ฤดูฝนช่วงเวลานี้อากาศมีความเปลี่ยนแปลงสัมผัสได้ทั้งความร้อนและสายลมเย็น ๆ โอกาส จะเจ็บป่วยอาจเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุซึ่งคงต้องเฝ้าระวังดูแลสุขภาพเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่น ๆ
เรสไพราทอรีซินซิเชียลไวรัส หรือ ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) สาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทั้งส่วนบนและส่วนล่างเป็น ไวรัสที่พบแพร่ระบาดช่วงเวลานี้ที่เกิดได้ทั้งในเด็กเล็กและผู้ใหญ่ เมื่อติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนล่างผู้ติดเชื้อร้อยละ 70 มักเกิดอาการปอดบวมและหลอดลมฝอยส่วนปลายอักเสบซึ่งพบมากในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ!!
นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังมีรายงาน พบผู้ติดเชื้ออาร์เอสวีทั่วโลกกว่า 64 ล้านคนและคร่าชีวิตผู้ป่วยทั่วโลกไปแล้วกว่า 200,000 ราย ขณะที่อุบัติการณ์ของผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งนี้เพราะอาจขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ประกอบกับเชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถติดต่อได้ง่ายผ่านทางการสัมผัสและหายใจส่งผลให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในช่วงวัยเรียน
รศ.แพทย์หญิงอรพรรณ โพชนุกูล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และระบบทางเดินหายใจในเด็ก หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรรมการสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ให้ความรู้ว่า ไวรัสชนิดนี้มักแพร่ระบาดช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาวประมาณเดือนพฤศจิกายน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยและมีความชื้นสูง
อาการที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปเมื่อติดเชื้อไวรัสช่วงแรกจะคล้ายกับไข้หวัดจะมีอาการไข้ ไอ จาม คัดจมูกน้ำมูกไหล ฯลฯ จากนั้นมีอาการไข้สูง ไอมากขึ้นมีเสมหะ ไอหอบ หายใจหอบเหนื่อยและมักหายใจมีเสียงดังวี้ด ๆ หน้าอกบุ๋มยุบลงโดยพบมากในเด็กเล็กซึ่งหากเด็กได้รับเชื้อจะทานอาหาร ทานนมได้ลดน้อยลง
อีกทั้งอาจมีภาวะแทรก ซ้อนหูชั้นกลางอักเสบโดยจะมีอาการไข้ ปวดหู ฯลฯ หากปล่อยทิ้งไว้แก้วหูอาจทะลุมีปัญหาในเรื่องการได้ยิน!!
นอกจากนี้ไวรัสอาร์เอสวียังเป็นสาเหตุของโรคปอดบวมมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นหอบหืด นอกเหนือจากเกิดขึ้นกับเด็กเล็กแล้วยังส่งผลถึงผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้เพราะภูมิต้านทานไม่แข็งแรงรับเชื้อได้ง่าย
“สิ่งที่ต้องเน้นย้ำในการหลีกเลี่ยงเชื้อไวรัสอาร์เอสวี คือการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ยิ่งช่วงเวลานี้ที่อากาศมีความชื้นและเปลี่ยนแปลงบ่อย หากละเลยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจจะลุกลามไปจนเกิดโรคปอดบวม ปอดอักเสบ นอกจากนี้เด็กที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวอาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืด”
เชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถติดต่อได้ง่ายทั้งการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อนี้อยู่แล้วหรือมีการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไวรัสผ่านทางตา จมูกหรือทางการหายใจ ดังนั้นหากเริ่มมีอาการป่วยโดยเริ่มแรกจะเหมือนไข้หวัด มีอาการไข้ต่ำ ๆ ไอ จาม ฯลฯ อย่านิ่งนอนใจควรสังเกตอาการ หากหายใจมีเสียงวี้ด ๆ หอบเหนื่อยควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าลุกลามติดเชื้อไปยังทางเดินหายใจส่วนล่างหรือไม่ หากเคยเป็นหอบและเป็นบ่อยควรพบแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้หอบกลายเป็นหืดในอนาคต
ก่อนต้องเผชิญกับภัยสุขภาพดังกล่าวการป้องกันเตรียมพร้อมไว้สิ่งนี้มีความสำคัญซึ่งในเด็กเล็กและในผู้สูงอายุ แพทย์หญิงอรพรรณให้คำแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า หากป่วยเป็นหวัดควร สวมหน้ากากอนามัย การใช้หน้ากากอนามัยจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค ล้างมือบ่อย ๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด ส่วนช่วงเวลานี้ที่ยังคงเป็นฤดูฝนอากาศมีความชื้นหรือหากอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นควรสวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น
ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงจากเด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่อย่างไรแล้วต้องสังเกตอาการควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่าคิดเป็นเพียงแค่หวัดธรรมดา อีกทั้งในเรื่องสุขอนามัยควรเคร่งครัดโดยโรคดังกล่าวสามารถรักษาได้ นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาดมีประโยชน์ รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ ฯลฯ ก็ไม่ควรละเลยเพราะข้อปฏิบัติเหล่านี้ช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากภาวะเจ็บป่วย.
