จากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นโดยเฉพาะอาหารการกิน ที่อาจมีผลร้ายระยะยาวต่อผู้ประสบภัยเอง เช่นเดียวกับสุขภาพที่อาจมีผลเรื้อรังต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน
ดร.นพ.เกริกยศ ชลายนเดชะ ผู้อำนวยการแพทย์อาวุโส (กลุ่มการแพทย์ 1) รพ.พญาไท 1 กล่าวว่า การดูแลสุขภาพร่างกายของผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งอาจส่งผลทางร่างกายให้เกิด โรคผิวหนัง เช่น อาการแพ้, เชื้อราผิวหนัง และโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเเป็นผลมาจากการทานอาหารที่ไม่มีคุณภาพ
ขณะที่ผลทางด้านจิตใจเป็นอีกส่วนที่น่าห่วงไม่แพ้กัน เพราะหลายคนมีความวิตกกังวลและหวาดกลัวกับระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องพยายามทำความเข้าใจเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน
สำหรับการเลือกทานอาหารสด อย่าง หมู ควรดูเนื้อที่เป็นสีชมพู ไม่มีกลิ่นเหม็น พอกดดูเนื้อแล้วจะไม่บุ๋มลงไป เช่นเดียวกับเนื้อวัวที่กดลงไปแล้วไม่บุ๋ม ส่วนปลาให้ดูเหงือกสีชมพู ด้านเนื้อไก่ต้องไม่มีรอยเป็นจ้ำบนผิวเนื้อ
อาหารกระป๋องที่เก็บไว้หรือได้รับการช่วยเหลือต้องตรวจสอบว่ามีฉลากบริเวณกระป๋องติดไว้หรือไม่ รวมถึงต้องมีฉลากบอกวันผลิตและวันหมดอายุที่ชัดเจน กระป๋องต้องไม่มีรอยบุบ และเมื่อเปิดกระป๋องออกมาต้องไม่มีแรงลมออกมาด้วย เพราะถ้าอาหารกระป๋องมีปัญหาอย่างที่กล่าวมาอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพควรหลีกเลี่ยงรับประทาน
ในส่วนของ น้ำที่จะนำมาใช้ล้างภาชนะต้องใช้สารส้มแกว่งก่อนนำมาใช้ เมื่อตกตะกอนจึงนำส่วนที่เป็นน้ำใสมาใช้ได้ หรือนำน้ำจากแหล่งน้ำมาใส่ไว้ในภาชนะเพื่อให้ตกตะกอนก่อนแล้วตักน้ำส่วนบนมาใช้ แต่ถ้าหากจะใช้น้ำไปดื่มกินต้องใช้สารส้มแกว่งจนตกตะกอนแล้วตักน้ำส่วนที่เป็นน้ำใสไปต้มจนเดือดแล้วจึงนำมาดื่มได้
เสื้อผ้าของผู้ประสบภัยเป็นอีกส่วนที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในเด็กและคนชรา เพราะจะทำให้เกิดโรคผิวหนังและเชื้อราได้ ถ้าไม่มีผงซักฟอกในการซักให้ผึ่งแดดเพื่อฆ่าเชื้ออย่างน้อย ๆ จะช่วยให้ปัญหาเชื้อราต่าง ๆ ลดลง
อาการที่เกิดจากการทานอาหารที่ไม่มีคุณภาพจะมีอาการท้องเสียเนื่องจากอาหารเป็นพิษ โดย สามารถทำน้ำเกลือแร่ขึ้นเองในภาวะฉุกเฉินได้ โดยนำน้ำอัดลมมาผสมกับเกลือและดื่มแทนได้ หรือนำน้ำสะอาดมาใส่ในขวดขนาด 750 ซีซี ใส่น้ำตาลลงไป 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับเกลืออีกครึ่งช้อนชาแล้วทำให้เข้ากันจะได้น้ำเกลือแร่แบบง่าย ๆ ในภาวะฉุกเฉิน
มือเป็นพาหะที่สำคัญซึ่งต้องระวังอย่างมาก โดยก่อนจะหยิบอาหารกินทุกครั้งต้องล้างมือด้วยน้ำสะอาดก่อนทุกครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อที่อาจปนเปื้อนมากับมือและเข้าสู่ร่างกายส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารมีปัญหา
“สิ่งที่ต้องระวังคือเด็กและคนชราที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีภูมิต้านทานที่อ่อน ดังนั้นเรื่องอาหารการกินและเสื้อผ้าควรให้ความสำคัญอย่างมากเช่นกัน”
อนาคตการดูแลเรื่องอาหารและสุขภาพร่างกายเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้น่าจะทำให้รัฐมีการเตรียมแผนรองรับด้านอาหารและการรักษาพยาบาลในอนาคตหากมีเหตุน้ำท่วมใหญ่เหมือนครั้งนี้อีก
