มารดานามว่า นางขลิบ ซึ่งท่านทั้งสองมีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งสิ้น 3 คน คือ 1. เด็กชายจง ต่อมาคือ หลวงพ่อจง พุทธัสสโร เป็นบุตรคนโต 2. เด็กชายนิล เป็นคนรอง ต่อมาคือพระอธิการนิล เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน 3. เด็กหญิงปลิก เป็นน้องคนเล็ก และเป็นผู้หญิงคนเดียว สำหรับวันเดือนปีเกิดหรือวันถือกำเนิดของหลวงพ่อจง พุทธัสสโรนั้น เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ล่วงเลยผ่านพ้นมานาน อีกทั้งการบันทึกก็มิได้มีหลักฐานที่เด่นชัด เป็นแต่ระบุไว้พอรู้ความว่า ได้กำเนิดในสมัยต้น รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ณ วันพฤหัสบดี เดือน 4 ปีวอก อันเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ ที่ตรงกับวันที่ 6 เดือนมีนาคม พ.ศ.2415 และด้วยเวลานั้นยังไม่มีการใช้ชื่อสกุล จึงไม่มีการระบุ "ชื่อ - นามสกุล" เดิมของท่านไว้
เข้าวัด อยู่วัด
ชีวิตของหลวงพ่อจง พุทธัสสโรในวัยเด็กไม่มีสิ่งใดผันแปร คงเป็นไปอยู่เรื่อยๆ มาเรียงๆราบเรียบดังเช่นน้ำในอ่างดังเช่นที่กล่าวมาแต่ต้น จนกระทั่งอายุได้ 12 ปี ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น คือทางพ่อแม่มีความเห็นถึงอุปนิสัยของเด็กชายจง บุตรชายคนโตตรงกันว่า เป็นผู้มีความชอบวัด ติดวัด รักชอบในอันที่จะไปวัดมากกว่าที่เที่ยวเตร่หาความสนุกในที่ใดๆทั้งหมด ดังนั้นท่านจึงสรุปความตรงกันว่า เมื่อเด็กชายจงชอบวัด ต้องการจะไปวัดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แทนที่ตนหรือคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องลำบากจูงมือนำพาลัดเลาะคันนา ถึงแม้จะไม่ห่างไกลเท่าใดนักก็ตามเถิด แต่เมื่อต้องทำอยู่ทุกบ่อย ก็ให้เกิดความคิดว่าน่าที่จะให้ไปอยู่วัดเสียเลย คิดเห็นตรงกันดังนั้นแล้ว จึงได้เผยความคิดเห็นดังกล่าวให้เจ้าตัว คือเด็กชายจงได้รับรู้ด้วย แทนที่จะคิดเสียใจน้อยใจในทำนองที่ว่า พ่อแม่จะตัดหางปล่อยวัดหรือเลยเถิดไปถึงว่าพ่อแม่สิ้นรักสิ้นเมตตาตนแล้ว กลับเป็นความปลื้มปิติใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะวัดเป็นที่ร่มเย็น เป็นที่ปรารถนาของตนอยู่แล้ว เด็กชายจงจึงรับคำพ่อแม่อย่างเต็มอกเต็มใจไม่มีอิดออด เวลาต่อมาเด็กชายจงจึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดหน้าต่างใน อันเป็นวัดใกล้บ้าน ที่เด็กชายจงเคยไปมาหาสู่อยู่เสมอนั่นเอง และนับเป็นเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รวมทั้งโรคหูอื้อ ตาฝ้าฟาง ที่เป็นเรื้อรังมานานปีกลับหายไปจนหมดสิ้น สามเณรจงกลับมีสุขภาพสมบูรณ์พลานามัยดีมาก เป็นสุขอยู่ในเพศพรหมจรรย์ ดุจเป็นนิมิตให้ทราบว่า ท่านจะต้องครองเพศมีชีวิตอยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ไปตลอดชีวิต สมดังพุทธอุทานที่ว่า สาธุ โข ปพพฺชชา การบรรพชายังประโยชน์ให้สำเร็จ ดังนั้น เมื่ออายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ.2435 โยมบิดามารดาจึงจัดพิธีอุปสมบทให้ได้เป็นพระภิกษุต่อไป ณ พัทธสีมาวัดหน้าต่างในที่พำนักอยู่ โดยมี พระอุปัชฌาย์สุ่น (หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ) เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อินทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์โพธิ์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ จากพิธีอุปสมบทในครั้งนั้น พระภิกษุจงได้รับสมญานามตามเพศภาวะว่า “พุทธัสสโรภิกขุ” และพำนักเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาการต่าง ๆ ที่พระภิกษุพึงจะต้องเรียนรู้เท่าที่มีอยู่ในสมัยนั้น ณ วัดหน้าต่างในนั่นเอง ต่อมาท่านก็ได้ไปเรียนวิชาฝ่ายกรรมฐาน กับ พระอาจารย์หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล แล้วก็ได้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก (ยังมีประวัติของท่านอีก แต่ขอลัดถึงตอนสุดท้ายในชีวิตของท่าน ดังนี้)
ย้อนอดีตในวาระสุดท้าย
เมื่ออรุณทอแสงจับขอบฟ้าวันที่ 24 มกราคม 2508 ทุกคนผู้เป็นศิษย์ใครบ้างจะรู้ว่า วันนี้แล้วสัญญาณแห่งความวิปโยคจะเริ่มขึ้น ตอนสายมีข่าวว่าหลวงพ่ออาพาธด้วยโรคอัมพาตหมดความรู้สึกทางซีกขวาไปแถบหนึ่ง ได้แพร่สะพัดไปสู่บรรดาศิษย์ทั้งหลายและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วปานกระแสลมกล้า ตอนสายวันนั้นที่กุฎีหลวงพ่อคราคร่ำไปด้วยผู้มาเยี่ยมอาการอาพาธของหลวงพ่อ ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตสาเหตุของการอาพาธครั้งนี้มีอยู่ว่า เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. เช้าวันที่ 24 มกราคม หลวงพ่อเข้าสุขาตามเวลาปกติ ขณะเสร็จกิจแล้วท่านลุกขึ้นมากุฎีไม่ได้ เพราะซีกกายข้างขวาของท่านหมดความรู้สึก นายขัน และพระเพ็ง ขนติโก ผู้ปฏิบัติหลวงพ่อเห็นว่า ท่านสุขานานเกินควร จึงตามเข้าไปเปิดประตูสุขาพบว่าหลวงพ่อกำลังพยายามจะทรงกายลุกขึ้น จึงช่วยพยุงท่านมายังเตียงนอน สังเกตเห็นว่าปากข้างขวาของท่านเบี้ยวผิดปกติ ได้ยินเสียงหลวงพ่ออุทานว่า
"เขาเอาเราแน่ละคราวนี้..เขายึดเราหมดแล้ว" เสมือนหนึ่งหลวงพ่อทราบว่า กายนครของท่านจะต้องประสบภาวะขั้นสุดยอดของกฏธรรมดาในอนาคตอันใกล้นี้ ปัจฉิมอุทานของหลวงพ่อคราวนี้ ทำให้ทุกคนใจหายวาบหนักใจในอาพาธของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง เพราะแต่ไหนแต่ไรมาหลวงพ่อไม่เคยอุทานเช่นนี้เลย ทุกคนซ่อนความทุกข์ใจไว้ภายใน เฝ้าปรนนิบัติพยาบาลท่านเป็นอย่างดี ระยะ 7 วันแรก หลวงพ่อพูดได้เกือบปกติ ฟังชัด เมื่อล่วง 7 วันแล้วเสียงของท่านเริ่มน้อยลง แหบเครือลงโดยลำดับ เพราะความชราแห่งสังขารอันเก่าแก่ยาวนานถึง 99 ปี ประกอบกับฉันอาหารได้น้อยด้วย ต่อมาคณะศิษย์มีหลวงพ่อนิลเป็นประธาน ได้พร้อมใจกันมอบให้นายแพทย์สถานีอนามัยชั้นหนึ่งวัดโพธิ อำเภอบางบาล ร่วมด้วย นายประทิน อัมพานนท์ สถานีอนามัยพระขาว เป็นผู้ถวายการรักษาท่าน ในระยะนี้อาการของท่านทรงอยู่และดีขึ้นเล็กน้อย ด้วยความเอาใจใส่และความสามารถของแพทย์ ทุกคนภาวนาว่าแม้หลวงพ่อจะไม่หายขาดก็ขอให้พอทุเลาพอนั่งได้ก็ยังดี เพราะโรคนี้ใคร ๆ ก็รู้ว่า เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ยาก วันแล้ววันเล่าผ่านไป อาการของหลวงพ่อเริ่มทรุดลง พูดไม่ได้ยินเสียง หายใจไม่สะดวก มีเสมหะมาก สังเกตว่าหลวงพ่อมีทุกขเวทนาอย่างหนัก แต่เสียงครวญครางอย่างสามัญชนมิได้มีรอดจากปากให้ใครได้ยินเลย เมื่อท่านเจ็บปวดก็เป็นเพียงแสดงอาการส่ายหน้าไปมาให้เป็นที่สังเกตว่าท่านไม่สบายเท่านั้น หลวงพ่อมีใจแท้อยู่เหนือเวทนาทั้งปวง ไม่หวั่นไหว ใช้อธิวาสขันตีที่ท่านมีอยู่เป็นปกตินิสัย ข่มความทุกข์ทรมานอันเกิดจากอาพาธกล้าได้อย่างน่าสรรเสริญยิ่ง หลวงพ่อใช้ธรรมโอสถรักษาใจของท่านเองให้มั่นคงแจ่มใส ในยามที่ร่างกายเจ็บไข้ ได้นิมนต์พระมหาแสวง ฐิติสมฺปนฺโน ป.