|
|
พระพุทธนาคน้อย วัดประยุรวงศาวาส กทม.
คอลัมน์ เดินสายไหว้พระพุทธ
"วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร" แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ เป็นวัดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่กรมท่าและสมุหพระกลาโหม ได้อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2371 ซึ่งมีอาณาเขตติดกับบ้านสมเด็จเจ้าพระยาฯ
ครั้นเมื่อ พ.ศ.2375 ได้ถวายเป็น พระอารามหลวงในสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า "วัดประยุรวงศาวาส"
ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดรั้วเหล็ก ด้วยมีรั้วเหล็กเป็นกำแพงวัดอยู่เป็นบางตอน รั้วเหล็กนี้สูงประมาณ 3 ศอกเศษ ทำเป็นรูปอาวุธ คือ หอก ดาบ และขวาน (ขวานสามหมื่น ปืนสามกระบอก หอกสามแสน) มีลักษณะเป็นกำแพงและซุ้มประตูเล็กๆ เป็นตอนๆ วัดจากมุมวิหารคดข้างพระอุโบสถไปจรดกำแพงประตูวัดด้านตะวันออกยาว 148 เมตร ล้อมบริเวณอุทยานเขามอ (เขาเต่า) อีก 2 ด้าน ด้านตะวันตกยาว 48 เมตร ด้านใต้ยาว 43 เมตร ล้อมเป็นกำแพงหน้าวัด ตอนขวามือเข้ามายาว 40 เมตร ตอนซ้ายมือเข้ามายาว 20 เมตร
มีเรื่องเล่าว่า รั้วเหล็กนี้เดิมสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ล้อมเป็นกำแพงในพระราชวัง
แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรด สมเด็จเจ้าพระยาจึงขอรับพระราชทานมาใช้ล้อมเป็นกำแพงในวัด โดยใช้น้ำตาลทรายแลกเอา หนักต่อหนัก คือ เหล็กหนักเท่าใด น้ำตาลทรายก็หนักเท่านั้น
ในคราวเดียวกันนั้นยังทูลเกล้าฯ ถวายพรมผืนใหญ่ 1 ผืน กับโคมกิ่งแก้ว 3 โคม ซึ่งไม่ทรงโปรด จึงได้ทูลขอพระราชทานโคมไปประดับในพระอุโบสถวัดแห่งนี้
ในปี พ.ศ.2423 เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในฐานะเป็นอัครราชทูตพิเศษ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา
เมื่อกลับถึงเมืองไทยในปีเดียวกัน ได้เล่าว่า ตนพบรั้วเหล็กล้อมเป็นกำแพงเมืองหลายแห่งในกรุงลอนดอนรั้วเหล็กเหล่านั้นมีรูปลักษณะเช่นเดียวกับรั้วเหล็กที่วัดประยุรวงศาวาส
หน้าบัน ลายดอกบุนนาค พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมทรงไทย หน้าบันเป็นลายดอกบุนนาค ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ส่วนพระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยเช่นกัน
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ยังได้สร้างพระบรมธาตุมหาเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่ ถือว่าเป็นเจดีย์แบบลังกาองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2398
ต่อมา พ.ศ.2425 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ได้ให้ซ่อมพระวิหาร เปลี่ยนช่อฟ้าใบระกา ปิดทองประดับกระจกใหม่ ซ่อมศาลาและพระอุโบสถใหม่ ซึ่งในปีถัดมาพระองค์ได้เสด็จมาพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ พระอุโบสถ วัดประยุรวงศาวาส
ส่วนการสร้างวัดได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2371 สร้างอยู่ 8 ปี จึงสำเร็จในปี พ.ศ.2379 ได้มีการฉลองวัดในวันที่ 13 มกราคม 2379 ตรงกับวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ
ทั้งนี้ พระวิหารหลวงพ่อพระพุทธนาค เป็นสถาปัตยกรรมแบบทรงไทย กว้าง 16.99 เมตร ยาว 20.19 เมตร เป็นวิหาร 5 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น หน้าบันสลักลวดลายดอกไม้สวยสดงดงามและปิดทองประดับกระจกแพรวพราว มีซุ้มประตู 4 ประตู บานประตูประดับมุก
พระวิหารวัดประยุรวงศาวาส เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 4.25 เมตร สูง 5.70 เมตร มีพระนามว่า "พระพุทธนาค" เป็นพระพุทธรูปโบราณคู่กับพระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม
พระพุทธรูปทั้งสองนี้ ประกอบด้วย พระพุทธลักษณะสมัยสุโขทัยเหมือนกัน คือ มีพระรัศมีเปลว แต่ไม่มีไรพระศก ชายผ้ารัดประคดเป็นเขี้ยวตะขาบและประทับนั่งขัดสมาธิราบเช่นเดียวกับพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
พระพุทธนาคนี้ได้รับอัญเชิญจากจังหวัดสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ ณ พระวิหาร วัดประยุรวงศาวาส เมื่อ พ.ศ.2374
พุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวจีน ให้ความเคารพบูชาในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธนาคเป็นอย่างยิ่ง ด้วยได้รับสิ่งที่เป็นอัศจรรย์หลายประการ และโดยทั่วไปมักเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระพุทธนาคน้อย" เพื่อให้คู่กับพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม ที่เรียกว่า "พระพุทธนาคใหญ่"
พุทธศาสนิกชนชาวจีนได้ขนานนาม พระพุทธนาค นี้ว่า "ลักน้อย" แปลว่า กลีบบัว 7 ชั้น เปรียบพระพุทธองค์คือ ซำปอกง (หลวงพ่อโต) ของชาวจีน
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระวิหารและพระพุทธนาคเป็นศิลปโบราณสถานวัตถุของชาติและพระศาสนา ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492
|
Update : 7/4/2554
|
|