หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ศรีอยุธยา (7)

    ผมไปเที่ยวพม่าเคยถามคนพม่าว่าประวัติศาสตร์พม่าเขียนถึงสมเด็จพระนเรศวรไว้อย่างไร ได้คำตอบว่าเขียนถึงเหมือนกัน แต่ออกไปในทางว่าเป็นเจ้าประเทศราชเป็นขบถ แยกตนออกไปเป็นอิสระ ที่จริงพงศาวดารพม่าไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องสงครามพม่ากับไทยเท่าไรนัก เพราะพม่ามีเรื่องรบกับมอญ ไทยใหญ่มากกว่า ก็คงเหมือนที่เราเขียนถึงเจ้าอนุวงศ์ของลาวคราววีรกรรมท้าวสุรนารีแต่พงศาวดารลาวยกย่องเจ้าอนุวงศ์มากว่าเป็นวีรบุรุษของเขา
       
    มอญสิ กลับให้ความสำคัญแก่สมเด็จพระนเรศวรเพราะบทบาทของพระองค์ดูจะสะใจมอญอยู่มาก ผมไปเที่ยวหงสาวดี ไกด์ชาวมอญอธิบายเรื่อง “พระนเรศ” เป็นฉาก ๆ ว่าเก่งอย่างนั้นดีอย่างนี้ บางเรื่องเรายังไม่เคยรู้ด้วยซ้ำ
       
    ตอนที่แล้วเล่าว่าหลังจากที่พระนเรศวรทรงทราบจากพระยาเกียรติ พระยาราม ขุนนางมอญและพระมหาเถรคันฉ่องว่า พระมหาอุปราชาล่อพระนเรศวรเข้ามาติดกับที่เมืองแครงก่อนจะยกไปสู้กับกรุงอังวะ และให้พระยาทั้งสองลอบปลงพระชนม์เสีย จึงทรงเลิกทัพกลับอยุธยา ก่อนกลับได้ทรงหลั่งน้ำเหนือแม่ธรณีเมืองแครงเป็นพยานว่าขอประกาศอิสรภาพ
       
    พระมหาเถรคันฉ่อง พระยาเกียรติ พระยาราม และมอญอีกเป็นอันมากตามเสด็จกลับมาอยุธยาด้วย พม่าให้สุรกรรมาเป็นแม่ทัพตามไปติด ๆ จนถึงแม่น้ำสะโตง แต่พระนเรศวรข้ามไปอีกฝั่งแล้ว ต่างยิงปืนไฟข้ามแม่น้ำใส่กัน พระนเรศวรใช้พระแสงปืนต้นยาว 9 คืบ ยิงข้ามแม่น้ำถูกสุรกรรมาตายคาคอช้าง พม่าจึงเลิกทัพกลับ ครั้นถึงอยุธยา โปรดฯ ให้พระมหาเถรไปอยู่วัดมหาธาตุ พระยาทั้งสองเข้ารับราชการตั้งครอบครัวอยู่แถวบ้านขมิ้นในเกาะเมือง
       
    จำชื่อและบทบาทพระยาเกียรติ พระยารามไว้ด้วย
       
    พระนเรศวรเป็นคนเก่งกล้ามาก เรียกว่าชำนาญทั้งการรบทางบกและทางน้ำ บนหลังม้า หลังช้างและในเรือ เคยลงเรือทรงพระแสงปืนไล่ยิงข้าศึกคือพระยาจีนจันตุมาแล้ว
       
    หลังประกาศอิสรภาพสองปี พระเจ้านันทบุเรงเริ่มว่างแล้วจึงนำทัพมีพระมหาอุปราชา และพระเจ้าตองอูแยกเป็นอีกสองทัพยกเข้ามาถึงบางปะอิน บางปะหัน สีกุก แต่พระนเรศวรทรงม้าออกไปตีโต้ข้าศึกนอกเกาะจนกระเจิง ทั้งทรงคาบพระแสงดาบปีนค่ายตีพม่าแตกอีกด้วย
       
    ปี 2133 สมเด็จพระมหาธรรมราชา พระสรรเพชญสวรรคต พระนเรศวรได้ขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 19 แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงพระนามว่าสมเด็จพระสรรเพชญ (ที่ 2) ขณะพระชนมพรรษา 35 พรรษา เป็นพระองค์ที่ 2 ของราชวงศ์สุโขทัยหรือพระร่วง แต่ความที่ทรงเป็นนักรบไม่ใคร่อยู่ประจำกรุง จึงทรงตั้งพระราชอนุชาเป็นสมเด็จพระเอกาทศรถ พระมหาอุปราช (เรียกกันว่าพระองค์ขาวคู่กับพระนเรศวรซึ่งผิวคล้ำเรียกว่าพระองค์ดำ) แต่ให้มีพระเกียรติยศเสมือนพระมหากษัตริย์อีกพระองค์ พงศาวดารเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์
       
