'ชวนคนไปวัด...ให้ระวังบาป'ปาฏิหาริย์ทั้ง๓ที่...วัดสะแก โดย สิทธิ สุทธิอัมพร
ในพระพุทธศาสนากล่าวถึงปาฏิหาริย์อยู่ ๓ ประการ คือ ๑.อิทธิปาฏิหาริย์ การแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ ๒.อาเทสนาปาฏิหาริย์ การรู้ดักใจ ทายใจได้เป็นอัศจรรย์ ๓.อนุสาสนีปาฏิหาริย์ การสอนอันจูงใจคนได้เป็นอัศจรรย์
ปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ ประการนี้ พระพุทธองค์ทรงยกย่องเพียงหนึ่งเดียวคือ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เนื่องเพราะเป็นเหตุแห่งการเกื้อกูลสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ได้สิ้นเชิง มากยิ่งไปกว่าปาฏิหาริย์ทั้งสองประเภทแรกอันอาจอนุเคราะห์สัตว์โลกได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว
แต่ไรมา พระภิกษุผู้ก้าวเดินในสายทางแห่งการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างมุ่งมั่น ทุกองค์ล้วนผ่านปาฏิหาริย์ทั้งสองด่านแรกด้วยกันทั้งสิ้น อันเนื่องจากสิ่งเหล่านี้สำเร็จได้ด้วยใจ สำเร็จได้ด้วยการเจริญภาวนา ผู้ปฏิบัติภาวนาจึงล้วนพบเจอด้วยกันทั้งสิ้น ต่างแต่ว่าจะเชี่ยวชาญเพียงใด ใช้เกื้อกูลสัตว์โลกได้กว้างขวางแค่ไหนล้วนขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีเดิมที่เคยสั่งสมมา
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ แห่งวัดสะแก ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ก็เป็นอีกหนึ่งสมณะที่มุ่งมั่นต่อการบำเพ็ญภาวนามาอย่างเอกอุ ท่านตั้งจิตมุ่งตรงต่อธรรม บ่ายหน้าเข้าร่มกาสาวพัสตร์โดยมี ‘โลกุตรธรรม’ เป็นเป้าหมายสูงสุด หาใช่ฤทธิ์เดชอันชวนหลงแต่อย่างใดไม่ ทว่าการเจริญพระกรรมฐานที่ท่านได้กระทำอย่างอุกฤษฏ์ชนิดที่องค์ท่านยอมแลกด้วยชีวิตดังคำกล่าวของท่านว่า
“ถ้าไม่ตายก็ให้มันดี ไม่ดีก็ให้มันตาย ใครจะเหมือนข้า ข้าบนตัวตาย”
ดังนั้น ธรรมของหลวงปู่ดู่จึงเป็นธรรมแท้ที่ออกจากใจอันบำเพ็ญเพียรมาด้วยดี มิใช่ธรรมที่เกิดจากการอ่านการจำมาเป็นสัญญาอารมณ์แต่อย่างใด และสิ่งซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ของแถม’ จากการประกอบความพากเพียรก็คือ ปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ นั่นเอง
แม้ศิษย์หรือผู้ศรัทธาที่หลั่งไหลไปหาหลวงปู่ดู่ ณ วัดสะแก ส่วนมากมักนิยมไปทาง “อิทธิปาฏิหาริย์” และเกิดความทึ่งใจอย่างยิ่งกับ “อาเทสนาปาฏิหาริย์” อันหลวงปู่สามารถทำให้ปรากฏได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจก็ตาม
หากท่านมิได้แสดงไปเพราะต้องการให้คนลุ่มหลง ตื่นเต้น จนนำมาซึ่งลาภสักการะแก่ท่าน แต่ท่านทำเพื่อ “มอบขนม” ให้เด็กน้อยผู้อ่อนเยาว์ต่อธรรมได้เข้ามาชิม มาเล่น กระทั่งคุ้นเคยต่อท่านและต่อธรรม และเติบโตพอที่จะ “มอบสารอาหาร” ที่จำเป็นต่อชีวิตในภายหน้า เมื่อนั้นท่านจึงแสดงปาฏิหาริย์สูงสุดของพระพุทธศาสนาให้ปรากฏแก่ใจของผู้ศรัทธาทั้งปวง นั่นคือ
อนุสาสนีปาฏิหาริย์ !
