|
|
ชมพูทวีป
ชมพูทวีป
คอลัมน์ ศาลาวัด
ชมพูทวีป คือ ดินแดนเกิดของพระพุทธศาสนา ปัจจุบันได้แก่ ดินแดนที่เป็นของประเทศอินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน และภูฏาน ตั้งอยู่ในทิศพายัพของประเทศไทย
เหตุที่ได้ชื่อว่า ชมพูทวีป นั้น เป็นเพราะมีต้นหว้ามาก
ชนชาติที่ปกครองชมพูทวีปนั้นมี 2 พวก คือ ชนชาติมิลักขะ เป็นเจ้าของถิ่นเดิม และชนชาติอริยกะ เป็นผู้อพยพมาใหม่ โดยอพยพมาทางด้านภูเขาหิมาลัยแล้วอาศัยกลยุทธ์ที่เหนือกว่ารุกไล่ชนชาติ มิลักขะเจ้าของถิ่นเดิม ให้ถอยร่นไปอยู่รอบนอกแล้วตั้งถิ่นฐานแทน
ชมพูทวีปแบ่งเป็น 2 เขต คือ ประเทศร่วมใน เรียกว่า "มัชฌิมาชนบทหรือมัธยมประเทศ" แปลว่า ส่วนกลางของประเทศ เป็นเขตที่อยู่ของชนชาติอริยกะ
ประเทศร่วมนอก เรียกว่า "ปัจจันตชนบทหรือปัจจันตประเทศ" แปลว่า ประเทศชายแดน เป็นเขตที่อยู่ของชนชาติมิลักขะ
ชนชาติทั้ง 2 พวกนี้แยกการปกครองออกจากกันโดยสิ้นเชิงไม่ขึ้นตรงต่อกัน โดยชนชาติอริยกะปกครองส่วนกลางของประเทศ ส่วนพวกชนชาติมิลักขะปกครองชายแดนของประเทศ
ในพุทธกาลอาณาเขตมัชฌิมชนบท ตามที่มีปรากฏในบาลีจัมมขันธกะ มหาวรรคแห่งพระวินัย มีดังนี้
ทิศบูรพา (ตะวันออก) สุดเขตที่มหาศาลนคร, ทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) สุดเขตที่แม่น้ำสัลลวตี, ทิศทักษิณ (ใต้) สุดเขตที่เสตกัณณิกนิคม, ทิศปัจฉิม (ตะวันตก) สุดเขตที่ถูนนิคม, ทิศอุดร (เหนือ) สุดเขตที่ภูเขาอุสีรธชะ
พื้นที่ภายในตามกำหนดนี้ เป็นอาณาเขตของมัชฌิมชนบท ส่วนที่เหลือจากนี้เป็นอาณาเขตของปัจจันตชนบท
ครั้งพุทธกาลมีอาณาจักรที่ท่านระบุไว้ในบาลีอุโบสถติกนิบาตอังคุตตรนิกาย มีชนบทใหญ่ๆ 16 แคว้น คือ อังคะ มคธ กาสี โกสล วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ และที่ระบุไว้ในสูตรอื่นๆ ไม่ซ้ำกันอีก 5 แคว้น คือ สักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ อังคุตตราปะ รวมทั้งหมดเป็น 21 แคว้นด้วยกัน
ชมพูทวีปมีการปกครองแยกออกไปตามอาณาจักรของแคว้นต่างๆ มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองดำรงพระยศเป็นมหาราชาบ้าง พระราชาบ้าง บางสมัยเป็นรัฐอิสระบางสมัยเป็นเมืองขึ้นของแคว้นอื่น
ขึ้นอยู่กับการยุทธวิธีที่เหนือกว่าของผู้ครองเมือง
|
Update : 11/9/2554
|
|