    ปีนั้นพม่าทราบว่าอยุธยามีการผลัดแผ่นดิน สมเด็จพระนเรศวรก็ไม่ใคร่ประทับอยู่ในกรุง จึงส่งพระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพเข้ามาตีอีก ไทยตอบโต้จนทัพพม่าแตกยับเยินกลับไป ความอัปยศครั้งนี้มอญยังกล่าวถึงและตีปี๊บไปถึงว่าอยุธยาหวิดจะจับพระมหาอุปราชาได้แล้ว หลังจากนั้นไทยกับพม่ายังรบกันตามชายแดนอีกหลายหนแต่ไทยชนะทุกครั้ง
       
    ปี 2135 พระเจ้านันทบุเรงเห็นว่าสมควรที่พม่าจะยกทัพใหญ่เรือนแสนไปตีอยุธยาสั่งสอนอีกครั้ง หน็อย! เป็นเมืองขึ้นแท้ ๆ เผยอมาประกาศอิสรภาพและยังตีทัพพม่าแตกครั้งแล้วครั้งเล่า จึงสั่งให้พระมหาอุปราชาเป็นแม่ทัพแก้หน้าไปล้างอาย พระมหาอุปราชายังอกสั่นขวัญแขวนจากสงครามคราวก่อน จึงทูลว่าโหรทำนายว่ามีเคราะห์ ไม่ควรออกจากเมือง
       
    พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงกริ้วมาก ตรัสว่าเสียดายขายหน้าถึงพระเจ้าบุเรงนองปฐมกษัตริย์ ส่วนพงศาวดารไทยว่าเอาไว้ยืดยาว แต่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแต่งลิลิตตะเลงพ่ายพรรณนาตอนนี้ไว้ดีนัก พระเจ้านันทบุเรงทรงเอ็ดตะโรว่า
       
    “เจ้าอยุธยามีบุตร ล้วนยงยุทธเชี่ยวชาญ หาญหักศึกบ่มิย่อ ต่อสู้ศึกบ่มิหย่อน ไป่พักวอนว่าใช้ ให้ ธ หวง ธ ห้าม แม้นเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ จงอย่ายาตรยุทธนา เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์” เจ็บไหมล่ะ!
       
    พระมหาอุปราชาฟังแล้วละอายเกิดฮึกเหิมจึงนำทัพหงสาวดี เมืองแปร และตองอู ราว 240,000 คน เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตอนนี้ชักยุ่งเพราะพงศาวดารพม่ารักษาเหลี่ยมเขียนว่า พม่ายกเข้ามาถึงชานกรุงแล้วแปลว่าเก่งไหมล่ะ ! สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างออกไปรบ และโรมรันพันตูชนช้างกันที่ชานเมืองเรียกว่ายุทธหัตถี “ไทยยิงปืนถูกพระมหาอุปราชา” แต่นัดจินหน่องแม่ทัพตองอูไสช้างเข้าชนสมเด็จพระนเรศวรจนถอยกลับไป รวมความคือพม่าบอกว่าพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์เพราะ “ถูกยิง” ต่างหากไม่ใช่ถูกฟัน และอยุธยาเป็นฝ่ายถอยทัพกลับเข้ากรุงก่อน
       
    พงศาวดารมอญกลับบอกว่ามีการยุทธหัตถีกันที่สุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชฟันพระมหาอุปราชาสิ้น พระชนม์ด้วยพระแสงของ้าว
       
    พงศาวดารไทยกล่าวว่ายุทธหัตถีเกิดที่หนองสาหร่ายแถวชายแดนไทย-พม่า สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างต้นชื่อพระยาไชยานุภาพ เตลิดเข้าไปในหมู่ทหารพม่า ทหารไทยตามไปไม่ทัน สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้ปัญญาว่าถ้าตะลุมบอนกันทรงแพ้แน่เพราะไม่มีรี้พลจึงคิดอุบายท้าพระมหาอุปราชาให้ชนช้างตัวต่อตัว พระมหาอุปราชานั้นแม้จะขลาดแต่มีขัตติยมานะอยู่มาก เห็นใครท้าอะไรเป็นอันฟิตขึ้นมาทุกทีจึงรับคำท้าเข้ายุทธหัตถี แต่ก็ถูกสมเด็จพระนเรศวรใช้พระแสงของ้าวฟันไหล่ขวาขาดสิ้นพระชนม์ ทัพพม่าจึงแตกพ่ายไป

