|
|
ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม (5)
ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม (5)
คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
คนที่มองความหมายของชีวิตในแง่ว่า วิถีชีวิตที่ดี คือการ หาความสนุกสนานให้เต็มที่ คนอย่างนั้นจะมาศรัทธาในความหมายของงานที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่สังคม ก็เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้น ความหมายของงานที่จะทำให้เกิดศรัทธาจึงต้องโยงไปหาความหมายของชีวิตที่ดีด้วย เช่นมองว่า ชีวิตที่ดี คือการที่เราได้ใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ มีคุณค่า และการที่ได้พัฒนาตน เป็นต้น
พอมองความหมายของงานในแนวเดียวกันนี้ ความหมายของงานนั้นก็มาช่วยเสริมในแง่ที่เกิดความสัมพันธ์อย่างสอดคล้องกัน คือ ความหมายของงาน กับ ความหมายของชีวิต มาสัมพันธ์เสริมย้ำซึ่งกันและกัน แล้วศรัทธาก็จะเกิดขึ้นอย่างมั่นคง ทีนี้ มองต่อไปอีกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่อยู่แค่ศรัทธาเท่านั้น ถ้าเราวิเคราะห์จิตใจของคนที่ทำงาน จะเห็นว่า แม้แต่ศรัทธาก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า แรงจูงใจ
เมื่อมาทำงาน เราก็ต้องมีแรงจูงใจทั้งนั้น ทั้งหมดที่พูดมาก็อยู่ในหลักการของเรื่องแรงจูงใจทั้งสิ้น คนเราจะทำกิจกรรมอะไรก็ต้องมีแรงจูงใจ เมื่อมาทำงานเราก็ต้องมีแรงจูงใจให้มาทำงาน แรงจูงใจจึงเป็นหลักใหญ่ในการแบ่งประเภทของการทำงาน
แรงจูงใจ นั้นมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน แรงจูงใจด้านหนึ่ง ที่เป็นหลักใหญ่ๆ คือความต้องการผลตอบแทน ต้องการผลประโยชน์ ต้องการเงินทอง อันนี้เป็นแรงจูงใจที่มุ่งเข้าหาตัวเอง เป็นความปรารถนาส่วนตัวหรือเห็นแก่ตัว ทางพระเรียกว่า แรงจูงใจแบบตัณหา
ทีนี้ ต่อจากตัณหายังมีอีก เราต้องการความสำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นเป็นความสำเร็จของตัวเรา โดยเฉพาะความสำเร็จของตัวเราในรูปของความยิ่งใหญ่ ในรูปของการได้ตำแหน่งได้ฐานะเป็นต้น อันนี้ก็เป็นแรงจูงใจในแง่ของตัวเองเหมือนกัน คือต้องการผลประโยชน์ตอบแทนส่วนตัว ในรูปของความสำคัญของตนเอง ความโดดเด่น เช่นมีตำแหน่งใหญ่โต มีฐานะสูง ข้อนี้เรียกว่า แรงจูงใจแบบมานะ
"มานะ" นั้น ทางพระแปลว่า ถือตัวสำคัญ คือความอยากให้ตนเองเป็นคนโดดเด่น มีความสำคัญ หรือยิ่งใหญ่ ไม่ใช่มานะในความหมายของภาษาไทยว่าความเพียรพยายาม ตกลงว่า แรงจูงใจสำคัญด้านที่หนึ่งนี้ เป็นเรื่องของตัณหาและมานะ ซึ่งสำหรับมนุษย์ปุถุชนก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมี แต่จะทำอย่างไรให้ประณีตสักหน่อย เช่นว่า
ถ้าเป็นความต้องการผลตอบแทนในขั้นธรรมดาของมนุษย์ ก็ขอให้อยู่ในขอบเขตเพียงว่าสำหรับให้เป็นอยู่ด้วยความสะดวกสบายพอสมควรในโลกนี้ หรือเป็นอยู่ดีไม่ขัดสนในปัจจัยสี่
ถ้าจะมีมานะ ก็ให้มันมาในรูปของความภูมิใจในความสำเร็จของงาน มีเกียรติมีฐานะเป็นที่ยอมรับในสังคมหรือได้รับความนิยมนับถือ คือเอาความสำเร็จมาโยงกับงาน ไม่ใช่เป็นเพียงความสำเร็จเพื่อความยิ่งใหญ่ของตน ที่จะไปหยามเหยียดข่มเหงรังแกคนอื่น
ถ้าหากว่าความสำเร็จไปโยงกับตัวงาน มันก็ยังเป็นเรื่องของความดีงามได้ เรื่องอย่างนี้ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธ ท่านยอมรับความจริงของปุถุชน แต่ทำอย่างไรจะให้โยงเข้าไปหาแรงจูงใจที่เป็นธรรมให้มากขึ้น
ทีนี้ แรงจูงใจพวกที่สอง ก็คือแรงจูงใจเช่นอย่างศรัทธาที่มีต่องานที่มีคุณค่า เป็นแรงจูงใจที่ต้องการให้ความดีงามเกิดมีหรือปรากฏขึ้น ความต้องการความดีงาม ต้องการความจริง ต้องการสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นแรงจูงใจที่ท่านเรียกด้วยคำศัพท์ทางธรรมอีกคำหนึ่งว่า "ฉันทะ"
|
Update : 7/9/2554
|
|