|
|
ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม (จบ)
ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม (จบ)
พระพรหมคุณภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
เมื่อทำเหตุปัจจัยแล้ว มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยนั้นแหละที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมา เราหมดหน้าที่แค่นั้น ไม่ต้องมายุ่งใจนอกเหตุปัจจัย ไม่ต้องไปอยากไปยึด ตอนนี้ใจของเราก็เรียกว่าลอยพ้นออกมาได้ส่วนหนึ่ง
เมื่อใดเราเข้าถึงความจริงโดยสมบูรณ์แล้ว จิตใจของเราก็จะเป็นอิสระอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้ทำงานนั้นได้ผลสมบูรณ์ โดยที่พร้อมกันนั้นก็ไม่ทำให้ตัวเราตกไปอยู่ใต้ความกดทับ หรือในการบีบคั้นของตัวงานนั้นด้วย แต่เราก็สุขสบายโปร่งใจอยู่ตามปกติของเรา อันนี้เป็นประโยชน์สูงสุดในขั้นสุดท้าย ถ้าสามารถทำได้อย่างนี้ ชีวิตก็จะมีความสมบูรณ์ในตัว ดังได้กล่าวแล้วว่า งานไม่ใช่เป็นตัวเรา และก็ไม่ใช่เป็นของเราจริง แต่งานนั้นเป็นกิจกรรมของชีวิต เป็นกิจกรรมของสังคม เป็นสิ่งที่ชีวิตของเราเข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้อง แล้วก็ต้องผ่านกันไปในที่สุด
งานนั้นเราไม่สามารถทำให้สมบูรณ์แท้จริง เพราะมันขึ้นกับผลที่มีต่อสิ่งอื่น ขึ้นกับปัจจัยแวดล้อม กาลเทศะ ความเปลี่ยน แปลงของสังคม คนอื่นจะต้องมารับช่วงทำกันต่อไป แต่ชีวิตของเราแต่ละคน เป็นสิ่งที่ทำให้สมบูรณ์ได้ และเราสามารถทำให้สมบูรณ์ได้แม้แต่ด้วยการปฏิบัติงานนี้แหละอย่างถูกต้อง
เมื่อเราปฏิบัติต่องานหรือทำงานอย่างถูกต้อง มีท่าทีของจิตใจต่องานถูกต้องแล้ว ชีวิตก็จะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ในตัวในแต่ละขณะนั้นนั่นเอง นี่คือประโยชน์ในระดับต่างๆ จนถึงขั้นสูงสุดที่ทางธรรมได้สอนไว้ รวมความว่า ภาวะที่ชีวิต งาน และธรรม ประสานกลม กลืนเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวหรือเอกภาพ ที่กล่าวมานั้น เมื่อวิเคราะห์ลงไปแล้ว ยังแยกได้เป็น 2 ระดับ
ในระดับหนึ่ง แม้ว่าในเวลาทำงาน ชีวิตจะเต็มอิ่มสมบูรณ์ในแต่ละขณะนั้นๆ ทุกขณะ เพราะชีวิตจิตใจกลมกลืนเข้าไปในงานเป็นอันเดียวกัน พร้อมทั้งมีความสุขพร้อมอยู่ด้วยในตัว แต่ลึกลงไปในจิตใจ ก็ยังมีความยึดติดถือมั่นอยู่ว่างานของเราๆ พร้อมด้วยความอยากความหวังความหมายมั่น และความหวาดหวั่นว่า ขอให้เป็นอย่างนั้นเถิด มันจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่หนอ เป็นต้น จึงยังแฝงเอาเชื้อแห่งความทุกข์ซ่อนไว้ลึกซึ้งในภายใน
ขั้นนี้ยังเป็นเอกภาพที่มีความแยกต่างหาก ซึ่งสิ่งที่ต่างหากเข้ามารวมกัน มีตัวตนที่ไปรวมเข้ากับสิ่งอื่น หรือฝังกลืนเข้าไปในสิ่งนั้นในงานนั้น ซึ่งเมื่อมีการรวมเข้าก็อาจมีการแยกออกได้อีก
ส่วนในอีกระดับหนึ่ง ความประสานกลมกลืนของชีวิตจิตใจกับงานที่ทำ เป็นไปพร้อมด้วยความรู้เท่าทันตามความเป็นจริงในธรรมชาติของชีวิตและการงานเป็นต้น ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยไม่ต้องอยากไม่ต้องยึดถือสำคัญมั่นหมาย ให้นอกเหนือ หรือเกินออกไปจากการกระทำตามเหตุผลด้วยความตั้งใจและเพียรพยายามอย่างจริงจัง
ขั้นนี้เป็นภาวะของอิสรภาพ ซึ่งเอกภาพเป็นเพียงสำนวนพูด เพราะแท้จริงแล้ว ไม่มีอะไรแยกต่างหากที่จะต้องมารวมเข้าด้วยกัน เนื่องจากไม่มีตัวตนที่จะเข้าไปรวมหรือแยกออกมา เป็นเพียงความเป็นไปหรือดำเนินไปอย่างประสานกลมกลืนในความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย
ที่แท้ก็คือความโปร่งโล่งเป็นอิสระ เรียกว่าภาวะปลอดทุกข์ไร้ปัญหา เพราะไม่มีช่องให้ความคับข้องติดขัดบีบคั้นเกิดขึ้นได้เลย
ฉะนั้น พึงเข้าใจว่า ภาวะที่ชีวิต งาน และธรรม ประสานกลมกลืนเข้าเป็นหนึ่งเดียว ดังได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ทำงานมีชีวิตเต็มสมบูรณ์เสร็จสิ้นไปในแต่ละขณะ ที่เป็นปัจจุบันนั้น ว่าที่จริงแล้ว เมื่อถึงขั้นสุดท้าย ก็ตรงกันกับภาวะของการมีชีวิตที่เป็นอิสระอยู่พ้นเหนืองาน ที่กล่าวถึงในที่นี้นั่นเอง
|
Update : 20/9/2554
|
|