|
|
ธรรมะฉบับเรียนลัด เมื่อสุขแท้ก็ถึงธรรม (9)
ธรรมะฉบับเรียนลัด เมื่อสุขแท้ก็ถึงธรรม (9)
คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ต่อไปอย่างที่สอง ปัญญาภาวนานั้นเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วิปัสสนาภาวนา การเจริญวิปัสสนา มุ่งให้เกิดปัญญา คือ ปัญญาที่เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ปัญญาในขั้นที่รู้จักโลกและชีวิตตามความเป็นจริง เรียกว่าวิปัสสนา แปลว่ารู้แจ้ง ไม่ใช่รู้แค่ทำมาหาเลี้ยงชีพได้เท่านั้น แต่รู้สภาวะ รู้สภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย จึงเรียกว่าวิปัสสนา ซึ่งก็เป็นปัญญาระดับหนึ่งนั่นแหละ
เพราะฉะนั้นวิปัสสนาภาวนาถ้าจะเรียกให้กว้างก็เป็นปัญญาภาวนา
ตกลงก็แยกภาวนาเป็น 2 อย่าง
อย่างที่หนึ่ง เรียกว่า จิตตภาวนาบ้าง สมถภาวนาบ้าง สมาธิภาวนาบ้าง
อย่างที่สอง เรียกว่า ปัญญาภาวนา หรือเรียกให้แคบจำกัดลงไปว่าวิปัสสนาภาวนา
เอาละเรื่องภาวนาก็ทำความเข้าใจกันง่ายๆ อย่างนี้
อย่างไรก็ตาม ได้บอกข้างต้นแล้วว่า ทาน ศีล ภาวนานี้ท่านมุ่งสำหรับคฤหัสถ์ ดังนั้น บุญสิกขาจึงเน้นข้อปฏิบัติขั้นต้นๆ หรือขั้นพื้นฐาน คือ ทานเน้นที่อามิสทาน ได้แก่การให้วัตถุ ศีลเน้นที่ศีล 5 หรือขยับขึ้นไปอีกก็เป็นศีล 8 ส่วนภาวนาในที่นี้ ก็เน้นแค่เมตตา ภาวนา คือการเจริญเมตตาหรือไมตรี ที่จะเป็นพื้นฐานแห่งสันติสุขของสังคม ถ้าสามารถทำได้มากกว่านั้นก็ขยายออกไปสู่จิตตภาวนาและปัญญาภาวนาเต็มรูปอย่างที่ว่าข้างต้น
ว่าที่จริง ทั้ง 2 ชุด คือ ทาน ศีล ภาวนา กับศีล สมาธิ ปัญญานี้ ที่จริงก็เรื่องเดียวกัน แต่ชุดหนึ่งเน้นด้านภายนอก เน้นด้านหยาบ จัดเป็นทาน ศีล และภาวนา โดยขยายด้านนอกเป็น 2 อย่าง คือ ทาน กับ ศีล เอาข้างใน 2 อย่างคือ สมาธิ และปัญญาไปยุบเป็นภาวนาอย่างเดียว
ส่วนชุดศีล สมาธิ ปัญญานั้น เอาด้านใน คือภาวนาไปแยกละเอียดเป็นจิตใจ (สมาธิ) กับปัญญา แต่ด้านนอกคือ ทานกับศีลนั้นรวมเป็นอันเดียว เพราะว่าศีลนั้นหลักการก็คืออยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่นในสังคม ส่วนทานก็เป็นองค์ประกอบในการที่จะอยู่ร่วมกันด้วยดีกับผู้อื่นในสังคม ก็เลยมารวมอยู่ในคำว่าศีล
เพราะฉะนั้นเมื่อท่านได้ฟังคำว่า ทาน ศีล ภาวนา กับศีล สมาธิ ปัญญานี้ ก็ให้ทราบว่าที่จริงเป็นระบบอันเดียวกัน แต่เราแยกเพื่อให้เห็นจุดเน้นที่ต่างกัน สำหรับคฤหัสถ์จะเน้นด้านนอก จัดเป็นทาน ศีล ภาวนา แต่สำหรับพระสงฆ์จะเน้นด้านใน วางหลักเป็นศีล สมาธิ ปัญญา