ธ. 5 วัดสันติการาม มาสวดสาธยาย ทวัตติงสาการ โพชฌงคปริตร อุณหิสวิชัย คาถาพระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ อยู่เป็นนิจ แสดงว่า อาพาธนั้นจะชนะท่านได้ก็เพียงภายนอกเท่านั้น แต่ภายในอาพาธจะกล้ำกลายท่านไม่ได้เลย ระยะที่หลวงพ่ออาพาธหนัก บรรดาศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือทั้งใกล้และไกลไปมาเยี่ยมเยือน สดับตรับฟังอาการอยู่ทุกวันอย่างแน่นขนัดทุกคนมีใจตรงกันอยู่จุดเดียว คือ สนองพระคุณหลวงพ่อให้สมกับที่ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์เป็นบุรพการีแก่ทุกคนมานานแสนนาน บางท่านแนะนำให้นำพาหลวงพ่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์บ้าง โรงพยาบาลอื่น ๆ บ้าง บรรดาศิษย์ขอขอบพระคุณในความปรารถนาดีของท่านเหล่านั้น แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า หลวงพ่อชราภาพมากแล้วและอาการอาพาธก็หนัก ถ้าพาท่านเดินทางไปอาจเป็นการกระทบกระเทือนบอบช้ำ จนเป็นเหตุให้ท่านถึงมรณภาพเสียกลางทางก็อาจเป็นได้ จึงตกลงกันว่าขอให้หลวงพ่อได้หลับตาจากไปในท่ามกลางการสนองพระคุณของญาติและศิษย์ บนสยนาสนะที่หลวงพ่อเคยอาศัย ในท่ามกลางสถานวิเวกอันน่าอภิรมย์ด้วยดวงจิตอันสงบเถิด แล้ววาระแห่งความโศกสลดก็มาถึง วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2508 ค่ำลงแล้ว ดวงจันทร์ใกล้วันมาฆะปุรณมีทอแสงจ้าแจ่มใส คล้ายเป็นประทีปส่องทางให้ท่านได้เดินทางไกลไปสู่สุคติภพอันสงบ ตอนหัวค่ำดูเหมือนหลวงพ่อจะมีอาการทุเลากว่าเวลาอื่นที่ผ่านมา ไม่มีวี่แววว่าอาการจะทรุดหนักลงเลย บรรดาผู้ที่นั่งเฝ้าอาการอยู่ดูอุ่นใจขึ้น ถวายยาประจำตามปกติแล้ว ก็ผลัดเปลี่ยนกันเข้าประคองท่าน พัดวีถวายเท่าที่สามารถจะทำได้ แม้ว่าหลวงพ่อจะผ่ายผอมจนผิดตา แต่ก็มีรัศมีอิ่มเอิบใบหน้ายิ้มแย้ม แสดงถึงความเมตตาอยู่เป็นนิจ เวลาล่วงไป เสียงนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืน พระจันทร์โคจรขึ้นสู่วันใหม่ ดิถีแห่งวันมาฆปุรณมี วันจาตุรงคสันนิบาตแห่งพระพุทธศาสนาเริ่มขึ้นแล้ว หลวงพ่อหลับตานิ่งสนิท นาน ๆ จึงจะหายใจยาวสักครั้งเงียบสงัด ทุกคนเฝ้าอาการอยู่ด้วยหัวใจอันหดหู่ แสนห่วง ไม่มีใครปริปากหนึ่งนาฬิกาผ่านไป หลวงพ่อสงบไม่ไหวติง จับชีพจรดูยังเต้นอยู่แต่ช้าและลึกลงทุกขณะ เมื่อเข็มนาฬิกาบอกเวลา 01.55 น. ของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2508 หลวงพ่อก็จากพวกเราไปด้วยอาการอันสงบ ปราศจากอาการกระวนกระวายโดยสิ้นเชิง ท่ามกลางความโศกเศร้าอาดูร พิลาปรำพันของญาติและศิษย์ทั้งหลาย สิริประมวลอายุได้ 93 ปี 10 เดือน กับ 17 วัน ครองสมณเพศมาโดยตลอด 72 พรรษานับแต่เริ่มอาพาธมาจนถึงวาระสุดท้ายรวม 24 วัน หลวงพ่อถึงมรณภาพในวันมาฆะปุรณมี มาฆฤกษ์ วันจาตุรงคสันนิบาตแห่งพระพุทธศาสนา เป็นสัญลักษณ์ว่า หลวงพ่อจากไปดีแล้ว ไปประเสริฐแล้ว ขอให้ดวงวิญญาณอันเปี่ยมไปด้วยความดีงาม สงบบริสุทธิ์ด้วยสีลาทิคุรในพระพุทธศาสนายาวนานถึง 72 พรรษาของหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูงสุด จงไปสู่สัคคาลัย ได้สถิติอยู่ด้วยปรมสันติสุขในวิสุทธิวิมานเถิด.
เรียบเรียงโดย แว่น วัดอรุณ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก กะฉ่อนพระเครื่อง