|
|
ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์) (18)
ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์) (18)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
เมื่อพัฒนาคนถูกต้องชีวิตก็เป็นอิสระ และยิ่งมีความสุข เมื่อความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจพื้นฐานเอียงไปข้างเดียวแล้ว ทัศนคติและปฏิบัติการทุกอย่างที่ตามมาก็เคลื่อนคลาดพลาดผิด นำไปสู่ปัญหาต่างๆ และการแก้ปัญหาอย่างผิดพลาดที่ยิ่งเพิ่มปัญหาใหม่ เช่น ทัศนคติที่มองวัตถุเสพบริโภคหรือความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นจุดหมาย แทนที่จะมองมันในฐานะเป็นปัจจัยหรือสิ่งเกื้อหนุนในการที่จะสร้าง สรรค์ชีวิตและสังคมให้เข้าถึงความดีงามยิ่งขึ้นไป และมองเห็นความสุขจบอยู่ที่การเสพบริโภควัตถุ แทนที่จะมองเห็นศักยภาพของมนุษย์ในการพัฒนาสู่ความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป ทำให้มนุษย์ดำเนินการพัฒนาไปสู่วิถีชีวิตที่พึ่งพาวัตถุเสพบริโภคมากขึ้น แทนที่จะพัฒนาสู่ความเป็นอิสระยิ่งขึ้นไป ซึ่งในที่สุดก็เกิดผลคือการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน ชนิดที่ยิ่งแก้ไขก็ยิ่งวกวนอยู่ในวงจรของปัญหา
มนุษย์ที่พัฒนาตนตามหลักการของพุทธศาสนา จะทำให้ตนเองมีความสุขด้วยตนเองได้มากขึ้น และพึ่งพาขึ้นต่อวัตถุน้อยลง ตรงข้ามกับกระแสการพัฒนาแบบอุตสาหกรรมที่ว่ายิ่งมีวัตถุบริโภคมาก ก็ยิ่งมีความสุขมาก แล้วก็เอาความสุขของตนไปขึ้นอยู่กับวัตถุมากขึ้นตามลำดับ ความสามารถมีความสุขในตนเองน้อยลง จนกระทั่งกลายเป็นลักษณะของมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่ขอใช้คำว่า เป็นมนุษย์ที่ยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งสุขยากขึ้น เมื่อกี้บอกว่าทุกข์ง่าย พร้อมกับทุกข์ง่ายนั้นก็สุขยากด้วย
ให้สังเกตว่าคนในยุคนี้เป็นคนสุขยาก เกิดมาแล้วมีชีวิตอยู่นานไป แทนที่จะเป็นคนสุขง่ายขึ้น เพราะเมื่อพัฒนาก็ต้องสุขง่ายขึ้น แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น มนุษย์ปัจจุบันยิ่งโตขึ้นยิ่งสุขยากขึ้นทุกที ตอนเป็นเด็กยังสุขง่ายกว่า แต่พอโตขึ้นยิ่งสุขได้ยาก มีเท่านี้แต่ก่อนก็เป็นสุข ต่อมามีเท่านี้กลับเป็นทุกข์ ต้องมีเท่าโน้นจึงจะเป็นสุข พัฒนาศักยภาพที่จะเป็นทุกข์ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
มนุษย์ในยุคปัจจุบันเป็นคนสุขยาก เมื่อสุขยากก็สูญเสียอิสรภาพ เพราะต้องเอาความสุขไปขึ้นต่อวัตถุมาก ส่วนในกระบวนการพัฒนาที่ถูกต้อง จะต้องสอนให้มนุษย์มีการพัฒนาเกี่ยวกับความสุขครบทั้ง 2 ด้าน คือ
1. พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข ข้อนี้มนุษย์ปัจจุบันพัฒนาเต็มที่ การศึกษาปัจจุบันเน้นด้านนี้ อันนี้เก่งนัก แต่อีกด้านหนึ่งคือ
2. พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ด้านนี้ถูกละเลยมองข้ามไป ไม่ทำ จนกลายเป็นตรงข้ามคือสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข
เมื่อมนุษย์พัฒนาด้านเดียว เขาก็หาสิ่งเสพบำเรอความสุขได้เก่ง หาได้มาก แต่เขาสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นวัตถุที่ต้องการก็ยิ่งต้องเพิ่มต้องหามาเสพมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสุขเท่าเดิม กลายเป็นคนที่สุขยาก กระทั่งในที่สุดก็หมดความสามารถที่จะมีความสุข มีวัตถุมากเท่าไรก็ไม่มีความสุข เพราะหมดความสามารถที่จะมีความสุข ถึงจะมีวัตถุเสพมากเท่าไรก็ไม่มีความสุข
ทีนี้ ในการพัฒนามนุษย์ที่มีดุลยภาพ จะต้องพัฒนาความสามารถที่จะแสวงหาสิ่งบำรุงความสุข พร้อมไปด้วยกันกับการพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เมื่อเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เราก็เป็นคนที่สุขง่ายขึ้น และเรากลับต้องการวัตถุน้อยลง พอต้องการวัตถุน้อยลง วัตถุที่จำเป็นต่อการมีความสุขของเราน้อยลง เราก็สุขง่าย จนกระทั่งในที่สุดเรามีความสุขเต็มอิ่มในตัวเราตลอดเวลา วัตถุภายนอกเป็นเพียงส่วนเสริม เราก็มีความสุขสองชั้นเป็นทวีคูณ พร้อมกับที่ชีวิตก็มีอิสรภาพมากขึ้น
นอกจากนั้น เมื่อวัตถุนั้นไม่จำเป็นต่อการให้เกิดความสุขแก่ตัวเราแล้ว เราก็เอาวัตถุที่เกินจำเป็นไปเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น สามารถเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้น การพัฒนามนุษย์นี้ทำให้มนุษย์แทนที่จะมีความสุขจากการได้หรือการเอาอย่างเดียว กลับสามารถมีความสุขจากการให้อีกด้วย
|
Update : 14/10/2554
|
|