|
|
วันนี้คุณ นิพพาน แล้วหรือยัง
วันนี้คุณ นิพพาน แล้วหรือยัง
โดย ว.วชิรเมธี
เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาก็คือ “พระนิพพาน” ทั้งนี้ กล่าวตามพระพุทธวัจนะที่ตรัสว่า “นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา” (พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นธรรมอันสูงสุด) ลักษณะของพระนิพพานก็คือ ภาวะที่ปลอดจากราคะ (ราคักขโย) ปลอดจากโทสะ (โทสักขโย) ปลอดจากโมหะ (โมหักขโย) อย่างสิ้นเชิง กล่าวอย่างง่ายๆ ภาวะที่สิ้นกิเลสนั่นแหละ คือ พระนิพพาน และพระนิพพานนี้นับเป็นวิวัฒนาการสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ ตามคติของพุทธศาสนา
เมื่อกล่าวถึงหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนา มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะบรรลุนิพพานได้ในชีวิตนี้ แต่ตามความเชื่อที่เราคนไทยถือสืบต่อกันมา เรากลับเชื่อกันว่า การบรรลุพระนิพพานนั้นเป็นภาวะไกลสุดเอื้อม เป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายที่กว่าคนธรรมดาจะเอื้อมถึงต้องบ่มบำเพ็ญบารมีกันนับแสนล้านชาติภพ และชาติสุดท้ายอันเป็นที่ปรากฏของพระนิพพานจะมาถึงเมื่อไรก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเชื่อกันอย่างนี้ พระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธ ก็ดูท่าว่าจะกลายเป็นเป้าหมายที่กลายเป็นหมันสำหรับคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนาในชีวิตนี้
การเป็นชาวพุทธที่ไม่รู้ว่าจะบรรลุถึงพระนิพพานได้เมื่อไร ช่างเป็นเรื่องน่าสิ้นหวัง คงน่าสิ้นหวังพอๆ กับกัปตันสักคนหนึ่งซึ่งนำเรือออกจากท่า แล้วไม่รู้ว่าท่าที่มุ่งไปนั้นจะต้องใช้เวลากันนานแค่ไหนจึงจะบรรลุถึง
คนไทยจะเข้าใจเรื่องพระนิพพานคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงกันมาอย่างนี้แต่เมื่อไรไม่ทราบได้ แต่ทราบอยู่อย่างหนึ่งว่า มีนักปราชญ์ไทยมากมายหลายท่านพยายามแก้ไขความเข้าใจเช่นนี้เสียใหม่ ปราชญ์เหล่านั้นก็เช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่ชา หลวงตามหาบัว หลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อเทียน เป็นต้น พ่อแม่ครูอาจารย์เหล่านี้ได้ใช้ชีวิตของท่านพิสูจน์ให้ดูว่า นิพพานเป็นสิ่งที่บรรลุถึงได้ในชาตินี้ โดยเฉพาะหลวงตามหาบัวนั้นถึงกับประกาศให้ศิษยานุศิษย์ทราบกันตรงๆ เพื่อเกื้อกูลแก่การปฏิบัติว่า “ดูเอานี่ พระอรหันต์นั่งอยู่นี่โต้งๆ แล้ว...” อย่างนี้เป็นต้น วัตรปฏิบัติ ปฏิปทา คำสอน ตลอดถึงวิถีชีวิตของครูบาอาจารย์ชั้นนำเหล่านี้ คือประจักษ์พยานที่ยืนยันว่า การบรรลุนิพพานในชีวิตนี้ไม่ใช่เรื่องเหนือวิสัย หากแต่เป็นไปได้จริงในชีวิตนี้
นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีนักปราชญ์ในสายวิชาการและสายปฏิบัติร่วมสมัยอีกอย่างน้อยสองท่าน คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ที่เพียรใช้เวลาทั้งชีวิตของท่านในการปรับเปลี่ยนความเชื่อ ความเข้าใจของคนไทยเสียใหม่ว่า นิพพานอันเป็นอุดมคติสูงสุดของพุทธศาสนานั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริงในชีวิตนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุเอง ถึงกับเทศน์ เขียน ย้ำ พร่ำสอน ถึงเรื่องนี้เอาไว้อย่างมากมายมหาศาล ย้ำแล้วย้ำอีก เทศน์แล้วเทศน์อีกว่า เราทุกคนมีสิทธิ์บรรลุพระนิพพาน ไม่แต่เพียงเท่านั้น ท่านยังหาวิธีให้คนไม่กลัวนิพพานและรู้จักนิพพานในระดับที่ “เป็นไปได้” สำหรับทุกคนอีกด้วย