สุรนุช ธงศิลา กรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิเอสซีจี ธนศักดิ์ สาคริกานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด และ มงคล ลีกำเนิดไทย ผู้จัดการ Solution Technology Development บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด เล่าว่า เมื่อปีที่ผ่านมาที่เกิดอุทกภัยได้ผลิต สุขากระดาษ เพียงอย่างเดียวเพราะถึงแม้น้ำจะท่วมกินพื้นที่กว้างแต่ไม่นาน จึงไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ความเดือดร้อนรุนแรงมากและสุขากระดาษก็เหมาะสำหรับการใช้ในครัวเรือนที่ยังพอมีสถานที่มิดชิด แต่ครั้งนี้เมื่อเดือดร้อนมาก ๆ มีการนำผู้ประสบภัยอพยพมาอยู่รวมกัน ทำให้สุขากระดาษไม่เพียงพอ จึงเกิดไอเดีย “สุขาลอยน้ำ” ขึ้นมาและคิดว่าน่าจะเหมาะสมกว่า
จริง ๆ แล้ว สุขาลอยน้ำไม่ใช่ไอเดียใหม่ เพราะมีการทำกันออกมาเยอะ แต่ที่ผ่านมาเป็นการทำเฉพาะกิจทุกคนทำออกมาให้ลอยน้ำได้ซึ่งคิดว่าเป็นไอเดียที่ดี เช่น มีการนำถังน้ำมันมาประกอบให้ลอยน้ำได้ รวมทั้งนำสังกะสีมาล้อม และมีส้วมอยู่ด้านในเจาะรูแล้วถ่ายสิ่งปฏิกูลก็ลงไปในน้ำ ซึ่งเราต้องการมาตรฐานในเรื่องของสุขลักษณะและสุขอนามัย รวมทั้งความปลอดภัย ทำให้สุขาลอยน้ำที่เราทำขึ้นมาแตกต่างจากของหน่วยงานอื่น คือเรามีถังบำบัด เพราะสุขาลอยน้ำที่ทำกันส่วนใหญ่ไม่มีหรือถ้ามีก็เป็นถังเก็บปฏิกูล เมื่อเต็มก็ต้องเปลี่ยนหรือดูดออก แต่ของเราเป็นถังบำบัดที่เมื่อมีสิ่งปฏิกูลลงไปในถังจะมีจุลินทรีย์ในการย่อยสลายสิ่งปฏิกูล เมื่อย่อยสลายเสร็จแล้วสิ่งที่ปล่อยออกมาจากถังบำบัดจะได้มาตรฐานเหมือนกับถังบำบัดในบ้านเรือน
การออกแบบสุขาลอยน้ำนี้เราคิดว่าทำอย่างไรให้สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด จึงคิดที่จะนำสินค้าทุกตัวของเอสซีจีมาประกอบกันให้เป็นห้องน้ำและมีการบ้านที่ต้องคิดคือต้องเป็นส้วมลอยน้ำที่ถูกสุขลักษณะ โล่ง ปลอดภัย โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้ลอยได้และเป็นถังบำบัดของเสียได้ด้วย จึงพบว่าถังน้ำขนาด 700 ลิตร สามารถดัดแปลงเป็นทุ่นลอยและเป็นถังบำบัดได้ด้วย การทำคือนำถังน้ำขนาด 700 ลิตร มาติดตั้งกับโครงเหล็กข้างละ 2 ถัง รวมเป็น 4 ถัง จึงมีทุ่นลอยทั้งหมด 4 ใบ เกิดแรงลอยตัวได้ถึง 2,800 กิโลกรัม สามารถรับน้ำหนักได้ประมาณ 8 คน จากนั้นออกแบบสุขาลอยน้ำให้มีขนาดความกว้าง 2.40 เมตร ยาว 3.60 เมตร สูง 3.20 เมตร และมี 2 แบบคือ นั่งราบและนั่งยอง ซึ่งชาวบ้านจะคุ้นเคยทั้ง 2 แบบโดยใช้น้ำราดเหมือนกัน สาเหตุที่ทำ 2 แบบ เพราะผู้สูงอายุเวลาใช้แบบนั่งยองนาน ๆ อาจจะนั่งไม่ไหว ถ้าใช้แบบนั่งราบจะสะดวกกว่า แต่บางคนที่ทนไหวก็สามารถนั่งได้ และถ้าทำแบบนั่งราบอย่างเดียวบางคนอาจจะไม่คุ้นเคยก็จะทำให้ปีนขึ้นไปนั่งยองบนโถอาจเป็นอันตรายได้ จึงทำ 2 แบบให้เลือกตามความสะดวก
อย่างไรก็ตามเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็ไม่มองข้าม เช่น หลังคาที่ใช้เป็นหลังคาโปร่งแสง ในเวลากลางวันไม่ต้องมีไฟฟ้าก็ใช้ได้ และติดตั้งแผงระบายอากาศด้านข้าง แสงแดดสามารถเข้าได้ช่วยในการฆ่าเชื้อโรคและมีที่จับด้านในห้องน้ำและรอบ ๆ ทางเดินด้านนอกด้วย เพราะห้องสุขาลอยอยู่ในน้ำอาจมีโยกเยกบ้าง ผู้สูงอายุจะได้จับเพื่อความปลอดภัย เมื่อได้ตรงนี้แล้วเรามาคิดว่าถ้าคนเข้าห้องน้ำก็ต้องมีน้ำราด จึงคิดทำระบบน้ำด้วยการทำปั๊มมือเพื่อปั๊มน้ำที่ท่วมด้านล่างเข้ามาใส่ถังที่เราเตรียมไว้ให้ในห้องน้ำแล้วตักราด ซึ่งจะเหมือนก๊อกน้ำทั่วไปแต่ใช้มือปั๊ม โดยสุขาลอยน้ำนี้สามารถช่วยลดโรคระบาดได้ เพราะโรคระบาดส่วนใหญ่มากับการขับถ่าย ทางกระทรวงสาธารณสุขห่วงใยมาก เพราะเมื่อน้ำเริ่มนิ่งถ้าขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทางโรคระบาดก็จะตามมาได้