อนึ่ง ชื่อเรียกก็คล้ายๆ กัน ชุดศีล สมาธิ ปัญญา ทุกท่านรู้จักกันดีแล้วว่าไตรสิกขา ไตร แปลว่า 3 สิกขา คือ การศึกษา รวมเป็นไตรสิกขา แปลว่า การศึกษา 3 อย่าง
ส่วนชุดทาน ศีล ภาวนา เรียกชื่อต่างไปนิดหนึ่งว่าปุญญ-สิกขา หรือบุญสิกขา ก็คือ การฝึกฝนในเรื่องความดี หรือการฝึกหัดทำความดีนั่นเอง ปุญญ=ความดี สิกขา=การฝึกอบรม คือการฝึกฝนปฏิบัติอบรมในเรื่องความดี การทำให้คนเจริญงอกงามขึ้นในความดีต่างๆ ด้วยทาน ศีล ภาวนา
รวมแล้วทั้ง 2 ชุดก็เป็นอันเดียวกัน ต่างกันที่จุดเน้นดังกล่าว
เมื่อปฏิบัติธรรมตามหลักไตรสิกขา หรือบุญสิกขา 3 ประการ อย่างถูกต้องดีแล้ว ก็จะเข้าถึงชีวิตที่ดีงาม มีความสุขที่แท้จริง โดยเข้าถึงธรรมและความสุขทั้ง 3 ระดับ ได้จนถึงที่สุด ดังได้กล่าวแล้วแต่เบื้องต้น
หลักพุทธธรรมเพื่อการปฏิบัติธรรม
เท่านี้ก็เป็นอันว่าได้หลักการแล้ว อาตมาพูดวันนี้เป็นการรวมหลักการคร่าวๆ เท่านั้นเอง ไม่ได้เข้าเนื้อในลึกซึ้ง
ต่อไปนี้ก็จะพูดถึงตัวข้อธรรมในการปฏิบัติไว้บ้าง ข้อธรรมในการปฏิบัตินี้จะเสนอไว้อย่างกว้างๆ ให้เห็นหลักในการปฏิบัติธรรมแบบคลุมทุกระดับ
หนึ่ง หลักการปฏิบัติทั่วไปตลอดสายแบบคร่าวๆ ชุดหนึ่งที่น่าจะนำมาใช้แนะนำทำกันให้มาก ก็คือหลัก มงคล 38 ประการ
หลักนี้มีข้อปฏิบัติตั้งแต่ต้นไปตลอด บอกวิธีดำเนินชีวิตตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นสูงสุด เริ่มตั้งแต่ อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ไม่คบพาล คบบัณฑิต ก็คือเริ่มด้วยการมีกัลยาณมิตร เข้าหลักเมื่อกี้นี้ทีเดียว พระพุทธเจ้าทรงเอามาประยุกต์แล้ว เริ่มด้วยกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นบุพนิมิตของการศึกษาข้อต้น ปูชา จ ปูชนียานํ บูชาคนที่ควรบูชา นี้คือให้มีทัศนคติและค่านิยมถูกต้องเกี่ยวกับบุคคล ให้ยกย่องบุคคล ด้วยความดีความงาม ไม่ใช่ยกย่องในทางผิด เป็นการส่งเสริมค่านิยมที่ถูกต้อง ทำให้มีทิฏฐิที่ถูกต้อง
ข้อปฏิบัติอื่นๆ ก็จะมีไปตามลำดับจนถึง 38 ประการ ตอนท้ายๆ ก็จะมี อริยสจฺจานทสฺสนํ การเห็นอริยสัจ นิพฺพานสจฺฉิ-กิริยา จ การทำนิพพานให้แจ้ง จนกระทั่งท้ายสุดจิตของผู้ใดถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว เป็นจิตไร้ความโศก ไม่มีธุลี ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง เป็นจิตเกษม ก็จบลงที่จิตปลอดโปร่งผ่องใส ไม่มีความทุกข์ด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น
|
Update : 9/11/2554
|
|