|
|
ธรรมะฉบับเรียนลัด เมื่อสุขแท้ก็ถึงธรรม (10)
ธรรมะฉบับเรียนลัด เมื่อสุขแท้ก็ถึงธรรม (10)
คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
มงคล 38 ประการนี้มีตั้งแต่ต้นจนสูงสุด จึงว่าเป็นหลักปฏิบัติธรรมหมวดหนึ่งที่มีข้อปฏิบัติตลอดสายแบบคร่าวๆ
ต่อไป สอง หลักปฏิบัติในระดับสมถะ คราวนี้ต้องการเน้นเฉพาะจุด เมื่อกี้นี้มงคล 38 ประการ เป็นหลักที่ขยายส่วนล่าง คือธรรมในส่วนต้นๆ มีการขยายพิสดารหน่อย แต่พอขึ้นมาถึงระดับสูงๆ แล้ว พูดแต่หัวข้อนิดๆ
ทีนี้พอเราต้องการเจาะในการปฏิบัติธรรมขั้นจิตตภาวนา หรือสมถะ ท่านก็ให้หลักไว้มากมาย เรียกว่ากรรมฐาน 40 ประการ คือเทคนิค 40 อย่าง เช่น อนุสสติ 10 มีการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ระลึกถึงคุณพระธรรม ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ ระลึกถึงจาคะ จนกระทั่งถึงกำหนดลมหายใจ แล้วยังมีการเพ่งกสิณ การบำเพ็ญอัปปมัญญาพรหมวิหาร การเจริญอสุภะ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของระดับสมถะ มีกรรมฐาน 40 ประการ เป็นการลงลึกไปในระดับจิตตภาวนา
สาม หลักปฏิบัติระดับวิปัสสนา เนื้อหาสาระที่สำคัญ ท่านเรียกว่า ธรรมที่เป็นภูมิของวิปัสสนา คือวิปัสสนาภูมิ ตอนนี้ยากหน่อยแล้ว ฟังหัวข้อไว้เฉยๆ อาตมายกเอามาพูดให้ครบไว้เท่านั้นเอง ไม่ต้องถือเป็นสำคัญนัก
วิปัสสนาภูมินั้นก็มีเรื่องขันธ์ห้า เรื่องอายตนะ 12 ซึ่งสองเรื่องนี้ทราบกันดีอยู่บ้าง ต่อไปเรื่องธาตุ 18 อินทรีย์ 22 สองเรื่องนี้ไม่คุ้นหู ต่อไปเรื่องอริยสัจ 4 ก็คุ้นหน่อย แล้วก็เรื่องปฏิจจสมุปบาท ทั้งหมดนี้เป็นภูมิของวิปัสสนา เมื่อเราเรียนธรรมในพวกนี้ก็เป็นการเรียนเกี่ยวกับวิปัสสนา
หลักธรรมสำคัญมาก ที่จะเข้ามาสู่การพิจารณาศึกษาในขั้นนี้ก็คือเรื่องไตรลักษณ์ เมื่อปฏิบัติธรรมตามแนววิปัสสนา ปัญญาเกิดขึ้น ก็จะเห็นไตรลักษณ์ เช่นพิจารณาขันธ์ห้าไป ก็จะเห็นไตรลักษณ์ ตลอดจนถึงข้อสุดท้ายพิจารณาในหลักปฏิจจสมุปบาท ก็จะเห็นไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน เพราะ ปฏิจจสมุปบาทนั้นก็คือ หลักแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และสิ่งที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยก็คือขันธ์ 5 นั่นเอง แม้แต่หลักธรรมอื่นๆ ที่กล่าวถึงมาแล้ว เช่น อายตนะ 12 ก็เป็นแง่ด้านต่างๆ ของเรื่องเดียวกันนี้เอง อยู่ในกระบวนการของความเป็นเหตุปัจจัยนี้ หรือไม่บางอย่างก็เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาในกระบวนการ
ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นก็ปรากฏเป็นการเปลี่ยนแปลง ทำให้มองเห็นการที่องค์ประกอบทั้งหลายมารวมกันเข้า ประชุมกันเข้าเป็นองค์รวมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สมมติเรียกว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ละส่วนนั้นไม่เที่ยง ไม่คงที่ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา คงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน เรียกว่าเป็นไตรลักษณ์
ถ้าเข้าใจชัดเจน เห็นแจ้งในไตรลักษณ์ ก็จะรู้เท่าทันโลกและชีวิตตามความเป็นจริง เกิดความสว่างไสว สงบ ปลอดโปร่งผ่องใส เบาสบาย หายยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย มีจิตใจที่หลุดพ้นเป็นอิสระ เป็นสุขอย่างแท้จริง การเป็นอยู่ ท่าทีต่อโลกและชีวิต และการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย จะเป็นไปด้วยปัญญา ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำและแรงผลักดันของอวิชชาและตัณหาอุปาทานอีกต่อไป เรียกว่าบรรลุผลที่หมายของวิปัสสนา ซึ่งก็คือจุดหมายของการศึกษา หรือการปฏิบัติธรรมขั้นสุดท้ายนั่นเอง
ในการปฏิบัติธรรมทั้งหมดนี้ มีตัวธรรมที่เป็นผู้ทำงาน ซึ่งอาจจะใช้ศัพท์เรียกว่าเป็นคณะทำงานในการปฏิบัติธรรมก็ได้ เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ชุดนี้เป็นตัวทำงาน
เรื่องต่างๆ ที่พูดมาก่อนนี้เป็นตัวถูกกระทำ เช่น กรรมฐาน 40 นั้น จะเป็นลมหายใจ หรืออสุภะ หรือกสิณ หรืออะไรก็ตาม เป็นตัวถูกกระทำ เป็นสิ่งที่เราเอามาใช้กำหนดพิจารณา หรือวิปัสสนาภูมิ เช่น ขันธ์ห้าก็เป็นตัวถูกกระทำ
ถูกนำมาพิจารณาเช่นเดียวกัน
|
Update : 10/11/2554
|
|