|
|
ธรรมะฉบับเรียนลัด เมื่อสุขแท้ก็ถึงธรรม (4)
ธรรมะฉบับเรียนลัด เมื่อสุขแท้ก็ถึงธรรม (4)
คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
การพัฒนาในขั้นจิตวัฒนะโดยตรง จะทำให้จิตเกิดมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ มีพลังมาก (เหมือนปล่อยน้ำให้ไหลไปในท่อหรือรางทางเดียวไม่กระจัดกระจาย) ใสกระจ่างเอื้อต่อการใช้ปัญญา (เหมือนน้ำนิ่งสนิทไม่ไหวกระเพื่อม ฝุ่นละอองตกตะกอนจึงใสมองเห็นทุกอย่างในน้ำชัดเจน) และสงบสบายมีความสุข (เพราะไม่มีอะไรรบกวน ไม่ขุ่นมัว ไม่ฟุ้งซ่านร้อนรนกระวนกระวาย)
จิตที่มีคุณสมบัติอย่างนี้เรียกว่าเป็นกัมมนีย์ คือเหมาะแก่การใช้งาน พร้อมที่จะปลูกฝังคุณธรรมต่างๆ หรือใช้คิดพิจารณาพัฒนาปัญญา ซึ่งเป็นลักษณะของจิตที่มีสมาธิ การพัฒนาในขั้นจิตใจนี้จึงมีสมาธิเป็นแกน หรือเป็นตัวแทนเลยทีเดียว
ถ้ามุ่งหน้าเอาจริงเอาจังกับเรื่องสมาธิ ก็ฝึกสมาธิให้แน่วแน่สนิทลึกลงไปอีก จนถึงขั้นเป็นฌานระดับต่างๆ ซึ่งมีทั้งขั้นที่อยู่กับรูปธรรม (รูปาวจร) และขั้นที่อยู่กับอรูปธรรม (อรูปาวจร)
ความสุขในขั้นจิตนี้ประณีตและบริสุทธิ์ขึ้นไปมาก เพราะไม่มีอาการของความทุกข์แบบที่แฝงมากับการเสพกามอามิส เช่น ความหวาดระแวง เบื่อหน่าย รันทดใจ เป็นต้น
แม้จะได้ถึงขั้นนี้ท่านก็บอกว่ายังไม่พออีกนั่นแหละ การที่เราจะอยู่ข้างในกับจิตใจของตัวนั้นมันดื่มด่ำไปได้ลึกล้ำก็จริงแต่อาจจะติดเพลินกับสมาธิและผลพลอยได้ของมัน แล้วกลายเป็นพวกหลีกหนีสังคม ไม่เผชิญหน้าความจริง เป็นการหลบทุกข์พ้นปัญหาไปได้ชั่วคราว พอออกจากสมาธิก็เจอกับสภาพเก่า ยังมีความยึดติดถือมั่นและถูกธรรมดาของธรรมชาติบีบคั้นเอาได้ ไม่ได้แก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นไป เพราะฉะนั้นจะต้องก้าวต่อไปอีกให้ถึงความสมบูรณ์จบสิ้นปัญหา ให้เป็นสุขโดยไม่มีทุกข์เหลืออยู่ แล้วท่านก็บอกขั้นต่อไปอีก
3.ขั้นอิสระหลุดพ้น หมายถึงชีวิตที่พ้นหรืออยู่เหนือการที่จะถูกบีบคั้นครอบงำด้วยปัญหาไม่ว่าอย่างใดๆ แม้แต่ความเป็นไปของกฎธรรมชาติแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยงแท้และเสื่อมสลาย มีความสุขที่ปลอดโปร่งโล่งเบา ไม่มีเงาของความทุกข์รบกวน เรียกว่าเป็นพุทธะ ที่แปลให้เข้าใจกันง่ายๆ ว่า รู้ ตื่น และเบิกบาน
ผู้ที่มีชีวิตและความสุขถึงขั้นนี้จะมีคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่ง คือ เป็นผู้ทำกิจเสร็จแล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเองอีก ปลดเปลื้องตัวเป็นอิสระแล้ว จึงทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ เรียกว่ามีกรุณาหรือการุณยธรรมที่บริสุทธิ์และสมบูรณ์