    ตอนสมเด็จพระนเรศวรตรัสเชิญทำยุทธหัตถีนั้น ลิลิตตะเลงพ่ายแต่งไว้ไพเราะนัก ผมจำมาเกือบ 40 ปีแล้ว
       
    พระพี่พระผู้ผ่าน        ภพอุต ดมเอย
    ไป่ชอบเชษฐ์ยืนหยุด    ร่มไม้
    เชิญราชร่วมคชยุทธ    เผยอเกียรติ ไว้แฮ
    สืบแต่สองเราไซร้        สุดสิ้นฤๅมี

    วันทำยุทธหัตถีนั้นเคยคำนวณกันว่าเป็นวันที่ 25 มกราคม 2135 ครม.นานมาแล้วจึงมีมติให้วันที่ 25 มกราคมเป็นวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและวันกองทัพไทย มาสมัยที่ผมเป็นรองนายกรัฐมนตรี นักปราชญ์ราชบัณฑิตร้องมาว่าคำนวณผิดและคำนวณใหม่แล้วว่าตรงกับวันที่ 18 มกราคม 2135 ต่างหาก ผมขอให้หลายสถาบันช่วยกันตรวจสอบจนได้ความเห็นตรงกันจึงเสนอคณะรัฐมนตรีให้ประกาศว่าวันที่ 18 มกราคมเป็นวันยุทธหัตถีหรือวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ทางกองทัพไทยยังเหนียม ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนวันกองทัพไทยจนอีกสองปีต่อมาจึงยอมเปลี่ยนเป็นวันที่ 18 มกราคม เรียบร้อยแล้ว
       
    การทำยุทธหัตถีมีชัยชนะครั้งนั้นลือเลื่องไปทั่วนานาประเทศ เพราะถือเป็นวีรกรรมของยอดนักรบ คำว่า “ยุทธ” แปลว่ารบ “หัตถี” แปลว่าผู้มีมือ หมายถึงช้างซึ่งมีงวง วันนี้ยังเถียงกันอยู่ว่า การทำยุทธหัตถีเกิดขึ้นที่ไหน ส่วนใหญ่คล้อยตามพงศาวดารว่าเกิดขึ้นที่หนองสาหร่าย บัดนี้คือดอนเจดีย์อยู่ในสุพรรณบุรีเพราะมีซากอิฐที่เชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรให้ก่อครอบไว้เป็นที่ระลึก แต่ที่กาญจนบุรีก็มีร่องรอยกระดูกทับถมกันที่อำเภอพนม ทวน จึงมีบางคนเชื่อว่าเป็นสมรภูมิยุทธหัตถี สำหรับทางราชการประกาศว่าอยู่ที่ดอนเจดีย์ สุพรรณฯ ไม่เชื่อไปถามคุณบรรหารดูก็ได้!
       
    กลับเข้ากรุงคราวนั้น สมเด็จพระนเรศวรให้ชำระความทหารที่ตามขบวนไม่ทัน เกือบให้นำไปประหารอยู่แล้ว แต่สมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว (บางคนเชื่อว่าคือวัดใหญ่ชัยมงคล) นำพระ 25 รูปเข้าบิณฑบาตขอชีวิต อุปมาว่าเป็นพระเกียรติยศที่รบโดยไม่มีทหารตามไปช่วยเสมือนคราวพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระองค์เดียวไม่มีปัญจวัคคีย์อยู่ช่วย ถ้ามีคนอยู่ช่วยก็จะไม่ยิ่งใหญ่ นับเป็นอุปมาโวหารแยบคาย จึงพระราชทานอภัยโทษให้ไปรบแก้ตัวแทน
       
    พระเจ้านันทบุเรงสูญเสียพระราช โอรสคราวนั้นถึงขั้น “พระสติแตก” ทั้งเจ็บทั้งอาย ตำนานกล่าวว่าทรงฆ่าพระสุพรรณกัลยาและลูกแก้แค้น (ตกทอดจากพระเจ้าบุเรงนองมาเป็นพระสนมของพระองค์) ภายหลังทรงต้องลี้ภัยไปอยู่เมืองตองอู (ราชธานีเดิมของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้) แต่นัดจินหน่องเจ้าเมืองตองอูก็ลอบปลงพระชนม์แย่งราชสมบัติ ขณะนั้นเมืองอังวะ (เคยเป็นราชธานีเก่าอาณาจักรพม่ามาแต่ต้น) มีผู้นำตั้งตนเป็นกษัตริย์ชื่อพระเจ้าสีหสุธรรมราชาตีได้ทั้งตองอูและหงสาวดีจนรวมเป็นหนึ่งเดียวชื่ออาณาจักรพม่า ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่กรุงอังวะได้ยกทัพเข้ามาตีชายแดนไทย
           
