|
|
เยี่ยม4วัดสำคัญ-ฝั่งธนฯ รับมือน้ำหนุน-น้ำเหนือ
|
สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน วัดวาอารามได้รับความเดือดร้อนไปตามๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีพระอารามอีกหลายแห่ง ที่ยังไม่ถูกน้ำท่วม แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็ยังคงเฝ้าตรวจตราคอยระมัดระวัง มิให้ศาสนสถานสำคัญถูกน้ำท่วมจนเกิดความเสียหายหนัก
น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานพระพุทธฯ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมวัดในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย ในเขตบางกอกน้อยและบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้หรือติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา
ประกอบด้วย วัดระฆังโฆสิตาราม วัดเครือ วัลย์วรวิหาร วัดอรุณราชวราราม และวัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร
เริ่มจากคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยม ณ วัดระฆังโฆสิตาราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ น.พ.สุรวิทย์ได้เข้าถวายสักการะ พระธรรมธีรราชมหามุนี (เจ้าคุณเที่ยง) เจ้าอาวาส
ก่อนไปตรวจเยี่ยม ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร สังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย เป็นสถานที่ตั้งของฌาปนสถานของกองทัพเรือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 วัดเครือวัลย์มีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมด้านจิตรกรรมฝาผนัง อันเป็นสมบัติที่สำคัญของชาติไว้แก่อนุชนรุ่นหลัง ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นภาพที่มีความงดงามและรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับนิทานชาดกจากพระไตรปิฎกไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ปัจจุบันมีหลงเหลืออยู่แห่งเดียวในประเทศไทย
ต่อมาไปตรวจเยี่ยม ณ วัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ พระอารามหลวง ที่มีพระปรางค์สูงสง่าเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแวะมาเยือนกันอย่างไม่ขาดสาย น.พ.สุรวิทย์ ได้เข้าถวายสักการะพระเทพมงคลรังสี เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม
จากนั้นเดินทางมาวัดสุดท‰าย ณ วัดโมลีโลกยา รามราชวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ วัดโบราณที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พร้อมถวายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่พระสงฆ์ เพื่อร่วมช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุทกภัยด้วย
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า น.พ.สุรวิทย์ และคณะผู้บริหารสำนักงานพระพุทธฯ ตรวจเยี่ยมวัดในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยในเขตบางกอกน้อยและบางกอกใหญ่ โดยเข้าสักการะพระสังฆาธิการ เพื่อสอบถามถึงปัญหา-อุปสรรคในการป้องกันน้ำท่วมเข้ามาในบริเวณวัด ได้รับทราบว่าพระอารามหลวงทั้ง 4 แห่งนั้น ส่วนใหญ่อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในช่วงปลายปีจะมีน้ำหนุนสูงอยู่เป็นประจำทุกปี ทำให้มีแผนรองรับป้องกันน้ำไหลทะลักจากทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมศาสนสถานสำคัญอยู่แล้ว แต่ด้วยปีนี้มีน้ำเหนือไหลบ่าเข้ามายังภาคกลางมากกว่าทุกปี จึงทำให้ต้องเสริมแผนป้องกันเพิ่มเติมเข้ามาอีกด้วย
ทั้งนี้ วัดส่วนใหญ่ที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะป้องกัน 3 ชั้น ดังนี้ ชั้นที่ 1 ตรงริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะทำพนังกั้นน้ำ ชั้นที่ 2 ตั้งกระสอบทรายสูง ชั้นที่ 3 นำกระสอบทรายปิดรอบท่อระบายน้ำและทำทางให้น้ำไหลเข้าไปในบ่อพักน้ำขนาดใหญ่ จากนั้นใช้ปั๊มน้ำสูบน้ำออกลงแม่น้ำ
"ผมได้สอบถามท่านเจ้าอาวาส ส่วนใหญ่ท่านไม่ค่อยห่วงน้ำจากทางแม่น้ำ แต่จะห่วงน้ำที่จะไหลมาทางถนนอรุณอมรินทร์ตรงหน้าวัด ซึ่งจะป้องกันได้ลำบากมาก เพราะน้ำจะไหลซึมมาตามท่อ ซึ่งหากถึงตอนนั้นไม่สามารถป้องกันได้จริงๆ สำนักงานพระพุทธฯ ก็พร้อมให้ความช่วยหลือคณะสงฆ์ทั้งหมด" ผอ.สำนักงานพระพุทธฯ กล่าว
|
Update : 13/11/2554
|
|