หน้าแรก สมาชิก รายการวัตถุมงคล ตะกร้าวัตถุมงคล วิธีชำระวัตถุมงคล วิธีบูชาวัตถุมงคล ประวัติวัด ติดต่อวัด เว็บบอร์ด
สมาชิก Log in
อีเมล์
รหัสผ่าน
สมัครสมาชิกใหม่
ลืมรหัสผ่าน
















ค้นหาวัตถุมงคล
 
 
 
หมวดวัตถุมงคล
  เครื่องราง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง พระอาจารย์ป้อม
  พระเครื่อง หลวงพ่อสวัสดิ์
  พระเครื่อง หลวงปู่พิมพ์มาลัย
  พระเครื่อง หลวงพ่อสง่า
วัตถุมงคลของคุณ
รหัสวัตถุมงคล ราคา จำนวน
ยังไม่มีวัตถุมงคลอยู่ในตะกร้า
  • ชำระค่าวัตถุมงคล
  • แก้ไขรายการวัตถุมงคล
  • วิธีสั่งบูชาวัตถุมงคล
  •  

    ศรีอยุธยา(2)

    เมื่อสมเด็จพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น ประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่เกิด อังกฤษยังอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เกิดสงครามรบพุ่งกับฝรั่งเศสที่เรียกว่าสงครามร้อยปี รัฐสภาซึ่งเกิดก่อนหน้านั้นราวร้อยปีเริ่มแบ่งแยกเป็นสองสภาคือสภาสามัญและสภาขุนนาง ภาษาอังกฤษเพิ่งจะเข้ามาเป็นภาษาทางการในอังกฤษแทนที่ภาษาฝรั่งเศส แต่ในอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอมยังคงรุ่งเรืองอยู่พร้อมทั้งพุทธศาสนานิกายมหายาน และศาสนาพราหมณ์นิกายบูชาพระศิวะ เรียกว่าไศวนิกาย ตลอดจนนิกายบูชาพระวิษณุเรียกว่าไวษณพนิกาย
       
    บ้านเมืองทั้งหลายเวลานั้นพยายามแปลกแยกปลีกตัวจากอิทธิพลขอมซึ่งเป็นเจ้าถิ่นในละแวกนี้ เช่น สุโขทัย ลพบุรี อู่ทอง และกรุงศรีอยุธยาก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่แม้จะเพิ่งตั้งขึ้นใหม่แต่ก็พยายามสลัดจากอำนาจปกครองของขอม อาณาเขตกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นนอกจากจะครอบคลุมเกาะกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังข้ามแม่น้ำไปทางเหนือจนกินถึงเมืองลพบุรี และชัยนาทด้วย ส่วนทางทิศตะวันตกไปถึงเมืองตะนาวศรี ทวาย ทางตะวันออกไปถึงเมืองจันทบุรี และทางใต้ลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชและมะละกา
       
    เมื่อเด็ก ๆ ผมเคยเข้าใจว่าเดิมเมืองไทยคือกรุงสุโขทัย พอสุโขทัยล่มสลายจึงเกิดกรุงศรีอยุธยาขึ้นแทนที่ ครั้นกรุงศรีอยุธยาแตกจึงเกิดกรุงธนบุรี กรุงธนฯ ล่มจึงเกิดกรุงรัตนโกสินทร์ ข้อความท่อนหลัง ๆ นั้นจริงเพราะถ้ากรุงศรีอยุธยาไม่แตก ไฉนเลยจะเกิดกรุงธนบุรีได้
       
    แต่แท้จริงแล้วกรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นโดยที่กรุงสุโขทัยยังอยู่ดี ตอนนั้นยังอยู่ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท กรุงใหม่ของพระเจ้าอู่ทองตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อทั้งขอมและสุโขทัย แต่สุโขทัยและอยุธยาก็มีไมตรีต่อกันด้วยดี หลังจากนั้นอีกหลายปี สุโขทัยจึงเสื่อมลง เจ้านายสายสุโขทัยอพยพลงมาอยู่อยุธยาก็มาก จนภายหลังกลับมีอำนาจขึ้นในกรุงศรีอยุธยา เรียกว่าเจ้านายสายราชวงศ์พระร่วง
       