ในปีที่ “ศิษย์สำคัญ” ของหลวงปู่คนหนึ่งมีกำลังใจแก่กล้าต่อการปฏิบัติ และยังเผื่อแผ่กุศลจิตนี้ไปถึงญาติพี่น้องเพื่อนพ้องทั้งปวง จึงดำริชักชวนญาติคนนั้นเพื่อนคนนี้เข้าสู่วัดสะแก เพื่อหวังให้ธรรมะของหลวงปู่ซักฟอกจิตใจเขาเหล่านั้นให้ขาวสะอาด อันจะช่วยให้ความทุกข์เบาบางลงได้ด้วยการลงมือทำของเขาเหล่านั้นเอง โดยไม่ต้องรอพึ่งใคร
วันหนึ่ง ศิษย์ท่านนี้ได้โทรศัพท์ไปชวนเพื่อนสนิทให้เดินทางมากราบหลวงปู่ดู่ที่วัดสะแกด้วยกันในวันหยุด เพื่อนฟังแล้วก็ตอบอ่อนโยนว่า อยากไปกราบท่านด้วย แต่ว่าวันหยุดนี้ไม่สะดวกจริงๆ เพราะติดธุระ
ศิษย์ท่านนั้นก็ไม่ว่ากระไร ได้แต่ร่ำลาแล้ววางสายไป เมื่อถึงวันหยุดดังกล่าว จึงเดินทางไปวัดสะแกโดยลำพัง
ครั้นมีโอกาสมากราบหลวงปู่ดู่ ท่านได้ยกมือขวาขึ้นทำท่าแบบคนยกโทรศัพท์มาแนบหูฟัง แล้วเมตตาสอนเขาโดยถามว่า
“เมื่อคืนแกโทรศัพท์ไปชวนเพื่อนมากราบข้าใช่ไหม แกรู้ไหมว่าเขาโกหก เขาไม่อยากมาก็หาเรื่องโกหก แล้วก็ปรามาสข้าด้วย”
คำกล่าวนี้เป็นดังสายฟ้าฟาดลงกลางใจ เพราะการโทรศัพท์พูดคุยกันนั้น เกิดที่กรุงเทพฯ และเป็นไปอย่างที่เรียกว่า รู้กันสองคน เหตุไฉนหลวงปู่ซึ่งอยู่ถึงอยุธยา จึงสามารถรับรู้ความเป็นไปได้ทุกอย่าง
เมื่อฟังประโยคธรรมของหลวงปู่แล้ว ศิษย์ท่านนี้ก็คิดใคร่ครวญด้วยความเป็นธรรม ดังที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” คือพิจารณาในใจโดยแยบคาย ก็ได้คำตอบว่า แม้เราจะหวังดีต่อใคร ก็ควรเป็นไปด้วยความเหมาะสม มิใช่มีแต่เพียงเราที่เห็นว่าดี คนอื่นจะเห็นอย่างไรก็ไม่ทันได้ไตร่ตรอง และคำพูดของหลวงปู่ในวันนั้น ก็ไปตรงกับคำเตือนของท่านที่ปรารภอยู่บ่อยครั้งว่า
“แกชวนคนไปวัด...ให้ระวังบาป”
ความหมาย คือ ชวนคนที่ยังไม่พร้อม ยังไม่มีศรัทธาไปวัดนั้น จะเป็นบาป บาปเพราะเขาจะปรามาส ซึ่งก็คือการดูถูกดูหมิ่น หมิ่นทั้งผู้ชวน ทั้งศาสนสถาน และทั้งศาสนบุคคล ที่เขาได้รับฟังข้อมูล ท่านจึงเตือนว่า การชวนคนไปวัดโดยเราไม่ไตร่ตรองให้ดีก่อน จะเป็นบาปต่อเขาผู้นั้น และเราจะเป็นต้นบาปใหญ่ เพราะเป็นผู้ไปชักชวน ดังนี้แล
และนี่คือ ปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ ประการ ที่เกิดขึ้น ณ วัดสะแก อันเป็นไปเพื่อทำให้ศาสนิกชนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญา” ด้วยการภาวนาของตนนั่นเอง