กุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii) เป็นกุ้งน้ำจืดขนาดใหญ่เลี้ยงกันมากในพื้นที่ภาคกลางมาเป็นเวลาช้านาน ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี ซึ่งมีพื้นที่เลี้ยงกุ้งก้ามกรามประมาณ 80,000 ไร่ และมีผลผลิตปีละประมาณ 25,000-30,000 ตัน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งประมาณ 5,000 ราย ส่วนพื้นที่เหนือเขื่อนทดน้ำลุ่มแม่น้ำบางปะกงและบางส่วนของจังหวัดชลบุรี เมื่อรวมพื้นที่ในจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก มีพื้นที่เลี้ยงกุ้งก้ามกรามประมาณ 20,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 4,000-5,000 ตันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งประมาณ 1,000 ราย ที่ผ่านมากุ้งก้ามกรามเป็นกุ้งที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายภายในประเทศ โดยเฉพาะเมนูอาหารที่เป็นที่ชื่นชอบและรู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวต่างชาติคือ ต้มยำกุ้งก็ใช้กุ้งก้ามกรามหรือที่นิยมนำมาบริโภคในลักษณะกุ้งเผากันทั่วไปในร้านอาหารและภัตตาคารก็จะใช้กุ้งก้ามกราม
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่ากุ้งก้ามกรามมีการเลี้ยงกันมาเป็นเวลาช้านานก่อนการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ แต่ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงเพื่อบริโภคภายในประเทศประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มีเพียงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเพื่อการส่งออก ทั้งๆ ที่มีความต้องการกุ้งก้ามกรามเพื่อการส่งออกเป็นจำนวนมาก แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้กุ้งก้ามกรามมีการส่งออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามโดยภาพรวมเป็นการเลี้ยงที่ยังไม่มีการพัฒนาทางวิชาการโดยตลอดระยะเวลา 20 กว่าปี ซึ่งผิดกับกุ้งกุลาดำที่เริ่มการเลี้ยงเป็นธุรกิจประมาณ 17 ปีแต่มีการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่เป็นอยู่หรืออาจจะเรียกว่าแบบดั้งเดิมทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย จนทำให้กุ้งส่วนใหญ่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออก สาเหตุสำคัญคือมียาตกค้างทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ ก่อนที่จะกล่าวถึงการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบพัฒนาเพื่อการบริโภคและการส่งออก อยากจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบดั้งเดิมที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้ เพื่อที่จะหาทางแก้ปัญหาระบบการเลี้ยงต่อไป