เคล็ดลับสุขภาพดี แนะตั้งสติรับมือความเครียดจากภัยน้ำท่วม
ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของไทยกำลังเผชิญกับอุทกภัยอย่างหนัก สร้างความลำบาก บอบช้ำ ทุกข์ระทม บางครอบครัวสูญเสียชีวิตญาติพี่น้องอันเป็นที่รักไป บางครอบครัวสูญเสียทรัพย์สินแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ทำให้เกิดภาวะเครียดนอนไม่หลับ บางรายถึงขั้นซึมเศร้า ท้อแท้จนอยากฆ่าตัวตายเพราะไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร!?
นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ แนะนำว่า ประชาชนชาวไทยต้องประสบปัญหาน้ำท่วมและเผชิญปัญหาหลายด้านไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นความไม่สะดวกในเรื่องความเป็นอยู่ อาหารการกิน การนอน รวมไปถึงการขับถ่าย นอกจากนี้ยังมีความทุกข์ใจจากทรัพย์สินที่เสียหาย ไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถยนต์ เงินทอง พื้นที่การเกษตร บางคนเจ็บป่วย สูญเสียญาติพี่น้อง ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง ซึ่งอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้ อย่างไรก็ตามคนเรามีความสามารถในการรับมือกับความเครียดได้ไม่เท่ากัน ทำให้แสดงออกมาได้หลายรูปแบบ เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น หายใจไม่ออก ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน บางรายรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เกิดอาการกลัว วิตกกังวลรุนแรง ตื่นตระหนก
ดังนั้นเราจึงต้องตั้งสติเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการปฏิบัติง่าย ๆ ดังนี้
1. ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ให้ทำความเข้าใจและยอมรับว่าภัยพิบัติไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมกับเราอีกเยอะ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นต้องมีทางออกแต่ต้องใช้เวลาบ้าง เราท้อแท้ได้แต่อย่านานและต้องลุกขึ้นเดิน
2. จัดลำดับความสำคัญของปัญหา เมื่อตั้งสติได้แล้วให้มองปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างเพื่อจัดลำดับ เช่น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้แก่ ที่อยู่ การกิน การนอน ห้องน้ำ การขับถ่าย การแก้ปัญหาระยะยาวเป็นเรื่องที่ไม่ด่วน ได้แก่ หลังจากนี้จะป้องกันน้ำท่วมอย่างไร การช่วยเหลือของรัฐบาลหลังน้ำลด ซึ่งเป็นเรื่องไม่ด่วนและสำคัญเท่ากับชีวิตความเป็นอยู่ก็ปล่อยวางไปก่อน เมื่อจัดลำดับได้แล้วก็ค่อย ๆ แก้ไปทีละอย่าง เพราะการแก้ปัญหาได้สำเร็จไปทีละข้อจะช่วยให้เกิดความมั่นใจ กำลังใจจะค่อย ๆ เกิดขึ้นจนกลายเป็นว่าจะสามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้
3. พยายามใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ค่อย ๆ ปรับวิธีคิดและปล่อยวางเรื่องทรัพย์สินซึ่งเป็นสิ่งของนอกกาย อนาคตยังมีโอกาสหาใหม่ได้ และใช้ชีวิตที่เรียบง่ายเพื่อลดความเครียด เพราะบางคนเครียดเนื่องจากเป็นห่วงทรัพย์สินจนไม่ยอมอพยพขึ้นไปอยู่บนพื้นที่สูงเหนือน้ำ บางครั้งเราต้องชั่งน้ำหนักระหว่างทรัพย์สินกับชีวิตและสุขภาพด้วยว่าสิ่งใดสำคัญกว่ากัน ซึ่งทรัพย์สินมีค่าก็สำคัญในระดับหนึ่งเราอาจจะรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านสลับเวรยามกันเฝ้าก็ได้ อย่างน้อย ๆ ทรัพย์สินก็มีคนดูแลรวมถึงสุขภาพก็ได้รับการดูแลเช่นกันจะได้ไม่ต้องเหนื่อยจนเกินไป และ
