ปัจุบันสังคมไทยกลายเป็นสังคมเครือข่ายหรือโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น ผู้คนนิยมสร้างเครือข่ายทางสังคมบนโลกเสมือนจริง ไม่ว่าจะเป็นบนเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ เพื่อความสนุกสนานพบปะพูดคุยกับเพื่อน ๆ แต่หากเล่นในทางที่ผิดมักมีอันตรายซ่อนอยู่ดังที่ตกเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการ ถูกหลอกลวงทางเพศ ดาราโพสต์ข้อความด่ากัน หรือแม้กระทั่ง เป็นสาเหตุของการทำให้ครอบครัวแตกแยกหย่าร้างกัน ทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นเสมือนดาบสองคมที่เราต้องเลือกใช้ให้เกิดประโยชน์!!
ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา ประธานโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) อธิบายว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กมีทั้งด้านดีและไม่ดี ด้านดีคือทำให้คนที่อยู่ไกลกันได้ติดต่อสื่อสารเสมือนว่าอยู่ใกล้กัน ส่วนด้านไม่ดีมีหลากหลายอย่าง ที่พบขณะนี้คือ กำลังสร้างความร้าวฉานในครอบครัวคนไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าอัตราการหย่าร้างน้อยกว่าปัจจุบันมาก เพราะสมัยก่อนผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวหาเลี้ยงภรรยาและลูกรวมถึงสาเหตุด้านวัฒนธรรมด้วย เช่น หากผู้หญิงที่แยกทางกับผู้ชายจะดูไม่ดีทำให้ผู้หญิงต้องอดทน
เมื่อเข้ามาอีกสมัยหนึ่งผู้คนมีการศึกษามากขึ้น ผู้หญิงมีความรู้มีหน้าที่การงานมากขึ้น จึงไม่ต้องพึ่งผู้ชายประจวบเหมาะกับสังคมเริ่มมีการพูดถึงสิทธิเสรีภาพ สิทธิสตรี ความเท่าเทียมกันและกฎหมายต่าง ๆ ทำให้ผู้หญิงสามารถดูแลตัวเองได้ หากผู้ชายดูแลไม่ดีหรืออยู่ด้วยกันไม่ได้ก็เลิกราหรือหย่าขาดจากกันไป ทั้งนี้ ปัญหาที่ทำให้เลิกกันมีมากมาย ได้แก่ ปัญหาการสื่อสารในครอบครัว การไม่อดทนกัน ความเครียด เวลาไม่ตรงกัน การปรับตัวเข้าหากัน จึงเป็นปัญหาของความแตกแยกที่มีหลายปัจจัยคือ ความเข้าใจผิด น้อยอกน้อยใจ ความห่างเหิน ที่สำคัญคือจบลงไปด้วยการไม่พูดคุยกัน
ปัจจุบันมีโซเชียลเน็ตเวิร์กเข้ามาเป็นปัญหาให้ครอบครัวและคู่รักเพิ่มขึ้นในการบั่นทอนความสัมพันธ์ เพราะขณะนี้ปัญหาที่เกิดขึ้น คือหลายคู่ต่างคนต่างทำงานคนละที่กัน ทำให้เจอเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าต่างเพศมากมาย จนเกิดความระแวงไม่มั่นใจกัน โดยมีตัวเทคโนโลยีอย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์เป็นตัวเชื่อมจนรู้สึกว่าคนใกล้กลับไกล คนไกลกลับใกล้ เพราะทำให้ทอดทิ้งคนที่อยู่ใกล้ตัว แต่ไปให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ไกลทำให้ครอบครัวไม่ค่อยได้พูดคุยกัน แต่มีเวลาไปทักทายเพื่อนใหม่ผ่านทางเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์มากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนสมัยนี้เวลาน้อยใจ เสียใจจะไม่ยอมพูดกันตรง ๆ แต่กลับระบายอารมณ์โดยการโพสต์ข้อความด่ากันในเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์เป็นการพูดลอย ๆ ไม่เอ่ยชื่อใคร เมื่อคนที่เข้ามาอ่านบังเอิญเป็นคู่กรณีอาจคิดไปเองจนทะเลาะกันจนบานปลาย ประกอบกับโซเชียลเน็ตเวิร์กจะมีคนที่สามที่สี่เข้ามาแสดงความเห็นด้วยยิ่งมีปัญหามากขึ้น โดยจะเห็นเป็นข่าวใหญ่โตในวงการดาราบ่อยครั้ง ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของเพื่อนและคนรักแย่ลง
บางครั้งสร้างความเข้าใจผิดให้คู่สามีภรรยา เช่น สามีภรรยาสมัครเฟซบุ๊กคนละบัญชี เมื่อต่างคนต่างเล่นก็จะไม่สนใจกัน เช่น กลับมาบ้านก็คุยกับเพื่อนในเฟซบุ๊กทันที ทำให้ต่างฝ่ายต่างสงสัยหรือไม่ไว้ใจกัน โดย ในต่างประเทศมีงานวิจัยระบุว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ผู้ใช้ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายมีโอกาสกลับไปติดต่อกับแฟนเก่า ซึ่งบางคนแค่พูดคุยสอบถามสารทุกข์สุกดิบ บางคนติดต่อกันลับ ๆ จนเกิดปัญหาจนสุดท้ายหย่าร้างกันมากถึง 30% และเหตุการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย
ยกตัวอย่าง 2 เคส คือ เคสแรกเกิดกับคู่รักที่ยังไม่ได้แต่งงานกัน โดยฝ่ายหญิงมีเพื่อนเก่าเป็นผู้ชายที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและโพสต์ข้อความที่หน้ากระดานในเฟซบุ๊กของฝ่ายหญิงว่าเพิ่งลงจากเครื่องคิดถึงจังเลยกำลังจะไปหาที่บ้าน แต่ฝ่ายหญิงไม่ได้เปิดเฟซบุ๊กดูข้อความดังกล่าว ประจวบเหมาะกับวันนั้นมีงานเยอะมากจึงคุยกับฝ่ายชายซึ่งเป็นแฟนกันว่าเย็นนี้ไม่ว่างต้องกลับไปเคลียร์งานที่บ้าน เมื่อกลับบ้านก็ทำงานจริง ๆ โดยไม่ได้เช็กข้อความในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าฝ่ายชายเข้าไปเล่นเฟซบุ๊กเห็นข้อความจึงเข้าใจผิดและเลิกรากับฝ่ายหญิงไป เคสที่ 2 เกิดขึ้นกับสามีภรรยาโดยอีกฝ่ายไปกิ๊กกับอดีตแฟนเก่าที่ต่างคนต่างแต่งงานกันไปแล้ว ในตอนแรกคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรจึงแอดกัน แต่พอคุยไปแล้วกลับรู้สึกดี จากนั้นนัดกินข้าวกันเมื่อนัดเจอกันแล้วจึงทำให้ความสัมพันธ์เลยเถิดและเมื่ออีกฝ่ายจับได้จึงหย่าจากกันไป
นอกจากจะทำลายความสัมพันธ์ของชีวิตคู่รักให้สลายหายไป ยังทำให้เราเสียบุคลิกภาพและเสียคน เพราะการที่เราหมกมุ่นอยู่กับจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือนาน ๆ โดยไม่สนใจคนรอบข้างก็จะไม่ทราบว่าตัวเองแสดงกิริยาอย่างไรออกไปบ้างและเมื่อเล่นมาก ๆ ก็อาจถูกหลอกไปข่มขืนจนเสียคนได้ และสุดท้ายก็เสียโอกาสที่จะเจอคนดี ๆ ที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง