ต่อเนื่องมาสำหรับการสืบสานสร้างสรรค์ศิลปะปูนปั้นที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งจากนี้ถึงปลายเดือนตุลาคมในพื้นที่ศิลปะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ย่านสนามหลวงกำลังเผย ศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทย
นิทรรศการครั้งนี้เป็นการแสดงผลงานที่ได้รับรางวัลรวมถึงผลงานที่ได้รับคัดเลือกจากการประกวดแข่งขันที่ผ่านมาโดยมีจุดหมายเพื่อการอนุรักษ์ ส่งเสริมและพัฒนาศิลปะปูนปั้นคงอยู่ยั่งยืน
ประติมากรรมปูนปั้นที่ปรากฏภายในนิทรรศการครั้งที่ 11 ครั้งนี้มีนักเรียน นักศึกษา ประชาชนรวมถึงศิลปินอิสระและช่างพื้นบ้านจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศร่วมสร้างสรรค์ศิลปะเข้าแข่งขัน อีกทั้งปีนี้มีผู้ที่ได้รับรางวัลประติมากรปั้นปูนยอดเยี่ยมร่วมแสดงผลงาน รวมถึงผลงานประติมากรรม ศิลปินรับเชิญเผยแพร่ให้ศึกษาสัมผัสใกล้ชิด
ศิลปะปูนปั้น ภูมิปัญญาไทยซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเป็นศิลปะอีกแขนงที่ถ่ายทอดสืบสานสร้างสรรค์สืบเนื่องต่อกันมายาวนาน อีกทั้งยังเป็นสื่อพื้นบ้านประเภทประติมากรรมจัดสร้างขึ้นในศาสนสถาน ลวดลายปูนปั้นที่ละเอียดซับซ้อนยังถ่ายทอดให้เห็นถึงความละเอียดประณีตฝีมือช่างไทย
จากการอนุรักษ์สืบสานและพัฒนางานศิลปะปูนปั้นซึ่งจากการประกวดที่มีต่อเนื่องมากว่าทศวรรษซึ่งปีนี้หัวข้อการประกวดใน ระดับประชาชน ประเภทปั้นปูนสด คือ ร่วมมือร่วมใจอนุรักษ์วัฒนธรรม, ประเภทปั้นปูนสำเร็จรูปทีพีไอ ชนเผ่าไทยร่วมใจรักชาติ และประเภท ผลงานสำเร็จรูป คือ ประติมากรรมปูนปั้น 7 รอบนักษัตรเฉลิมราชสีมา ในระดับเยาวชน ประเภทการปั้นปูนสำเร็จ รูปทีพีไอ ได้แก่ อนาคตของชาติ
อาจารย์พนม พรกุล รองอธิการ บดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์บอกเล่าว่า ภายหลังจากการแข่งขันผลงานทั้งที่ได้รับรางวัลและคัดเลือกร่วมแสดงได้นำมาเผยแพร่ให้ชมกันและไม่เพียงจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปะที่ผ่านมาได้สัญจรนำไปจัดแสดงในส่วนภูมิภาคร่วมด้วย
“การประกวดแต่ละปีจะมีหัวข้อที่เปลี่ยนไปตามวาระโอกาสที่เหมาะสมซึ่งคณะกรรมการก็จะร่วมกันพิจารณาซึ่งการดำเนินการต่อเนื่องมานอกเหนือจากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโน โลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ครั้งนี้ยังมีกรมศิลปากร บริษัททีพีไอโพลีนจำกัดมหาชน) สมาคมประติมากรรมไทยและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลปร่วมกันอนุรักษ์ ส่งเสริมและพัฒนาศิลปะปูนปั้น”
ส่วนการสร้างสรรค์สืบสานศิลปะปูนปั้นก่อนการแข่งขันได้มีการสัมมนาทางวิชาการให้ความรู้แก่ผู้ที่สมัครได้เดินทางไปยังแหล่งผลงานปูนปั้นหลายสถานเพื่อเติมต่อทักษะความรู้ทั้งในด้านเทคนิควิธีการปั้น เข้าใจถึงประวัติความเป็นมาความสำคัญของศิลปะแขนงนี้ที่มีการสืบสานสร้างสรรค์ ต่อเนื่องมายาวนานและหากย้อนกลับไป ศิลปะปูนปั้นนับเป็นศิลปะที่เกิดขึ้นมาในยุคแรก ๆ นับแต่สมัยทวารวดี การสัมมนาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็จะทำให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งในงานศิลปะก่อเกิดการสืบรักษาอย่างยั่งยืนสืบไป.