|
|
ความสงบ
ความสงบ
คอลัมน์ ธรรมะวันหยุด
ถาบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว จะพูดก็ดี จะทำก็ดี ความสุขย่อมอำนวยผลติดตามเขาไป เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น
ใจดี ใจผ่องใส ต้องเป็นใจที่มีความสงบ สุขุม เยือกเย็นอยู่ภายใน ความสงบจึงเป็นคุณสมบัติของผู้มีปัญญา เป็นยอดปรารถนาของทุกคน ก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งตนเอง และผู้อื่น ความสงบ 3 ประการ
สงบกาย คือ ประพฤติดีทางกาย ไม่ทำลายทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น มีแต่ช่วยป้องกันรักษาชีวิตและทรัพย์สินของตนและผู้อื่น พยายามตั้งตนไว้ไม่ให้เป็นเหตุแตกแยกสามัคคี และเป็นที่รังเกียจสงสัยของคนรอบข้าง ทำหน้าที่การงานที่เป็นประโยชน์สุข ไม่มุ่งหน้าก่อความทุกข์ความเดือดร้อนให้เกิดแก่ตนและส่วนรวม
สงบวาจา คือ ประพฤติดีทางวาจา เจรจาคำสัตย์ซึ่งเป็นถอยคำที่อมตะ ไม่สูญหายไปจากความนิยม น่าเคารพ น่านับถือ เป็นที่ไว้วางใจ ของชาวโลก ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเพราะลมปาก เป็นคนพูดจริงทำจริง พูดอย่างไรทำได้อย่างนั้น จัดว่าเป็นคนรักศักดิ์ศรีของตัว ทำตนให้มีคุณค่าสามารถชนะใจคนพูดไม่จริงได้ พูดถ้อยคำอ่อนหวานประสานประโยชน์ พูดถ้อยคำมีหลักมีฐาน ไม่พูดถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ความทุกข์ความเดือดร้อนอันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่ตนและผู้อื่น จึงควรระวังวาจาให้ดีมีบทกวี สุนทรภู่ ประพันธ์ว่า
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
สงบใจ คือ ประพฤติดีทางใจ เว้นจากอาฆาตพยาบาทปองร้ายกัน มีความพอใจด้วยของๆ ตน ประกอบด้วยเมตตาธรรม ปรารถนาความสุขความเจริญให้กันและกัน มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม อุปถัมภ์ใจให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากอุปสรรคปัญหาที่จะมากีดกั้นให้ทำความดี ความสงบใจเป็นสิ่งสำคัญ สนับสนุนให้เกิดความสงบกาย และสงบวาจา ได้ดียิ่งนัก
เมื่อความสงบเข้าเยือน จิตใจจะตั้งมั่นไม่หวั่นไหว สงบนิ่งสามารถเข้าใจในสรรพสิ่งได้อย่างชัดเจน ดุจน้ำที่ใสและนิ่งที่อยู่ในภาชนะที่สะอาด ผู้คนสามารถมองผ่านภาชนะได้ชัดเจน พร้อมใช้สอยดื่มกินได้ตามประสงค์
ผลดีของความสงบครบถ้วนทั้งกาย วาจา และใจ เมื่อสำรวจตนเองแล้วน่าชื่นชม ไม่มีตำหนิแม้สักนิด ผู้มีปัญญาพิจารณาแล้วยกย่อง สรรเสริญ ชื่อเสียงกิตติศัพท์อันดีงามนี้ ย่อมฟุ้งขจรไปทั่วสารทิศ
พระเทพคุณาภรณ์
(โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ. 9)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร /
www.watdevaraj.com
|
Update : 20/11/2554
|
|