หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    สังเกตสุขภาพจิตในวิกฤติน้ำท่วม

    ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุทกภัยครั้งนี้ มีความรุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับประชาชนจำนวนมาก รศ.พญ.บุรณี กาญจนถวัลย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเดลินิวส์ออนไลน์ว่า ผลกระทบต่อสภาพจิตใจที่สำคัญคือ ผู้ประสบภัยย่อมเกิดความรู้สึกสูญเสีย อาจเพราะต้องเสียบุคคลอันเป็นที่รัก บ้าน ทรัพย์สิน ชนิดสิ้นเนื้อประดาตัว ประกอบกับความสูญเสียที่เป็นนามธรรม เช่น นักเรียน ม.6 เสียโอกาสในการเตรียมตัวสอบแอดมิชชั่นที่คาดหวังมาหลายปี นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับความกลัวในสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการได้ กลัวความไม่ปลอดภัยของตนเองและครอบครัว

    และบางครั้งความรุนแรงจากเหตุการณ์ ทำให้ผู้ประสบภัยเป็นโรคเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง หรือที่เรียกว่า Post Traumatic Disorder โดย รศ.พญ.บุรณี ระบุว่า ผู้ป่วยจะมีอาการเครียด สะดุ้ง ผวา ตัวสั่น หวาดกลัว ไม่กล้าผ่านไปในสถานที่เกิดเหตุหรือไม่อยากฟังเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง บางรายรุนแรงถึงขั้นลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปชั่วขณะ  ซึ่งในอดีตโรคนี้พบมากหลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่มไทยในปี พ.ศ.2547

    ยังมีโรคซึมเศร้า ที่ รศ.พญ.บุรณี เตือนให้คนรอบข้างต้องดูแลผู้ป่วยโรคนี้ให้ดี เนื่องจากมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย! โดยสัญญาณบอกโรคซึมเศร้าประกอบด้วย อาการเศร้าเสียใจ ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร หมดเรี่ยวแรง หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบ ซึม ไม่พูด เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ 

    แต่ที่พบบ่อย คือ ผู้ประสบภัยมักป่วยเป็นโรควิตกกังวล โรคเครียด อาการที่สังเกตได้นั้น มีทั้งคิดกังวลอยู่ตลอด ปวดหัว ใจสั่น เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ หากร่างกายไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ พาลให้ความดันโลหิตสูง เป็นโรคกระเพาะ และโรคหัวใจตามมาได้

    ทั้งนี้ สภาพจิตใจของผู้ประสบภัยจะฟื้นกลับมาเป็นปกติได้เร็วหรือช้า ในแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน โดยปัจจัยหลักๆ เช่น ความรุนแรงของการสูญเสีย ประสบการณ์ชีวิต โดยส่วนใหญ่สภาพจิตใจมักฟื้นฟูได้ใน 1-2 เดือน แต่บางคนอาจนานกว่านั้นซึ่งควรปรึกษาแพทย์

    ด้านกลุ่มคนที่ติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำท่วม รศ.พญ.บุรณี เผยว่า เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารมีผลทำให้ผู้เสพข่าวเกิดความเครียดได้ง่าย เนื่องจากเนื้อหาของข่าวสารมีการบอกเล่าความรู้สึก จึงมักก่อให้เกิดโรควิตกกังวล โรคเครียด ไปด้วยนั่นเอง

    วิธีเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยในเบื้องต้น รศ.พญ.บุรณี แนะให้จัดการที่ตัวปัญหาก่อน  เช่น คนในครอบครัวร่วมกันวางแผนดูแลความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินในช่วงวิกฤติ โดยไม่ควรปล่อยให้คนใดคนหนึ่งในครอบครัวแบกรับภาระความผิดชอบเพียงคนเดียว และไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ต้องยอมรับ และที่สำคัญ คือ ไม่กล่าวโทษกัน อย่างนี้เรียกว่า การจัดการระยะฉุกเฉิน ส่วนการจัดการระยะยาว อยู่ในรูปของการแก้ไขสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำซากในอนาคตอีก

    การดูแลอารมณ์ ความรู้สึก สำหรับผู้ประสบภัยนั้น รศ.พญ.บุรณี เน้นว่า คนในครอบครัวต้องช่วยเหลือกันก่อน เริ่มจากการไม่เผชิญหน้าอยู่กับความกลัวที่ต่อเนื่อง ด้วยการย้ายไปพักพิงในบริเวณที่ปลอดภัย จากนั้นต้องสังเกตกันและกัน หากพบว่า สมาชิกในครอบครัวเครียด ซึมเศร้า บ่นอยากฆ่าตัวตาย ควรมีการพูดคุยให้ระบายความทุกข์ อย่าปล่อยให้อยู่ลำพัง ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หนึ่งคนคิดบวกเพื่อตั้งหลักให้คนอื่นๆ ไม่จิตตกอยู่นาน

    “โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่มีอาการท้อแท้ มักเป็นหัวหน้าครอบครัว ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนในครอบครัวต้องดูแลจิตใจ เพราะหากผ่านพ้นเหตุการณ์ไปแล้ว คนเหล่านี้จะกลับมาเป็นกำลังหลักของครอบครัวต่อไป” รศ.พญ.บุรณี กล่าว

    สุดท้าย รศ.พญ.บุรณี ย้ำว่า การดูแลสภาพจิตใจในภาวะเช่นนี้ คนในชุมชนต้องไม่ทอดทิ้งกัน เพื่อความรู้สึกมีพรรคพวก ไม่โดดเดี่ยว อย่างไรก็ตาม ผู้ประสบภัยไม่ควรใช้สารเสพติดเพื่อให้ลืมปัญหาเพียงชั่วคราว เพราะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่กลับเพิ่มปัญหาให้คนในครอบครัว.

    อาทิตยา ร่วมเวียง
    ทีมเดลินิวส์ออนไลน์


    • Update : 13/10/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch