|
|
ตามรอยโครงการแกล้งดิน
'โครงการแกล้งดิน' เป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการศึกษาทดลองมาตั้งแต่ปี 2527 เพื่อหาวิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้นำรูปแบบการพัฒนาดินเปรี้ยวจัดด้วยทฤษฎีแกล้งดิน ที่ประสบผลสำเร็จจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาขยายผลและปรับใช้ในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวจัดจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินทำการเกษตรได้ ก่อให้เกิดพื้นที่ทิ้งร้างจำนวนมาก
นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่โดยมีสถานีพัฒนาที่ดินนครศรีธรรมราช กรมพัฒนาที่ดิน เป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการดำเนินการแก้ไขปัญหาทรัพยากรที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีการคัดเลือกพื้นที่ดำเนินงาน ได้แก่ พื้นที่หมู่ 10 บ้านควนโถ๊ะ ต.แหลม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่ 4,000 ไร่ เนื่องจากลักษณะดินเปรี้ยวจัดเช่นเดียวกับที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ปลูกพืชไม่เจริญงอกงาม ผลผลิตที่ได้ต่ำ เกษตรกรจึงปล่อยพื้นที่นารกร้างและหันไปทำการเลี้ยงสัตว์หรือออกไปรับจ้างต่างถิ่นแทน
โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งสถานีพัฒนาที่ดินนครศรีธรรมราช กรมพัฒนาที่ดินได้เข้าไปดำเนินการปรับโครงสร้างพื้นฐานด้วยการปรับรูปแปลงนา สร้างแนวคันนาใหม่ตามแนวถือครอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในนาข้าวได้ จากนั้นจึงปรับปรุงพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดในนาข้าวด้วยหินปูนฝุ่นอัตรา 1 ตันต่อไร่ แล้วไถกลบ หลังจากนั้นก็ให้เกษตรกรเข้าใช้พื้นที่ทำนาได้ตามปกติ ซึ่งในช่วงนี้หินปูนฝุ่นที่หมักไว้จะค่อย ๆ ทำปฏิกิริยาสะเทินดินเปรี้ยว ให้ธาตุอาหารพืชในดินใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ พร้อมกับได้ก่อสร้างอาคารกักเก็บและระบายน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังแปลงนาเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง
ผลจากการดำเนินงานขยายผลโครงการแกล้งดินจากศูนย์พิกุลทองสู่พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง พบว่า เมื่อดินเริ่มคืนความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรที่เคยละทิ้งที่นาก็กลับมาใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อทำนาอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่หมู่ 10 บ้านควนโถ๊ะ สามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง จากเดิมที่ได้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 150-350 กก.ต่อไร่ ปัจจุบันสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวพันธุ์เฉี้ยงพัทลุงได้ 530 กก.ต่อไร่ ส่วนพันธุ์ชัยนาทได้ผลผลิตอยู่ที่ 650 กก.ต่อไร่ ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญพื้นที่ทิ้งร้างมีจำนวนลดลง ดังนั้น ในการดำเนินงานในช่วงต่อจากนี้จะเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในการสร้างรายได้เสริม เช่น ปลูกพืชหลังนา อีกทั้งจะขยายพื้นที่ดำเนินการไปในหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อฟื้นคืนอู่ข้าวอู่น้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังต่อไป.
|
Update : 7/9/2554
|
|