วิธีการสร้างสัมมาทิฏฐิในเรื่องนิพพานว่าเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ในชีวิตของท่านพุทธทาสประการหนึ่งก็คือ การนำเสนอ “นิพพานชิมลอง” ว่าเป็นสิ่งที่เราทุกคนล้วนฝึกให้มี ให้เป็น ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอในชีวิตประจำวันได้ โดยท่านเสนอเป็นหลักการง่ายๆ ให้ใครๆ ก็สามารถปฏิบัติตามได้ว่า
“จงปรับปรุงจิตใจให้ดีอยู่เสมอ อย่าให้กิเลสเกิดขึ้นมา ก็จะพบความเย็นที่นี่และเดี๋ยวนี้, ทำสมาธิให้ถูกต้อง กิเลสเกิดไม่ได้ ก็เย็นๆ หายใจเข้าก็เย็น หายใจออกก็เย็น, หายใจเข้าก็เย็น หายใจออกก็เย็น, อยู่กับพระนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้...”
คำว่า “นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้” กลายเป็นคำติดปากที่ท่านพุทธทาสเทศน์ สอน เขียน ย้ำแล้วย้ำอีกอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ช่วงต้นแห่งชีวิต (ดังที่ท่านได้เขียนหนังสือ ตามรอยพระอรหันต์ เพื่อยืนยันถึงความเชื่อนี้) ช่วงกลาง และช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน และท่านก็ได้ใช้ชีวิตให้ดูตามที่ท่านเชื่อนั้นตั้งแต่ต้นจนมรณภาพจากไปอย่างสงบ
แม้ “นิพพานชิมลอง” ยังไม่ใช่นิพพานในความหมายที่แท้ แต่การเริ่มต้นเปลี่ยนฐานคิดให้ถูกต้องก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการแก้ไขความเข้าใจผิดที่สั่งสมกันมานาน ให้กลับมาสู่ฐานทางปัญญาที่ถูกต้องสำหรับคนรุ่นต่อไป
สำหรับหนังสือ “นิพพานระหว่างวัน” เกิดขึ้นบนฐานความคิด บนฐานความรู้ บนฐานความเชื่อ และบนฐานของประสบการณ์ที่ว่า “นิพพานในชีวิตนี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับเราทุกคน” เพียงต้องเริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ตอนนี้
อาตมาเชื่อว่าเราฝึกนิพพานระหว่างวันได้ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องมิติเวลาหรือสถานที่ เพราะเราฝึกที่ตัวเรา ไม่ต้องไปที่วัด ไม่ต้องเข้าคอร์สวิปัสสนา เราทำได้ทุกวันทุกเวลา ด้วยการตามสังเกตทุกเรื่องที่คิด ทุกกิจที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว
แต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่ตั้งใจเกินไปจนเกร็ง ให้คำนึงถึงคำว่า “อินทรีย สมตา” แปลว่า คำนึงถึงความสมดุลของอินทรีย์ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ต้องอยู่ในภาวะสมดุล การไม่ปล่อยเกินไปและไม่เพ่งเกินไป สังเกตเฉยๆ อย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่คาดหวังว่ามันจะต้องเกิดผลอย่างนั้นอย่างนี้ นี่คือมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลางสำหรับนักปฏิบัติ
ที่สุดนี้ อาตมาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การฝึกที่จะมี “นิพพานระหว่างวัน” ด้วยการเพียรนำพาตัวเองกลับมา “เจริญสติ” จนตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันขณะอยู่เสมอๆในชีวิตประจำวัน จนก่อเกิดเป็นความสดชื่นรื่นเย็นในชีวิตตามสมควร ซึ่งสมมติเรียกขานวิธีการดังกล่าวว่า “นิพพานระหว่างวัน” นั้น คงจะอำนวยประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติตามโดยทั่วหน้ากันตามสมควร
|
Update : 5/9/2554
|
|