หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์) (12)
    คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
    (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


    ถ้าไม่ระวัง จะไม่ได้ทั้งบทเรียนและแบบอย่าง เอาเป็นว่า ในความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี ต้องยอมรับว่าฝรั่งมีข้อดีที่เขามีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เป็นนักค้นคว้าและมีความใฝ่รู้ แล้วก็มีวัฒนธรรมอุตสาหกรรมในกระบวนการผลิตเทคโนโลยี และใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาอุตสาหกรรมอีก ทำให้เป็นนักผลิตและเป็นคนสู้สิ่งยาก 

    อย่างไรก็ตาม เวลานี้ก็น่าเสียดายว่า ฝรั่งโดยเฉพาะอเมริกันเป็นสังคมที่พัฒนามาก จนตัวเขาก็ภูมิใจมากว่าเขาได้เปลี่ยนมาเป็น post-industrial society คือเป็นสังคมที่ผ่านพ้นอุตสาหกรรมมาเป็น consumer society คือเป็นสังคมบริโภคแล้ว คนฝรั่งในปัจจุบันไม่เคยได้รับรสความยากลำบากความขาดแคลนอย่างบรรพบุรุษของตนเอง เกิดมาก็มีความพรั่งพร้อม อย่างที่คนไทยบอกว่าเกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทอง ฝรั่งก็เริ่มมักง่ายขึ้นมาบ้าง จะเห็นว่า เวลานี้ฝรั่งรุ่นเก่ากำลังติเตียนฝรั่งรุ่นใหม่ว่ามักง่ายหยิบโหย่งสำรวย มีวัฒนธรรมแบบตามใจตัว สังคมเริ่มเสื่อมมีปัญหา 

    ความตกต่ำของสังคมอเมริกันมีมากในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะที่สำคัญยิ่งคือการศึกษา ที่เขาติเตียนกันเองว่ามีผลสัมฤทธิ์ด้อยลงๆ ต่อเนื่องกันมาเกินกว่า 20 ปีแล้ว เหตุปัจจัยที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือแนวความคิดที่เสียดุลเอียงดิ่งไปข้างเดียวในทางที่จะตามใจเด็ก โดยมัวแต่เน้นหนักในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้บทเรียนและกิจกรรมง่าย เป็นที่สนใจแก่เด็ก ถ้าเด็กไม่สนใจก็ไม่ต้องเรียน แล้วครูก็พยายามตามเอาใจ 

    ที่จริงการสร้างบทเรียนและกิจกรรมให้น่าสนใจเป็นสิ่งที่ถูก แต่จะต้องควบคู่ไปด้วยกันกับการฝึกเด็กให้มีความใฝ่รู้ ที่จะทำให้เขาสนใจอยากเรียนจนไม่กลัวความยาก มิฉะนั้น ถ้าเอาแต่จะจัดการกับสิ่งภายนอกเพื่อเอาใจเด็ก โดยไม่มาจัดการกับจิตใจของตัวเด็กเองด้วย พอไปถึงขั้นหนึ่งก็จะกลายเป็นสุดโต่งของการเอาใจและการตามเอาใจ แล้วก็จะเกิดความผิดพลาดขึ้นมา เด็กจะไม่สู้สิ่งยาก อะไรยากไม่เอาทั้งนั้น ปัญหาจะเกิดขึ้น 

    เวลานี้สังคมอเมริกันกำลังได้รับผลอันนั้น ดังที่ปรากฏว่าสัมฤทธิผลทางสมองในการศึกษาตกต่ำมาก และเห็นได้ชัดในการแข่งขันระหว่างชาติ ในตอนนี้ก็เกิดความริเริ่มของคนอเมริกันในการที่จะแก้ไขตัวเอง เพราะรู้สำนึกว่าการศึกษาของตนในระดับประถมและมัธยมตกต่ำมาก ก็เลยคิดจัดการแข่งขันเพื่อหาทางปรับปรุงประเทศของตนเอง ดังเช่นคราวหนึ่งมีการแข่งขันทางคณิตศาสตร์ระดับโลก 14 ประเทศ อเมริกาได้ที่ 13 ประเทศที่ 14 คือใคร คือประเทศไทย อันนี้เป็นตัวเลขที่แท้จริง อาตมาไม่ได้พูดเล่น เวลานี้แข่งกันบ่อย เขาจัดให้สู้กันในเวทีโลก 

    ขณะนี้ระบบการแข่งขันกำลังเข้ามาในวงการการศึกษาด้วยอย่างรุนแรงมาก ในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกากำลังตกต่ำและคร่ำครวญถึงความเสื่อมสลายของสังคม ซึ่งเราจะต้องรู้เข้าใจเท่าทัน 

    สังคมอุตสาหกรรมหรือวัฒนธรรมอุตสาหกรรม โดยศัพท์ก็บอกในตัวอยู่แล้วว่าต้องขยันหมั่นเพียร เพราะอุตสาหกรรมมาจากคำภาษาอังกฤษว่า industry ซึ่งแปลว่า ความขยันหมั่นเพียร ผู้บัญญัติศัพท์ภาษาไทยก็เอาตามภาษาอังกฤษ จึงบัญญัติเป็นศัพท์ภาษาไทยว่า อุตสาหกรรม แปลว่า การกระทำด้วยความอุตสาหะ คือทนสู้ ฮึดสู้ เพียรบากบั่น ไม่ยอมระย่อท้อถอย แต่คนไทยเรามองอุตสาหกรรมเป็นอะไร เรามองในแง่ความสะดวกสบาย คล้ายกับจะพูดว่า อุตสาหกรรมคือกระบวนการผลิตสิ่งเสพสิ่งบริโภคที่จะอำนวยความสะดวกสบายสุขสำราญ เราไม่เคยคิดถึงความหมายของอุตสาหกรรมว่าฝรั่งคิดขึ้นมาอย่างไร วัฒนธรรมอุตสาหกรรมที่แท้เป็นวัฒนธรรมของคนที่สู้สิ่งยาก มีความขยัน อดทน 

    ถ้าคนของเราไม่มีความใฝ่รู้จากวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และไม่มีความสู้สิ่งยากจากวัฒนธรรมอุตสาหกรรมเป็นพื้นฐานและเป็นภูมิต้านทานแล้ว เราก็หันไปมุ่งบริโภคเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมก็ถูกมองในแง่ผลที่ได้รับคือสิ่งบริโภค ผลิตภัณฑ์ที่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ มันก็จะซ้ำผลร้ายให้เกิดแก่สังคมของตัวเองเพราะการเห็นแก่ความสะดวกสบายจากเทคโนโลยี ฤทธิ์เดชของเทคโนโลยีก็จะผาดแผลงขึ้นมาในทางตรงข้ามกับที่ต้องการ แทนที่มันจะทำให้สังคมของเราพัฒนา ก็กลับจะทำให้สังคมของเราตกต่ำลงไป เพราะเรามองเทคโนโลยีในด้านของความสะดวกสบายที่จะบริโภคเท่านั้น

    • Update : 6/10/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch