|
|
ปศุสัตว์เฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีก
จากกรณีองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แถลงเตือนภัยเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไข้หวัดนก ชนิดรุนแรง H5N1 ในสัตว์ปีกในทวีปเอเชีย ว่ามีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของเชื้อไวรัสหรือกลายพันธุ์ได้นั้น ทำให้กรมปศุสัตว์เร่งหามาตรการเฝ้าระวังป้องกันอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อสกัดไม่ให้การระบาดของเชื้อไข้หวัดนกลุกลามมาถึงภาคเกษตรไทยเพื่อเป็นการป้องกันเสียแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่ปัญหาจะเกิดและส่งผลกระทบเสียหายต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคเกษตรของไทยในอนาคต
นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การออกมาเตือนภัยเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไข้หวัดนก ชนิดรุนแรง H5N1 ในสัตว์ปีกในทวีปเอเชียของ FAO ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้กลุ่มประเทศเอเชียได้หันมาเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของกรมปศุสัตว์เอง แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะไม่พบโรคไข้หวัดนกมานานมากกว่า 2 ปี 10 เดือนแล้วนับจากวันที่ทำลายสัตว์ป่วยรายสุดท้าย แต่กรมปศุสัตว์ยังดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมและป้องกันโรคอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกำชับให้เครือข่ายเฝ้าระวังโรค ทั้งอาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์
โดยพยายามกำชับให้เกษตรกรหมั่นสังเกตอาการสัตว์ปีกหากพบว่ามีอาการสงสัยโรคไข้หวัดนกให้รีบดำเนินการควบคุมโรคทันที และประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขในการเฝ้าระวังโรคในคนด้วย เพื่อการเฝ้าระวังโรคทั้งภาคปศุสัตว์และสาธารณสุขต่อไป รวมทั้งกำหนดให้มีการรณรงค์ค้นหาโรคในสัตว์ปีกแบบบูรณาการ (x-ray) และให้มีการเคาะประตูบ้านเกษตรกรทุกราย ฟาร์มสัตว์ปีกทุกฟาร์ม เพื่อสอบถามอาการสัตว์ปีกและสุ่มเก็บตัวอย่าง ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคมและเดือนกรกฎาคม 2554 ให้มีการรณรงค์ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ ปีละ 4 ครั้ง เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคที่อาจแฝงตัวอยู่ในสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมืองในเล้า หรือโรงเรือนที่ป้องกันโรคได้ มีการจัดระบบการเลี้ยงไก่ชนให้มีมาตรฐานป้องกันโรคได้ มีการเฝ้าระวังและควบคุมการเคลื่อนย้ายเป็ดไล่ทุ่ง เป็นต้น รวมทั้งเมื่อเกิดสถานการณ์มีโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน กรมปศุสัตว์ได้กำหนดให้ทุกจังหวัดตามแนวชายแดนทั่วประเทศเข้มงวดการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นในสัตว์ปีก และให้ด่านกักกันสัตว์ตั้งจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะในบริเวณจุดผ่านแดนทุกแห่ง ตลอดจนห้ามอนุญาตนำเข้าสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกจากประเทศที่พบโรคไข้หวัดนกจนกว่าสถานการณ์โรคจะสงบ
“ตั้งแต่ปี 2546 ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในสัตว์ปีกกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก มีการทำลายสัตว์ปีกไปมากกว่า 400 ล้านตัวเพื่อควบคุมการระบาด ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 9 ปีที่ผ่านมามีรายงานผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจำนวน 565 ราย เสียชีวิต 331 รายทั่วโลกซึ่งถือเป็นความสูญเสียมหาศาล จำเป็นที่กรมปศุสัตว์ต้องเร่งสกัดโรคดังกล่าวไม่ให้เข้ามาระบาดส่งผลกระทบต่อภาคปศุสัตว์ของไทย” นายปรีชา กล่าว
ทั้งหมดคือมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวดของกรมปศุสัตว์ ซึ่งกรมปศุสัตว์เชื่อมั่นว่าจะสามารถรุกสกัดการระบาดของโรค
ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคปศุสัตว์ภายในประเทศให้เกิดความอุ่นใจและเชื่อมั่นในมาตรการเฝ้าระวังป้องกันของกรมปศุสัตว์มากยิ่งขึ้น.
|
Update : 28/9/2554
|
|