    สมเด็จพระนเรศวรเสร็จศึกจากพม่าหนโน้นแล้ว ยังทรงแผ่พระราชอาณาจักรไปเหนือจดใต้ จนถึงเชียงใหม่ กัมพูชา ตีได้ทวาย ตะนาวศรี หัวเมืองมอญในอำนาจหงสาวดีทั้งหมด หัวเมืองไทยใหญ่และแสนหวี พอทรงทราบว่าพระเจ้ากรุงรัตนบุระอังวะองค์ใหม่ยกทัพมาตีชายแดนไทยก็ทรงกรีธาทัพ 100,000 คน ขึ้นเหนือจะไปตีกรุงอังวะแตกบ้างให้จงได้
       
    ปี 2147 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถนำทัพจะไปเหยียบอังวะ ผ่านเชียงใหม่ ข้ามแม่น้ำสาละวินถึงเมืองหาง (ปัจจุบันอยู่ชายแดนไทย-พม่า) แต่ประชวรด้วยไข้ทรพิษก่อนถึงอังวะ พอถึงวันจันทร์ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับ พ.ศ.2147 สมเด็จพระนเรศวรสวรรคตที่เมืองหาง พระชนมพรรษา 50 พรรษา ครองราชย์ 15 ปี
       
    พระราชกฤดาภินิหารยิ่งใหญ่นัก ทรงเป็นมหาราชของไทย!
       
    สมเด็จพระเอกาทศรถได้ครองราชย์เป็นสมเด็จพระสรรเพชญ (ที่ 3) รัชกาลที่ 20 ได้ทรงตั้งเจ้าฟ้าสุทัศน์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นพระมหาอุปราช ต่อมากริ้วจนว่ากันว่า “เจ้าฟ้าสุทัศน์เสวยยาพิษสิ้นพระชนม์” แต่จดหมายเหตุฝรั่งบันทึกว่า ถูกลงโทษจนสิ้นพระชนม์ด้วยข้อหาขบถ และยังกล่าวต่อไปว่าตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถมีพระอารมณ์ไม่ปกติ เข้าทำนองแปรปรวนฟั่นเฟือน
       
    ครองราชย์ได้ 15 ปี สมเด็จพระเอกาทศรถสวรรคต เจ้านายขุนนางยกเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ พระราชโอรสอีกพระองค์ซึ่งพิการพระเนตรบอดข้างหนึ่งขึ้นเป็นสมเด็จพระสรรเพชญ (ที่ 4) กษัตริย์รัชกาลที่ 21 พงศาวดารกล่าวว่าเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ ไร้ความสามารถ บ้านเมืองไม่เป็นปกติสุข จดหมายเหตุฝรั่งบันทึกว่าแม้แต่โจรสลัดญี่ปุ่นยังบุกเข้าปล้นจนถึงในพระราชวังได้ ครองราชย์ได้ปีเศษ พระราชโอรสอีกพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ประสูติจากพระสนม ชื่อ พระอินทราชา ออกผนวชเป็นพระอยู่วัดระฆังมานานแล้วจนได้เป็นพระพิมลธรรม เห็นว่าบ้านเมืองไม่เรียบร้อยจึงนำผู้คนเข้ายึดวังจับสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์สำเร็จโทษแล้วนำพระศพไปฝังที่วัดโคกพระยา
       
    พระพิมลธรรมจะสึกก่อนยึดวัง หรือยึดวังแล้วจึงค่อยสึกก็ไม่รู้ แต่ได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 22 ทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมซึ่งตรงกับคำว่าธรรมราชานั่นเอง บ้านเมืองยุคนี้ปลอดพ้นจากสงครามพม่าแล้ว มีแต่ไทยจะรบกันเอง พลางพัฒนาสร้างชาติบ้านเมืองด้านศาสนา วรรณคดี สถาปัตยกรรมและการค้าขายไปพลาง เรียกว่าใช้ทั้งนโยบายแก้ไขและแก้แค้นปน ๆ กันไป ไอ้ที่จะเรียบร้อยจึงไม่เรียบร้อยจนได้
       
    เรามันชอบอย่างนี้เสียด้วย ยามศึกเรารบ ยามสงบเราตีกันเอง!.

    “ปี 2147 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถนำทัพจะไปเหยียบอังวะ ผ่านเชียงใหม่ ข้ามแม่น้ำสาละวินถึงเมืองหาง (ปัจจุบันอยู่ชายแดนไทย-พม่า) แต่ประชวรด้วยไข้ทรพิษก่อนถึงอังวะ พอถึงวันจันทร์ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับ พ.ศ.2147 สมเด็จพระนเรศวรสวรรคตที่เมืองหาง พระชนมพรรษา 50 พรรษา ครองราชย์ 15 ปี”


    ทีมวาไรตี้


    • Update : 27/9/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch