นิคมสหกรณ์นครเดิฐ ได้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิตเกษตรกรสมาชิกควบคู่กันไป โดยได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้เป็นแนวทางในการดูแล แนะนำ ส่งเสริม สมาชิกนิคมฯ ในความรับผิดชอบ ด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติแนวคิด
ตลอดจนวิธีการผลิตจากการเพาะปลูกเชิงเดี่ยวแบบเดิมมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ในการส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาและวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นมาช่วยลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริม การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน จัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ทุกคนรับทราบสภาวะทางการเงินของตนเองตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกเพื่อลดค่าใช้จ่ายของครอบครัว สร้างจิตสำนึกในการออมเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสมาชิกสามารถพึ่งตนเอง และได้มีการดำรงชีวิตแบบพอมีพอกิน และเกิดความผาสุก
นายคมกริบ โฉมจันทร์ หัวหน้านิคมสหกรณ์นครเดิฐ เปิดเผยว่า นิคมสหกรณ์นครเดิฐ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุโขทัย จัดทำโครงการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตเกษตรกรสมาชิกตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งรูปแบบการฝึกอบรม ให้ความรู้ ส่งเสริม แนะนำ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สหกรณ์นิคมมีสมาชิก 1,200 ราย จัดทำโครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียงมาแล้ว 4 ปีมีสมาชิกเข้าร่วม 580 ราย
นิคมสหกรณ์มีพื้นที่ทั้งหมด 14,000 ไร่ สมาชิกประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ผลิตเมล็ดพันธ์ุถั่วเขียว เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ มีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ เน้นผู้ที่มีความสนใจ และตั้งใจจริงที่จะเรียนรู้ สนับสนุนการใช้สารอินทรีย์ ทำการผลิต ให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ทางด้าน นายบุญเลิศ โตเปลี่ยน เกษตรกรสมาชิก กล่าวว่า การใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ชีวิตมีความสุขแบบเรียบง่าย แต่ยั่งยืน ทำนาข้าวปลอดสารพิษขายในชุมชนกิโลกรัมละ 35 บาท บุคคลภายนอกราคา 38-50 บาท ซึ่งผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ใช้ปุ๋ย EM ในนาข้าวโดยใช้ 50 กก.ต่อไร่ เลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ และเลี้ยงหมู โดยเอามูลของสัตว์มาบำรุงพืช โดยมูลวัวใช้บำรุงใบ มูลไก่บำรุงผล และมูลหมูบำรุงราก คือ “วัวใบ ไก่ผล หมูราก” ในพื้นที่ขุดคลองยาวร้อยเมตร แบ่งเป็นล็อกเลี้ยงปลาดุก ให้หากินแบบธรรมชาติ ใช้อาหารเม็ดผสมรำบ้างในบางโอกาส เลี้ยงกบนาข้าวปลูก 2 ครั้ง ต่อปี มีรายได้ตลอดไม่ต้องรอเงินชดเชยจากภาครัฐแต่อย่างใด
การดำเนินงานของนิคมสหกรณ์ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับความรู้ความสามารถ นับได้ว่า วิถีชีวิต “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้การดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ มีหลักการเติบโตอย่างมั่นคง การดำเนินชีวิต ก็จะพบความสุขแห่งชีวิต เพราะหลักเศรษฐกิจพอเพียงสอนให้รู้จักฐานะของตัวเอง ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ก็จะสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข.