|
|
พระเจ้าเก้าตื้อ เชียงใหม่
|
"วัดสวนดอก" ตั้งอยู่ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้สร้างและสถาปนาเป็นวัดอารามหลวง เมื่อ พ.ศ.1914 สมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์แห่ง ราชวงศ์มังราย หรือ เม็งราย ลำดับที่ 6 แห่งอาณาจักรล้านนา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ.1962 ในสมัยที่นครเชียงใหม่อยู่ในการปกครองของกรุงรัตนโกสินทร์ หรือเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย
วัดสวนดอก ได้รับการยกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง จากกรมการศาสนาเมื่อ พ.ศ.2509 ได้รับการสถาปนาเป็น พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2533
บริเวณวัดกว้างขวางมีพื้นที่ประมาณ 35 ไร่ พระเจ้ากือนาธรรมิกราช ได้พระราชทานพระอุทยานสวนดอกไม้ของพระองค์สร้างเป็นวัด และพระราชทานนามว่า "วัดบุปผาราม" ซึ่งเป็นภาษาบาลี หากแปลเป็นภาษาไทยหมายถึง วัดสวนดอกไม้พะยอม ต่อมาชาวบ้านนิยมเรียกง่ายๆ ว่า วัดสวนดอก
วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดประจำตระกูล ณ เชียงใหม่ ในยุคของ พระยากาวีละ ปกครองเชียงใหม่ พระ นางดารารัศมี พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้านายในราชตระกูล ณ เชียงใหม่ เห็นทำเลที่วัดสวนดอกกว้างขวาง จึงย้ายเอา กู่(เจดีย์บรรจุอัฐิ) ของเจ้านายในตระกูล ณ เชียงใหม่ จากที่เคยอยู่ใต้ต้นสนร้างริมแม่น้ำปิงจึงได้นำมารวบรวมไว้ที่นี่ และวัดสวนดอกก็กลายเป็นที่เก็บอัฐิของเจ้านายใน ราชวงศ์เชียงใหม่ สืบมา โดยราชสกุลรุ่นต่อๆ มา ได้อุปถัมภ์ค้ำชูวัดนี้มาโดยตลอด จึงถือว่าวัดสวนดอกเป็นวัดประจำตระกูล ณ เชียงใหม่ เป็นต้นมา
|
ความสำคัญของ วัดบุปผาราม หรือ วัดสวนดอก ในปัจจุบัน ซึ่งในอดีตสมัยพระครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาได้ทำการบูรณะวัดนี้ขึ้นและได้บูรณะวิหารหลวงหลังปัจจุบันด้วย และหลังจากที่พระครูบาศรีวิชัย มรณภาพในปี พ.ศ.2481 ได้สร้างอนุสาวรีย์เก็บอัฐิไว้ที่วัดนี้ด้วยเช่นกัน
วัดสวนดอก มีพื้นที่กว้าง 35 ไร่ จึงมีสิ่งปลูกสร้างมากมายมี พระเจดีย์ทรงลังกา, ทรงผสมแบบลังกาล้านนา คือ เป็นเจดีย์ที่สร้างแบบ เหลี่ยมไม้สิบสอง และ พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือ ดอกบัวตูม อันเลียนแบบจากศิลปะสุโขทัย ก่อสร้างสมัยพญากือนา และ มหาสุมนเถระ ตลอดจนกลุ่มพระเจดีย์เล็กที่เรียกกันว่า "กู่" ที่บรรจุอัฐิของเจ้าผู้ครองนครพร้อมด้วยญาติพี่น้องตระกูล ณ เชียงใหม่
นอกจากนี้ยังมี กู่ครูบาศรีวิชัย ตั้งอยู่บริเวณด้านใต้พระวิหารใหญ่ด้วย มีพระอุโบสถ พระพุทธรูปปางสมาธิ ประดิษฐานบนพระวิหารใหญ่
นอกจากนี้ พระพุทธรูปยืน ผินพระพักตร์ไปทางพระเจดีย์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยปูนปั้นขนาดใหญ่ ถือเป็นองค์ประธาน ก่อสร้าง สมัยพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช และมี พุทธนฤมิต ซึ่งจำลองแบบมาจากศิลปะพุกาม หรือพระทรงเครื่องศิลปะพม่าสร้างขึ้นราว พ.ศ.2474-2475 สมัยที่ครูบาศรีวิชัย สร้างพระวิหารใหญ่ประฏิมากรรมเหล่านี้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้เข้าชมยิ่งนัก และนำไปเป็นแบบอย่างทางประฏิมากรรมอีกมากด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่มาเยี่ยมชมวัดสวนดอก นิยมเข้าไปนมัสการพระเจ้าเก้าตื้อ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญและเป็นที่เคารพสักการะของชาวเชียงใหม่
พระเจ้าเก้าตื้อเป็นพระเก่าแก่ที่สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 ของราชวงศ์เม็งราย เมื่อปี พ.ศ.2047 พระเจ้าเก้าตื้อเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่มาก หน้าตักกว้าง 8 ศอก
ครั้งแรกที่สร้างจะนำไปประดิษฐานให้เป็นพระประธานที่วัดพระสิงห์ แต่หลังจากหล่อเสร็จแล้วปรากฏว่ามีน้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายไม่สะดวก จึงโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดสวนดอกแห่งนี้
พระเจ้าเก้าตื้อ ในอดีตถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดของล้านนา แม้ปัจจุบันก็ยังเป็นที่ยอมรับว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่โตและงดงามที่สุด
พระเจ้าเก้าตื้อ ชาวล้านนาร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจ ศูนย์รวมศรัทธาที่แสดงถึงความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมืองในสมัยนั้น และในวันขึ้น 8 ค่ำ ของทุกเดือน จะมีการเฉลิมฉลองพระเจ้าเก้าตื้อ ซึ่งวันนั้นจะมีพิธีทำบุญตักบาตร และมีชาวบ้านมาร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันนี้ ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมาจะเข้าไปกราบไหว้ ขอพรและโชคลาภจากพระเจ้าเก้าตื้ออย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งวัน
|
Update : 4/4/2554
|
|