ชีวิตและความสุขขั้นนี้เป็นขั้นที่ถึงได้ด้วยปัญญา ผู้ที่มีชีวิตในขั้นนี้เป็นผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ที่รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นอยู่ตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยของกฎธรรมชาติ หรือรู้เท่าทันกฎธรรมชาตินั้นเอง จนความเป็นไปของธรรมชาติที่มีความเปลี่ยน แปลงเป็นต้นครอบงำก่อความทุกข์แก่เขาไม่ได้ สิ่งใดไม่เป็นปัญหาก็ไม่ทำให้เป็นปัญหาขึ้นมา สิ่งใดเป็นปัญหาก็แก้ไขด้วยปัญญาที่รู้และทำให้ตรงกับเหตุปัจจัย จนเผชิญได้กับทุกสิ่งโดยไม่มีทุกข์ใดๆ
เมื่อพัฒนามาจนมีชีวิตและความสุขถึงขั้นนี้ โดยมีความสดชื่นเบิกบานอยู่เป็นธรรมดาแล้ว ถ้าจะเอาความสุขทางจิตมาใส่อีกก็ไม่ว่า จะมีความสุขทางประสาททั้งห้ามาเสริม ก็ได้ความสุขนั้นเต็มสภาพบริบูรณ์และทั้งไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครด้วย ทุกอย่างอยู่ในภาวะสมดุลพอดีไปหมด เพราะมีปัญญาที่ไร้ทุกข์เป็นตัวควบคุม โดยนัยนี้เมื่อมีความสุขขั้นสุดท้ายที่ไร้ทุกข์ด้วยปัญญา ก็จบสูงสุดถึงจุดหมาย
ทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า ชีวิตและความสุข 2 ขั้นนั้น พูดโดยย่อ คือ
1) ขั้นกามอามิส (เรียกให้สั้นว่าขั้นกาม ชื่อเต็ม = ขั้นกามา วจร-ท่องเที่ยวไปในกาม) ต้องใช้ศีลเป็นเครื่องควบคุม โดยมีทานสนับสนุน
2) ขั้นจิตวัฒนะ (ชื่อเต็ม = ขั้นรูปาวจร = ท่องเที่ยวไปในรูป และอรูปาวจร = ท่องเที่ยวไปในอรูป) มีสมาธิเป็นแกนนำในการพัฒนา
3) ขั้นอิสระหลุดพ้น (ชื่อเต็ม = ขั้นโลกุตตระ-เหนือโลก หรือขั้นปรมัตถ์-ประโยชน์สูงสุด) มีปัญญาเป็นตัวชี้ขาดที่จะนำเข้าถึงจุดหมาย
เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้แล้ว เกี่ยวกับหลักการในการเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุข แล้วก็แบ่งไว้เป็นขั้นเป็นตอน ดังที่ได้กล่าวมา ซึ่งที่จริงเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่มีอะไรมาก เพราะว่าตัวสาระแท้ๆ ก็แค่นี้เอง คือให้เรามีชีวิตที่ดีมีความสุขได้จริง ก็จบเรื่องกัน
ได้พูดไว้แต่ต้นว่า เมื่อสุขแท้ก็ถึงธรรม และเมื่อถึงธรรมก็สุขแท้ หมายความว่า การเข้าถึงชีวิตที่ดีมีความสุข ก็คือการเข้าถึงธรรม จะเข้าถึงธรรมได้ก็ต้องปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมนั้นคงไม่ยากอย่างที่หลายคนคิด จึงลองมาดูกันว่าปฏิบัติธรรมนั้นคือทำอย่างไร
|
Update : 2/11/2554
|
|