|
|
ธนาคารพระพุทธศาสนา เพื่ออุปถัมภ์พุทธศาสนา
ตามที่คณะทำงานกองทุนพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ร่างพ.ร.บ.ธนาคารพระพุทธศาสนา พ.ศ. .... เพื่อให้เป็นแหล่งทุนในการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเป็นหลัก
โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรทางพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่รัฐบาลชุดก่อน ได้ยุบสภาลง ทำให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต้องถูกพับเก็บไปก่อน แต่ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.นี้อีกครั้ง โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จำนวน 20 คน ลงนามที่จะเสนอร่างพ.ร.บ.นี้แล้ว
ทั้งนี้ การจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์เพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ระดมการออม ให้สินเชื่อ ตราสารทางการเงิน ให้ผลตอบแทนสงเคราะห์และให้บริการแก่ลูกค้า
เพื่อให้เป็นแหล่งทุนในการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเป็นหลัก ไม่มุ่งเน้นในเชิงธุรกิจเท่ากับธนาคารทั่วไป
อีกทั้งยังจะมีการพิจารณาปล่อยเงินกู้ให้ผู้ที่มีคุณธรรม-ศีลธรรม ซึ่งจะมีการใช้ทุนประเดิมในการจัดตั้ง 2,000 ล้านบาท แยกเป็นทุนจากรัฐบาล 1,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1,000 ล้านบาท จะมาจากการกระจายหุ้นของธนาคาร
สำหรับร่างพระราชบัญญัติธนาคารพระพุทธศาสนามีทั้งหมด 10 หมวด 63 มาตรา สรุปสาระสำคัญในแต่ละหมวดดังนี้
หมวดที่ 1 มาตรา 7 ให้กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้ 2,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 200 ล้านหุ้น
หมวดที่ 2 มาตรา 12 "ให้ธนาคารมีวัตถุ ประสงค์ในการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน อันเป็น การพัฒนา ส่งเสริม อุปถัมภ์ สนับสนุน และคุ้มครองการดำเนินงานด้านพระพุทธศาสนา โดยมุ่งหมายเพื่อให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ตลอดจนองค์กรทางพระพุทธศาสนา" โดยวัตถุ ประสงค์กำหนดไว้ 17 ข้อ เช่นรับฝากเงิน จัดหาเงินทุน ประกอบธุรกิจการเงิน ให้สินเชื่อ ให้คำแนะนำด้านการเงิน เรียกเก็บดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ เป็นต้น โดยมีบทสรุปสำคัญว่า "การดำเนินกิจการของธนาคารจะต้องสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนา"
หมวดที่ 3 กรรมการและการจัดการ กำหนดให้มีกรรมการ 3 ชุด คือ คณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการธนาคารพระพุทธศาสนา และกรรมการบริหารและการจัดการ กรรมการทั้ง 3 ชุดมีคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งคือ "กรรมการทุกท่านต้องเป็นพุทธศาสนิกชน"
หมวดที่ 4 ว่าด้วยคณะกรรมการบริหารและผู้จัดการ ว่าด้วยคุณสมบัติและหน้าที่ของกรรมการกำหนดไว้ 7 มาตรา
หมวดที่ 5 ว่าด้วยที่ปรึกษาธนา คารพระพุทธศาสนา กำหนดไว้ 4 มาตรา
หมวดที่ 6 ว่าด้วยการกำกับ การดำเนินงาน และการควบคุม กำหนดไว้ 4 มาตรา
หมวดที่ 7 ว่าด้วยการสอบบัญชีรายงาน
หมวดที่ 8 ว่าด้วยการตรวจสอบ
หมวดที่ 9 บทกำหนดโทษและบทเฉพาะกาล ระบุว่า "ให้รัฐบาลดำเนินการจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ"
ธนาคารส่วนใหญ่ จะดำเนินกิจการเพื่อหวังผลกำไร ในที่นี้พระสงฆ์ รวมไปถึงพุทธศาสนิกชน อาจจะสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคารพระพุทธศาสนา
แต่ในมาตรา 3 แห่งร่างพระราชบัญญัติธนาคารพระพุทธศาสนา กล่าวถึง "บัญชีบริจาค" ไว้ความว่า "บัญชีบริจาค หมายความว่าบัญชีที่ธนาคารจัดตั้งขึ้นเพื่อรับเงินบริจาค รวบรวมจัดการผลประโยชน์นั้นเกิดจากหุ้นและรับดำเนินการตามประสงค์ของผู้บริจาค เพื่อใช้ในกิจกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด"
น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ใน ฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระ พุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา ทราบมาว่าขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.ธนาคารพระพุทธศาสนา ไดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จะให้สำนักพุทธฯ นำร่าง พ.ร.บ.นี้นำเสนอตน เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและให้สามารถจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนาได้สำเร็จ
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ธนาคารพระพุทธศาสนา มีอยู่เพียง 1 ฉบับ โดยเป็นร่าง พ.ร.บ.ธนาคารพระพุทธศาสนา ที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรในรัฐบาลชุดที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนจำเป็นที่จะต้องนำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ที่มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน เพื่อขอความเห็นชอบ
ธนาคารพระพุทธศาสนาจะได้ถือกำเนิดเมื่อใดนั้น คงต้องติดตามกัน
|
Update : 11/9/2554
|
|