|
|
ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์) (3)
ไอที ภายใต้วัฒนธรรมแห่งปัญญา (ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์) (3)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
บทบาทและอิทธิพลของเทคโนโลยี เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องที่จะพูดแล้ว ก็มาเริ่มกันที่เรื่องเทคโนโลยีก่อน เพราะเป็นโลกาภิวัตน์ที่สำคัญอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังได้พูดไปแล้วว่าเทคโนโลยีทำให้โลกเจริญจนเป็นอย่างทุกวันนี้ จนกระทั่งเข้าสู่ยุค Information Age และสังคมของโลกก็เป็น information society ซึ่งก็ยังไม่ได้เป็นทั่ว แต่เอาเฉพาะประเทศผู้นำที่พัฒนาแล้วเป็นแบบอย่าง
ความจริงสังคมไทยก็ยังไม่ได้เป็นสังคมข่าวสารข้อมูล สังคมไทยกำลังพยายามที่จะก้าวจากการเป็นสังคมเกษตรกรรม มาเป็นสังคมอุตสาหกรรมด้วยซ้ำไป พอดีสังคมไทยนี้มาอยู่ท่ามกลางความเจริญของโลกแบบนี้ ก็เลยกลายเป็นว่าตัวเองได้รับผลกระทบจากสภาพความเป็นไปของโลกในความเจริญทั้ง 3 ขั้นของวิวัฒนาการ คือ ทั้งเป็นสังคมเกษตรกรรมด้วย สังคมอุตสาหกรรมก็พยายามจะเป็น และสภาพสังคมแบบข่าวสารข้อมูลก็พลอยได้รับผลมากมาย
สังคมไทยจึงมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนสังคมที่พัฒนาแล้ว ทำให้มีลักษณะจำเพาะของตัวเองที่จะเอาแบบอย่างคนอื่นไม่ได้ เราจะเอาอย่างสังคมอเมริกันก็ไม่ได้ เพราะเขาเป็นสังคมที่ก้าวมาเป็นลำดับจนเขาพูดได้เต็มปากว่าเขาพ้นจากสังคมเกษตรกรรมมานานแล้ว และก็ก้าวข้ามพ้นยุคสมัยของการเป็นสังคมอุตสาหกรรมแล้วด้วย จนมาเป็นสังคมข่าวสารข้อมูล แต่ของเราพูดอย่างนั้นไม่ได้เลย เราได้รับอิทธิพลและผลที่ปะปนกันจากความเป็นไปในสังคมทั้ง 3 ขั้นตอนนั้น
อย่างไรก็ตาม ในที่นี้เราพูดในแง่ของประเทศผู้นำ พร้อมทั้งอิทธิพลที่แผ่ไปทั่วโลก เมื่อพูดถึงโลกทั้งหมด เราก็เอาประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาเป็นตัวแทนหรือเป็นแบบอย่าง จึงเรียกยุคนี้ว่าเป็นยุคสารสนเทศ หรือยุคข่าวสารข้อมูล
เมื่อโลกมนุษย์เจริญมาอย่างนี้ก็มีแง่พิจารณาซึ่งขอย้ำไว้ว่า มันได้ทำให้มนุษย์ปัจจุบันนี้มองเห็นภาพของการมีอำนาจและอิทธิพลเหนือโลกธรรมชาติ เพราะว่าจิตสำนึกที่เป็นรากฐานของการสร้างความเจริญของปัจจุบันนั้น มาจากแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ และเวลานี้เราก็รู้สึกกันไม่น้อยว่าโลกมนุษย์มีอำนาจเหนือโลกธรรมชาติ จนกระทั่งบางทีบดบังโลกธรรมชาติไว้ ทำให้มนุษย์เข้าไม่ถึงโลกธรรมชาติ และในการที่มีอำนาจเหนือและบดบังโลกแห่งธรรมชาตินั้น เป้าหมายของมนุษย์ก็คือการมุ่งจะพิชิตข่มบีบบังคับจัดการและหาผลประโยชน์จากโลกแห่งธรรมชาติ จนไปๆ มาๆ กลายเป็นทำลายและเบียดเบียนโลกแห่งธรรมชาติ ซึ่งมีผลสะท้อน กลับมากระทบต่อความเจริญของโลกมนุษย์เอง
ทีนี้ความสำคัญของเทคโนโลยีนั้น ถ้าพูดอย่างชาวบ้านก็มักว่าเป็นเครื่องมือ หรือเป็นเครื่องทุ่นแรง ทุ่นเวลา แต่ความจริงมิใช่แค่นั้น มีความหมายมากกว่านั้นอีก พูดอย่างภาษาชาวบ้านก็ว่า เทคโนโลยีเป็นฤทธิ์เดช หรือเป็นปาฏิหาริย์ทางวัตถุ อำนาจสำคัญของเทคโนโลยีอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ว่า เทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ขยายอย่างไร คือเทคโนโลยีทำให้มนุษย์สามารถทำสิ่งที่อินทรีย์ธรรมดาของมนุษย์ทำไม่ได้
อินทรีย์คืออะไร ก็คืออวัยวะที่เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานต่างๆ เช่น ตาเป็นเจ้าหน้าที่ดู หูเป็นเจ้าหน้าที่ฟัง มือเป็นเจ้าหน้าที่จับยึดฉวยไว้ เท้าเป็นเจ้าหน้าที่ในการเหยียบการเดิน จนกระทั่งสมองก็เป็นเจ้าหน้าที่ใช้ความคิด
อินทรีย์เหล่านี้ของเรามีขอบเขตจำกัด แต่เมื่อมีเทคโนโลยีแล้ว มันก็ช่วยขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของเราออกไป เช่น เมื่อเราขุดดินด้วยมือ ก็ขุดได้น้อยและเจ็บมือด้วย ลำบากยากเย็น เราก็ไปเอาไม้ท่อนหนึ่งมาบากเหลาเข้า ไม้ท่อนนี้ใช้ขุดดิน ก็เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราขุดดินได้สะดวกยิ่งขึ้น ต่อมาเราก็พัฒนาเป็นจอบเสียมขึ้นมา ก็ขุดได้ดียิ่งขึ้นไปอีก ต่อมาก็พัฒนาเป็นรถขุด
ซึ่งขุดได้ชนิดที่ว่าคนเป็นร้อยเป็นพันก็ขุดสู้ไม่ได้
|
Update : 23/9/2554
|
|