ซึ่งหากเรารู้จักใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในแง่บวกก็จะได้ประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้สำหรับติดต่อสื่อสารกับพ่อ แม่ พี่ น้อง และเพื่อนที่อยู่ห่างไกลหรือสามีภรรยาทำงานต่างจังหวัดก็ใช้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับการป้องกันแก้ไขต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อนด้วยการแบ่งเวลาว่าจะเข้าไปเล่นเวลาใด คือเปิดปิดให้เป็นเวลา แต่ถ้าบางคนบอกว่าต้องเปิดเพื่อทำงานหรือบางคนบอกว่าเล่นในมือถือต้องออนไลน์ตลอดเวลาจึงจะคุ้มกับโปรโมชั่น ซึ่ง หากเป็นเช่นนี้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่าวันนี้เราคุยกับคนใกล้ตัวแบบสด ๆ แล้วหรือยัง หรือวันนี้เราทักทายเพื่อนแบบสด ๆ แล้วหรือยัง หรือวันนี้เราแคร์คนอื่นแล้วหรือยังและลองชั่งน้ำหนักดูว่าอย่างไหนมากกว่ากัน เพราะจะสามารถควบคุมตัวเองได้ แต่ถ้าไม่ทำก็จะไม่ทราบว่าตัวเองติดโซเชียลเน็ตเวิร์กขนาดไหนและจะแก้ไขได้อย่างไร จากนั้นลองคำนวณเวลาว่าวันหนึ่งเล่นกี่ชั่วโมงหรือถ้ามีครอบครัวต้องเริ่มสร้างความสัมพันธ์แบบสด ๆ ในครอบครัวก่อน เช่น พูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบ หลังจากนั้นจึงค่อยเล่นในเวลาส่วนตัว เพราะทุกคนต้องมีเวลาส่วนตัว ไม่ใช่ต่างคนต่างเล่น ต่างคนต่างกินข้าวก็จะทำให้เราเหงาและรู้สึกว่าคนในครอบครัวไม่เข้าใจกลายเป็นปัญหาในที่สุด
ดังนั้นวันนี้คุณลองถามตัวเองแล้วหรือยังว่าได้สร้างความสัมพันธ์กับพ่อ แม่ พี่ น้องและเพื่อนแบบสด ๆ จับต้องได้แล้วหรือยัง และชาวโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหลายได้คนรัก ซึ่งหมายถึงลูก พ่อ แม่ ครอบครัวกลับมาแล้วหรือยัง?!?.
“ปัจจุบันโซเชียลเน็ตเวิร์กเข้ามาเป็นปัญหาให้ครอบครัวและคู่รักเพิ่มขึ้นในการบั่นทอนความสัมพันธ์ จนรู้สึกว่าคนใกล้กลับไกล คนไกลกลับใกล้ เพราะทำให้ทอดทิ้งคนที่อยู่ใกล้ตัว แต่ไปให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ไกลทำให้ครอบครัวไม่ค่อยได้พูดคุยกัน แต่มีเวลาไปทักทายเพื่อนใหม่ผ่านทางเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์มากขึ้น”
10 เรื่องจริงน่ารู้ของการเล่นเฟชบุ๊ก
ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่น่ารู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากกว่า 600 ล้านคน ความจริงอันนี้เป็นรายงานผลการศึกษาจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น
1. การสำรวจชาวอเมริกันกว่า 1,000 คน พบว่าคอเฟซบุ๊กอเมริกันมากกว่าครึ่งคิดว่าเจ้านายและลูกน้องไม่ควรเป็นเพื่อนกันบนเฟซบุ๊ก และ 62% มองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมหากเจ้านายตอบรับเป็นเพื่อนกับลูกน้องบนเฟซบุ๊ก
2. ลิงก์ต่าง ๆ ในเฟซบุ๊กที่คุยติดต่อกันเป็นเรื่องเซ็กซ์ประมาณ 90% ซึ่งมากกว่าเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น แต่คนมักจะแบ่งปันความรู้สึกในแง่บวกมากกว่าในแง่ลบในเรื่องทางเพศ
3. ในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2010 เฟซบุ๊กได้ศึกษาเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างสถานภาพของผู้ใช้เฟซบุ๊กกับความสุขในช่วงวันวาเลนไทน์โดยดูจากอารมณ์ความรู้สึกทั้งในด้านบวกและด้านลบพบว่าคนที่มีความสัมพันธ์กันติดต่อด้วยเฟซบุ๊กทั่วไปมีความสุขมากกว่าคนโสด คนที่แต่งงานแล้วหรือมีคู่หมั้นและติดต่อกันในเฟซบุ๊กจะมีความสุขมากกว่าคนโสดโดยเฉลี่ย
4. จากการศึกษาผู้ใช้เฟซบุ๊ก 1,000 คน ซึ่ง 70% เป็นเพศชายและพบว่า 25% ถูกบอกเลิกผ่านทางเฟซบุ๊ก 21% ของผู้สำรวจได้กล่าวว่าวิธีการบอกเลิกความสัมพันธ์นั้นทำด้วยการเปลี่ยนสถานภาพในเฟซบุ๊กว่า “เป็นโสด”
5. ทางเอฟเวอรี่เชพได้ศึกษาพบว่า 85% ของผู้หญิงยอมรับว่าถูกทำให้รู้สึกเคืองจากเพื่อนในเฟซบุ๊กโดยเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ มีอะไรก็บ่นตลอดเวลาไม่รู้จักหยุด มีถึง 63% จู่ ๆ ก็มาแสดงความเห็นทางการเมืองโดยไม่ได้รับการเชื้อเชิญมี 42% และขี้โม้เกี่ยวกับชีวิตที่สมบูรณ์แบบไปทุกเรื่องมี 32%
6. จำนวน 25% ของผู้ใช้ไม่ได้ควบคุมความเป็นส่วนตัวหรือไม่ได้เลือกฟังก์ชันบริการทางด้านการควบคุมความเป็นส่วนตัวเอาไว้ แต่ถ้ามองมุมกลับผู้ใช้อาจไม่เข้าใจหรือรับรู้ว่ามีฟังก์ชันสำหรับการบริการการควบคุมเรื่องความเป็นส่วนตัวอะไรบ้าง เคยมีการศึกษาในเรื่องเดียวกันนี้ว่า “เด็กประมาณ 26% ได้เปิดเผยรูปถ่ายและชื่อจริงออกไปจึงตกเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากผู้ไม่ประสงค์ดี”
7. พ่อแม่ 48% เป็นเพื่อนกับลูกบนเฟซบุ๊ก ข้อนี้ในเมืองไทยก็เห็นได้มาก โดยพบว่าพ่อแม่เกือบครึ่งที่ขอเป็นเพื่อนกับลูกในเครือข่ายสังคม
8. การสำรวจโดยบริษัท Reppler พบว่าผู้ใช้ 47% เคยโพสต์ข้อความสบถระบายอารมณ์ขุ่นมัวไว้บนกระดานแสดงความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊ก
9. ดูโปรไฟล์แฟนเก่าบ่อยขึ้น โดยกลุ่มตัวอย่าง 48% ยอมรับว่าเข้าไปดูโปรไฟล์ของแฟนเก่าบ่อยครั้งกว่าเมื่อตอนยังคบกัน ผลการสำรวจนี้ถูกมองว่าเทคโนโลยีใหม่อย่างเครือข่ายสังคมเป็นตัวการควบคุมให้คนอกหักมีพฤติกรรมเช่นนี้
และ 10. คนที่อายุ 35 ปีลงไปเล่นเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์หลังมีเพศสัมพันธ์ ผลการสำรวจนี้ถูกเผยแพร่ในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 2009 โดยระบุว่าเครือข่ายสังคมกำลังกลายเป็นสิ่งที่สำคัญในวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ โดยพบว่าในคนอเมริกันที่มีอายุ 35 ปีลงไปจะเล่นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือส่งข้อความแชตหลังมีเซ็กซ์กันแล้ว(ข้อมูลจาก ศูนย์ข่าว RSU NEWS มหาวิทยาลัยรังสิต)
ทีมวาไรตี้