ทางมูลนิธิฯ จะผลิตสุขาลอยน้ำประมาณ 150 ชุด มอบให้ผ่านทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ดูแลจำนวน 100 ชุด เนื่องจากทาง ปภ.มีเครื่องมือในการดูแลรักษาและมีเกือบทุกจังหวัด เพราะเมื่อน้ำลดจะได้นำสุขามาทำความสะอาดและสามารถใช้งานบนพื้นดินต่อหรือจะเก็บไว้ใช้เมื่อเกิดอุทกภัยครั้งต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประสบภัยมีความต้องการสุขากระดาษหรือสุขาลอยน้ำ สามารถแจ้งความจำนงผ่านมูลนิธิฯ ได้โดยส่งแฟกซ์มาที่เบอร์ 0-2586-3910 พร้อมระบุจำนวน ชื่อผู้ติดต่อ สถานที่ที่ได้รับความเดือดร้อน และประสานงานต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2586-5506
เพราะเราคนไทยย่อมไม่ทิ้งกัน.
เตือนภัยเล่นน้ำท่วมขังระวังเป็นตาแดง
พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานควรระมัดระวังอย่าปล่อยให้เล่นน้ำในที่น้ำท่วมขังเพราะเป็นน้ำสกปรก โดย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า โรคตาแดงเป็นโรคที่พบมากในช่วงน้ำท่วม ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับน้ำ จากการลงเล่นน้ำ น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา การใช้น้ำที่ไม่สะอาดล้างหน้า การใช้มือ แขน เสื้อผ้าที่สกปรกขยี้ตาหรือเช็ดตา อย่างไรก็ตามโรคนี้อาการไม่รุนแรง หลังจากติดเชื้อภายใน 2-14 วัน จะมีอาการเคืองตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล มีขี้ตามาก มักเริ่มจากตาข้างหนึ่งก่อน แล้วลามไปยังตาอีกข้างหนึ่งภายใน 2-3 วัน
นอกจากนี้โรคตาแดงสามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก จากการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม สำหรับการป้องกันโรคมีข้อแนะนำดังนี้ 1. ถ้ามีน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที 2. หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ห้ามใช้มือขยี้ตา 3. รักษาความสะอาดเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว สวมใส่
เสื้อผ้าที่สะอาด 4. เมื่อเป็นหรือสงสัยว่าอาจเป็นโรคตาแดง ควรไปพบแพทย์ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่แรก
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคตาแดงแล้ว ควรปฏิบัติตัวดังนี้ ให้ใช้กระดาษนุ่ม ๆ ซับน้ำตาหรือใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดขี้ตาและบริเวณเปลือกตาแล้วทิ้งในถังขยะที่มิดชิด ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ดน้ำตา เนื่องจากเชื้อจะสะสมที่ผ้าเช็ดหน้า และติดต่อไปยังผู้อื่นได้ ไม่ควรใช้ผ้าปิดตาเพราะจะยิ่งทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น งดใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าตาจะหายอักเสบ ใส่แว่นกันแดดเพื่อลดการระคายเคืองแสง ควรนอนแยกจากสมาชิกในครอบครัว และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นเพื่อป้องกันการระบาด
สิ่งสำคัญคือ หมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ เนื่องจากเชื้อไวรัสติดต่อโดยการสัมผัสมากที่สุด การล้างมือจะช่วยตัดการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างดี ทั้งนี้หากมีอาการปวดตารุนแรง ตาพร่ามัว หรืออาการตาแดงไม่ทุเลาภายใน 7 วัน ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการรักษา หรือ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรฯ สายด่วน 1669 เพื่อรับความช่วยเหลือ.
“น้ำที่จะนำมาใช้ล้างภาชนะต้องใช้สารส้มแกว่งก่อนนำมาใช้ เมื่อตกตะกอนจึงนำส่วนที่เป็นน้ำใสมาใช้ได้ หรือนำน้ำจากแหล่งน้ำมาใส่ไว้ในภาชนะเพื่อให้ตกตะกอนก่อนแล้วตักน้ำส่วนบนมาใช้ แต่ถ้าหากจะใช้น้ำไปดื่มกินต้องใช้สารส้มแกว่งจนตกตะกอนแล้วตักน้ำส่วนที่เป็นน้ำใสไปต้มจนเดือดแล้วจึงนำมาดื่มได้”
ทีมวาไรตี้