4. เอาใจใส่ดูแลกันและกัน ข้อนี้สำคัญโดยใครที่มีจิตใจที่แข็งแรงต้องช่วยเหลือคนที่อ่อนแอด้วยการให้กำลังใจหรือรับฟังคนที่เครียดมาก ๆ ให้ได้ระบายความรู้สึกออกมา เพราะเพียงแค่มีคนมารับฟังก็สามารถช่วยทำให้ผู้ประสบปัญหาหรือมีความเครียดรู้สึกดีได้ในระดับหนึ่ง
ถึงแม้อุทกภัยในครั้งนี้จะรุนแรงมากและไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่เราจะผ่านพ้นไปได้ แต่ถ้าเรามีสติและยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับตั้งหลักวางแผนและให้กำลังใจซึ่งกันและกันก็จะทำให้มีกำลังใจเดินหน้าต่อสู้กับปัญหาเพื่อผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้สำเร็จ.
สรรหามาบอก
- คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ขอเชิญบุคลากรและประชาชนร่วมบริจาคเงินและเครื่องอุปโภค–บริโภค เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเปิดรับบริจาคตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เวลา 08.30–16.30 น. ที่โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) และคณะภาคสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ขอเชิญสมาชิกชมรมสตรีวัยทองและประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพสตรีวัยทอง ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “กระเป๋าตุงและปลอดมะเร็งในวัยทอง” ในวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2554 เวลา 08.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมตรีเพ็ชร อาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 15 (รับจำนวนจำกัด 500 ท่าน) สอบถาม โทร. 0-2419-4657-8
- โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จัดงานสัปดาห์เทิดพระเกียรติสมเด็จย่า ประจำปี 2554 ขอเชิญประชาชนผู้สนใจชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จย่าและบริการทางทันตกรรมฟรี ใน วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2554 เนื่องในวันทันตสาธารณสุข ประจำปี 2554 โดยมีบริการทันตกรรมแก่ผู้ใหญ่ จำนวน 400 ราย และเด็ก จำนวน 200 ราย โดยไม่คิดมูลค่า ณ คลินิกบริการสุขภาพช่องปาก อาคารราชสุดา เปิดรับคิวตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ณ โถงชั้น 1 อาคารปิยชาติ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานประชาสัมพันธ์ โทร. 0-2926-9310-1 ในวันและเวลาราชการ
- โรงพยาบาลพญาไท 3 ขอเชิญร่วมกิจกรรม “Smart Brain & Spine พญาไท 3 ใส่ใจสุขภาพสมองและกระดูกสันหลัง” ภายในงานมีนิทรรศการให้ความรู้ของศูนย์สมองและระบบประสาทและให้คำปรึกษาด้านสมองและกระดูกสันหลัง รวมทั้งกิจกรรมให้ความรู้หัวข้อเทคโนโลยีการผ่าตัดสมองและกระดูกสันหลังและโรคความจำเสื่อมรักษาได้ สนใจร่วมงานได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ณ ลาน OPD ชั้น 1 โรงพยาบาลพญาไท 3 สอบถาม โทร. 1772
- ชมรมอายุวัฒนา โรงพยาบาลนครธน ขอเชิญผู้รักสุขภาพร่วมกิจกรรมเสวนา “หัวใจดี...มีชัยไปกว่าครึ่ง” พร้อมร่วมกันปฏิบัติธรรมและออกกำลังกายท่าฤาษีดัดตน ใน วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2554 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมทองสิมา ชั้น 4 โรงพยาบาลนครธน สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0-2450-9999.
ทีมวาไรตี้