|
|
วัดท่าล้อ น่านจัดงาน ถวายทาน สลากภัตจุมปู
'วัดท่าล้อ'น่านจัดงาน ถวายทาน'สลากภัตจุมปู'
พระครูนิวิฐธรรมานันท์ เจ้าอาวาสวัดท่าล้อ ต.ฝายแก้ว อ.ภูเพียง จ.น่าน เปิดเผยว่า วัดท่าล้อและชาวบ้านท่าล้อ ร่วมจัดงานบุญถวายทานสลากภัตจุมปู เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล สำหรับงานประเพณีทำบุญถวายทานสลากภัตจุมปู เป็นประเพณีเก่าแก่นับร้อยปีของชาวล้านนา ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี ซึ่งชาวบ้านท่าล้อจาก 8 ชุมชน ต่างนำก๋วยสลากร่วมถวายทาน โดยมีคณะศรัทธาทุกหมู่เหล่าในหมู่บ้านช่วยกันสร้างต้นสลากสูง ปลายยอดเป็นฉัตร 3 ชั้น ขึ้นตั้งด้วยแรงศรัทธาและความสามัคคี นำก๋วยสลากภัตที่สานจากไม้ไผ่ หรือที่เรียกว่า ก๋วยสลาก ข้างในถูกห่อหุ้มด้วยใบขมิ้น บรรจุข้าวสารอาหารแห้ง อาหารปรุงสุก พริก กะปิ น้ำปลา น้ำมันพืช หอม กระเทียม พริกแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภค ด้านบน ก๋วยสลากจะมีใบหมากพลู ไม้ดอกไม้ประดับมัดรวมกัน มีเทียน บุหรี่ มัดติดไม้เสียบเงิน ที่เป็นปัจจัย ข้างในก๋วยสลากจะมีใบโพยทานที่เขียนไว้ว่า สลากก๋วยนี้จัดตานอุทิศไปหาคนที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น พ่อแม่พี่น้องญาติมิตรและเจ้ากรรมนายเวร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพยดาพรหมชั้นต่างๆ และแต่ละบ้านในหมู่บ้านจัดก๋วยสลาก มาร่วมงานที่วัดเป็นกลุ่มเป็นคณะ นำมาถวายแด่พระภิกษุสามเณร
พระครูนิวิฐธรรมานันท์ กล่าวต่อว่า ประเพณีทานสลากของวัดท่าล้อ ที่จัดให้มีเป็นประจำทุกปี ประเพณีทานสลากภัตจุมปู คือ การทำบุญสลากภัตในล้านนาไทย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น บางแห่งว่า กิ๋นก๋วยสลาก บางแห่งเรียก กิ๋นสลาก บางแห่ง ตานก๋วยสลาก ประเพณีการถวายทานก๋วยสลากภัตจุมปู ถือว่าผู้ทำบุญเป็นคนโชคดี ทั้งผู้รับและผู้ให้ ซึ่งต้องจัดขึ้นที่วัด จะไม่มีการจัดเลี้ยงในหมู่บ้านไม่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและดื่มของมึนเมาในหมู่บ้าน ปัจจุบันได้นำการทำบุญประเพณีทานสลากภัตจุมปูมาใช้เพราะไม่สิ้นเปลือง ภายในงานไม่มีการจัดเลี้ยงในหมู่บ้านจึงไม่มีการดื่มสุราและการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแต่อย่างใด
|
Update : 11/10/2554
|
|