|
|
ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์) (19)
ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์) (19)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
เมื่อความสามารถในการมีความสุขก็มาก ความสามารถในการหาวัตถุบำรุงความสุขก็มาก แถมยังมีความสุขจากการให้อีกด้วย มนุษย์ก็ยิ่งเกื้อกูลกันมากขึ้น การพัฒนาแบบนี้จะแก้ไขปัญหาทั้งทางวัตถุ และทางจิตใจ ทั้งปัญหาชีวิตและปัญหาสังคมไปพร้อมกัน กับทั้งแก้ไขปัญหาธรรมชาติแวดล้อมด้วยเพราะไม่ต้องบริโภคเกินความจำเป็น ด้วยเหตุผลอย่างนี้แหละจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องให้มีทั้งอิสรภาพทางอินทรีย์ และอิสรภาพทางความสุข
อีกประการหนึ่ง อย่างที่พูดเมื่อกี้แล้วว่า เมื่อมนุษย์ยิ่งมีความมักง่ายยิ่งอ่อนแอ มนุษย์ก็จะยิ่งเจอทุกข์หนักขึ้นเพราะภูมิต้านทานความทุกข์น้อยลง เจออะไรยากหรือต้องทำนิดหน่อยก็เป็นทุกข์ไปหมด ทีนี้เรื่องไม่จบเท่านั้น ในขณะที่เทคโนโลยีทำให้คนอ่อนแอลงนั้น สังคมปัจจุบันนี้โลกมนุษย์ยิ่งมีความซับซ้อน วิถีชีวิตมีปัญหาที่ต้องเผชิญเพิ่มขึ้น ฉะนั้นคนที่อ่อนแอก็จะเป็นคนที่มีความทุกข์มากมายเหลือเกิน ตรงข้ามกับการพัฒนา ที่ถูกต้อง เมื่อพัฒนาให้คนมีความเข้มแข็ง สู้งาน สู้สิ่งยาก เขาจะได้ความสุขจากความยากด้วย อันนี้เป็นสิ่งที่เราอาจไม่คาดคิด สิ่งง่ายนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะสบายอยู่แล้ว แต่สิ่งยากทำให้คนเกิดความสุขได้อย่างไร
เมื่อคนมีจิตสำนึกในการศึกษาและพัฒนาตน เจอสิ่งยากก็จะเข้าหาก่อนเลย เพราะอะไร เพราะสิ่งใดยากสิ่งนั้นก็ทำให้เขาได้ฝึกตนมาก ยิ่งยากยิ่งได้ฝึกตนมาก พูดสั้นๆ ว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก งานอะไรยากปัญหาอะไรที่ยากก็ยิ่งเป็นเครื่องพัฒนาความสามารถของเราได้มากยิ่งขึ้น คนเราที่จะพัฒนาจนเก่งกล้าสามารถได้นั้น เพราะพบอุปสรรคหรือเจอปัญหา และได้พยายามใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นเมื่อได้เจอสิ่งยาก คนที่พัฒนาตนจะชอบที่สุด สิ่งที่ง่ายๆ เขาไม่เอา เขาจะเข้าหาอันที่ยากเลยเพราะว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก แล้วก็ดีใจที่ได้ฝึกตนจากสิ่งที่ยากนั้น
ส่วนคนที่ไม่ได้สร้างจิตสำนึกในการพัฒนาตน พอเจอสิ่งยาก หนึ่ง ทุกข์ สุขภาพจิตเสีย สอง ฝืนใจ ไม่เต็มใจทำ ผลงานก็เลยไม่ได้ไม่ดี แต่คนที่มีจิตสำนึกในการพัฒนาตน พอเจอสิ่งที่ยาก ก็ชอบใจดีใจ สุขภาพจิตก็ดีมีความสุข แล้วก็เต็มใจทำ ก็จึงทำได้ผลดีด้วย
คนที่ขาดจิตสำนึกในการศึกษา อยู่ไปๆ ก็จะมีความสุขจากการเสพอย่างเดียว ความสุขอยู่ที่การได้รับการบำรุงบำเรอและไม่ต้องทำอะไร ถ้าต้องทำอะไรก็เป็นความทุกข์ ส่วนคนที่มีจิตสำนึกในการศึกษา จะพึ่งพาสุขจากการเสพน้อยลง และมีความสุขจากการกระทำ หรือสุขจากการสร้างสรรค์ สำหรับคนพวกแรก การกระทำคือความทุกข์ แต่สำหรับพวกหลังการกระทำคือการสร้างสรรค์และความสุข
ฉะนั้น ต้องพัฒนาจิตสำนึกในการฝึกตน พอมีจิตสำนึกนี้แล้วเขามาอยู่ในโลกแห่งเทคโนโลยีที่ช่วยให้ง่ายด้วย ก็สบายเลยคราวนี้ คนจะมีความสุขสองชั้น นี่เป็นการพัฒนาคนให้เหนือเทคโนโลยี ถ้าเราพัฒนาคนให้มีคุณภาพแบบนี้
เรามั่นใจได้เลยว่าสังคมไทยจะต้องเจริญแน่นอน
ไม่มีทางที่จะไม่เจริญ
|
Update : 17/10/2554
|
|