ถ่านจากเปลือกทุเรียน แกลบ กะลาปาล์ม และไม้ไผ่.
แม้ไทยมีการส่งออกหน่อไม้ฝรั่งไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านปีหนึ่งมีมูลค่านับล้านๆบาท แต่เมื่อมองย้อนกลับมาจะพบว่า นับวันผลิตผลที่ออกมานั้นเริ่มมีคุณภาพที่ด้อยและต่ำกว่ามาตรฐานการส่งออกทุกขณะ สาเหตุหนึ่งมาจากการเพาะกล้าหน่อไม้ที่ไม่สมบูรณ์
ฉะนี้...เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ดร.สายจิต ดาวสุโข นายอรุณ คงแก้ว และนางสาวอุราวรรณ อุ่นแก้ว สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ จึงทำการวิจัย “การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถ่านวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรจากผลไม้เพื่อใช้ในการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง” ขึ้น
ดร.สายจิต เปิดเผยว่า...เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของต้นกล้า วัสดุที่นำมาปลูกหน่อไม้ฝรั่งควรมีการระบายน้ำ การถ่ายเทอากาศที่ดี และปราศจากโรค เพื่อให้ต้นกล้ามีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์และแข็งแรง ดังนั้น เริ่มแรกทีมวิจัยจึงศึกษาสภาพโครงสร้างดินที่เหมาะสม
สำหรับขั้นตอนการวิจัย เริ่มจากเก็บและรวบรวมวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรอาทิ แกลบ กะลาปาล์ม และไม้ไผ่ เปลือกทุเรียนสำหรับนำมาเผาถ่านในการนำมาผสมวัสดุที่เพาะกล้า เบื้อง ต้นพบว่า ถ่านจากเปลือกทุเรียนจะให้ผลดี แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน ทีมงานจึงใช้เทคโนโลยีการผลิตถ่านจากเปลือกทุเรียน
รากหน่อไม้ฝรั่งที่ปลูกในวัสดุปรับปรุงซึ่งใช้ถ่านทุเรียน.
...โดยการเผาเปลือกทุเรียนในสภาวะไร้อากาศที่ช่วงอุณหภูมิ 400-500 องศาเซลเซียส จะได้ผลผลิตถ่านจากเปลือกทุเรียน 3-4 กิโลกรัมต่อเปลือกทุเรียนสด 100 กิโลกรัม และนำถ่านจากเปลือกทุเรียนที่ได้มาบดและคัดแยกขนาดให้มีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 0.3-1.7 มิลลิเมตร และมีความหนาแน่นปรากฏ 0.3 กรัมต่อมิลลิลิตร แล้ว วิเคราะห์ด้วยเครื่อง XRF พบว่าถ่านจากเปลือกทุเรียนมีองค์ประกอบของธาตุฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมมากกว่าถ่านชีวภาพจากวัสดุอื่นๆ เช่น แกลบ กะลาปาล์ม และไม้ไผ่
...ถ่านจากเปลือกทุเรียนที่ได้สามารถเพิ่มธาตุไนโตรเจน และปรับค่า pH ด้วยสารละลายยูเรียและน้ำส้มควันไม้ ทำให้ถ่านจากเปลือกทุเรียนมีค่า pH ที่เสถียรอยู่ในช่วง 6.5-7.5 เมื่อทำการวิเคราะห์ลักษณะพื้นผิวด้วย SEM และหาค่าไอโอดีนตามมาตรฐาน ASTM D 4607-94 พบว่าถ่านจากเปลือกทุเรียนมีความพรุนตัวสูงกว่าถ่านชีวภาพจากวัสดุอื่นๆ (ขนาดรูพรุน 20 μm และ ค่าไอโอดีน 202.32 mg/g)
และ...ในด้านการชะละลายของธาตุอาหาร ถ่านจากเปลือกทุเรียนที่ผลิตได้มีลักษณะการปลดปล่อยฟอสฟอรัส โปแตสเซียม และไนโตรเจน ที่อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ของพืชอย่างช้าๆ การทดลองดังกล่าวให้ผลว่า ถ่านจากเปลือกทุเรียนนั้นมีปริมาณธาตุโปแตสเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักที่จำเป็นของพืชอยู่ในระดับสูง อีกทั้งสามารถเพิ่มธาตุไนโตรเจนและปรับค่า pH ให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมต่อการปลูกหน่อไม้ฝรั่งได้ และยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน เพิ่มการระบายอากาศ ดูดซับสารพิษประเภท HOC และโลหะหนักในสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยดังกล่าวนอกจากแก้ปัญหาสภาพดินได้แล้ว ยังเป็นการลดปริมาณขยะจากเปลือกทุเรียนที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีกทางหนึ่ง.
ขอขอบคุณ เพ็ญพิชญา เตียว และไทรัฐ