    ที่เรียกว่าพระเจ้าอู่ทองเพราะท่านเคยเป็นใหญ่อยู่ในเมืองอู่ทอง (ปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดสุพรรณบุรี) เชื่อกันว่าเป็นเชื้อพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือจากเชียงรายหรือเชียงแสน คำว่าพระเจ้าอู่ทองมีหลายพระองค์เพราะใครที่ครองเมืองอู่ทองก็เป็นพระเจ้าอู่ทองทั้งนั้น กรุงศรีอยุธยาที่ตั้งขึ้นใหม่ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นขอมในนครกัมพูชา และยังรบพุ่งกันอีกด้วย จนอยุธยาเคยยกทัพไปตีเมืองพระนคร เมืองหลวงของขอมได้ แม่ทัพไทยครั้งนั้นคือพระราเมศวร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่แต่ที่เก่งกล้าสามารถมากกว่าคือขุนหลวงพงั่วผู้เป็นพระเจ้าอู่ทองถัดจากเจ้าเมืองอยุธยาทั้งเป็น “พี่เมีย” ของเจ้าเมืองอยุธยาด้วย ชัยชนะเหนือขอมในครั้งนั้นไทยได้กวาดต้อนผู้คนจากขอมเข้ามาอยู่กรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก และขอมเลิกตอแยกับไทยมาอีกนาน ที่สำคัญคือชื่อเสียงขุนหลวงพงั่วลบรัศมีพระราเมศวรผู้เป็นหลานลุงเกือบสิ้นเชิง
       
    แม้กระนั้นการที่อยุธยามีชัยชนะเหนือกัมพูชา กลับทำให้อิทธิพลของขอมพุทธศาสนานิกายมหายาน และศาสนาพราหมณ์นิกายไวษณพนิกายแผ่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา  กรุงศรีอยุธยาเป็นกรุงใหม่ ยังไม่มีขนบธรรมเนียมใดเป็นของตนเอง จึงเต็มใจรับเอาขนบธรรมเนียมพราหมณ์เข้ามาเต็มที่ โดยเฉพาะคตินิยมที่ว่าเจ้าเมืองคือสมมุติเทวราชหรือพระนารายณ์จุติลงมาเกิดเช่นเดียวกับพระราม พระนามของกษัตริย์จึงเปลี่ยนจากขุนหลวงหรือพ่อขุนเป็นสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ประทับกลายเป็นปราสาทราชวัง คำพูดคำจากลายเป็นราชาศัพท์หรือศัพท์ชั้นสูงที่คนทั่วไปฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง คำสั่งของกษัตริย์เรียกว่าพระบรมราชโองการ คตินิยมนี้ยังใช้กันมาจนบัดนี้แม้จะไม่ถึงขนาดเลื่อมใสจริงจัง แต่ก็เป็นโบราณประเพณี
       
    เป็นอันว่าเราตีได้ขอม แต่เป็นฝ่ายรับอิทธิพลแนวคิดจากขอมมาใช้คล้าย ๆ กับที่โรมันตีได้กรีก แต่ก็เป็นฝ่ายรับอิทธิพลแนวคิดกรีกมาใช้ ลงท้ายไม่รู้ว่าใครชนะใครแพ้กันแน่
       
    สมัยสมเด็จพระรามาธิบดี (พระเจ้าอู่ทอง) นั้น ฝรั่งยังไม่เข้ามา แต่จีน แขกชวา แขกมลายู แขกเทศ และแขกจาม (เคยเป็นอาณาจักรใหญ่อยู่ในเวียดนามตอนกลาง แถวเว้ ดานัง) เริ่มเข้ามาค้าขายแล้ว ตอนนั้นตรงกับราชวงศ์เหม็งของจีน
       
    เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีสวรรคต (เริ่มใช้คำนี้เป็นครั้งแรก แปลว่าไปสู่สวรรค์แล้ว) พระชนมพรรษา 55 พรรษา ครองราชย์ 19 ปี พระราเมศวรเจ้าเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองชายแดนต่อกับขอม ได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 ในฐานะพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แต่ราว 1 ปีต่อมา ขุนหลวงพงั่วผู้เป็นลุง (พี่ชายแท้ ๆ ของแม่) ก็ยกทัพจากเมืองอู่ทองเข้ามาจะชิงราชสมบัติ สมเด็จพระราเมศวรเคยแพ้ทางกันอยู่คราวไปรบกับขอมก็ยอมถวายราชสมบัติให้ลุงแล้วกลับออกไปเป็นเจ้าเมืองลพบุรีอย่างเดิมแต่โดยดี
       
    พระราเมศวรกลายเป็นพระนามสำคัญของรัชทายาทราชบัลลังก์อยุธยาต่อมา ซึ่งจะตั้งจากพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เท่านั้น โปรดสังเกตว่าธรรมเนียมหลายอย่างมักเกิดจากการเริ่มต้นครั้งแรกไม่ว่าจะผิดหรือถูก และไม่ว่าจะมีเหตุผลหรือไม่ หลังจากนั้นก็ถือปฏิบัติกันสืบมา เรียกว่า “โบราณราชประเพณี”
       
    ขุนหลวงพงั่วอภิเษกเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 3 ตามแบบธรรมเนียมขอม แต่ใช้พระนามาภิไธยว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชไม่ใช่สมเด็จพระรามาธิบดี เคยเสด็จขึ้นไปรบกับเชียงใหม่และกำแพงเพชร เวลานั้นกำแพงเพชรเป็นเมืองขึ้นสุโขทัย พระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัยยกทัพมาสู้แต่ก็พ่ายแพ้ ครั้งนั้นเองที่สุโขทัยตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชอยู่ในราชสมบัติ 12 ปี ก็สวรรคตขณะขึ้นไปรบทางเหนือ
       
    สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า “พงั่ว” น่าจะมาจากภาษาไทยโบราณว่าพ่องั่ว แปลว่าลูกชายคนที่ 5 เริ่มจากอ้าย ยี่ สาม ไส งั่ว ลก เจ็ด แปด เจา เจ๋ง
       
    พระเจ้าทองลัน พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช พระชนมพรรษา 15 พรรษาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 4 แต่ครองราชย์ได้ 7 วัน สมเด็จพระราเมศวร เจ้าเมืองลพบุรีก็ยกทัพเข้ามาทวงราชสมบัติคืน และจับพระเจ้าทองลันได้ ซึ่งความจริงก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกันเพราะพ่อของพระเจ้าทองลันเป็นพี่ของแม่พระราเมศวร ได้โปรดให้ปลงพระชนม์พระเจ้าทองลันเสียด้วยท่อนจันทน์แล้วขึ้นเป็นกษัตริย์รอบสอง
       
    สมเด็จพระราเมศวรคงต้องการแสดงความสามารถในการรบให้เป็นที่ประจักษ์แก้ปมด้อยที่เคยไปรบที่เมืองเหนือแต่ก็ไม่ได้แสดงวีรกรรมเหมือนลุง จึงยกทัพขึ้นไปรบทางเหนือจนชนะเชียงใหม่ คราวนี้กวาดต้อนผู้คนลงมาเป็นอันมากแล้วส่งลงไปอยู่ทางใต้ที่เมืองไชยาและนครศรีธรรมราช คงจะให้ไกลหูไกลตา แต่นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ศิลปวัฒนธรรม และภาษาปักษ์ใต้หลายคำแถบเมืองนครฯ ค่อนข้างใกล้เคียงกับภาษาเหนือจนกระทั่งบัดนี้
       
    ขากลับสมเด็จพระราเมศวรทรงแวะนมัสการพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลกจนเป็นธรรมเนียมสืบมาว่ากษัตริย์อยุธยาเสด็จผ่านไปทางนั้นต้องแวะนมัสการพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้ สมเด็จพระราเมศวรอยู่ในราชสมบัติราว 6 ปีก็ประชวรสวรรคต พระรามราชบุตรได้เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 5 ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามราชาธิราช นี่ก็ดัดแปลงใช้ชื่อใหม่
       
    เรารู้เรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระรามราชาธิราชน้อยที่สุดในบรรดากษัตริย์อยุธยาทั้งหลาย แม้จะอยู่ในราชสมบัตินานถึง 15 ปี ซึ่งนับว่านานมากสำหรับการจะทำสงครามแผ่ขยายอาณาเขตหรือการจะริเริ่มก่อสร้างหรือวางขนบธรรมเนียมประเพณีใด ๆ แต่แล้วก็หาได้รู้เรื่องของพระองค์ไม่ จนกระทั่ง เจ้าเมืองสุพรรณบุรีชื่อเจ้านครอินทร์ยกทัพเข้ามาแย่งราชสมบัติ แล้วเนรเทศสมเด็จพระรามราชาธิราชให้ไปปลูกตำหนักอยู่เงียบ ๆ ทางฝั่งตรงข้ามเกาะเมือง ย่านนั้นเรียกกันว่า ปทาคูจาม รัชกาลที่ 5 ทรงสันนิษฐานว่าไม่ใช่เมือง แต่คงเป็นท่าเรือ (ภาษาใต้เรียกว่าปละท่า ที่สงขลายังใช้คำนี้) และชุมชนแขกจาม จึงเรียกปทาคูจาม
       
    เจ้านครอินทร์ผู้นี้เป็นลูกน้องชายของขุนหลวงพงั่ว เมื่อขุนหลวงพงั่วเข้ามาครองอยุธยา ก็ยกเมืองอู่ทองให้น้องชายปกครอง พอน้องชายตาย เจ้านครอินทร์ลูกชายได้เป็นใหญ่และคงเห็นตัวอย่างจากลุง (ขุนหลวงพงั่ว) ที่เข้ามายึดกรุงศรีอยุธยาได้โดยง่าย ประกอบกับสมเด็จพระรามราชาธิราชคงเป็นคนธรรมะธัมโมไม่ใช่ขุนศึกนักรบ จึงเข้ายึดอยุธยาบ้างแล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์ชื่อสมเด็จพระอินทราชา รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงศรีอยุธยา บางครั้งเรียกสมเด็จพระรามาธิบดีศรีนครินทราธิราช
       
    เจ้านครอินทร์เป็นนักการค้า เคยแต่งสำเภาไปค้าขายกับจีนในสมัยราชวงศ์เหม็งจนมีไมตรีอันดีต่อกัน พงศาวดารจีนออกพระนามว่า “เจียวลกควนอิน” บางครั้งเรียก “อินตอลอทีล่า” คงจะมาจากคำว่าอินทราชาธิราช มีพระราชโอรสสำคัญ 3 พระองค์ เจ้าอ้ายพระยาองค์โตให้ไปครองเมืองสุพรรณบุรี ฐานที่มั่นเดิม เจ้ายี่พระยาองค์รองครองเมืองสรรคบุรี แถวกำแพงเพชร เจ้าสามพระยาองค์เล็กครองเมืองชัยนาท
       
    เจ้านครอินทร์อยู่ในราชสมบัติได้ 17 ปีก็สวรรคต ยังไม่ทันมอบราชสมบัติแก่ผู้ใด เจ้าอ้ายพระยาก็ขับช้างมาจากสุพรรณ เจ้ายี่พระยาขับช้างลงมาจากเมืองสรรค์เกิดการยุทธหัตถีกันขึ้นที่สะพานป่าถ่านกลางกรุงศรีอยุธยา ลงท้ายสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ เป็นอันว่าตาอินกะตานาตาย เหลือแต่ตาอยู่คือเจ้าสามพระยา น้องนุชสุดท้องได้ขึ้นเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 7 ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช และเพื่อไม่ให้สับสนกับขุนหลวงพงั่วผู้เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์แรก จึงออกพระนามเรียกเจ้าสามพระยาว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 บัดนี้ชื่อกษัตริย์อยุธยาเริ่มวนเวียนซ้ำกันแล้ว
       
    สมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์ใหม่โปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์สององค์ไว้ที่สะพานป่าถ่านตรงที่เจ้าพี่ทั้งสองชนช้างกัน (เรียกว่าขาดคอช้าง แปลว่าตายคาคอช้าง) แล้วจัดการถวายพระเพลิงที่ลานใหญ่ไม่ไกลกัน ภายหลังโปรดฯ ให้ก่อพระปรางค์องค์ใหญ่ครอบที่ตรงนั้นแล้วสร้างวัดขึ้น ณ บริเวณนั้นเรียกว่าวัดราชบูรณะ บางคนเข้าใจว่าอาจเป็นวัดเก่ามีมาแต่เดิมแต่มาทรงบูรณะขึ้นใหม่หมดจึงมีชื่อว่าวัดราชบูรณะ
       
    เรื่องการขาดคอช้างและการสร้างวัด ตลอดจนความพิลึกพิลั่นของพระปรางค์วัดราชบูรณะพิสดารขนาดสร้างเป็นหนังไทยได้สบาย เรื่องนี้ต้องเล่าคราวต่อไป
       
    มาถึงบัดนี้ก็ลำดับได้ 7 รัชกาลแรกของกรุงศรีอยุธยาแล้ว นักประวัติศาสตร์นิยมจัดให้ผู้สืบเชื้อสายเดียวกันเป็นญาติกันอยู่ในราชวงศ์เดียวกัน สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเรียกราชวงศ์แรกของกรุงศรีอยุธยาว่าราชวงศ์เชียงราย แต่บางคนเรียกราชวงศ์อู่ทอง ประกอบด้วยพระเจ้าอู่ทองเจ้าเมืองอู่ทองจากสุพรรณบุรีและผู้สืบเชื้อสายคือพระราเมศวรและพระรามราชาธิราช แต่คั่นด้วยขุนหลวงพงั่ว เจ้าเมืองอู่ทองคนใหม่ที่มาชิงราชสมบัติจากหลานคือพระราเมศวรจนมีลูกหลานเหลนเป็นกษัตริย์ต่อมาอีกหลายพระองค์ เรียกว่าราชวงศ์สุวรรณภูมิ ประกอบด้วยขุนหลวงพงั่ว พระเจ้าทองลัน พระเจ้าอินทราชา (เจ้านครอินทร์) เจ้าสามพระยา ทั้งยังจะมีต่อไปอีกหลายพระองค์
       
    ถ้าเห็นว่ายุ่ง ๆ มากจะจำแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) และสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ไว้แค่นี้ก็ได้เพราะสำคัญอยู่ อ้อ! แล้วมาถึงตอนนี้ กรุงศรีอยุธยามีกษัตริย์แค่ 7 รัชกาล และตั้งมาได้ราว 70 ปีแล้วนะครับ แต่แย่งราชสมบัติกันถึง 4 ครั้ง จับพระเจ้าแผ่นดินสำเร็จโทษ (แปลว่าประหาร) 1 ครั้ง
       
    และนี่เองที่เป็นจุดอ่อนในประวัติ ศาสตร์กรุงศรีอยุธยาสืบมา.

    วิษณุ เครืองาม
    [email protected]


    • Update : 6/9/2554
    © Copyright 2011 www.watnongmuang.com All rights reserved 999arch