|
|
ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม (13)
ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม (13)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.องปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ต่อไปขั้นที่สอง จุดหมายที่เลยตามองเห็น หรือประโยชน์ซึ่งเลยไกลออกไปข้างหน้า เลยจากที่ตามองเห็น ซึ่งรวมถึงเลยจากโลกนี้ไปด้วย ก็คือด้านในหรือด้านจิตใจ หมายถึงการพัฒนาชีวิตจิตใจ รวมทั้งการมีความสุขในการทำงาน การมองเห็นคุณค่าของงานในแง่ความหมายที่แท้จริง ว่าเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์หรือเพื่อสันติสุข ความประพฤติสุจริต ความมีน้ำใจพร้อมที่จะสละจะทำจะให้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและการช่วยเหลือต่างๆ
คุณค่าและคุณธรรมเหล่านี้ ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจและเอิบอิ่มภายในจิตใจ มั่นใจถึงขนาดที่ว่าไม่ต้องหวั่นหวาดกลัวภัยโลกหน้า เป็นความสุขที่ลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่เลยจากตามองเห็น
คนหลายคนแม้จะมีประโยชน์ที่ตามองเห็นพรั่งพร้อมบริบูรณ์ แต่ไม่มีความสุขที่แท้จริงเลย เพราะพ้นจากที่ตามองเห็นไปแล้ว จิตใจไม่พร้อม ไม่ได้พัฒนาเพียงพอ เพราะฉะนั้น ต้องมองว่า ในส่วนที่มองไม่เห็น คือเลยไปกว่านั้น ยังมีอีกส่วนหนึ่ง แล้วส่วนนั้นเรามีแค่ไหนเพียงไร
สุดท้าย จุดหมายที่พ้นเหนือโลก หรือจุดหมายที่พ้นเป็นอิสระ เรียกว่า ประโยชน์สูงสุด คือประโยชน์เหนือทั้งที่ตามองเห็นและที่เลยจากตามองเห็น
ประโยชน์ในขั้นที่สองนั้น แม้จะเลยจากที่ตามองเห็นไปแล้ว ก็ยังเป็นเพียงเรื่องนามธรรมในระดับของความดีงามต่างๆ ซึ่งแม้จะสูง แม้จะประเสริฐ ก็ยังมีความยึดความติดอยู่ในความดีความงามต่างๆ เหล่านั้น และยังอยู่ในข่ายของความทุกข์ ยังไม่พ้นเป็นอิสระแท้จริง
ส่วนจุดมุ่งหมายขั้นสุดท้ายนี้ ก็คือการอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้นขึ้นไป คือความเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือว่า ความเป็นอิสระโดยสมบูรณ์เป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิต
ตอนนี้ แม้แต่งานที่ว่าสำคัญ เราก็ต้องอยู่เหนือมัน เพราะถึงแม้ว่า งานกับชีวิตของเราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ตราบใดที่เรายังมีความติดในงานนั้นอยู่ ยังยึดถือเป็นตัวเรา เป็นของเรา งานแม้จะเป็นสิ่งที่ดีงาม มีคุณค่า เป็นประโยชน์ แต่เราก็จะเกิดความทุกข์จากงานนั้นได้ มันยังอาจจะเหนี่ยวรั้งให้เราเอนเอียงได้ จึงจะต้องมาถึงขั้นสุดท้ายอีกขั้นหนึ่งคือ ความหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ อยู่เหนือสิ่งทั้งปวง แม้แต่สิ่งที่เรียกว่างาน
ในขั้นนี้เราจะทำงานให้ดีที่สุด โดยที่จิตใจไม่ติดค้างกังวลอยู่กับงาน ไม่ว่าในแง่ที่ตัวเราจะได้ผลอะไรจากงานนั้น หรือในแง่ว่างานจะทำให้ตัวเราได้เป็นอย่างนั้นๆ หรือแม้แต่ในแง่ว่างานของเราจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ
การมองตามเหตุปัจจัยนั้นเป็นตัวต้นทาง ที่จะทำให้เรามาถึงขั้นนี้ ในเวลาที่ทำงาน เราทำด้วยความตั้งใจอย่างดีที่สุด มุ่งแน่วเด็ดเดี่ยวว่า ต้องให้สัมฤทธิผลบรรลุจุดหมายนั้นๆ แต่พร้อมกันนั้นก็มีท่าทีของจิตใจที่ตระหนักรู้ถึงความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทำการให้ตรงเหตุปัจจัย มองไปตามเหตุปัจจัย ถ้างานนั้นมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็ เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นไป ไม่ใช่เรื่องของตัวเราที่จะเข้าไปรับกระทบ เข้าไปอยาก เข้าไปยึด หรือถือค้างไว้
เรามีหน้าที่แต่เพียงทำเหตุปัจจัยให้ดีที่สุด ด้วยความรู้ที่ชัดเจนที่สุด มีแต่ตัวรู้ คือ รู้ว่าที่ดีงามถูกต้องหรือเหมาะควรเป็นอย่างไร รู้ว่าเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้นคืออะไร แล้วทำตามที่รู้ คือ ทำเหตุปัจจัยที่รู้ว่าจะให้เกิดผลเป็นความดีงามถูกต้องเหมาะหรือควรอย่างนั้น
|
Update : 19/9/2554
|
|