รายงานทำเนียบรัฐบาลตอนที่ 5 ตึกนารีสโมสร : ภาพลักษณ์รัฐบาล
ตึกนารีสโมสรเป็นตึกที่สร้างขึ้นพร้อมกับตึกไทยคู่ฟ้าทำให้ลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกัน โดยสร้างเป็นตึกชั้นเดียวตั้งอยู่ต้นทางคูน้ำที่ปลูกบัวสายสีแดงไว้จำนวนมาก ส่วนด้านในเป็นห้องโถงพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีผนังกั้น มีศาลาท่าน้ำ โดยในสมัยเจ้าพระยารามราฆพ เรียกตึกนี้ว่า "ตึกพระขรรค์" เนื่องจากเจ้าพระยาราราฆพเคยเป็นมหาดเล็กที่เป็นผู้เชิญพระแสงขรรค์ชัยศรี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเคยเป็นสถานที่ตั้งศพ ท้าวอินทรสุริยา หรือ ม.ล.เชื้อ พึ่งบุญ พี่สาวของเจ้าพระยาราฆพด้วย หลังจากนั้นได้ใช้เป็นสถานที่พักตัวละครและสถานที่แต่งตัวละคร
ในอดีตยังมีการสร้าง “ตึกแสงอาทิตย์“ ขึ้นตรงด้านข้างของตึกนารีสโมสรเพื่อใช้เป็นทางขึ้น-ลง และเป็นทางเชื่อมไปยังตึกต่าง ๆ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้ใช้งานแล้วจึงไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึง ”ตึกแสงอาทิตย์” มากนัก และต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี นั้นทางท่านผู้หญิง ละเอียด พิบูลสงคราม ได้ใช้เป็นสถานที่ประชุมและจัดกิจกรรมต่างๆ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ตึกนารีสโมสร“ ทั้งนี้ “ตึกนารีสโมสร” นั้นได้รับการปรับปรุงและอนุรักษ์มาเป็นอย่างดีและต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ประเภทอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2548 ประเภทกลุ่มอาคารทำเนียบรัฐบาล
ปัจจุบันนี้ตึกนารีสโมสรกลายเป็นศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรีและทีมโฆษกรัฐบาลใช้เป็นสถานที่แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีทุกวันอังคาร นอกจากนั้นยังมีการจัดแบ่งพื้นที่ภายในตึกเป็นห้องทำงานของโฆษกรัฐบาล รองโฆษกรัฐบาล และในบางโอกาสยังใช้เป็นสถานที่พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างสื่อมวลชนและทีมโฆษกรัฐบาลอีกด้วย
สำหรับตำแหน่งโฆษกรัฐบาลถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและต้องทำงานใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีพอสมควร เพราะต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ถ่ายทอดแนวคิดและนโยบายของนายกรัฐมนตรี ชี้แจงความคืบหน้าการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งเป็นตัวกลางเชื่อมการสื่อสารระหว่างรัฐบาลและประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และในบางครั้งยังใช้ตำแหน่งนี้ตอบโต้ทางการเมืองอีกด้วย ดังนั้นตำแหน่งนี้จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างและส่งเสริมภาพลักษณ์ของรัฐบาลในแต่ละสมัย.
สาวิตรี เล็กมณี เรื่อง/ภาพ