|
|
ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์) (16)
ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์) (16)
คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ว่าโดยสาระ วัฒนธรรมไสยศาสตร์คือวัฒนธรรมที่ขัดขวางความใฝ่รู้และการสู้สิ่งยาก เพราะว่าใช้ระบบพึ่งพา ฝากความหวังไว้ในศรัทธาที่เชื่ออำนาจดลบันดาลจากสิ่งลึกลับภายนอก ซึ่งมนุษย์เข้าไปสัมพันธ์ด้วยการอ้อนวอนและนอนรอคอยผล ส่วนวัฒนธรรมพุทธศาสนา มีลักษณะที่สำคัญ คือ
ก) เป็นวัฒนธรรมแห่งการที่ต้องรู้ คือ ต้องรู้องค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ต้องเข้าถึงเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย เพราะพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย มนุษย์จะเป็นอยู่ด้วยดีและทำการต่างๆ อย่างได้ผลจะต้องเข้าถึงเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น จึงต้องส่งเสริมปัญญา เป็นวัฒนธรรมแห่งปัญญาความใฝ่รู้ และ
ข) เป็นวัฒนธรรมแห่งการที่ต้องทำ เพราะพระพุทธศาสนาสอนว่ามนุษย์จะต้องพึ่งตนและทำตนให้เป็นที่พึ่งได้ การที่มนุษย์จะพึ่งตนได้ต้องทำได้ด้วยตนเอง ต้องมีความเพียร เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงมีชื่อว่า กรรมวาท และวิริยวาท พระพุทธเจ้าเรียกพระองค์เองว่าเป็น "กรรมวาที" ผู้ประกาศหลักการแห่งการกระทำ และ "วิริยวาที" ผู้ประกาศหลักการแห่งความเพียรพยายาม นี่คือพุทธศาสนา ฉะนั้นจะต้องเพียรพยายามทำการให้สำเร็จโดยใช้สติปัญญา ต้องพึ่งตนให้ได้ พุทธศาสนาเน้นอิสรภาพเริ่มด้วยการที่ต้องพึ่งตนให้ได้ เราจะต้องทำความสำเร็จที่ชอบธรรมให้ได้ด้วยตนเอง
พัฒนาคนบนฐานของวัฒนธรรมแห่งปัญญาและการเพียรทำ
วัฒนธรรมพุทธศาสนาเป็นวัฒนธรรมแห่งความใฝ่รู้และสู้สิ่งยากอย่างมั่นคง แต่เวลานี้คนไทยที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธมีวัฒนธรรมแบบไหน อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องตั้งข้อสังเกต ที่จริงเรื่องนี้เป็นหลักที่ไม่ยาก มองเห็นง่ายๆ
เราจำเป็นต้องเน้นวัฒนธรรมพุทธ เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นอีกก้าวหนึ่งจากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอุตสาหกรรม
วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ยังไม่พอ เพราะอะไร เพราะแม้ว่าวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์จะสร้างความใฝ่รู้ มีนิสัยแห่งความคิดมีเหตุมีผล และวัฒน ธรรมอุตสาหกรรมจะช่วยให้สู้สิ่งยากก็จริง แต่เรื่องหนึ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่เคยพูดถึง คือ การพัฒนาคน
วัฒนธรรมพุทธนั้นถือการพัฒนา คนเป็นหัวใจหรือเป็นแกนกลาง ของทุกอย่าง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ การพัฒนาคนเพื่ออะไร ก็เพื่อให้มนุษย์มีอิสรภาพ จุดหมายของพุทธศาสนาคือพัฒนาคนเพื่อให้มีอิสรภาพ
วัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ส่งเสริมให้รู้เข้าใจธรรม ชาติของวัตถุ เรียนรู้ความจริงของโลกแห่งวัตถุ เป็น การเรียนรู้ธรรมชาตินอกตัว แม้จะเรียนชีววิทยาก็ไม่ได้มุ่งเรียนตัวชีวิตที่เป็นชีวิตจริงๆ แต่เรียนชีวิตทางด้านวัตถุหรือรูปธรรมด้านเดียวในฐานะสิ่งที่เราจะมองดู ซึ่งเป็นธรรมชาติข้างนอก
นอกจากนั้น วิทยาศาสตร์เท่าที่เป็นมายังมีความคับแคบ เพราะมุ่งสนองความคิดมุ่งหมายใฝ่ฝันที่จะพิชิตธรรมชาติ(ภายนอก) และมาประสานรับใช้สนองความมุ่งหมายของวัฒนธรรมอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งอยู่บนฐานแห่งความเชื่อที่ว่าความสุขอยู่ที่การมีวัตถุเสพบริโภค อย่างพรั่งพร้อม ยิ่งเสพมากก็ยิ่งสุขมาก ซึ่งทำให้หันเหความสนใจออกไปจากการแก้ปัญหาทางด้านธรรมชาติในตัวของมนุษย์เอง มุ่งสนองความต้องการของตน ส่งเสริมโลภะหรือตัณหา เพิ่มแรงของความเห็นแก่ตัว ทำให้ชีวิตสูญเสียอิสรภาพ ขึ้นต่อวัตถุ เสพบริโภคมากยิ่งขึ้น ดังที่ได้กลายเป็นสังคมของมนุษย์ที่มีวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม ฉะนั้นวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์จึงไม่สัมพันธ์กับเรื่องของการพัฒนาคนไปสู่อิสรภาพ
ด้วยเหตุนี้จึงจะต้องให้มีวัฒนธรรมพุทธเติมเข้ามา เพื่อที่จะสร้างความใฝ่รู้สู้สิ่งยาก พร้อมทั้งให้มีการพัฒนาคนไปสู่อิสรภาพ และการพัฒนาคนนั้นก็จะทำให้เทคโนโลยีไม่เป็นพิษเป็นภัยอีกด้วย เช่นว่าในขณะที่เราพัฒนาเทคโนโลยีภายนอก เราก็พัฒนาอินทรีย์ของเราไปด้วยตลอดเวลา พุทธศาสนาเน้นความไม่ประมาท ไม่ใช่ว่าพออาศัยสิ่งภายนอกได้ เราก็สบายปล่อยตัว การปล่อยตัวนั้นเรียกว่าความประมาท
|
Update : 12/10/2554
|
|